ปิยะวัฒน์ มังกรพาณิชย์

ปิยะวัฒน์ มังกรพาณิชย์ ปั้น “เภตรามารีน่า” ด้วย Passion

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 48 | คอลัมน์ New Generation

เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยที่เคยคิดว่ากิจกรรมล่องเรือส่วนตัวเป็นเรื่องไกลตัวหรือเกินตัว และการสัญจรบนเรือส่วนตัวล่องแม่น้ำเจ้าพระยาก็ดูจะเป็นกิจกรรมที่สัมผัสได้ยากยิ่งในปัจจุบัน จนหลายคนอาจลืมไปแล้วว่า กรุงเทพฯ ของเราเคยได้ชื่อว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” ที่การเดินทางทางน้ำเคยรุ่งเรืองอย่างมากในอดีต

“เสน่ห์ของการสัญจรในแม่น้ำบนเรือส่วนตัว คือ การได้ใช้ชีวิต Slow Life ได้ปล่อยใจไปกับทิวทัศน์และวิถีชีวิตริมฝั่งแม่น้ำเปรียบเสมือนกับการขับรถเปิดประทุนออกไปสัมผัสสายลมแสงแดดในทุ่งหญ้าที่กว้างมากๆ แต่ต่างกันที่การนั่งเรือให้ความรู้สึกพริ้วไหวมากกว่า และสามารถปล่อยความคิดให้ลอยละล่องไปได้ไกลกว่า” คุณปิยะวัฒน์ มังกรพานิชย์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบนซ์เภตรา จำกัด และเป็นผู้บริหารระดับสูงของเครือเภตรากรุ๊ป บรรยายความรู้สึก

ทั้งนี้ เครือเภตรากรุ๊ปประกอบธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หลายแบรนด์ อาทิ เบนซ์ โตโยต้า มาสด้า และมีกลุ่มเครือญาติเป็นฮอนด้า และนิสสัน อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีธุรกิจรถเช่าร่วม 600-700 คัน เรียกได้ว่าเป็นผู้นำธุรกิจด้านรถยนต์อย่างครบวงจร

แต่ด้วยความรัก (Passion) และความชื่นชอบการนั่งเรือล่องแม่น้ำอย่างมาก เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว คุณปิยะวัฒน์จึงได้สร้างธุรกิจที่นับว่าแปลกใหม่สำหรับคนไทย นั่นก็คือ “เภตรา มารีน่า” ธุรกิจบริการรับฝากจอดเรือพร้อมบริการแลมป์ขึ้นลง และการบำรุงรักษา ตลอดจนสร้างพื้นที่สันทนาการเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนชอบเรือล่องแม่น้ำ อาทิ “ครัวบุษบัน” ร้านอาหารไทยยุค ร.5 “Quayside Cafe and Eatery” ร้านกาแฟและอาหารฟิวชั่นสไตล์อิตาเลี่ยน และกำลังจะมีบริการสปา เร็วๆ นี้   

ต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ ด้วยเชื้อเพลิงแห่ง Passion

คุณปิยะวัฒน์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของเภตรามารีน่าเกิดจากโจทย์ง่ายๆ คือ ที่ดินผืนนี้เคยเป็นโรงสีและเป็นบ้านพักอาศัย แต่หลังจากครอบครัวทำธุรกิจรถยนต์ ที่ดินดังกล่าวก็ถูกทิ้งร้างจนหญ้าขึ้นรก ต้องเสียเงินค่าถางหญ้าเฉลี่ยครั้งละ 4 หมื่นบาท ทำให้เขาเกิดแนวคิดจะพัฒนาที่ดินแปลงนี้ และยิ่งที่ดินมีหน้ากว้างติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ยิ่งทำให้สัมผัสบรรยากาศริมแม่น้ำได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน เขาจึงอยากเปิดพื้นที่ให้คนนอกได้มีโอกาสสัมผัสความสวยงามนี้

บวกกับความชอบล่องเรือและความเข้าใจถึง Pain Point ของคนมีเรือที่ไม่ได้มีบ้านริมแม่น้ำ อันเป็นที่มาของคำกล่าวในหมู่คนรักเรือที่ว่า “ความสุขของคนซื้อเรือมีแค่ 2 วัน คือ วันซื้อกับวันขาย” ซึ่งหมายความว่า คนซื้อเรือจะมีความสุขในวันที่ซื้อ เพราะได้เป็นเจ้าของ แต่พอได้เรือมาก็ต้องเหนื่อยกับการดูแล ยิ่งถ้าไม่ได้มีบ้านอยู่ริมน้ำก็ยิ่งเหนื่อย ดังนั้น ความสุขจะกลับมาอีกครั้งก็วันที่ขายเรือทิ้งไป จึงเป็นที่มาของไอเดียธุรกิจมารีน่า ที่นอกจากจะแก้ Pain Point ของคนที่อยากมีไลฟ์สไตล์บนเรือ ยังตอบโจทย์ด้านการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์

