ความหวังรักษา ‘ธาลัสซีเมีย’ แค่ ‘ฉีด’ ก็หายได้ ด้วยนวัตกรรม Gene Editing

file

‘โรคธารัสซีเมีย’ นับเป็นโรคพันธุกรรมที่พบมากที่สุดในโลก และพบมากที่สุดในประเทศไทย โดยในไทยมีคนที่เป็นพาหะของธาลัสซีเมียถึง 30 – 40% ของประชากร ในแต่ละปีมีเด็กเกิดใหม่ป่วยเป็นโรคธาลัสซีเมีย ประมาณ 12,125 ราย ผู้ป่วยในไทยประมาณ 6 แสนคน เป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงปานกลาง ซึ่งต้องได้รับการรักษาแบบประคับประคองโดยการรับเลือดและยาขับเหล็กเป็นประจำทุกเดือนไปตลอดชีวิต[1]

แม้ว่าการรักษาให้หายขาดในไทยจะสามารถทำได้ด้วยวิธี ‘ปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด’ จากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดีและมีเนื้อเยื่อที่สามารถเข้ากับผู้ป่วยได้ เช่น พ่อแม่พี่น้องของผู้ป่วย หรือผู้บริจาคจากสภากาชาดไทย แต่ก็มีเพียง 40% เท่านั้นที่สามารถหาผู้บริจาคที่เหมาะสม อีกทั้งในระหว่างการรักษามักมีภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอายุขัยลดลง[1]

แต่ด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์ และเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotechnology ที่ก้าวไกล ประกอบกับความมุ่งมั่นของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่นำทีมโดย ศ.นพ.สุรเดช หงษ์อิง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในสหรัฐฯ และออสเตรเลีย

ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีนวัตกรรมการรักษาธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยวิธี ‘ยีนบำบัด’ หรือ Gene Addition เป็นครั้งแรกของโลก วิธีนี้แพทย์จะทำการรักษาผู้ป่วยเพียงครั้งเดียวด้วยสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเอง และคงประสิทธิภาพการรักษาไปตลอดชีวิตของผู้ป่วย อีกทั้งมีผลค้างเคียงของการรักษาที่น้อยกว่าวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

เจาะลึกขั้นตอนยีนบำบัดรักษาธาลัสซีเมีย

ศ.นพ.สุรเดช ขยายความถึง Gene Addition ให้ฟังว่า เป็นการรักษาที่นำเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ของผู้ป่วยออกมาเลี้ยงข้างนอก หรือ Ex Vivo จากนั้นนำยีนที่ปกติสร้างขึ้นในหลอดทดลอง (Gene Cloning) ไปใส่ใน Lentivirus  Vector ซึ่งเป็นไวรัสที่ไม่ก่อให้เกิดโรคเพื่อเป็นพาหะนำส่งหน่วยพันธุกรรมเข้าไปในสเต็มเซลล์ของผู้ป่วย

ขั้นตอนต่อไปคือ นำ Vector ที่มียีนปกติมาคลุกเคล้ากับสเต็มเซลล์ของผู้ป่วย หลังจากนั้นก็ย้ายสเต็มเซลล์ที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมนี้กลับสู่ร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงที่เป็นปกติออกมา ซึ่งวิธีนี้ได้ทำการวิจัยและประสบความสำเร็จครั้งแรกประมาณปี 2553 ในผู้ป่วยธาลัสซีเมียเชื้อสายไทย เวียดนาม ที่อาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส และทีมของเขาได้วิจัยต่อเนื่องมาตลอด 6 ปีในผู้ป่วย 60-70 รายจำนวนนี้เป็นคนไทย 5 ราย ผลวิจัยพบว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ถึง 90%

“วิธีการรักษาด้วยยีนบำบัดมีข้อดี คือ เป็นการรักษาโดยใช้สเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเองจึงช่วยลดข้อจำกัดเรื่องการหาสเต็มเซลล์ของคนอื่นที่ต้องตรงกับผู้ป่วย ข้อดีต่อมา คือ หลังการรักษาจะใช้ยาเคมีบำบัดน้อยกว่าวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดทำให้มีผลข้างเคียงต่อการรักษาน้อยกว่า และข้อดีข้อที่สาม คือ ผู้ป่วยไม่ต้องทานยากดภูมิคุ้มกันจึงมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อน้อยกว่าวิธีปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันหลังเข้ารับการรักษาประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนปัญหาเดียวที่เจอในตอนนี้ คือ ค่ารักษา ซึ่งต่างประเทศคิดค่ารักษาอยู่ที่ 50 ล้านบาทต่อ 1 เข็ม ซึ่งของไทยเมื่อเราวิจัยได้เองแล้วราคาค่ารักษาน่าจะถูกกว่านั้นพอสมควร”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีข้อกังวลว่า Vector ที่เป็นตัวนำส่งยีนปกติเข้าเซลล์อาจจะก่อให้เกิดการทำลายพันธุกรรมของมนุษย์ ประกอบกับจะต้องมีระบบใหญ่ในการสร้าง Vector ขึ้นมา ดังนั้น เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล จึงร่วมกันศึกษาวิธีรักษารูปแบบใหม่ ด้วยระบบ Gene Editing ซึ่งก็คือ คริสเปอร์-แคสไนน์  (CRISPR/Cas9) เป็นวิธีที่ค้นพบโดย นักวิทยาศาสตร์หญิง 2 คน คือ Prof. Emmanuelle Charpentier และ Prof. Jennifer A. Doudna เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีประจำปี 2563 เพื่อให้การปรับแก้พันธุกรรมเป็นไปได้ง่ายและแม่นยำมากขึ้น ซึ่งผลการทดลองในหลอดทดลองถือว่าได้ผลดีมาก มีแผนจะเริ่มทำการทดลองในหนูภายใน 1 – 2 ปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มทำการวิจัยในคนได้ใน 3-5 ปีข้างหน้า

