file

“อิทธิชัย พูลวรลักษณ์” ผู้พลิกโฉมธุรกิจรับฝากของ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมือง

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 44 | คอลัมน์ New Generation

ผู้บริหารหนุ่มไฟแรง วัย 26 ปี ที่มีหัวใจชอบความท้าทายและไม่กลัวกับการที่ต้องลองสิ่งใหม่ๆ ‘อิทธิชัย พูลวรลักษณ์’ กับการบุกเบิกธุรกิจตู้ฝากของอัตโนมัติ “ลอคค์ บอกซ์” เจ้าแรกในไทยที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงภายใต้คอนเซ็ปต์ Safe and Easy พร้อมเดินหน้าแตกไลน์ธุรกิจสู่บริการส่งของ (โลจิสติกส์) ครบวงจร
 

ตู้ฝากของอัตโนมัติสีเหลืองโดดเด่นที่ตั้งอยู่บนทางเชื่มรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือย่านที่มีผู้คนจอแจอย่างสีลม หรือห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน คือผลงานที่เกิดจากการรังสรรค์และศึกษามาเป็นอย่างดีของผู้ก่อตั้งและ เจ้าของธุรกิจ ที่ชื่อว่า “วิน-อิทธิชัย พูลวรลักษณ์” หรือตำแหน่งอย่างเป็นทางการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลอคค์ บอกซ์ จำกัด ที่ปัจจุบันอายุเพียง 26 ปี เท่านั้น

ย้อนอดีตไปเขาอยากเป็นนักสถาปนิกแต่เมื่อปรึกษาคุณพ่อคุณแม่แล้ว สิ่งที่ท่านแนะนำคือ เรียนทางการเงินดีกว่า (เพราะธุรกิจที่หลากหลายของที่บ้าน ) ทำให้ในที่สุดเขาก็คว้าปริญญาตรีเกียรตินิยม BSc (Hons) International Business, Finance and Economics จาก Manchester Business School ประเทศอังกฤษ พร้อมความรู้ครบเครื่องทั้งทางด้านการทำธุรกิจระหว่างประเทศ การเงิน และเศรษฐศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เขาได้ขอที่บ้านกลับมาทำงานฝึกวิทยายุทธข้างนอกก่อนโดยประเดิมที่ แรกกับบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศแห่งหนึ่ง และมีโอกาสทำงานหลายส่วนที่เกี่ยวกับคอนโดมิเนียม การวางสื่อโฆษณาการตลาด ดูพฤติกรรมลูกค้า และการเลือกทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นหัวใจหลัก

““3 ปี ที่ทำงานกับพฤกษาตอนนั้นถือว่าทำให้เราได้สัมผัสการเป็นลูกจ้างที่แท้ จริงได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะการทุ่มเทเรื่อง ‘ระบบ’ และพร้อมที่จะลองและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อีกทั้งเรื่อง ‘คนหรือพนักงาน’ ที่ต้องคำนึงถึงพวกเขาจากมุมมองที่ว่าถ้าพนักงานอยู่ได้บริษัทก็จะอยู่ได้”

จุดหนึ่งที่เขาอยากกลับมาทำงานธุรกิจในแบบตัวเองคือสนใจทำ “ธุรกิจที่ไม่ต้องขายสินทรัพย์ทิ้ง” อย่างคอนโดมิเนียมมีกำไรสูงเพราะเป็นการขายสินทรัพย์ทิ้งไปทันทีเมื่อ มีการโอน จนกลับไปดูในลิสต์รายการที่เขาเฝ้าจดรายละเอียดจากสิ่งที่เห็นรอบตัว ทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่เสมอ ว่าสิ่งที่เขา อยากทำและมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดเป็นธุรกิจ มีแฟรนไชส์อะไรบ้างที่มีศักยภาพที่เมืองไทยยังไม่มี จนสุดท้ายเลือกมาทำตู้รับฝากของอัตโนมัติที่สงสัยว่าทำไมประเทศญี่ปุ่นมีใช้มานานหลายสิบปีแต่เมืองไทยกลับไม่มีใครทำจากลิสต์ในรายการ ที่อยากทำกว่า20 อย่าง
 

file

 

