รังสีโปรตอน “มิสไซล์” ล็อคเป้า-ยิง ความหวังใหม่รักษามะเร็ง

file

ถึงเวลาที่คุณต้องทำความรู้จัก “รังสีโปรตอน” ซึ่งเรียกได้ว่าสามารถล็อคเป้ายิงเพื่อรักษามะเร็งได้ดีกว่าที่เคย ทำไมจึงเป็นแบบนั้น? รังสีนี้แตกต่างจากรังสีรักษาในอดีตอย่างไร? เราจะพาคุณไปรู้จักกับ “มิสไซล์ รักษามะเร็ง” นี้กัน

“รังสีรักษา” ในประเทศไทย มีพัฒนาการมายาวนานไม่ต่ำกว่า 70 ปี เห็นได้จากสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่เริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งมาตั้งแต่ปี 2494 ด้วยเครื่องเอกซเรย์กิโลโวลต์ ต่อมาในปี 2501-2533 ก็เริ่มให้บริการรักษาผู้ป่วยด้วยรังสีแกมม่าจากเครื่องโคบอลต์-60

จนกระทั่งปี 2533 เป็นต้นมา ได้พัฒนามาสู่การใช้รังสีเอกซ์พลังงานสูง (X-ray) และอนุภาคอิเล็กตรอนจากเครื่องเร่งอนุภาค พร้อมทั้งยังพัฒนาไปสู่เครื่องเร่งอนุภาคที่ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยปัจจุบัน โรงพยาบาลจุฬาฯ มีเครื่องเร่งอนุภาคจำนวน 6 เครื่อง ให้บริการฉายรังสีแก่ผู้ป่วยได้ปีละประมาณ 3,500 ราย จากผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีทั้งประเทศราว 44,000 คนต่อปี

อย่างไรก็ตามวิธีการรักษาด้วยรังสี X-ray ก็ยังคงมีข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น...มันคืออะไร ?

ข้อจำกัดการรักษาด้วยรังสี X-ray

ผศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ หัวหน้าศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า แม้รังสี X-ray จะสร้างผลกระทบต่อร่างกายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดหรือคีโมบำบัด แต่การฉายรังสีก็มีผลข้างเคียง โดยเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด เนื่องจากการฉายรังสีมีข้อจำกัดสำคัญ คือ เมื่อรังสีเข้าสู่ร่างกายไปสู่ก้อนมะเร็ง ปริมาณรังสีจะลดลงตามความลึกที่รังสีผ่าน และมีรังสีบางส่วนที่เลยออกจากก้อนมะเร็ง จึงไม่สามารถควบคุมปริมาณรังสีที่ตกถึงก้อนมะเร็งให้สูงพอจะควบคุมโรคได้ เพราะถูกจำกัดด้วยปริมาณรังสีที่อาจกระทบเนื้อเยื่อปกติหรืออวัยวะข้างเคียง ซึ่งหากมีปริมาณสูงเกินไป ก็อาจทำให้อวัยวะเหล่านั้นเกิดความผิดปกติได้​ในระยะยาว

ยกตัวอย่าง มะเร็งตับ ซึ่งเป็นมะเร็งอันดับ 1 ที่คร่าชีวิตคนไทย การฉายรังสี X-ray ที่ก้อนมะเร็งที่ตับจะทำให้เนื้อเยื่อตับปกติได้รับรังสีไปด้วย ดังนั้น จึงต้องระวังไม่ให้บริเวณเนื้อเยื่อปกติได้รับรังสีในปริมาณที่มาก ขณะเดียวกันหากใช้ปริมาณรังสีที่น้อยเกินไป ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำลายก้อนมะเร็ง​ได้ เช่นเดียวกับมะเร็งสมอง ที่ต้องระวังไม่ให้มีรังสีไปถูกเนื้อเยื่อสมองปกติมากเกินไป ยิ่งกว่านั้นคือ หากต้องมีการฉายรังสีบริเวณที่ไขสันหลังร่วมด้วย ยิ่งจำเป็นต้องระวังไม่ให้ปริมาณรังสีมากไป จนกระจายไปถูกอวัยวะสำคัญที่อยู่ด้านหน้า เช่น หัวใจ ปอด รวมถึงเต้านม ซึ่งทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าปกติ 

นอกจากนี้ ยังมีมะเร็งในเด็ก ซึ่งเป็นอีกโรคที่ต้องระมัดระวังอย่างสูงในการฉายรังสี เนื่องจากเนื้อเยื่อของเด็กมีความไวต่อรังสี โดยจากการวิจัยพบว่า ผลข้างเคียงจากรังสีทำให้ผู้ป่วยเด็ก 10-20% เสียชีวิตหลังจากรักษามะเร็งด้วยรังสี

