file

เรื่องเล่าหลังหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในหลวงรัชกาลที่ 9
จากผู้ถวายงาน “ศิวะพร ทรรทรานนท์”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 39 | คอลัมน์ People


“...ขณะที่ทรงพระดำเนินขึ้นจากบ่อสรงน้ำ เวลานั้นอากาศแจ่มแจ้ง แสงแดด กำลังส่องจ้า ทอดพระเนตรเห็นเงาของพระองค์เองกับเงาของต้นไม้ทอดลงไปในผิวน้ำ พริ้วน้ำกำลังเต้นระริกด้วยแรงลม ทำให้เกิดลวดลายผสมประสานกันอย่าง ประหลาด เพราะในแสงสว่างยังมีแสงซ้อนกันเป็นริ้วๆ ในเงาก็ยังมีเงาเป็นลวดลาย สีหนักสีเบาสลับกัน ด้วยความสนพระราชหฤทัย จึงทรงถ่ายภาพไว้ทันที แต่ตรงที่ทรงยืนอยู่นั้น ทรงถ่ายภาพไม่ถนัดนัก ถึงกระนั้นด้วยพระราชอุตสาหะอย่างแรงกล้า จึงทรงใช้ พระหัตถ์ซ้ายจับต้นปาล์มไว้ ส่วนพระหัตถ์ขวาทรงจับกล้องถ่ายภาพและทรง ลั่นชัตเตอร์ได้อย่างแน่พระทัย “ศิลป์เงาสวย” อันล้ำค่าจึงได้ปรากฏขึ้น”



ภาพหน้าปก “เงาพิศวง” คือผลงานทรงถ่ายภาพของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งทางคณะผู้จัดทำเห็นชอบร่วมกันว่าเป็น ภาพที่มีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเป็นภาพที่พระองค์ท่าน ทรงถ่ายภาพเงาของพระองค์เองซึ่งสะท้อนอยู่ที่พื้นน้ำในบ่อสรงน้ำ ซึ่งต้องใช้พระราชอุตสาหะอย่างแรงกล้า เนื่องจากจุดที่ทรงยืนประทับ อยู่นั้นไม่สามารถถ่ายภาพได้ถนัดนัก พระองค์ท่านต้องทรงใช้พระหัตถ์ ซ้ายจับต้นปาล์มไว้ ขณะเดียวกันต้องทรงใช้พระหัตถ์ขวาจับกล้อง ซึ่งในสมัยนั้นมีน้ำหนักค่อนข้างมาก ทั้งยังต้องทรงโน้มพระวรกายเพื่อ ทอดพระเนตรไปในสระน้ำรอให้ได้เงาสะท้อนที่สวยงาม ก่อนทรงลั่น ชัตเตอร์...คณะผู้จัดทำจึงได้อัญเชิญภาพ “เงาพิศวง” นี้เป็นภาพหน้าปก ของหนังสือ “ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดย บริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้จัดพิมพ์และเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532

ไม่เพียงเป็นผู้จัดทำหนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ คุณศิวะพร ทรรทรานนท์ อดีตกรรมการอำนวยการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ ในขณะนั้น ยังทำหน้าที่ช่วยคัดเลือกภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ฯ ร่วมกับ อาจารย์พูน เกษจำรัส ศิลปินอาวุโสคนสำคัญด้านศิลปะการถ่ายภาพ ผู้เป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะภาพถ่ายที่มีผลงานดีเด่นแพร่หลาย เป็นเวลายาวนานเกือบ 40 ปี จนได้รับการยกย่องให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ศิลปะภาพถ่าย) เมื่อ พ.ศ. 2531 และที่สำคัญอาจารย์พูน ได้มีโอกาสตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปตาม สถานที่ต่างๆ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของ พระองค์ท่านอีกด้วย ท่านจึงสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังภาพถ่ายฝีพระหัตถ์แต่ละภาพ พร้อมบรรยายความหมายและเทคนิกต่างๆ ที่ ทรงใช้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยมีคุณศิวะพรรับหน้าที่แปลความหมายเป็น คำบรรยายภาษาอังกฤษได้อย่างครบถ้วนทุกใจความสำคัญ

คำบรรยายเบื้องหลังภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ “เงาพิศวง” ยิ่งสร้างความ ประทับใจในพระอัจฉริยภาพด้านการถ่ายภาพของพระมหากษัตริย์ไทย ผู้ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “อัครศิลปิน” ด้วยเป็นที่ ประจักษ์ว่า พระองค์ท่านมีพระอัจฉริยภาพทางศิลปะทุกแขนง เช่นเดียว กับพระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพ ซึ่งพระองค์ท่านสนพระราช หฤทัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ภาพในความทรงจำของคนไทย คือการ ได้เห็นพ่อหลวงทรงสะพายกล้องถ่ายรูปไปทุกหนทุกแห่งตลอดการ ครองราชย์ของพระองค์ท่าน

“ในปีมหามงคลปีนั้นทุกคนเห็นตรงกันว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง เปรียบเสมือนเป็นของขวัญทูลเกล้าฯ ถวาย ผมจึงเสนอว่าที่น่าสนใจที่สุด คือการรวบรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ท่านมาจัดพิมพ์เป็น หนังสือ เนื่องจากเรามีพระบรมฉายาลักษณ์ที่ใช้เผยแพร่มากมายอยู่แล้ว แต่ภาพที่ทรงถ่ายด้วยพระองค์เองยังไม่ได้รับการเผยแพร่มากนัก ซึ่งถ้า ทำออกมาประชาชนก็จะมีโอกาสได้ชื่นชมพระอัจฉริยภาพด้วย”

คุณศิวะพรเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการจัดทำ “ของขวัญชิ้นพิเศษ” ถวาย แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งปรากฏเป็นความจริงขึ้น หลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาม บรมราชกุมารี ทรงพระกรุณานำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาต โดยทรงบันทึกข้อความในบทคำนำของ หนังสือ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ความตอนหนึ่งว่า…

“…ข้าพเจ้าเคยคิดนานมาแล้วที่จะรวบรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในลักษณะต่างๆ แต่ก็ยังไม่ได้เริ่มต้นด้วยเหตุว่าเป็นงานที่ต้องอาศัย ความละเอียดถี่ถ้วนมาก นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังมีความรู้ไม่พอในเรื่อง วิชาการถ่ายภาพ จนถึงพุทธศักราช 2530 - 2531 อันเป็นโอกาส มหามงคลถึงสองโอกาส คือ โอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา และโอกาสรัชมังคลาภิเษก มีผู้จัด นิทรรศการ จัดพิมพ์หนังสือและเอกสารเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้าน ต่างๆ ไว้มากมาย ในโอกาสนี้ คุณศิวะพร ทรรทรานนท์ และคณะ แห่งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ได้แสดงความประสงค์ในการ จัดพิมพ์หนังสือภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เล่มนี้ ข้าพเจ้าจึงนำความขึ้น กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ก็ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการได้…”

จึงนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จำนวน 180 ภาพ จากจำนวนนับหมื่นๆ ภาพ จากกล้องของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเพียงพอจะสะท้อนมุมมองของพระองค์ท่าน ที่ทรงมีต่อครอบครัวอันอบอุ่น ความใส่ใจในพสกนิกรชาวไทย ความเป็น นักประวัติศาสตร์ นักพัฒนา นักสร้างสรรค์ รวมทั้งพระราชอารมณ์ขัน ภาพถ่ายระหว่างทรงงาน หลายๆ ภาพเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ พระราชดำริต่างๆ ในเวลาต่อมา นอกจากจะทรงใช้เทคนิกต่างๆ ในการ ถ่ายภาพที่น่าสนใจแล้ว แต่ละภาพยังสื่อความหมายที่ลึกซึ้งอีกด้วย


แตรหลวง (Royal Trumpet)

“...ทรงใช้วิธีถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง โดยทรงตั้งกล้องคู่ พระหัตถ์บนสามขา แล้วทรงใช้ปุ่มลั่นชัตเตอร์ที่ Self-timer ทรง กะเวลาให้กล้องลั่นชัตเตอร์ ถ่ายภาพพระองค์เองได้อย่าง พอเหมาะพอดี กับขณะที่ทรงเป่าแตรอย่างดัง ที่เป็นศิลปะมาก ก็ตรงที่ทรงใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษชนิดเลนส์ตาปลา (Fisheye Lens) จึงทำให้เห็นปากแตรกว้างใหญ่ มองทีไรเป็นต้องรับสายตา อยู่ก่อนสิ่งอื่น ตรงปากแตรนี้แหละที่นำสายตาไปหาจุดเด่นของ ภาพ คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงเป่าแตร...” (คำบรรยาย: อาจารย์พูน เกษจำรัส จากหน้า 130)

4 หัวใจ (Four Hearts)

“...ระหว่างที่ทอดสายพระเนตรไปรอบๆ บริเวณ ก็ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งใบร่วงโกร๋น แต่กิ่งหนึ่งยังมีใบเหลือค้างอยู่ 4 ใบ แสงแดดส่องจ้า มาตรงนั้นพอดี ทอดพระเนตรแล้วเป็นที่สน พระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงถ่ายภาพในมุมต่างๆ ไว้ได้หลายภาพ มีอยู่ภาพหนึ่งที่พระราชทาน อรรถาธิบายไว้เป็นความว่า ใบไม้กิ่งนี้มี 4 ใบ สมมติ ได้ว่าเป็นหัวใจของคน 4 คน ใบไม้ 3 ใบแรกเรียงตรง เป็นแถวดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามดี เมื่อเปรียบไปก็จะคล้ายกับคนทำดีย่อมมีแต่ความ เจริญก้าวหน้า ส่วนใบที่ 4 พลิกตะแคงไม่เหมือนใคร เมื่อดูไปจะคล้ายกับคนที่ประพฤติปฏิบัติออกนอก ลู่นอกทาง จึงต้องดิ้นรนผจญชีวิตไปด้วยความ ไม่แน่นอน...”
 

