file

SACICT ต่อยอดลมหายใจหัตถศิลป์ไทย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 45 | คอลัมน์ Giving

กว่า 40 ปี ที่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรที่ยากไร้ในท้องถิ่นชนบท โดยสอนให้ยึด ‘ศิลปะ’ เป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่มีอาชีพหลักคือการทำกสิกรรมทำเรือกสวนไร่นาอีกนัยหนึ่งยังเป็นการธำรงรักษาและฟื้นฟูหัตถกรรมแบบไทยแท้ เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ การจักสานย่านลิเภา ฯลฯ มิให้เสื่อมสูญไปตามกาลเวลาด้วย

อย่างไรก็ดีงานหัตถกรรมอันเกิดจากฝีมืออันเป็นเลิศที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ คงจะไม่เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก หากมิได้รับการนำเสนอออกสู่ตลาด ซึ่งที่ผ่านมา ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT (อ่านพ้องเสียงกับคำว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ในภาษาไทย) ก็ทำหน้าที่เป็นเสมือน ‘หน้าต่าง’ คอยส่งเสริมการตลาดให้ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านตามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ ได้มีพื้นที่แสดงออกซึ่งภูมิปัญญาไทยทั้งในและต่างประเทศเสมอมา

พัฒนาต้นน้ำพร้อมเป็นตลาดรองรับ

ภายใต้การกำกับดูแลในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ คุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ SACICT เผยว่าภารกิจหลักขององค์การแห่งนี้คือ การต่อยอดเชิงพาณิชย์ให้กับผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยในมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงทุ่มเทพระวิริยะอุตสาหะส่งเสริมงานหัตถกรรมแก่ช่างฝีมือและชาวชุมชนมาโดยตลอด

เมื่องานหัตถกรรมไทยจากท้องถิ่นต่างๆ เดินทางเข้าสู่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็เป็นหน้าที่ของ SACICT ที่จะรับไม้ต่อ โดยเป็นช่องทางการตลาดและส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้คืนกลับสู่ชุมชนอันเป็นต้นกำเนิดของงานหัตถกรรมนั้นๆ

ขณะเดียวกัน SACICT ยังมีหน้าที่พัฒนางานหัตถกรรมไทยของสมาชิกให้เกิดความร่วมสมัย เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ง่ายยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีสมาชิกช่างและชุมชนที่ทำงานหัตถกรรมหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับหัตถกรรมกว่า 2,000 ราย กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ทอผ้า รองลงมาคือ จักสาน และเซรามิก

“เราสนับสนุนสมาชิกด้วยการให้องค์ความรู้ไปจนถึงการอบรมพัฒนากลุ่มผู้ผลิตงานหัตถกรรมให้มีทักษะความสามารถในการทำงานที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีดีไซน์ร่วมสมัย เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าสู่ตลาดระดับสากล ด้วยความที่ SACICT ก่อตั้งขึ้นให้ทำงานระหว่างประเทศ ดังนั้น การเชื่อมโยงระหว่าง Local ไปสู่ Global ถือเป็นหน้าที่ของเรา”

file
file

บอกต่อเทรนด์โลกปรับดีไซน์ร่วมสมัย

จากการลงพื้นที่ไปสัมผัสต้นน้ำของงานหัตถกรรมในแต่ละท้องถิ่น คุณแสงระวี พบว่าปัญหาใหญ่ของงานหัตถศิลป์ไทยคือ ‘การออกแบบ’ ตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา SACICT จึงเน้นหนักส่งเสริมให้เหล่าสมาชิกใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ในการเพิ่มมูลค่างานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนางานหัตถกรรมให้มีความร่วมสมัย เข้ากับวิถีชีวิต และความต้องการในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น