“รังสีโปรตอน” ล็อคเป้า-ยิงแบบมิสไซล์...รักษามะเร็งในจุดเข้าถึงยาก

“ทางทฤษฎีฟิสิกส์พบว่า อนุภาคโปรตอนมีความสามารถพิเศษ คือ ขณะที่รังสีวิ่งเข้าไปในร่างกาย จะมีการปลดปล่อยพลังงานออกมาเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อถึงความลึกที่ต้องการ อนุภาคโปรตอนจะปล่อยพลังงานออกมามาก เหมือนยิงมิสไซล์ไปที่ก้อนมะเร็ง แล้วจรวดก็ทำลายล้างเซลล์มะเร็งบริเวณนั้น เรียกว่า มุ่งเป้า (Focus) กว่าการฉายรังสีแบบเดิม ทำให้เนื้อเยื่อข้างเคียงได้รับผลกระทบน้อยกว่า ผลที่ได้คือ โอกาสหายจะเพิ่มขึ้นมาก คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก็ดีขึ้นด้วย”

ยกตัวอย่าง กรณีที่ก้อนมะเร็งอยู่กลางลำตัว การฉายรังสี X-ray ในปัจจุบันจะใช้วิธีฉายรังสีเฉลี่ยรอบร่างกาย คือฉายรังสีจากหลายทิศทาง โดยแต่ละทิศต้องให้รังสีไม่เยอะเกินไป เพื่อให้รังสีไปรวมที่ก้อนมะเร็ง เพื่อเฉลี่ยให้เนื้อเยื่อปกติรอบร่างกายไม่ได้รับรังสีเยอะเกินไป แต่วิธีรักษาด้วยอนุภาคโปรตอน จะสามารถปล่อยรังสีในบริเวณ ในความลึก และในปริมาณที่ต้องการได้ ทำให้หวังผลได้มากขึ้น ขณะที่ปริมาณรังสีรอบตัวผู้ป่วยจะลดลง และจากประสิทธิภาพการรักษาที่สูง จึงช่วยลดจำนวนครั้งในการฉายแสงของผู้ป่วยแต่ละรายลงได้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น ​

ทั้งนี้ หลักการของเครื่องฉายรังสีอนุภาคโปรตอน คือ มี “ไซโคลตรอน” ซึ่งทำจากเหล็กบริสุทธิ์หนัก 90 ตัน เป็นเครื่องเร่งอนุภาคโปรตอน โดยเร่งให้มีความเร็ว 2 ใน 3 ของความเร็วแสง หรือประมาณ 200,000 กิโลมตรต่อวินาที พร้อมด้วยท่อลำเลียงอนุภาคโปรตอนเป็นแท่งแม่เหล็กหนักอีกหลาย เพื่อบังคับทิศทางและความเร็วของรังสีให้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ลึกถึง 30 เซนติเมตร ซึ่งทั้งหมดนี้ หมายถึง ต้นทุนค่าเครื่องไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และค่าบำรุงรักษาที่สูงถึง 100-200 ล้านบาทต่อปี 

“ด้วยต้นทุนที่สูงมาก เราจึงของบรัฐบาลมาได้แค่เครื่องเดียว ฉะนั้น ต้องเลือกผู้ป่วยที่คิดว่าจะได้ประโยชน์ที่สุดจากการรักษาในวิธีนี้ นั่นก็คือ ผู้ป่วยมะเร็งในอวัยวะที่เนื้อเยื่อไวต่อรังสี เช่น มะเร็งตับ มะเร็งสมองและไขสันหลัง หรืออยู่ติดอวัยวะสำคัญหรืออยู่ในตำแหน่งที่ฉายรังสียาก เช่น ศีรษะ ไขกระดูก และลำคอ เพราะการให้รังสีด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจไม่สามารถเพิ่มปริมาณรังสีให้สูงพอจะฆ่าเซลล์มะเร็งได้หมด แต่ถ้าเพิ่มปริมาณรังสีมากไปก็อาจส่งผลต่อเนื้อเยื่อปกติเยอะรุนแรงเกินไป”  

รักษาที่ไหน - ค่าใช้จ่ายอย่างไร ?

ผศ.นพ.ชลเกียรติ กล่าวว่า ในช่วงประมาณเดือน ส.ค. 2564 “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” จะเริ่มเปิดให้บริการ และส่งผลให้ประเทศไทยมีศูนย์ฉายรังสีอนุภาคโปรตอนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เนื่องจากการรักษาด้วยรังสีอนุภาคโปรตอน จำเป็นจะต้องเร่งอนุภาคโปรตอนให้ได้ความเร็วสูงมาก ระดับ 2 ใน 3 ของความเร็วแสง เพราะฉะนั้นอุปกรณ์และต้นทุนค่าบำรุงรักษาจึงสูงมาก เห็นได้จากค่ารักษาในต่างประเทศ เช่น อเมริกา และญี่ปุ่น อยู่ที่ประมาณ 2 - 3 ล้านบาทต่อคน 

อย่างไรก็ตาม “ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ” จะพยายามบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อทำให้ค่ารักษาที่ถูกกว่าเมื่อเทียบต่างประเทศ เพื่อเดินหน้าการรักษาให้เป็นไปตามพันธกิจของสภากาชาดไทยต่อไป

 

ข้อมูลโดย : ผศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ

หัวหน้าศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

 

========================

 

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 19 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>