ในอ้อมพระกร (In His Majesty’s Hands)

“12 กันยายน 2505 ณ สถานทูตไทย ประเทศ ออสเตรเลีย มีพสกนิกรชาวไทยไปเฝ้าทูลละอองธุลี พระบาทเป็นจำนวนมาก ในขณะที่มีพระราชปฏิสันถาร กับบรรดาผู้ที่เฝ้าอยู่ใกล้เบื้องพระยุคลบาท ได้ทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยืนรอบข้างพระองค์ แล้วจึงทรงใช้กล้องถ่ายภาพมุมกว้างแบบหนึ่งที่ใหม่ และล้ำสมัยมาก ทดลองถ่ายภาพมุมแปลกๆ ไว้...”
 

เทพธิดาขมิ้นป่า (Angel of the Wild Curcuma)

“...พอดีกับเวลาที่ขมิ้นต้นกำลังออกดอกบานเต็มที่ ทูลกระหม่อมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ กำลังทรงชื่นชมด้วยความ สนพระทัยอยู่ใต้พุ่มขมิ้นต้น ก็พอดีกับที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงกล้องถ่ายภาพอยู่ใกล้ๆ ทูลกระหม่อม เงยพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตร แสงแดดส่องมาต้องพระพักตร์ ด้านข้างพอดี ตรงนั้นมีใบไม้เป็นฉากหน้า ดอกขมิ้นป่าแวดล้อม อยู่รอบข้าง พอแย้มพระสรวล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพไว้อย่างฉับพลัน...”
 

มุมนี้มีภาพเดียว (Majestic View of the Temple of the Dawn)

“16 ตุลาคม 2530 พระราชพิธีกฐินหลวง ณ วัดอรุณ ราชวราราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในกัญญา เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ระหว่างที่เรือพายไปใกล้จะถึงหน้า ท่าวัดอรุณ พอทอดพระเนตรเห็นว่าภาพเฉพาะพระพักตร์ ข้างหน้านั้น ได้เส้นดีมีสีสวยและมีความหมายได้เรื่องดีมาก จึงทรงบันทึกภาพไว้...ภาพเล่าเรื่องได้อย่างครบถ้วน ทั้งเป็น ภาพแปลกใหม่ยังไม่เคยปรากฏ ภาพนี้จึงมีความพิเศษและ มีเพียงภาพเดียว”
 

ตามรอยพระยุคลบาท (In His Majesty’s Footsteps)

“...คราวหนึ่งสมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ตามเสด็จ สมเด็จพระชนกนาถ เสด็จฯ เยี่ยม ราษฎรในถิ่นทุรกันดารด้วยวันนั้น ฝนตกพรำทำให้น้ำป่าบ่าไหล หน ทางเปียกแฉะ เป็นเหตุให้ทรงพระ ดำเนินด้วยความลำบาก ตลอดทาง จึงทรงลื่นล้มไปหลายครั้ง แต่ด้วย พระราชอุตสาหะ วิริยะ จึงมิทรงย่อท้อ แต่ประการใด...

“ทั้งนี้เป็นผลของพระเมตตาบารมี แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกชนนี ผู้ทรงอบรมสั่งสอนพระราชโอรสและ พระราชธิดาให้มีพระอุปนิสัยหนักแน่น อดทนต่อความทุกข์ยากและอุปสรรค ทั้งมวล เพื่อจะได้ทรงปฏิบัติพระราช กรณียกิจในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ของปวงพสกนิกร เป็นการเจริญรอย ตามพระยุคลบาทสืบไปทุกๆ ประการ” 


คุณศิวะพรเล่าว่าในการทำหนังสือเล่มนี้ต้องใช้เวลาถึง 1 ปีเต็ม ในการเลือกคำบรรยายภาษาอังกฤษที่เหมาะสม ให้สอดคล้องไปกับ ความหมายในภาษาไทยของอาจารย์พูน เกษจำรัส ต้องอาศัยความ ละเอียดรอบคอบ อดทน และมุ่งมั่น เพื่อให้งานเสร็จได้ทันเวลา

จากความตั้งใจของทีมงานที่มีส่วนร่วมทุกคน นำไปสู่ผลงาน “หนังสือ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งทิสโก้ได้จัดพิมพ์ และเผยแพร่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2532 ผลงานส่วนหนึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ส่วนหนึ่ง มอบให้แก่โรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมถึงลูกค้าของบริษัทเงินทุน หลักทรัพย์ทิสโก้ในขณะนั้น ซึ่งได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมาก

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ อันล้นพ้นที่ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวไทย ธนาคาร ทิสโก้ จึงจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยส่วนหนึ่งได้ มอบให้กับมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล สำหรับผู้ที่สนใจ ติดต่อ ได้ที่เบอร์ 0 2633 7501-7 นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่ในช่องทาง ออนไลน์ที่เว็บไซต์ของธนาคารทิสโก้ www.tisco.co.th เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้มีโอกาสชื่นชมในพระอัจฉริยภาพและ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างทั่วถึงกัน