file

ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร กับการใช้ชีวิตที่ได้ “กำไรชีวิต”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 46 | คอลัมน์ Exclusive Talk

ชื่อของ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เป็นที่รู้จักและได้รับเสียงชื่นชมในวงกว้าง ภายใต้สถานการณ์ที่กดดันแบบนาทีต่อนาที แต่เขาสามารถบัญชาการช่วยเหลือทีมหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต ได้เป็นผลสำเร็จ ในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง วันนี้เขากลับไปใช้ชีวิตตามปกติในฐานะข้าราชการคนหนึ่ง ลูกชายคนหนึ่ง และพ่อคนหนึ่งที่ยังคงทำหน้าที่ในทุกบทบาทของตนอย่างมีคุณค่ามากที่สุด

พ่อเมืองพะเยาที่ทุกคนเคารพรัก

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ต้อนรับทีมงาน TRUST ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาอย่างเป็นกันเอง เพราะท่านได้โยกย้ายจากเชียงรายมาทำงานเป็นพ่อเมืองพะเยา ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ด้วยบทบาทหน้าที่เดิม เพียงแค่เปลี่ยนพื้นที่รับผิดชอบ จึงไม่ต้องปรับตัวอะไรมากมาย สิ่งที่ต้องทำคือ ปรับจูนให้เข้ากับคนพะเยา แล้วลงมือทำงานทั้ง ‘บุ๋น’ และ ‘บู๊’ ในทันทีเท่านั้น

พ่อเมืองคนใหม่ยอมรับตรงไปตรงมาว่า พะเยาเป็นเมืองผ่าน ด้วยพะเยาเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีพิกัดตั้งอยู่ตรงไหนของประเทศ จึงต้องเร่งทำให้จังหวัดพะเยาเป็นที่รู้จักเสียก่อน โดยงานแรกตั้งใจจะยกระดับด่านบ้านฮวกให้ได้ เนื่องจากคนพะเยาต่อสู้และรอคอยกันมาเนิ่นนาน ซึ่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านฮวกเป็นด่านการค้าถาวร ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่มีเส้นทางกำหนดผ่านพะเยาถึง 6 สถานี นักยุทธศาสตร์อย่างผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ก็ได้นำตัวแปรสำคัญเหล่านี้มาใช้วางแผนการพัฒนาจังหวัดพะเยา ให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย

“จังหวัดพะเยามีศักยภาพอยู่แล้ว เราเพียงแค่ดึงขึ้นมาใช้ให้เต็มศักยภาพ ผมได้พูดคุยกับทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพะเยาร่วมกัน เวลานี้เรามีแผนงานมากมายอยู่ในลิ้นชัก ถ้าคิดเป็นมูลค่าก็ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งแต่ละแผนล้วนเป็นประโยชน์และสร้างรายได้ระยะยาวให้กับคนพะเยา”

ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่เชื่อว่าจะเปลี่ยนเมืองพะเยาไปแบบพลิกฝ่ามือก็เช่น ด้านโลจิสติกส์ มุ่งปรับปรุงและขยายถนนเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่จะมาจากสถานีรถไฟทางคู่ หรือเดินทางต่อไปยังด่านบ้านฮวกด่านการค้าชายแดนสำคัญที่จะเป็นประตูเปิดไปสู่ สปป.ลาว เวียดนาม และย่านเศรษฐกิจของจีนตอนในได้ด้วยต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำที่สุด ด้านการท่องเที่ยว จากที่เคยเป็นเมืองผ่านพะเยาจะถูกพัฒนาเป็นจุดแวะและเมืองพัก เพราะจังหวัดนี้ไม่ได้มีดีแค่กว๊านพะเยา แต่ยังมีเวียงลอ เมืองภูกามยาว วัดศรีชุม ฯลฯ สถานที่เชิงประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่นำมาเล่าสตอรี่ได้ไม่รู้จบเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งการต่อยอดความแข็งแกร่งด้านเกษตรอินทรีย์ และการที่พะเยาเป็นเมืองผู้สูงอายุที่มีคุณภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ปัจจุบันรายได้คนพะเยาเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 83,000 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำแต่คนพะเยาวันนี้ก็มีความสุขในชีวิต เพราะอากาศบริสุทธิ์ กว๊านพะเยางาม อาหารการกินไม่แพง พืชผักถูกมากแล้วก็ปลอดสาร คนพะเยามีคุณภาพชีวิตที่ดี หาหมอน้อย ผู้สูงอายุแข็งแรง หน้าที่ของพ่อเมืองคือต้องทำสิ่งเหล่านี้ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น และต่อจิ๊กซอว์ตามแผนที่วางไว้ให้ครบถ้วน ชิ้นส่วนไหนขาด ต่อไม่ได้ก็แก้ปัญหากันไป ผมเชื่อว่าถ้าทุกอย่างเดินไปตามแผน ภาพมันจะออกมาสวยเอง และคนพะเยาจะมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเกิน 120,000 บาทต่อปีแน่นอน”