ด้วยจุดแข็งด้านทำเลของเภตรามารีน่าที่ถึงแม้จะอยู่จังหวัดปทุมธานี แต่ก็อยู่ใกล้ทางด่วนมาก ทำให้เจ้าของเรือที่อาจจะพักอยู่คอนโดในเมือง ก็สามารถขับรถมาได้ในเวลาไม่ถึงชั่วโมง แล้วก็สามารถพาครอบครัวหรือเพื่อนฝูงขึ้นเรือส่วนตัวล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปไหว้พระหรือทานกุ้งแม่น้ำที่อยุธยา หรือทำกิจกรรมอื่นๆ บนเรือ เช่น ชมวิว ฟังเพลงจิบไวน์ ชมพระอาทิตย์ตก ฯลฯ เมื่อล่องเรือเสร็จก็ขับเรือกลับมาจอดที่นี่ แล้วก็ขับรถกลับคอนโดได้อย่างสบายใจ

“จริงๆ ผมบริหารเบนซ์เภตรามา ได้สัมผัสลูกค้าระดับบน (Hi-end) พอสมควร ก็ได้เห็นว่าจริงๆ คนมีกำลังซื้อเยอะ ยิ่งวิถีคนรุ่นใหม่ยุคนี้ชื่นชอบการใช้ชีวิตกลางแจ้งมากขึ้น แต่ทางเลือกในการใช้ไลฟ์สไตล์มีน้อย เรือจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ผมมองว่าเรือเป็น Social Platform รูปแบบหนึ่งที่เราสามารถสัมผัส และใช้ไลฟ์สไตล์บนแพลตฟอร์มนี้ได้”

เส้นทางผู้บุกเบิกมักไม่ง่าย ยิ่งการบุกเบิกธุรกิจมารีน่าในกรุงเทพฯ ย่อมไม่ง่ายเหมือนการทำมารีน่าที่พัทยาหรือภูเก็ต เพราะคนมักคิดว่าการมีเรือ คือ การเป็นเจ้าของเรือยอร์ช ซึ่งภาพลักษณ์ของเรือยอร์ช มักดูแพงและไกลตัว เนื่องจากต้องใช้เวลาขับรถไปทะเล ซึ่งกินเวลาหลายชั่วโมงกว่าจะได้ขับเรือออกทะเล ทั้งที่ความจริงการล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นไลฟ์สไตล์ที่เข้าถึงได้ง่ายกว่า เพราะมีหลายเซกเมนต์ (Segment) ให้เลือกตั้งแต่มูลค่าไม่กี่แสนบาทไปถึงหลายล้านบาท อีกทั้งยังมีความต่างในแง่ของการเป็นยวดยานสัญจรที่สามารถใช้ได้ทุกวัน (Everyday Use)    

“ถ้าทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสไลฟ์สไตล์บนเรือแม่น้ำสักครั้ง ยิ่งถ้ามีบริการรองรับอย่างครบวงจร ในราคาที่จ่ายได้ (ค่าจอดเรือเริ่มต้นที่ตารางฟุตละ 180 บาท/เดือน) ผมเชื่อว่าร้อยละ 80 ยังไงก็ชอบ” เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคและเพื่อกระตุ้นตลาด คุณปิยะวัฒน์ จึงได้ร่วมมือกับสื่อสากลเข้าไปจัดบูธในงาน Motor Expo 2018 เพื่อเปิดโซน Boat Fest ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรือและเจ็ทสกี ซึ่งมีความหลากหลายสามารถตอบสนองสไตล์และสะท้อนตัวตนของแต่ละคนได้ พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้สัมผัสไลฟ์สไตล์บนเรือในทะเลสาบเมืองทองธานี เหมือนที่เขาเคยแนะนำให้สังคมไทยให้รู้จักกับไลฟ์สไตล์ Big Bike ซึ่งถือเป็น Social Platform ใหม่เมื่อ 7-8 ปีก่อน มาแล้ว

file

จากโมเดลธุรกิจรถครบวงจร สู่นิเวศวงจรธุรกิจเรือ

นอกจากบริการรับฝากจอดเรือ แลมป์ขึ้นลง บำรุงรักษาและดูแลเรือ รวมถึงการพัฒนาที่ดินบริเวณมารีน่าให้เป็นพื้นที่ไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Area) เภตรามารีน่ายังมีบริการนำเข้าเรือมือหนึ่งและมือสองจากต่างประเทศ ซึ่งในอนาคต

คุณปิยะวัฒน์วางแผนว่าจะมีบริการให้เช่าเรือล่องแม่น้ำสำหรับคนที่อยากสัมผัสไลฟ์สไตล์หรือทดลองล่องเรือ เรียกว่าครบวงจรยิ่งกว่าธุรกิจรถยนต์ โดยหลังจากนั้นเขาตั้งใจจะใช้เภตรามารีน่าเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ (CRM) กับลูกค้าของกลุ่มเภตรา         

