file

รวยรื่นใจใน “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้” ของ “สกุล อินทกุล”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 43 | คอลัมน์ Living Art

คุณสกุล อินทกุล (Celebrity Floral Artist) คุณสกุล อินทกุล (Celebrity Floral Artist)


หนึ่งในผู้ที่หลงใหลในศิลปะ และความงามของดอกไม้ นอกจากเขาจะมีโอกาสเดินทางไปจัดดอกไม้ยังต่างประเทศในหลายโอกาสการได้ทำงานถวายการรับใช้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้เขากลับมาพินิจความงดงามในการจัดดอกไม้ของไทย และการประยุกต์ศิลปะการจัดดอกไม้แบบไทยกับสากลเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนทั้งยังนำมาสู่การสร้าง “พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้” เพื่อบอกเล่าวัฒนธรรมของดอกไม้จากดินแดนต่างๆ ทั้งไทยและเทศ

“พี่ผูกพันกับต้นไม้ ดอกไม้ตั้งแต่เด็ก แต่โตขึ้นไปทำงานเป็นเซล มาร์เก็ตติ้ง เอนจิเนียร์ ก่อนพอดีตึกที่ทำงาน
มีโรงเรียนสอนจัดดอกไม้มาเปิดเลยไปเรียน และจัดดอกไม้เป็นอาชีพก็เริ่มตั้งแต่ตรงนั้น” เมื่อพ.ศ. 2543
คุณสกุลได้มีโอกาสตามเสด็จฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ไปจัดดอกไม้ที่เมืองจีน และหลังจากนั้นได้ถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทมากว่า 10 ปี

“จริงๆ พี่จัดดอกไม้แบบโมเดิร์น แต่เริ่มต้นแบบคลาสสิก เพราะเรียนแบบคลาสสิกมาจนเกิดสไตล์ของตัวเอง จนเป็นหนังสือ Tropical Colors ที่ทำให้โด่งดังไปทั่วโลก พอได้ทำงานถวายการรับใช้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เหมือนเราได้กลับมาดูรากเหง้าตัวเอง ซึ่งเป็นโอกาสที่วิเศษมาก งานพี่กลายเป็นงานฝรั่งผสมกับงานไทย จนมีหนังสือออกมาอีกเล่ม และหลังจากนั้นไม่นานประมาณ 3 ปีก็เกิดพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้”

 

file

 

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ตั้งอยู่ในซอยองครักษ์ 13 ถนนสามเสนบนพื้นที่บ้านเก่า ซึ่งคาดกันว่าสร้างราวสมัยรัชกาลที่ 6 โดยคุณสกุลขอเช่าบ้านหลังนี้จากเจ้าของปัจจุบันและจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นเมื่อพ.ศ. 2555
มีห้องจัดแสดง 7 ห้อง ห้องที่สำคัญ เช่น ห้องโลกแห่งวัฒนธรรมดอกไม้ นำเสนอวัฒนธรรมการจัดดอกไม้ของประเทศต่างๆ ที่คุณสกุลเดินทางไปทำงาน หรือท่องเที่ยว ทั้งอุปกรณ์จัดดอกไม้ จนถึงตำราการจัดดอกไม้

“พี่ไปทำงานที่อินเดีย บาหลี ญี่ปุ่นก็ต้องไปเรียนรู้ว่าวัฒนธรรมเขาทำอะไรกันบ้าง ดอกไม้ในแต่ละวัฒนธรรม
มีองค์ประกอบต่างกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมซึ่งมีส่วนต่อวิวัฒนาการของงานดอกไม้ แล้วก็สภาพภูมิอากาศดอกไม้ใบไม้ที่มีพวกนี้เป็นส่วนประกอบทำให้วัฒนธรรมดอกไม้มีวิวัฒนาการแตกต่างกันไป พิพิธภัณฑ์นี้พูดถึงวัฒนธรรมของดอกไม้ดอกไม้เป็นตัวนำการเล่าเรื่องวัฒนธรรม ว่าชีวิตของคนเอเชียไม่ว่าจะไทย บาหลี ญี่ปุ่น อินเดียนั้นผูกพันกับดอกไม้ ดอกไม้เป็นส่วนประกอบในทุกจังหวะของชีวิต”