ลูกชายคนโตที่มีพ่อเป็น Role Model

ด้วยสไตล์การทำงานที่คิดและทำอย่างเป็นระบบ ชัดเจน ตรงไปตรงมา ซื่อตรงต่อหน้าที่โดยไม่กลัวใคร กล้าตัดสินใจ และพร้อมยืดอกรับผิดชอบ ทำให้ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ถูกยกให้เป็นโมเดลผู้นำที่ควรยึดเป็นแบบอย่าง

ตัวตนที่สะท้อนออกมาในวันนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการอบรมบ่มนิสัยของคุณประสานโอสถธนากร ผู้เป็นบิดา ที่เลี้ยงลูกทั้ง 4 คน มาเหมือนทหาร ด้วยตัวท่านเคยเป็นทหารเสนารักษ์มาก่อน ลูกๆ จึงเติบโตมาอย่างมีวินัยและมีความรับผิดชอบสูง เรียนหนังสือไปด้วยช่วยพ่อแม่ค้าขายไปด้วย เนื่องจากที่บ้านเปิดเป็นร้านขายยา

“เราเป็นครอบครัวพ่อค้า พ่อไม่มีเวลามานั่งสอน เราก็อาศัยดูพ่อเป็นแบบอย่างท่านรักครอบครัว มุ่งมั่นทำงาน รักเพื่อนฝูงมากที่สำคัญพ่อเป็นคนดี ท่านถูกหล่อหลอมมาจากปู่อีกทีว่าเราต้องเป็นคนดี ครอบครัวปู่มาจากเมืองจีน ความจริงพ่อไม่จำเป็นต้องเป็นทหารก็ได้ แต่ปู่ก็ส่งพ่อไปเป็นทหาร และสอนว่าเราต้องตอบแทนแผ่นดินไทย เมื่อพ่อมาเปิดร้านประสานเภสัชตรงซอยภาวนา ถ้าไปถามคนแถวนั้นจะบอกหมดว่าพ่อผมเป็นคนดีซื่อสัตย์ต่อลูกค้า บางทีก็ใจดีขายยาให้ในราคาถูก เราก็คิดในใจ พ่อจะขายไปทำไมไม่กำไรเลย แต่ตอนนี้เราเข้าใจแล้ว ท่านค้าขายในวันนี้ ท่านไม่ได้หวังผลกำไร เพราะลูกๆ ก็เรียนจบ มีหน้าที่การงานดีทุกคน วันนี้เป็นการให้สังคมมากกว่า มีเพื่อนมานั่งคุย ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วย เพราะต้องคำนวณเงินที่ได้จากการค้าตลอด”

ถึงจะเติบโตมาอย่างมีวินัย แต่การศึกษาและชีวิตการทำงาน คุณประสานจะปล่อยให้ลูกๆ ได้เลือกเรียน เลือกเป็นอย่างอิสระ นั่นจึงทำให้ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ซึ่งเป็นลูกชายคนโต มีโอกาสได้เรียนหนังสือมากเท่าที่อยากจะเรียน และทำงานรับราชการตามความสมัครใจ โดยไม่จำเป็นต้องมารับช่วงกิจการของครอบครัวต่อ

“ถ้าถามตรงๆ ผมไม่เคยคิดรับราชการเลย โดยพื้นฐานผมเรียนวิศวะมา แต่ตอนนั้นอยากเรียนปริญญาโทที่เมืองนอก ซึ่งยุคนั้นไม่ได้ไปกันง่ายๆ แล้วเราเป็นครอบครัวชนชั้นกลางฐานะไม่ได้ร่ำรวยนัก ผมเลยใช้วิธีล่าทุน ก็ไปสอบจนได้ทุน ก.พ. ไปเรียนต่อทางด้านดาวเทียมในการสำรวจคนแรกๆ ของประเทศไทย”

