มะเร็งใครว่าร้าย เป็นได้ ก็หายได้

file

“เสียใจด้วยครับ...คุณเป็นโรคมะเร็ง” เป็นประโยคหนึ่งที่ไม่มีใครอยากได้ยินที่สุดในชีวิต คนที่เคยมีบุคลิกที่ดูร่าเริงสดใสกลับหม่นหมองกลายเป็นคนละคนจากที่เคย เพราะคนเหล่านี้มักเชื่อว่าเป็นโรคที่อันตรายที่เมื่อเป็นแล้วจะทำให้เสียชีวิต แต่จากสถิติกระทรวงสาธารณสุขไทยพบว่า โรคมะเร็งถือเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด โดยผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 84,000 คนต่อปี หรืออาจกล่าวได้ว่า ทุกๆ หนึ่งชั่วโมงจะมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ย 9.6 คน หรืออาจต้องเจ็บปวดจากผลข้างเคียงจากการรักษาที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

แผนภาพที่ 1: แสดงอัตราการเสียชีวิตของคนไทย (พ.ศ. 2541 – 2562) จากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่อประชากร 100,000 คน

file

ที่มา: สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB)

การรักษาโรคมะเร็งทั่วไปมักคุ้นเคยกับวิธีการผ่าตัด, เคมีบำบัด หรือ ฉายรังสี ซึ่งอาจมีผลข้างเคียงมากน้อยแตกต่างกันไป แต่นวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ทั้งยังช่วยให้อัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น จากผลการศึกษา Concord-3 โดยคณะสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อนลอนดอนระบุว่าในช่วงการศึกษาปีค.ศ. 2000 – 2014   มีผู้ป่วยมะเร็งที่สามารถดำรงชีวิตได้นานมากกว่า 5 ปีเพิ่มขึ้น 5% ก่อนปี ค.ศ. 2000 โดยเฉพาะ “มะเร็งปอด” ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย เพราะนวัตกรรมการรักษาในปัจจุบันสามารถลดผลกระทบจากการฉายรังสีที่อาจทำลายเซลล์ข้างเคียงได้ดีขึ้นจนกลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดำรงชีวิตยาวนานขึ้น

รักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอนลดผลข้างเคียงสู่เซลล์อื่นๆ

ในปัจจุบันมีการรักษามะเร็งด้วยอนุภาคโปรตอน (Targeted Proton Therapy) เป็นการรักษาโดยให้ปริมาณรังสีที่สม่ำเสมอครอบคลุมเป้ารักษา โดยบริเวณนอกลำรังสีจะได้รับรังสีน้อยที่สุดหรือไม่ได้รับเลย ทำให้ฆ่าเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง และช่วยลดผลข้างเคียงสู่เซลล์อื่นๆ จากการฉายรังสีมากกว่าแบบโฟตอนที่เป็นรังสีดั้งเดิม โดยเฉพาะตำแหน่งมะเร็งที่ต้องใช้ความแม่นยำสูง เช่น มะเร็งสมองที่ก้อนมะเร็งอาจอยู่ใกล้อวัยวะสำคัญอื่นๆ เป็นต้น สำหรับประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการจัดตั้งศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ ซึ่งเป็นการรักษามะเร็งด้วยโปรตอนแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะเปิดบริการให้กับประชาชนในเดือน ก.ย. 2563

ภูมิคุ้มกันบำบัด อีกหนึ่งนวัตกรรมรักษามะเร็ง

นอกจากนี้ การรักษามะเร็งด้วยวิธีภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นอีกนวัตกรรมการรักษามะเร็งโดยที่ใช้ยาที่ผลิตขึ้นจากเซลล์และฉีดให้ผู้ป่วยเพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นผ่านกระบวนการพิเศษ ทำให้มีความสามารถในการจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งที่เป็นเป้าหมายได้อย่างจำเพาะโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกาย ซึ่งจากผลการรักษาปัจจุบันจะได้ผลดีกับการรักษามะเร็งผิวหนัง Melanoma, ปอด, ศีรษะและคอ เป็นต้น