“ประเทศไทยมีนักสร้างสรรค์จำนวนไม่น้อย เรามีดีไซเนอร์ฝีมือดีมีแนวคิดดีๆ มากทีเดียว เมื่อเรานำดีไซเนอร์ไปพบปะและถ่ายทอดไอเดียความคิดกับชุมชน สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือหัตถกรรมไทยยังมีทางไปอีกมาก ช่าง
ฝืมือไทยส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝีมืออย่างเป็นระเบียบแบบแผนที่ดีและชัดเจนอยู่แล้ว เราเพียงแค่เติมเต็มองค์ความรู้เรื่องการตลาด เนื่องจากเรามีเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก เราจะทราบว่าตลาดกำลังต้องการอะไร แล้วเรายังศึกษาเทรนด์โลกและแนวคิดใหม่ๆ เกี่ยวกับงานดีไซน์ของงานหัตถกรรม เช่น Sustainable Design เหล่านี้จะเป็นโจทย์ให้เรานำไปช่วยเหลือและพัฒนาสมาชิกต่อไป”

ทว่าการจะปรับเปลี่ยนดีไซน์ไปตามแรงปรารถนาของโลกหากเป็นช่างฝีมือรุ่นใหม่คงไม่ยากสักเท่าไรในการที่จะให้ไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อทดสอบตลาดร่วมกัน แต่ในรายที่เป็นช่างฝีมืออาวุโสการจะปรับเปลี่ยนทัศนคติในการทำงานอาจเป็นเรื่องยากคุณแสงระวีเผยว่าต้องอาศัยเทคนิคโดยเอา ‘ตลาด’ นำจูงใจให้ช่างฝีมือประสบการณ์สูงกลุ่มนี้ผลิตตามดีไซน์ใหม่แล้วรับซื้อทันที เมื่อมีรายได้ตอบแทนเข้ามามากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่างอาวุโสเหล่านี้ก็จะเริ่มยอมรับในความสำคัญของตลาด ที่มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางของการพัฒนางานหัตถกรรมไทยในทุกวันนี้

file

 

“ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ชาวนา หรือมีอาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อนและฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิดขอเพียงแต่ให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้และ ฝึกฝนเขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้เห็นได้” พระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาณ ศาลาดุสิดาลัย พระราชวังดุสิต วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2532
 

file

หัตถศิลป์การใช้ชีวิตประจำวัน

ถามถึงแนวโน้มของงานหัตถกรรมโลกที่ทาง SACICT ได้นำไปถ่ายทอดบอกต่อแก่ชุมชนช่างฝีมือ จากการประมวลผลข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง รวมทั้งการออกไปเปิดโลกกว้างในงานแฟร์ทั้งในและต่างประเทศรองผู้อำนวยการ SACICT เผยว่ามี 3 เทรนด์สำคัญที่ผู้ที่อยู่ในแวดวงหัตถศิลป์ควรทราบ ได้แก่

  1. Social Craft Network งานหัตถกรรมที่พัฒนาขึ้นมาโดยเชื่อมโยงเครือข่ายช่างและชุมชนมากฝีมือเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งปันงานกันทำตามความถนัด เช่น หมู่บ้าน ก.ทอผ้า แล้วส่งให้หมู่บ้าน ข. ย้อมสีต่อ ปัจจุบันทาง SACICT เองมีสื่อสังคมออนไลน์อย่าง Line, Facebook, Instagram และ Twitter เป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงสมาชิกแต่ละกลุ่มส่งผลให้การพัฒนางานหัตถกรรมเป็นไปโดยง่าย ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อันนำมาซึ่งการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนตามมา
  2. Digital Detoxing งานหัตถกรรมที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยให้คนได้บำบัดผ่อนคลาย หรือหลีกหนีความวุ่นวายจากสังคมภายนอกโดยใช้งานหัตถกรรมเข้ามาเป็นส่วนห นึ่งในกิจกรรมเวิร์กช็อป เช่น สอนปักผ้า เพนต์สี เซรามิก หรือลงพื้นที่ไปตามชุมชนหัตถกรรมต่างๆ สัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวอีกรูปแบบ คือเที่ยวชมวิถีชีวิตพร้อมร่วมทำงานหัตถกรรมไปกับคนท้องถิ่น
  3. Mass x Clusivity งานหัตถกรรมที่เกิดการผสมผสานระหว่างหัตถกรรมกับอุตสาหกรรมเช่น การนำงานฝีมือเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนมากขึ้น เช่น เคสมือถือลายลงรักปิดทอง หรือการนำเครื่องมือทุ่นแรงบางอย่างเข้ามาใช้ในกระบวนการงานทำมือ เช่น การใช้เครื่องช่วยจักตอกเป็นเส้นๆ ซึ่งช่วยลดกระบวนการทำงานจักสานให้สั้นลง ทำให้ช่างฝืมือมีเวลาไปพัฒนาเทคนิคหรือดีไซน์ใหม่ๆ ในการทำงานหัตถกรรมมากขึ้น “ทำไมในต่างประเทศถึงมีหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์เกิดขึนจำนวนมาก นั่นเพราะถ้าจะสานตะกร้าสักใบ หรือทอผ้าพันคอสักผืนเขาจะไม่ไปตัดต้นไผ่ หรือปั่นเส้นด้ายเอง เพราะวัตถุดิบทุกอย่างมีขายหมด เครื่องทอก็สามารถเซ็ตโปรแกรมทำด้วยมือได้ อะไรที่ทำด้วยมือ ทำไดยิ่งดีถือเป็นคุณค่า แต่อะไรที่เสียเวลา เอาเครื่องมือมาช่วยดีกว่าไหม หากทำได้ตามแนวคิด Mass x Clusivity หัตถกรรมก็จะไปช่วยสร้างมูลค่าให้กับงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจะช่วยให้งานหัตถกรรมทำได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงคนได้กว้างมากขึ้น”
file