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ กลับมาทำงานใช้ทุนอยู่ที่กรมที่ดินกว่า 4 ปี รับเงินเดือน 4,000 กว่าบาท ในระหว่างนั้นมีบริษัทเอกชนรายหนึ่งเสนอเงินเดือนสูงถึง 50,000 บาท ให้ท่านไปนั่งบริหาร แต่ก่อนจะลาออก คุณแม่นวลจันทร์ โอสถธนากร ได้เบรกไว้ก่อน เพราะอยากให้ลูกชายทำงานรับใช้บ้านเมือง ท่านเลยตัดสินใจแน่วแน่รับราชการมาจนถึงทุกวันนี้

“ในมุมมองของผมวันนี้ ถ้าเราคิดว่าเราเก่งคิดว่าเราแน่ เราต้องทำราชการ เพราะงานราชการมุ่งเน้นการรักษาผลประโยชน์ของประชาชน หากเราอยู่ในตำแหน่งที่สูงพอเราจะได้เป็นคนกำหนดนโยบายสาธารณะที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม เพื่อทำให้ประชาชนมีความสุข ไม่ใช่ทำประโยชน์ให้กับคนเพียงไม่กี่คน”

พ่อของข้าราชการพันธุ์ใหม่

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เล่าว่าคู่ชีวิตคือคุณจินจณา โอสถธนากร มีพื้นเพทางครอบครัวที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ เติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่ทำมาค้าขาย รู้คุณค่าของเงินทองและมีวินัยในการดำรงชีวิต ทั้งคู่รับราชการเหมือนกัน โดยปัจจุบันคุณจินจณาทำงานอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อตัดสินใจก่อร่างสร้างครอบครัว ท่านรู้ดีว่างานราชการต้องพร้อมทำหน้าที่ 7 วัน 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาสอนลูกแน่นอน จึงพยายามใช้ทุกนาทีที่มีโอกาสได้อยู่กับลูกสาวทั้ง 2 คน

ให้คุ้มค่ามากที่สุด

“เราพยายามสอนลูกให้มีวินัยเช่นเดียวกัน ผมกับภรรยาเดินทางบ่อย จึงตกลงกันว่าถ้าอีกคนเดินทาง อีกคนต้องอยู่กรุงเทพฯ เพราะต้องรับ-ส่งลูก แต่ถ้าอยู่กรุงเทพฯ ทั้งสองคนจะแบ่งรับ-ส่งลูกคนละคน ถ้าติดขัดอะไรตอนรับอาจรับทีเดียว 2 คนได้ แต่ตอนส่งต้องแยกส่งลูกคนละคน ถามว่าแท็คติคมันคืออะไร อย่างน้อยที่สุดตอนเช้าเราจะได้นั่งคุยนั่งสอนเขาไปในรถ เราสองคนยอมรับว่าไม่มีเวลาจะสอนลูก แต่ลูกดูจากพ่อแม่เป็น Role Model แล้วทำตามแบบอย่าง”

ลูกสาวทั้ง 2 คนของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เรียนจบจากสถาบันชั้นนำทั้งในและต่างประเทศด้วยผลการเรียนอันน่าพึงพอใจ สำหรับการไปเรียนเมืองนอกนั้น ก็เจริญรอยตามบิดาด้วยการสอบชิงทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อ เพราะไม่ต้องการเป็นภาระของพ่อแม่ ก่อนจะกลับมาเป็นข้าราชการรุ่นใหม่ด้วยกันทั้งคู่ โดยคนหนึ่งรับราชการภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) ส่วนอีกคนทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ครอบครัวโอสถธนากร ของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ จึงนับเป็นครอบครัวราชการที่ประสบความสำเร็จทุกคน

