
“Complete Aged Society” หรือสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จะเป็นนิยามใหม่สำหรับประเทศไทย ในปีหน้า ไม่ใช่แค่เพียงการก้าวเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุอีกต่อไป ด้วยตัวเลขสถิติประชากรไทย ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปี มากกว่า 20% และสัดส่วนประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปีหน้า
และนอกจากตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นแล้ว อายุขัยเฉลี่ย (Life Expectancy) ของคนไทยยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย จาก 49.32 ปี ในปี 1950 เพิ่มขึ้นเป็น 77.19 ปี ในปัจจุบัน (2020) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 88.31 ปี ในปี 2100 ซึ่งในภาพใหญ่ถือเป็นความท้าทายอย่างมากของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการขยายอายุเกษียณออกไป การสนับสนุนให้บริษัทมีการจ้างงานผู้สูงอายุ การเพิ่มทักษะให้เหมาะสมกับแรงงาน รวมถึงการมีส่วนร่วมและประสานงานต่างๆ ทั้งจากฝั่งภาครัฐฯ และเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น ล้วนเป็นแนวทางหรือนโยบายที่ถูกเสนอและใช้ในแต่ละประเทศเพื่อรับมือกับสถานการณ์ผู้สูงอายุ
ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่กำลังเจอกับสถานการณ์ที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าปัจจุบันประชากรโลกที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนราว 1 ใน 9 ของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 5 ภายในปี ค.ศ. 2050 และผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนราว 2 พันล้านคนหรือคิดเป็นราว 22% ของประชากรโลก ตามแสดงในแผนภาพที่ 1 โดยจะเห็นได้ว่าแนวโน้มประชากรทั่วโลกจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และในหลายๆ ประเทศจะมีสัดส่วนกว่า 30% ของประชากรเป็นคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ซึ่งประเทศไทยเองก็เป็น 1 ในนั้น

ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เงาตามตัวผู้สูงอายุ
แต่สำหรับเราซึ่งเป็นหน่วยย่อยในระดับบุคคลและครอบครัว สิ่งที่เป็นภัยต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่เราต้องให้ความสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเราเป็นผู้สูงอายุหรือมีผู้สูงอายุในครอบครัว เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ไม่ว่าจะเกิดจากการป่วยเป็นโรคร้ายแรง อาทิ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุจากการลื่นล้มและการพลัดตกจากที่สูงของคนไทย โดย 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตเป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือสูงถึง 1,600 คน ในปี 2018 (เฉลี่ยวันละ 4 ราย) ซึ่งถือเป็นสาเหตุการตายอันดับ 2 ในกลุ่มการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ
อีกทั้งอายุที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลให้มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นด้วย โดยอาการที่พบบ่อยจากการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ คือ กระดูกสะโพกหัก การกระทบกระเทือนที่สมอง รวมถึงการบาดเจ็บร่วมกันในหลายอวัยวะ อาทิ ศีรษะ อก ท้อง สะโพก หลัง แขน และขา เป็นต้น ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากตกแก่ครอบครัว ทั้งยังต้องใช้เวลาในการรักษาตัวที่นานกว่าคนอายุน้อย
โอนความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ประกัน
ด้วยเหตุผลข้างต้น ทั้งอายุขัยเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ บวกกับค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การซื้อประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ
จะสามารถ “โอนความเสี่ยง” ด้านภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปให้แก่บริษัทประกันได้
โดยผลประโยชน์และความคุ้มครองที่เราต้องให้ความสำคัญในการพิจารณาประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุ มีดังนี้
1.อายุที่รับประกันภัย ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยสาเหตุต่างๆ มากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่าในมุมมองของบริษัทประกันและอาจถูกปฏิเสธการรับทำประกันในช่วงอายุมากๆ ได้ โดยในปัจจุบัน ตลาดประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุมีกรมธรรม์ที่คุ้มครองถึงอายุ 100 ปีตอบโจท