“ระบบ คริสเปอร์-แคสไนน์  เป็นระบบที่เรียนรู้จากแบคทีเรีย Streptococcus ซึ่งในตัวของมันสามารถตัดต่อแก้ไขยีนได้เองเพื่อความอยู่รอดจากการกลายพันธุ์ ระบบในตัวของแบคทีเรียนี้เราเรียกว่า  Zinc Finger Nuclease  นักวิทยาศาสตร์หญิงสองท่านนี้ได้ศึกษาและพยามนำระบบ Zinc Finger Nuclease มาปรับให้เหมาะกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนออกมาเป็น คริสเปอร์-แคสไนน์ ซึ่งการทำงานของมันก็คือ เราจะสร้างคริสเปอร์-แคสไนน์ ในหลอดทดลอง และนำเซลล์ของผู้ป่วยออกมาเลี้ยงนอกร่างกาย จากนั้นระบบคริสเปอร์-แคสไนน์ มันจะถูกยิงเข้าไปในเซลล์ ตรงนี้ไม่ต้องพึ่งพิงการนำส่งด้วย Vector อีกต่อไป เพราะมันเป็นระบบของคริสเปอร์-แคสไนน์ เป็นโมเลกุลของ RNA แล้วก็มีแคสไนน์เป็นเหมือนกับกรรไกรที่เข้าไปตัดแล้วก็แต่งบริเวณที่เราดีไซน์ หรือ เรากำหนดว่าจะต้องแก้ตรงจุดนี้ ซึ่งผู้ป่วยก็จะกลับมาเป็นปกติได้ในที่สุด”

คริสเปอร์-แคสไนน์ นอกจากมีโอกาสรักษาโรคธาลัสซีเมียได้แล้ว ยังสามารถรักษาโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย และในอนาคตประมาณ 10 - 20 ปี  ศ.นพ.สุรเดช เชื่อว่าจะได้เห็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีไซน์ คริสเปอร์-แคสไนน์ ไว้ในหลอดยาและฉีดเข้าไปเส้นเลือดเพื่อให้มันวิ่งเข้าไปรักษาจุดที่เป็นปัญหาได้ทันที โดยที่ไม่ต้องเจาะเอาสเต็มเซลล์ออกมาเลี้ยงข้างนอก ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า ‘Invivo Genome Editing’ หากวิธีการนี้เป็นจริงได้จะส่งผลดีต่อการรักษาโรคที่ไม่สามารถนำสเต็มเซลล์ออกมานอกร่างกายได้ เช่น โรคเกี่ยวกับสมอง ปอด ตับ เป็นต้น

สำหรับค่ารักษาด้วยวิธีคริสเปอร์-แคสไนน์ ในต่างประเทศจะอยู่ที่ 80-100 ล้านบาท ต่อการรักษา 1 เข็ม ยิ่งหากเป็นเทคโนโลยีแบบ  ‘Invivo Genome Editing’ ที่ไม่ต้องนำเซลล์ออกมาเลี้ยงข้างนอก ค่ารักษาอาจจะมากถึง 100 - 200 ล้านบาทต่อ 1 เข็ม เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวิจัยการรักษานี้ขึ้นมาเองเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย หากยังไม่เร่งดำเนินการอาจจะต้องซื้อนวัตกรรมนี้มาจากต่างประเทศทำให้ต้องเสียเงินมากมาย

“เรายังต้องการงบประมาณจำนวนมากเพื่อมาวางพื้นฐานเรื่องการวิจัย อย่าลืมว่างานวิจัย 1 ชิ้นสามารถช่วยเหลือคนไข้ได้จำนวนมาก อาจจะดีกว่าที่เราทุ่มเงินเพื่อไปรักษาคนหนึ่งคนที่ต้องใช้เงินจำนวนมากพอๆ กับการวิจัย การที่นำเงินมารักษาคนไข้ 1 คน 100 ล้าน อาจจะได้แค่ไม่กี่คน แต่เงิน 100 ล้านมาสร้างระบบวิจัยสามารถช่วยคนเป็นล้านๆ เลยครับ นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเรียนให้ทุกท่านได้รับทราบครับ”

ความก้าวหน้าของนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมถึงองค์ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ หรือ Genomic และการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ หรือ Biotechnology ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด นำมาซึ่งความหวังการรักษาที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น 

========================

ข้อมูลโดย : ศ.นพ.สุรเดช หงษ์อิง

ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย และหัวหน้าสาขาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

========================

[1]สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณะสุข: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/all/02/116500

[1] คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี: https://med.mahidol.ac.th/rama_hospital/th/services/knowledge/01202020-1601

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 25 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 25 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 25 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>