แผนการเติบโตใน 3-5 ปี คือ การไม่หยุดขยายงานทุกด้านอนาคตบริษัท ยังพร้อมที่จะแตกหน่วยธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เพราะหลักการทำงานคือ “ไม่กลัวที่จะลองในสิ่งใหม่ๆ” จนเรียกว่าได้ทุกเดือน จะมีโปรเจ็กต์ใหม่ ให้พนักงานได้ช่วยกันคิดและนำไปต่อยอดให้เกิดการ บริการเพิ่มขึ้น
 

เขาตัดสินใจนำเงินส่วนตัวที่เก็บมาตลอดการทำงานทั้งหมด 1 ล้านบาท มาทำลอคค์บอกซ์ คิดกรณีเลวร้ายสุดหากไม่สำเร็จก็ถือว่าได้ประสบการณ์ที่ดีกลับมา หรือได้ทำอะไรที่เป็นอย่างแรกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่พัฒนาประเทศอีกด้วย ทำให้เชื่อมั่นว่าจะไม่สูญค่าการลงทุนครั้งนี้แน่นอน จึงเริ่มติดต่อเจ้าของสถานที่และหน่วยงานต่างๆโดยสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นกังวล ส่วนใหญ่คือ “ความปลอดภัย” ส่วนหนึ่งเพราะต้องบริการลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมง

ทำให้เขาตัดสินใจทุ่มลงทุนกับระบบงานหลังบ้านที่ใช้เทคโนโลยี มีกล้องบันทึกตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็มีขั้นตอนการบอกวิธีใช้อย่างง่ายๆ ตรงตามคอนเซ็ปต์ “Safe and Easy” ที่สำคัญยังสามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า แต่ละทำเลเชื้อชาติไหนชอบใช้บริการแบบไหนอีกทั้งมีทางเลือกการบริการคิดเป็น ทั้งรายชั่วโมงและรายวันให้ลูกค้าเป็นคนเลือกเอง

จากจุดแรกเมื่อ 2 ปีที่สถานีแอร์พอร์ตเรลลิงค์มักกะสัน จนขยายมายังย่านชุมชนออฟฟิศ หรือสวนสาธารณะ ถึงสิ้นไตรมาส 1 ปี 2518 มีที่วางตู้รับฝากของแล้วทั้งหมด 23 แห่ง และตั้งใจว่าสิ้นปีนี้จะขยายเพิ่มให้ครบ 30 แห่ง และปัจจุบันสัดส่วนลูกค้าเป็นคนไทยประมาณ 70 - 80%

“ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงสร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าลอคค์บอกซ์ทำอะไร สามารถเป็นตัวช่วยลูกค้าได้อย่างไรบ้าง เพราะยอมรับว่าบางทำเลที่ไปวางตู้ไว้อาจจะมีคนใช้บริการน้อย แต่เพราะเราเชื่อมั่นว่าพฤติกรรมคนจะค่อยเริ่มเปลี่ยนมาฝากของเรามากขึ้น ก็ยังยืนยันว่าลอคค์บอกซ์จะอยู่กับคุณในทุกย่าน หรือย่านที่มีชุมชนสูงเสมอ ซึ่งทุกวันนี้ก็ถือว่าผลตอบรับดีขึ้น”

ปีแรกถือเป็นปีของการศึกษาทดลองตลาดอย่างจริงจัง ปีที่ผ่านมาใช้คอนเซ็ปต์การทำงาน First Mass Transit Locker in Thailand ที่ประทับใจสุดคือติดตั้งบนสกายวอล์กบีทีเอสที่สีลมคืนก่อนจะเริ่มเทศกาลสงกรานต์ให้ทันเวลา และมีการกล่าวถึงตู้นี้ว่า จะตั้งไว้ตลอดไปหรือไม่ เป็นของใคร ซึ่งสำหรับเขาถือว่าเป็นการสร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้ได้สำเร็จทางหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันก็เพิ่มการทำธุรกิจโฆษณาจากการเปิดพื้นที่ให้โฆษณาบริเวณตู้ได้ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่และช่วยทำรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับปีนี้จะทำงานภายใต้คอนเซ็ปต์ All in One Luggage Solution ซึ่งเป็นอีกหน่วยธุรกิจใหม่คือ บริการส่งของหรือโลกจิสติกส์ (Lockbox Plus+) ตั้งแต่รับฝากกระเป๋าเดินทางยังมีบริการนำกระเป๋าเดินทางไปส่งสนามบิน หรือนักท่องเที่ยวจีนที่นิยมแพ็คของกลับประเทศจากห้างสรรพสินค้าพารากอนก็จะมีบริการส่งไปยังประเทศจีนให้เลย และล่าสุดได้เพิ่มช่องทางการบริการด้วยแอพลิเคชั่นและมีอีวอลเล็ตเป็นของตัวเองในการออกบัตรให้ส่วนลด ซึ่งจะทำให้เรามีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้นโดยถือว่าเป็นเจ้าแรกของโลกที่มีบริการเหล่านี้อีกด้วย
 

file



สำหรับแผนการเติบโตใน 3 - 5 ปี เขาประกาศว่าจะไม่หยุดขยายธุรกิจในทุกด้าน ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนรายได้จาก 3 บริการ ได้แก่ ฝากของ 70% โฆษณา 25% และส่ง ของ 5% และปีนี้คาดว่าสัดส่วนจากโลจิสติกส์จะเพิ่มเป็น 10 - 20% แต่อนาคตบริษัทยังพร้อมที่จะแตกหน่วยธุรกิจเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เพราะหลักการทำงานของเขาคือ “ไม่กลัวที่จะลองในสิ่งใหม่ๆ” จนเรียกได้ว่าทุกเดือนจะมีโปรเจ็กต์ใหม่ให้พนักงานได้ช่วยกันคิดและนำไปต่อยอดให้เกิดการบริการเพิ่มขึ้นจนทุกวันนี้ตู้ฝากของมีหลายรูปแบบ แบบและหลายฟังก์ชั่นการใช้งาน เช่น สำหรับชาร์จสมาร์ทโฟนต่างๆ หรือแม้กระทั่งเป็นที่เก็บจักรยาน

“เราไม่เคยที่จะหยุดพัฒนาสินค้า เพราะคิดว่าหากวันใดที่หยุดพัฒนาจะเกิดคู่แข่ง แต่ถ้าเราวิ่งตลอดเวลา คู่แข่งแค่คิดก็เหนื่อยแล้วซึ่งเรายินดีและพร้อมต้อนรับถ้าจะมีคู่แข่งในตลาดเพิ่มขึ้น แม้เราจะเป็นเจ้าแรกที่เริ่มทำตลาดนี้มา แต่คุณต้องบ้าและอึดพอ เพราะทีมเราทำงานกันตลอด 7 วัน มีคอลเซ็นเตอร์ 24 ชั่วโมง ถ้าคุณคิดและทำเพียงแค่เล็กๆ คุณไม่รอด เพราะผมทำในสเกลที่ใหญ่แล้ว”

ผู้บริหารหนุ่มให้นิยามลอคค์บอกซ์ว่า เป็นไฮบริดของการผสมผสานระหว่างสตาร์ทอัพและธุรกิจเอสเอ็มอี การเป็นสตาร์ทอัพ คือมีหลักการคิดใหญ่และสร้างสเกลที่ใหญ่และเคลื่อนให้ไว แต่เขาจะไม่เป็นสตาร์อัพที่เป็นโปรเจ็กต์ขายฝัน แต่จะใช้หลักการบริหารงานเหมือนธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องคิดอย่างเป็นระบบ หนึ่งในนั้นคือ หลักการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และจะไม่ยอมเป็นเอสเอ็มอีที่ตาย