ผมมีโอกาสได้อ่านเรียงความที่ลูกสาวเขียนไปขอทุนเรียนต่อที่ญี่ปุน ผมประทับใจมาก เขาเขียนว่าพ่อกับแม่รับราชการทั้งคู่ ท่านเป็นข้าราชการที่ดี ซื่อสัตย์ บ้านเราไม่มีเงินมากมายนักที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศแต่ทั้งพ่อและแม่จบจากต่างประเทศทั้งคู่หากเขาจบในเมืองไทย ก็รู้สึกว่าเขาเป็นคลื่นลูกหลังที่ไม่สามารถมีคุณภาพเทียบเท่ากับรุ่นพ่อแม่ได้ เขาจึงประสงค์จะไปเรียนต่อต่างประเทศ ถ้าหากได้รับทุน เขาเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาชีวิตและนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียน มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชาติบ้านเมืองต่อไป ผมอ่านแล้วน้ำตาซึมเลย นี่คือสิ่งที่ผมเชื่อว่าเป็นคุณงามความดีที่ได้รับกลับมา จากการที่เราทำงาน เราเสียสละให้กับประเทศชาติ”

file
file

ชีวิตนี้ได้กำไรเหลือเฟือ

ในฐานะข้าราชการคนหนึ่ง ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ ได้น้อมนำพระราชดำรัสของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตมาโดยตลอดโดยทุกวันที่ 1 เมษายน ของทุกปี ซึ่งเป็นวันข้าราชการพลเรือน ท่านจะเก็บใบพระราโชวาทที่พระองค์ได้พระราชทานไว้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและสอนข้าราชการรุ่นใหม่ในการทำหน้าที่เป็นกำลังหลักของบ้านเมือง

“พระราชดำรัสที่เป็นเครื่องเตือนใจในฐานะที่ผมเป็นผู้กำหนดนโยบายสาธารณะคือ Our Loss is Our Gain ขาดทุนคือกำไรที่ผ่านมาพระองค์ท่านสอนเราให้แก้ไขปัญหาโดยใช้ค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด ต่ำที่สุด แต่หากเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชนแล้วถึงจะต้องลงทุนมากแค่ไหน ก็ต้องทำ หากการเสียนั้นคือการได้ เพื่อประชาชน เพื่อประเทศชาติ

“นอกจากนี้ การที่พระองค์ท่าน ‘ทำราชการ’ เป็นอาชีพ และ ‘ไม่เคยมีวันหยุดราชการ’ ตัวผมเองเป็นข้าของพระองค์ ก็ทำหน้าที่ดูแลพสกนิกรแทนพระองค์ท่านโดยที่ไม่มีวันหยุด เพราะประชาชนรอเราไม่ได้ ฉะนั้นอะไรที่ทำได้ทำเลย อย่างตอนที่รู้ข่าวเรื่องถ้ำหลวง ผมรีบไปถึงหน้าถ้ำทันที หรือสะพานขาดที่ อ.เชียงคำ เพราะไต้ฝุ่นมังคุด ผมก็รีบไปถึงสะพานแล้วสั่งดำเนินการซ่อมแซมให้สะพานกลับมาใช้งานโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมาตามปกติ ถามว่าทำแล้วได้อะไร แค่เห็นความสุขมันฉายออกมาจากแววตาของชาวบ้าน ผมก็มีความสุขแล้ว”

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ เผยว่าปัจจุบันท่านเหลืออายุราชการประมาณ 7 ปี ซึ่งนับว่าเหลือเฟือที่จะลุยทำงานเพื่อประเทศชาติ... “ชีวิตนี้ กำไรแล้ว ทำอะไรได้ก็ทำ มอบหมายอะไรมาผมไม่เคยเกี่ยงในตำแหน่งหน้าที่ ประสบการณ์ความรู้เรามี วันหนึ่งผมอาจจะลาออกไปเป็นอาจารย์สอนหนังสือ หรือไปทำงานกับภาคเอกชนบางแห่งก็ได้ แต่สิ่งที่ผมรักที่สุดคงจะเป็นการสอนหนังสือ ตั้งแต่เป็นผู้ว่าฯ พะเยา ผมไปบรรยายให้นักศึกษามหาวิทยาลัยพะเยามาแล้ว 3 ครั้ง ผมว่าถ้าเราเป็นคนที่ใช้ได้ และเรามีความรู้ดี ถ่ายทอดอะไรออกไปแล้วมีคนฟังเรา แล้วนำไปปฏิบัติตาม นั่นคือความสุขแล้ว เพราะสิ่งที่เรามีอยู่กับตัวสร้างประโยชน์กับคนอื่นได้ มิเช่นนั้นมันก็ตายไปกับเราตราบใดที่เรายังทำคุณค่าให้กับสังคม ทำให้ประชาชนมีความสุขได้ ผมจะทำ”