Megatrends Allocation

file

คำถามที่ว่า “จัดพอร์ตการลงทุนต้องกระจายความเสี่ยงเพื่ออะไร?” แน่นอนว่าคำตอบคือ เพื่อลดความผันผวนของมูลค่าพอร์ตการลงทุนจากการลงทุน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นแนวคิด “พื้นฐาน” สำหรับการลงทุนที่ดี แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์โรคระบาดที่เรากำลังเผชิญบ่งชี้ว่า การกระจายการลงทุนแบบ “ดั้งเดิม” อาจไม่มีประสิทธิภาพในการลงทุนเพียงพอสำหรับทุกสถานการณ์ เว้นแต่ว่าเราจะปรับเปลี่ยนพอร์ตให้สอดคล้องกับ “ยุคสมัยใหม่” หรือ เทรนด์ของโลก ที่คาดว่าจะคงอยู่ไปอีกหลาย 10 ปี หรือในอีกชื่อว่า Megatrends

หากเราสรุปผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ที่มีต่อตลาดหุ้นทั่วโลกโดยอ้างอิงจากดัชนี MSCI All Country World Index ครึ่งปีแรก จะพบว่าปรับลดลง -7.13% สอดคล้องกับการประเมินทิศทางเศรษฐกิจของทั้งปี 2020 โดย IMF ที่ GDP โลกอาจติดลบถึง -4.9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สืบเนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ถูกจำกัดอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศที่ถูกระงับทั้งในแง่ของการเดินทางเพื่อธุรกิจหรือเพื่อท่องเที่ยวที่ต้องปิดทำการ ซึ่งกระทบไปถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ลูกหนี้เกิดความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น และกลุ่มพลังงานที่ความต้องการใช้เชื้อเพลิงเพื่อการผลิตหรือการเดินทางลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ถือว่ามีบทบาทสำคัญตั้งแต่เศรษฐกิจโลกในอดีต แต่ยังมีจุดอ่อนคือการพึ่งพาวงจรเศรษฐกิจมากเกินไป และสุดท้ายก็จะกระทบไปถึงผู้ลงทุนในกองทุนรวมที่พยายามจัดพอร์ตการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพียงแต่เลือกกองทุนที่อ้างอิงดัชนี (Index fund) เพียงอย่างเดียว ซึ่งหลายประเทศมีสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มที่แปรผันตามวงจรเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่ว่าจะกระจายความเสี่ยงไปกี่ประเทศก็อาจประสบผลขาดทุนจากการลงทุนไม่มากก็น้อย

Megatrends เติบโตก้าวกระโดด

อย่างไรก็ดีกลับมีธุรกิจ ที่ได้รับอานิสงส์จาก Megatrends เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือสังคมผู้สูงอายุที่ยังคงมีบทบาท และได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด เมื่อประเมินจากผลตอบแทนครึ่งปีแรกของหุ้นกลุ่มนี้สวนทางกับกลุ่มธุรกิจข้างต้นที่กล่าวมา เพราะสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหายามที่เจอสถานการณ์โรคระบาดนี้ได้ เช่น

1) กลุ่มธุรกิจ E-commerce ที่ช่วยลดการเดินทางไปยังร้านค้า ทำให้ร้านค้ายังคงมีรายได้ในการทำธุรกิจ ซึ่งราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้น +36.82% 

2) ธุรกิจ Digital Healthcare โดยการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมต่างๆ มาสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาวัคซีน COVID-19 ให้ผลตอบแทน +28.77% 

3) ธุรกิจพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีอย่าง Cloud Computing ก็เพิ่มขึ้น +36.08% ซึ่งได้ประโยชน์จากการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การใช้ชีวิต การเรียน หรือการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ของประชาชนทั่วไปหรือระดับองค์กร  

อันที่จริงแล้วกลุ่มธุรกิจเหล่านี้เติบโตอย่างรวดเร็วก่อนหน้าสถานการณ์ COVID-19 อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับ Megatrends เช่น ธุรกิจ E-Commerce สามารถนำเสนอและขายสินค้าหรือบริการอย่างรวดเร็วและประหยัดต้นทุนในการทำธุรกิจ ธุรกิจ Digital Healthcare สามารถวิจัยและพัฒนายารักษาโรคที่ซับซ้อนหรือโรคร้ายแรงมักเกิดกับผู้สูงอายุ 

และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี Cloud Computing ที่สามารถพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิต ด้านธุรกิจงานบริการ หรือแม้กระทั่งด้านการศึกษาที่ช่วยให้สามารถพัฒนารูปแบบการศึกษาใหม่ๆ แก่วัยเรียนและสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ล้ำค่าและพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่ตอบโจทย์แนวโน้มในอนาคตอย่าง Megatrends ผนวกกับได้อานิสงส์จากสถานการณ์โรคระบาดยิ่งเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

Megatrends โตดีในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ในด้านการลงทุนโดยเฉพาะการจัด Portfolio แบบ Asset Allocation ที่มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาวกลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจเหล่านี้เท่าที่ควรในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากกองทุนที่เกี่ยวข้องกับ Megatrends นั้นมักเป็นลักษณะ Thematic Fund หรือ Sector Fund ซึ่งมีการลงทุนแบบกระจุกตัวและอาจต้องคอยติดตามข่าวสารของอุตสาหกรรมนี้เป็นพิเศษ หากจำเป็นอาจต้องมีการปรับสัดส่วนการลงทุนบ่อยครั้งและอาจไม่สามารถลงทุนระยะยาวได้

 แต่อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะว่าด้วยชื่อของ Megatrends นั้นเองเกิดจากลักษณะพื้นฐานของสังคมหรือคุณลักษณะของประชากร ซึ่งเราไม่สามารถหลีกหนีของจากวัฏจักรนั้นได้และคงอยู่ไปอีก 20 – 30 ปี นั่นหมายความว่าธุรกิจที่ตอบโจทย์ด้าน Megatrends นั้นจะมีศักยภาพเติบโตได้อีกหลาย 10 ปี ซึ่งสามารถลงทุนระยะยาวได้โดยไม่จำเป็นต้องปรับพอร์ตบ่อยครั้ง

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของการจัดพอร์ตการลงทุนด้วยกองทุนแบบดั้งเดิมที่อาจจะเลือกกระจายการลงทุนรายประเทศเป็นหลัก ซึ่งสุดท้ายหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหรือหดตัวอย่างรุนแรงก็จะทำให้พอร์ตการลงทุนเสียหาย แต่หากเราปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นจัดพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับ “ยุคสมัยใหม่” ที่ใช้การเลือกธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จาก Megatrends โดยมีผู้จัดการกองทุนคอยคัดสรรบริษัทที่ทำธุรกิจเติบโตควบคู่ไปกับเทรนด์ต่างๆ ย่อมช่วยให้ผลตอบแทนที่คาดหวังจากการลงทุนในอนาคตเป็นที่น่าพอใจ ขณะเดียวกันไม่จำเป็นต้องปรับสัดส่วนบ่อยครั้งเพื่อให้สอดคล้องกับวงจรเศรษฐกิจอีกด้วย

 

==========================================================

 

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ prtisco@tisco.co.th  

 

 บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager

เผยแพร่ครั้งแรกที่คอลัมน์ Financial Planning กรุงเทพธุรกิจ

บทความล่าสุด

ปรับพอร์ตสร้างกำไร ขายหุ้นสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น เบนเข็มลงทุน “หุ้น Asia ex Japan”

โพสต์เมื่อ 18 เมษายน 2567

ในปี 2024 เศรษฐกิจโลกภาพรวมเติบโตดีกว่าคาด โดยภูมิภาคที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากเป็นกลุ่มประเทศที่จะเติบโตได้ดีในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว และยังเป็นปีแห่งโอกาส

อ่านต่อ >>

จับจังหวะทำกำไร กับขาขึ้นรอบใหม่ของตลาดหุ้น Asia

โพสต์เมื่อ 18 เมษายน 2567

ตลาดหุ้นเอเชีย (Asia ex Japan) ถือเป็นตลาดหุ้นภูมิภาคที่เต็มไปด้วยบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตสูงไม่แพ้ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) โดยเฉพาะในฝั่งของภาคการผลิตที่บริษัทยักษ์ใหญ่จากภูมิภาคเอเชีย ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในหลายอุตสาหกรรมการผลิตของโลก

อ่านต่อ >>

Asia ex Japan หุ้นไม่แพง โตแรงแซงเศรษฐกิจโลก

โพสต์เมื่อ 18 เมษายน 2567

ท่ามกลางตลาดหุ้นหลักของโลก เช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น New High ต่อเนื่องจนมูลค่าเริ่มตึงตัว แต่หุ้นกลุ่มประเทศเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น ยังมีมูลค่าการซื้อขายยังอยู่ในระดับต่ำ และสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

อ่านต่อ >>