ตรวจหามะเร็ง ด้วยการตรวจยีน

นอกเหนือจากนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ วิธีการตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมพร้อมต่อการป้องกันหรือรักษามะเร็งนั้นก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยต่างประเทศมีการใช้เทคโนโลยีใหม่อย่าง การตรวจยีน (Genetic Cancer Screening) มาวิเคราะห์โอกาสหรือตรวจให้พบว่าเป็นได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเหมาะกับคนในครอบครัวสายเลือดเดียวกันที่เป็นมะเร็ง และอาจเป็นหลายชนิด โดยไม่ต้องรอให้ร่างกายบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็ง หากเรารู้ตัวว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง การป้องกัน หรือการวางแผนรักษาจะง่ายและมีโอกาสหายขาดสูง ซึ่งนักแสดงระดับโลกอย่าง แองเจลลิน่า โจลี่ ก็ตัดสินใจตัดและปลูกถ่ายเต้านมใหม่หลังพบว่ามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งถึง 87%

วิธีการรักษาใหม่ๆ ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ย่อมตามมาด้วยค่ารักษาที่แพงขึ้นกว่าวิธีการดั้งเดิม เช่น การรักษาด้วยรังสีโปรตอนอาจต้องใช้รักษาร่วมกับวิธีการรักษาอื่นๆ เช่น การให้เคมีบำบัด หรือ การฉายรังสีแบบปริมาณสูงเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่าย ประมาณกว่า 1 ล้านบาท หรือ ยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ในปัจจุบันเรายังต้องนำเข้าจากต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายราว 2 แสนบาทต่อ 1 วัคซีน ซึ่งเฉลี่ยแล้วหากรักษาราว 2 ปีอาจต้องมีค่าใช้จ่ายราว 7 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับระยะของมะเร็ง

โดยวิธีการรักษาเหล่านี้ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคมไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด แต่การทำประกันสุขภาพ หรือแบบประกันโรคร้ายแรง หรือ ประกันมะเร็ง จะช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายเหล่านี้ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ได้ทันท่วงทีและช่วยให้เพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรือเพิ่มโอกาสหายจากมะเร็งได้มากขึ้น

จะเห็นว่านวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งที่ทันสมัยมากขึ้นในปัจจุบัน โรคมะเร็งอาจไม่ใช่โรคร้ายที่เราคิดเหมือนในอดีต ถึงเป็นได้ ก็หายง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การวางแผนเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง นอกเหนือจากเราต้องตระหนักรู้เบื้องต้นว่าการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันจะรักษาได้อย่างไร การวางแผนค่าใช้จ่าย เช่น การทำประกันสุขภาพที่ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายการรักษาหรือกำหนดวงเงินผลประโยชน์เพื่อการรักษาได้ชัดเจน อีกทั้งยังช่วยเปิดโอกาสให้เราสามารถเข้าถึงวิธีการรักษาใหม่ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งทำให้เพิ่มกำลังใจให้กับผู้ป่วยเพื่อเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็งและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติต่อไปอีกด้วย

 

==================================================

เผยแพร่ครั้งแรกในบทความ Health is Wealth กรุงเทพธุรกิจ

บทความล่าสุด

หุ้นกลุ่ม Healthcare ทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีหุ้นโลก

โพสต์เมื่อ 25 เมษายน 2567

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่น จากแนวโน้มการเติบโตที่คาดว่าจะสูงกว่าตลาดโดยรวมในปีนี้ ในขณะที่ยังซื้อขายในระดับราคาที่ไม่แพงโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มเทคโนโลยีที่เติบโตในระดับใกล้เคียงกัน ทำให้ปีนี้มีโอกาสสูงที่กลุ่ม Healthcare จะกลับมาทวงคืนตำแหน่ง Top Performer บนเวทีตลาดหุ้นโลก

อ่านต่อ >>

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 25 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 25 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>