ขยายฐานคนรุ่นใหม่ทั้งผู้ผลิต-ผู้ซื้อ

หลังจากช่วยเหลือชุมชนพัฒนาดีไซน์งานหัตถกรรมจนเป็นที่น่าพึงพอใจ คุณแสงระวีเผยว่าปัญหาอีกประการของคนทำงานหัตถกรรมที่ทาง SACICT ตั้งใจหาทางช่วยเหลือสมาชิก และได้วางแผนงานที่จะทำอย่างจริงจังต่อไปในปี 2562 คือ ‘กำลังการผลิต’ เพราะงานหัตถศิลป์ชิ้นสวยที่ใช้ระยะเวลาในการผลิตเนิ่นนาน ย่อมไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้ได้ทันเวลา

“เราต้องการจะช่วยเหลือสมาชิกในเรื่องของการลดต้นทุน ลดเวลา หรือสร้างวัสดุทดแทนใหม่ๆ เพราะวัสดุบางอย่างก็แพงมาก บางอย่างก็หายาก หรือใกล้จะหมดจากโลกนี้ไปแล้ว หากหาวัตถุดิบใดมาทดแทนตรงนี้ได้ก็ดี โดยที่คุณค่าของงานหัตถกรรมยังคงอยู่ เราเชื่อว่าหัตถกรรมเชิงสร้างสรรค์ยังไปได้อีกไกลมาก และจะสามารถเข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น คราวนี้ปัญหาเรื่องอยากซื้อ...แต่ไม่มีสินค้า ก็จะไม่มีอีกต่อไป”

อีกภารกิจที่แสนท้าทายคือ การขยายฐานคนรุ่นใหม่ทั้งฝั่งผู้บริโภค โดยสร้างกระแสหัตถรรมไทยใช้ได้...ไม่เชย ขณะที่ฝั่งผู้ผลิตนั้น เนื่องจากทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ที่ทำงานหัตถกรรมยังคงเป็นกลุ่มผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ในระหว่างที่ทีมงาน SACICT พาดีไซเนอร์ลงพื้นที่ไปให้ความรู้ พร้อมอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็จะถือโอกาสคัดเลือก ‘ครูช่างศิลปหัตถกรรม’ แขนงต่างๆ และ ‘ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม’ ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เห็นคุณค่า โดยมีส่วนสืบทอดเทคนิคจากครูศิลป์ของแผ่นดินเพื่อยกย่องเชิดชูในฐานะคนต้นแบบที่ร่วมสืบสานงานหัตถศิลป์ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดล้ำค่าให้คงอยู่

file
file

“ปัจจุบันเรามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มาช่วยสร้างสรรค์งานหัตถกรรมดั้งเดิมของรุ่นพ่อรุ่นแม่มากขึ้น คนกลุ่มนี้จะมีการพัฒนาต่อยอดทางความคิด รูปแบบลวดลายให้มีความร่วมสมัยตลอด บางคนมาเจอกันที่ SACICT ก็เกิดไอเดียสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ร่วมกันในลักษณะ Craft Co-creation