อีกห้องหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือ ห้องปากกา และดินสอ ซึ่งมีผลงานของคุณสกุล ครั้งถวายงานจัดดอกไม้ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดแสดงอยู่ด้วย “ในพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีฯ พี่จัดดอกไม้ในงานเลี้ยง ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ทำกรอบรูปเหล็กดัด และห้อยดอกไม้ไทยเป็นงานฝรั่งผสมไทยนำงานดอกไม้ไทยไปประกอบเป็นงานดอกไม้ประดับฝาผนังครั้งแรกในประวัติศาสตร์”

 

file


การเป็นบ้านเก่า อายุเกือบร้อยปี มีบรรยากาศสวยงาม ซึ่งออกแบบไว้อย่างดี อยากให้เด็กๆ มาเรียนรู้ มาซึมซับ มาดูรากเหง้า ของตัวเอง ได้แรงบันดาลใจ ชาวต่างชาติก็ได้มาเรียนรู้
 

เมื่อถามถึงความตั้งใจของคุณสกุลต่อการรังสรรค์พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต และเป็นมากกว่าพิพิธภัณฑ์ คำตอบที่ได้ก็คือ “ถ้าอยากให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิตก็ต้องมีกิจกรรม มีเวิร์กช็อป มีนิทรรศการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีร้านอาหาร และอีกหน่อยที่นี่จะมีร้านขายของที่ระลึกเป็นร้านเล็กๆ แต่มีเสน่ห์ เพิ่งมาจับจุดได้ว่าพอมีร้านอาหาร คนก็มามากขึ้นเหมือนเป็นที่ให้เขามาพักผ่อนหย่อนใจได้ ทำให้คนมามีกิจกรรมมากขึ้น”

file

 

หากจะว่าไปแล้วการทำงานศิลปะทำให้คนเราใส่ใจในทุกมิติเฉกเช่นที่คุณสกุลเอาใจใส่ในทุกมิติกระบวนการเพื่อให้พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้เป็นมากกว่าพิพิธภัณฑ์ เมื่อถามถึงสิ่งที่เขาได้รับจากการทำงานศิลปะรวมถึงสิ่งที่อยากให้คนเข้ามาชมพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมดอกไม้ได้รับกลับไปก็คือ ตอนนี้คนรู้จักพิพิธภัณฑ์มากขึ้นทั้งคนไทยและคนต่างชาติก็อยากให้มาใช้เวลาได้สักเช้าหนึ่งหรือบ่ายหนึ่ง อยากให้เป็นที่คนมาแล้วอยากกลับมาอีกเป็นอะไรที่เราสามารถสอดแทรกองค์ความรู้ไปในสถานที่ที่มาพักผ่อนหย่อนใจได้การเป็นบ้านเก่าอายุเกือบร้อยปี มีบรรยากาศสวยงาม

ซึ่งออกแบบไว้อย่างดีอยากให้เด็กๆ มาเรียนรู้ มาซึมซับ มาดูรากเหง้าของตัวเอง ได้แรงบันดาลใจชาวต่างชาติก็ได้มาเรียนรู้นอกจากนี้ยังมีกล้วยไม้ โดยจะมีคนนำมาให้ 100 ต้นทุกเดือนคนมาก็จะได้เห็นดอกไม้สวยๆ
“แต่พี่ไม่ยึดติดนะ ถ้าวาสนาจะได้ทำ ได้มีสถานที่แบบนี้ให้คนมาหย่อนใจก็นับว่าดีก็ชื่นใจ แต่ถ้ามีเหตุผลอะไรต่างๆ ที่ทำให้ที่นี่ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ก็ไม่ยึดติด เพราะว่ามันจะเป็นทุกข์ อย่างที่ว่า ไม่มีสิ่งใดจีรังก็เหมือนดอกไม้ไง เดี๋ยวก็เหี่ยวไป ดังนั้นณ ปัจจุบันนี้ ถามว่ามาอยู่ที่นี่แล้วมีความสุขไหม ถ้ามีความสุขแล้ว...ก็จบแค่นั้น”.