เมกะเทรนด์จีน เหนือกว่าสหรัฐฯ ?!?

file

ธุรกิจเมกะเทรนด์ของจีนจะเหนือกว่าสหรัฐฯ หรือไม่ ??? ถ้าตอนนี้ “ประเทศจีน” กลายเป็นผู้ท้าชิงบัลลังก์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ที่สหรัฐอเมริกาดำรงตำแหน่งอยู่อย่างเข้มข้นที่สุด !!! 

ก่อนที่จะไปสู่ประเด็นด้านเมกะเทรนด์ของจีน เราอยากให้คุณเห็นภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศนี้ก่อนว่า ทำไมจึงมีความโดดเด่น...

หากพิจารณาข้อมูลของประเทศจีนในมิติต่างๆ ทั้งจำนวนประชากร อัตราการเติบโตของรายได้ต่อหัวของประชากร อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความหลากหลายและการส่งเสริมการวิจัยค้นคว้า และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่เริ่มล้ำหน้าชาติตะวันตก ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสนับสนุนให้จีนอาจก้าวมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกหน้าใหม่ก็เป็นได้ แน่นอนว่าธุรกิจที่สามารถเกาะกระแสการเติบโตของจีนในประเด็นดังกล่าวย่อมได้อานิสงส์การเติบโตต่อเนื่องได้อีกหลายทศวรรษ

สำหรับข้อได้เปรียบสำคัญประการแรกที่ทำให้ประเทศจีนมีศักยภาพในการเป็นชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ คือ “จำนวนประชากร” กว่า 1,400 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรโลก ยิ่งไปกว่านั้น รายได้สุทธิต่อหัว (Disposable Income per Capita) ของจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 – 2020 เติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 7.94% ขณะที่รายได้สุทธิต่อหัวของสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ยเพียง 2.72% ดังนั้น ธุรกิจใดที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของชาวจีน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Discretionary) ย่อมได้อานิสงส์การเติบโตตามรายได้ต่อหัวที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

นอกจากนี้ชาวจีนนิยมซื้อขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น อีคอมเมิร์ซ โดยสถิติจาก eMarketer คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 ว่าในปี 2021 คนจีนจะใช้จ่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ราว 51% หรือราว 1.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ของโลก 

ในขณะที่สัดส่วนสหรัฐฯ พบว่ามีเพียง 15% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดเท่านั้น บ่งบอกถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจ Consumer Discretionary ภายในประเทศจีน เนื่องด้วยความสะดวกสบายในการใช้จ่าย และยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก จากแนวโน้มอัตราการเติบโตของรายได้สุทธิต่อหัวของคนจีนที่โดดเด่นเช่นกัน

อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยประเทศจีนเคยดำเนินนโยบายลูกคนเดียว (One-child Policy) ในอดีต ทำให้โครงสร้างประชากรจีนกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจลำดับต้นๆ ของโลก จากรายงานโดยสำนักสถิติแห่งชาติของจีนเมื่อปี 2020 ระบุว่า ประชากรจีนมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) แตะ 12% โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ น่าจะมีผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อร้ายแรง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิต โรคเบาหวาน หรือโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นราว 40% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น ธุรกิจที่อาจได้รับความนิยมมากขึ้นจากนี้คงหนีไม่พ้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ อย่างธุรกิจ Healthcare 

นอกเหนือจากรายได้สุทธิต่อหัวของคนจีนที่เติบโตสูงตามที่กล่าวข้างต้น สัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพยังถือว่าต่ำกว่าประเทศที่มีโครงสร้างประชากรเป็นสังคมผู้สูงอายุ หากเปรียบเทียบระหว่างสหรัฐฯ และจีน พบว่ามีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อ GDP ที่ 16.9% และ 5.4% ตามลำดับ หรือต่างกันกว่า 3 เท่าตัว 

ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวกับสุขภาพยังมีช่องทางขยายตลาดการจำหน่ายยารักษาโรค NCDs ได้อีกมากมาย โดย JP Morgan รายงานว่าเม็ดเงินการทำ R&D ของบริษัทเวชภัณฑ์จีนตั้งแต่ปี 2014 – 2019 เพิ่มขึ้นจาก 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สู่ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเฉลี่ยปีละ 19.57% ซึ่งการทำ R&D มาก ย่อมช่วยเร่งให้มียารักษาโรคตัวใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมที่ดีกว่ายาเดิมในท้องตลาด และสามารถสร้างยอดขายที่แก่ธุรกิจเฮลธ์แคร์ในจีนได้อย่างโดดเด่นอีกด้วย

นอกจากปัจจัยโครงสร้างประชากรแล้ว ปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐฯ เองที่กำหนดทิศทางประเทศมาตลอด 100 ปี จนสามารถประกาศชัยชนะต่อความยากจนได้ โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 14 ระยะเวลาตั้งแต่ปี 2021 – 2025 โดยส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม คือ ผลักดันงบประมาณการทำ R&D ให้ได้ถึง 7% ต่อ GDP ต่อปีให้ได้ภายในปี 2025 

นับได้ว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เพราะจะทำให้จีนเป็นประเทศที่ทุ่มงบ R&D สัดส่วนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลกทันที โดยมุ่งเน้นด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น Semiconductor, Healthcare, Quantum Computing และ Cloud computing เป็นต้น โดยธุรกิจ Semiconductor ในจีนจะช่วยให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศได้ หรือ ธุรกิจ Cloud Computing จากทั้ง Alibaba, Tencent, Baidu, JD.com หรือ Kingsoft ด้วยการสนับสนุนพัฒนา Platform ต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าชาวจีนมาใช้บริการมากขึ้น และเพื่อป้องกันคู่แข่งขันที่แข็งแกร่งจากฝั่งตะวันตกอย่าง Amazon, Google หรือ Microsoft เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดชาวจีน 

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนมีนโยบาย “Carbon Neutrality” หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้เหลือศูนย์ได้ภายในปี 2060 ดังนั้น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกในจีน เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เช่น NIO, BYD, Geely เป็นต้น หรือผู้นำด้านพลังงานแสงอาทิตย์ เช่น Xinyi Solar Holdings ที่เป็นผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์อันดับ 1 ในจีน อาจได้อานิสงส์จากแรงสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเช่นกัน


จะเห็นได้ว่าธุรกิจในจีนเองก็มีธีมการลงทุนระยะยาวที่น่าสนใจไม่แพ้ฝั่งตะวันตก เช่น ธุรกิจ Consumer Discretionary ที่ได้ประโยชน์จากจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก การเริ่มต้นสังคมผู้สูงอายุกับการเติบโตในอัตราเร่งของธุรกิจสุขภาพในจีน หรือการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีของรัฐบาลจีนผ่านยุทธศาสตร์ฉบับที่ 14 ที่ช่วยให้ธุรกิจเทคโนโลยีสัญชาติจีนมีโอกาสขยายศักยภาพเพื่อให้ทัดเทียมกับฝั่งตะวันตกและสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามยุทธศาสตร์วงจรคู่ขนานที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้ได้อีกด้วย

 

==========================================

บทความโดย : ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager ธนาคารทิสโก้ 

บทความล่าสุด

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 28 มีนาคม 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>

Asia ex Japan หุ้นไม่แพง โตแรงแซงเศรษฐกิจโลก

โพสต์เมื่อ 28 มีนาคม 2567

ท่ามกลางตลาดหุ้นหลักของโลก เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น New High ต่อเนื่องจนมูลค่าเริ่มตึงตัว แต่หุ้นกลุ่มประเทศเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น ยังมีมูลค่าการซื้อขายยังอยู่ในระดับต่ำ และสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

อ่านต่อ >>

ปีทองตลาดหุ้นเวียดนาม Country winner ปี 2024

โพสต์เมื่อ 28 มีนาคม 2567

เข้าสู่โค้งสุดท้ายของไตรมาส 1 ปี 2024 ตลาดหุ้นหลายแห่งทั้งสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย ยังเดินหน้าทำ New high อย่างต่อเนื่อง ทำให้การเข้าลงทุนในระดับราคาปัจจุบันเริ่มมีความเสี่ยง (Downside risk) ที่สูงขึ้นจาก Valuation ที่เริ่มตึงตัว

อ่านต่อ >>