เช่น กระเป๋าลิเภาผสมผ้าแพรวา เครื่องเงินที่เป็นเครื่องถมผสมกับเครื่องไม้ ซึ่งถือเป็นนิมิตหมายที่ดีมากผลิตภัณฑ์ที่ออกมายังเป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย”

ศูนย์กลางหัตถกรรมที่ทุกคนเข้าถึงได้

ปลายทางที่เป็นเสมือนบททดสอบการทำงานด้านการตลาด คือ การพาสมาชิกไปออกร้านตามงานแฟร์ต่างๆ ภายในประเทศ โดยแทบทุกเดือนทาง SACICT จะมีการจัดงานแฟร์หรือนำพาสมาชิกไปออกงานที่ทางพันธมิตรเป็นผู้จัดขึ้น ตามโมเดิร์นเทรด หรือสถานที่จัดงานอีเวนต์ชั้นนำของประเทศ เพื่อนำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามากับมือ สร้างสรรค์มาด้วยมันสมองมาร่วมวางจำหน่ายรวมทั้งเชื่อมต่อกับผู้คนในแวดวงหัตถศิลป์ และพบปะพูดคุยกับลูกค้าที่รักในงานหัตถกรรมเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกันยังมีการคัดเลือกสมาชิกในรายที่มีศักยภาพสูง พาบินลัดฟ้าไปออกงานยังต่างประเทศด้วย แต่ที่แน่ๆ ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์หลายรายการจะได้ไปเป็นส่วนหนึ่งของ SACICT Shop ที่จะไปตั้งเป็นจุดจำหน่ายและเป็นหน้าต่างในการนำเสนอผลงานหัตถกรรมไทยสู่สายตาชาวโลก หากมีคำสั่งซื้อก็สามารถติดต่อกลับไปยังชุมชนต้นกำเนิดได้โดยตรง และในอนาคตยังจะพัฒนาระบบ E-market Place เพื่อเป็นช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ด้วย

และในการก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 ของ SACICT ในฐานะคนทำงานเบื้องหลังคุณแสงระวีมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ SACICT เป็นศูนย์กลางด้านงานหัตถกรรมของประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ Craft Knowledge Center สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลต่างๆ ในแวดวงหัตถกรรมสามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลและองค์ความรู้ ซึ่งถือเป็นหัวใจของการพัฒนางานศิลปหัตถศิลป์ของไทยได้ที่นี่ เหนืออื่นใดคือ การผลักดันให้ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทยแข็งแกร่งจากภายใน เพื่อเป้าหมายการเป็น ‘หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน’ (Today Life’s Crafts) ในอนาคต

“เราพยายามทำให้งานหัตถกรรมเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเรา ใส่ผ้าถุงแล้วไม่เชยใส่เครื่องประดับเงินแล้วเท่ สะพายย่ามแล้วเก๋ในห้องทำงานมีโคมไฟจักสานตั้งวางสวยๆ แล้วผลิตภัณฑ์หัตถกรรมเหล่านี้ต้องหาซื้อไม่ยาก ราคาจับต้องได้นี่คือ โจทย์ที่ท้าทายที่เราต้องให้ความรู้ และทำงานร่วมกับช่างฝีมือ และชุมชนหัตถกรรมต่างๆ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน และถือเป็นการร่วมสืบสานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่าและศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่สืบไป”

ปฏิทินกิจกรรม SACICT 2018

12-15 ก.ค. เข้าร่วมงาน Organic & Natural Expo 2018 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

26 ก.ค. - 13 ส.ค. นิทรรศการ ชีวิตใหม่ ใต้ร่มพระบารมี ณ SACICT

23 - 26 ส.ค. งาน SACICT เพลิน Craft ณ จ.ขอนแก่น

19 - 23 ก.ย. งาน Craft Fair ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางแค