แบบประกันที่คุ้มครองโรคร้ายแรงแบบเฉพาะโรค เช่น ประกันมะเร็ง ได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งสอดรับกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่เปิดเผยว่า ยอดผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกปี 2020 ทะลุ 19 ล้านราย และคาดว่า จำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 ภายในปี 2040 เนื่องจากค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาให้หายขาด หรือประคองการรักษาให้มีสวัสดิภาพการใช้ชีวิตใกล้เคียงกับปกติสูงเกินหลักแสนบาทจนถึงหลักล้านบาทขึ้นไปต่อโรค ซึ่งการซื้อประกันมะเร็งเป็นเครื่องมือที่ดีสำหรับป้องกันความมั่งคั่งที่สะสมมาทั้งชีวิตไม่ให้สูญเสียไปเพียงเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง และปัจจุบันแบบประกันมะเร็งต่างๆ มีวงเงินการรักษาสูงสุดที่ครอบคลุมกับค่ารักษาพยาบาลเกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ดี บริษัทรับประกันภัยต่างๆ ที่มีแบบประกันที่คุ้มครองเฉพาะโรคย่อมกำหนดเงื่อนไขสำหรับความคุ้มครองเฉพาะที่เพิ่มเติมมาจากประกันสุขภาพทั่วไป เพราะฉะนั้นผู้ที่สนใจจะทำประกันมะเร็งควรต้องเข้าใจลักษณะของเงื่อนไขความคุ้มครองต่างๆ ของประกันมะเร็งโดยทั่วไปก่อนเช่นเดียวกับแบบประกันสุขภาพอื่นๆ
เงื่อนไขความคุ้มครองของประกันสุขภาพ
ประการแรก คือ การตรวจสอบประวัติครอบครัวก่อนพิจารณารับประกัน เนื่องจากมะเร็งสามารถติดต่อทางพันธุกรรมได้ ซึ่งโดยทั่วไปบริษัทอาจปฏิเสธรับประกันกับผู้ที่ครอบครัวมีประวัติเป็นมะเร็งมาก่อนหรือจำกัดวงเงินความคุ้มครอง แต่ปัจจุบันบางแบบประกันไม่ตรวจสอบประวัติครอบครัวก่อนการรับประกัน แต่เบี้ยประกันต่อวงเงินความคุ้มครองมักสูงกว่าแบบประกันที่ตรวจสอบประวัติครอบครัว
ประการต่อมา คือ ความคุ้มครองของการตรวจเจอมะเร็งในระยะต่างๆ โดยทั่วไปบริษัทประกันจะจำแนกระยะของโรคมะเร็งไว้ 2 ระยะเบื้องต้น คือ มะเร็งระยะเริ่มต้น (ไม่ลุกลาม) กับมะเร็งระยะลุกลาม โดยความหมายของระยะลุกลามนั้นหมายถึง เซลล์มะเร็งขยายใหญ่มากขึ้น ซึ่งขั้นที่มากขึ้นบ่งบอกถึงขนาดของเซลล์มะเร็ง หรือเริ่มแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นด้วยก็ได้ อย่างไรก็ดีมะเร็งระยะลุกลามอาจไม่ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นเสมอไป เช่น มะเร็งสมองบางชนิด เป็นต้น ซึ่งแบบประกันมะเร็งจะมีความคุ้มครองทั้งในกรณีเฉพาะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลามแล้วเท่านั้น หรือ มีความคุ้มครองไม่ว่าจะตรวจเจอโรคมะเร็งในระยะใดก็ตาม หรือ มีความคุ้มครองทั้ง 2 ระยะ ซึ่งมูลค่าความคุ้มครองระยะเริ่มต้นกับระยะลุกลามอาจเท่ากันหรือไม่ก็ได้
นอกจากนี้ความคุ้มครองสำหรับการตรวจวินิจฉัยซ้ำ (Second Opinion) เป็นสิ่งสำคัญอีกประการสำหรับคนที่ตรวจพบว่าอาจเป็นมะเร็งจากการพบแพทย์ครั้งแรก หากตนเองไม่มั่นใจว่าแพทย์วินิจฉัยถูกต้อง หรือต้องการรับคำปรึกษาเพิ่มเติมจากแพทย์หลายท่านเพื่อวางแผนการรักษาและประเมินวิธีการรักษาที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งนอกจากผู้ป่วยได้ประโยชน์จากการประหยัดค่าใช้จ่ายและยืนยันการเป็นโรคจากการวินิจฉัยซ้ำนั้น ยังสามารถนำข้อมูลจากการวินิจฉัยซ้ำไปประกอบการวางแผนการรักษาที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ประกันมะเร็งมีข้อยกเว้น?
สำหรับข้อยกเว้นที่มักพบเจอกับประกันมะเร็งนอกเหนือจากไม่คุ้มครองกรณีป่วยเป็นโรคหรือเนื้องอกที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือสืบเนื่องจากโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องและเชื้อ H.I.V. นั้น มะเร็งผิวหนังเป็นอีกโรคที่แบบประกันตั้งเป็นข้อยกเว้นโดยทั่วไป อย่างไรก็ดีมะเร็งผิวหนังที่บริษัทประกันมักจะตั้งเป็นข้อยกเว้นไม่รับคุ้มครองนั้น คือ มะเร็งผิวหนังประเภท Non-melanoma ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ร้ายแรง มักไม่แพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่น และเกิดขึ้นจากการรับรังสีอัลตราไวโอเล็ต (UV) เป็นระยะเวลานาน ซึ่งบริษัทประกันพิจารณาว่ามะเร็งผิวหนังชนิด Non-melanoma เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต และรักษาได้ง่ายรวมถึงความเสี่ยงกับชีวิตต่ำกว่ามะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma
อีกทั้ง ลักษณะผิวของคนไทยมีเม็ดสีผิวที่จะต้านทานรังสี UV ได้ดีกว่าคนผิวขาว จึงกำหนดเป็นข้อยกเว้นสำหรับการรับประกันโรคมะเร็งผิวหนังประเภท Non-melanoma อย่างไรก็ดีด้วยสภาพอากาศบ้านเราโดยเฉพาะฤดูร้อนปีนี้มีอากาศร้อนและแดดจัดกว่าหลายปีที่ผ่านมา ทำให้รังสี UV สูง และเกิดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้มากขึ้น เราควรปรับพฤติกรรมไม่ตากแดดรับรังสี UV เป็นเวลานานๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งที่จะทำให้เสียค่ารักษาโรคในอนาคต เพราะประกันมะเร็งไม่คุ้มครอง
โรคมะเร็งเป็นโรคที่คนในยุคปัจจุบันและอนาคตมีความเสี่ยงที่จะเป็นมากขึ้น สืบเนื่องจากสังคมเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งเพิ่มโอกาสให้กับการเผชิญสารก่อมะเร็งทั้งในสินค้าที่คนอุปโภคบริโภค การเพิ่มขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกสบายมากมายจนละเลยการออกกำลังกายเพื่อดูแลสุขภาพ สำหรับการซื้อประกันมะเร็งถือเป็นวิธีการวางแผนชีวิตวิธีหนึ่งโดยโอนความเสี่ยงไปสู่บริษัทรับประกันเพื่อป้องกันความมั่งคั่งตนเองไม่ให้สูญเสียไปกับค่ารักษา อย่างไรก็ดีหากเราทราบและเข้าใจถึงเงื่อนไขเฉพาะกับการรับประกันโรคมะเร็งก่อนตัดสินใจซื้อประกัน สามารถจะนำไปเปรียบเทียบเพื่อให้เบี้ยประกันที่ชำระไปคุ้มค่าและปิดความเสี่ยงที่เราต้องการได้อย่างแท้จริง
เผยแพร่ครั้งแรกในบทความ Health is Wealth กรุงเทพธุรกิจ