ขณะเดียวกันจะไม่มีการระดมทุนเหมือนแนวคิดของสตาร์ทอัพ แต่จะใช้มุมมองการเลือกพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาเสริมกลยุทธ์ให้แก่บริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ซึ่งหลักการทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนผสมที่ดีและจะทำให้บริษัทสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนมากกว่า

นอกจากนั้น เขายังนำหลักการบริหารและประสบการณ์จากซีอีโอต้นแบบของบริษัท พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งมาผสมผสานเป็นแนวทางการทำงานของตัวเอง เช่น การไม่หยุดนิ่ง ความท้าทายต่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และการดูแลพนักงาน ทำให้แต่ละวันของเขาต้องมีการจัดการความสมดุลชีวิตในทุกๆ ด้านอย่างเท่าเทียมกัน

แม้จะมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่มากมายรออยู่ตรงหน้า แต่ผู้บริหารหนุ่มก็ไม่ลืมที่จะให้เวลากับตัวเอง โดยเขาแบ่งเวลาออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) พัฒนาตัวเอง โดยการเข้าเรียนหลักสูตรต่างๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์ กฎหมายภาษีและการสืบทอดกิจการครอบครัว เพื่อเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ไปเจอผู้คนมากมาย และส่งผลให้เกิดไอเดียใหม่เข้ามา อีกทั้งยังเรียนรู้ประสบการณ์จากคนที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจและชีวิต รวมถึงการอ่านหนังสือ ขณะเดียวกันก็พัฒนาตัวเองทางด้านร่างกายโดยการออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์เล่นบาสเก็ตบอล 2 วัน และเข้าฟิตเนส 1 วัน 2) ให้เวลากับครอบครัว โดยเขาจะใช้เวลาในวันอาทิตย์อยู่กับคุณพ่อคุณแม่ และ 3) งานซึ่งถือว่ามีบทบาทกับวิถีชีวิตของเขาตอนนี้ มากที่สุดโดยจะต้องทำงานให้เกิดความรู้สึกสนุก และท้าทายกับตัวเอง

“เงินไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชีวิตผมผมต้องรักทุกอย่างที่ผมทำ แล้วมันจะออกมาดี”


ความรู้สึกที่มีต่อทิสโก้

“วิน-อิทธิชัย พูลวรลักษณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ลอคค์ บอกซ์ เป็นลูกค้าบริการเงินฝากของธนาคารทิสโก้ ซึ่งชื่นชอบการดูแลและบริการของเจ้าหน้าที่ธนาคารและผลตอบแทนจากเงินฝาก อีกด้านหนึ่งเขายังเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์กับ บล.ทิสโก้เพราะชอบฟังการจัดสัมมนาการลงทุน

“เดิมทีผมเป็นคนที่เชื่อในหลักปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจเพราะมองว่าหากธุรกิจดีทีมงานเก่งทุกอย่างก็จะดีในระยะยาว แต่ทิสโก้สอนให้ผมเรียนรู้และเข้าใจเรื่องมุมมองเทคนิคการลงทุนว่าเป็นอีกสิ่งที่สำคัญเช่นกัน ซึ่งอาจจะช่วยในการประกอบการตัดสินใจเรื่องการซื้อหุ้นในระยะสั้นและเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจในหลายๆ กรณี”

นอกจากนั้น เขายังมีโอกาสเข้าโครงการ TISCO Wealth Enhancement Program (WEP) รุ่นที่ 5 โดยเขาบอกกับทีมงานว่าคลาสที่ชอบมากที่สุดคือแนะนำการลงทุน ในกลุ่ม Non-Finace เพราะเป็นการเปิดโลกการลงทุนในแบบอื่นๆ จนทำให้เห็นคุณค่าว่า การลงทุนด้วยการสะสมนาฬิกา ภาพวาด ไวน์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจและให้ผลตอบแทนที่ดีเช่นกัน