“ในการเดินทางสู่ตรงนั้น เราต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะธุรกิจนี้ถือว่ายังใหม่มาก ณ วันนี้เรายังทำอีกส่วน คือ การเป็นสื่อ เพื่อเปิดมุมมองไลฟ์สไตล์เรือสู่สาธารณชน ซึ่งเป็นการสร้างวงจรธุรกิจเรือ ทั้งผู้ผลิตเรือ เจ้าของเรือที่อยากขาย คนที่อยากซื้อเรือมือสอง ผู้ให้บริการจอดเรือ รวมถึงผู้พัฒนาอสังหาฯ ริมแม่น้ำล้วนจะได้ประโยชน์ทั้งหมด เพราะพอมีเรือ ก็แปลว่าจะมีเจ้าของเรือมาใช้พื้นที่นั่นหมายความว่ามีคนที่มีกำลังซื้อเข้ามาใช้บริการ”

คุณปิยะวัฒน์ เล่าว่า ตอนนี้ เขากำลังมีการร่วมมือกับธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลากหลายเจ้า เพื่อทำจุดแวะจอดเรือ ซึ่งจะช่วยจุดประกายไลฟ์สไตล์การล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ขยายตัว

ด้วยคุณภาพบริการบวกกับพลังของการบอกต่อ ทำให้วันนี้ พื้นที่จอดเรือในเภตรามารีน่าเต็มเกือบหมดแล้ว ขณะที่ธุรกิจพัฒนาที่ดินเองก็ค่อนข้างเต็มพื้นที่ แต่ถึงอย่างนั้นคุณปิยะวัฒน์ก็ยังคงทำหน้าที่กระตุ้นตลาดและความต้องการเรือล่องแม่น้ำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเขาตั้งใจวางจุดยืน (Position) ให้เภตรามารีน่าเป็นศูนย์กลางในระบบนิเวศของวงจรธุรกิจเรือ เพื่อที่ว่าหากใครอยากได้ข้อมูลธุรกิจเรือจะเข้ามาพูดคุยกับเขา เพื่อช่วยกันพัฒนาวงการให้ใหญ่ขึ้น และเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวทางแม่น้ำในกรุงเทพฯ และเมืองไทยให้กลับมามีเสน่ห์มนต์ขลังอีกครั้ง

 “มันเริ่มจากไอเดียสร้างธุรกิจของตัวเองแต่ก็มองว่าถ้าเรากระตุ้นธุรกิจภาพรวมชาวบ้านก็ได้ด้วย การท่องเที่ยวก็ได้ด้วย คู่แข่งก็ได้ด้วย แต่จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้มองว่าเป็นคู่แข่ง เพราะตลาดยังใหม่มาก เหมือนวันที่ธุรกิจรถยนต์เริ่มเข้าเมืองไทย มันไม่มีใครสามารถครองตลาดได้ทั้งหมด ทุกแบรนด์ร่วมกันสร้างตลาด จน “เค้ก” ก้อนใหญ่ขึ้นก็ค่อยแบ่งกัน วิสัยทัศน์ในธุรกิจเรือก็เป็นเช่นนี้ ผมถึงอยากให้ผู้คนที่เกี่ยวกับวงการเรือและคนชอบเรือ รวมถึงคนที่อยากพัฒนาอสังหาฯ ริมน้ำเข้ามาพูดคุยกันและร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการวงการนี้ให้ใหญ่ขึ้น”

คุณปิยะวัฒน์ทิ้งท้ายว่า ความท้าทายในการทำธุรกิจทุกวันนี้ คือ การสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ โดยเขาใช้โมเดลที่เรียกว่า “เก้าอี้สี่ขา” ซึ่งขาแรก คือ ต้องทำให้ลูกค้ามีความสุข ขาที่สอง คือ พนักงานก็ต้องมีความสุข ขาที่สาม คือ เศรษฐกิจและสังคมรอบข้างต้องได้ประโยชน์ ส่วนขาสุดท้ายถึงจะเป็นบริษัท โดยโมเดลนี้ถูกใช้ทั้งกับธุรกิจรถยนต์และธุรกิจเรือ

“ถ้ามองวงการเรือ คนมักถามว่าสิ่งที่เรากำลังทำ ทำแล้วได้อะไร เพราะไม่เห็นขายเรือ ส่วนที่ดินตรงนี้ (เภตรามารีน่า) ก็เต็มแล้ว ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าเราทำ แล้วคนในวงการเรือเติบโตทางธุรกิจขึ้น เราก็ย่อมมีโอกาสทำบางสิ่งให้คนในวงการได้มาใช้ร่วมกัน สุดท้ายทั้งเขาและเราก็จะโตไปด้วยกัน ขณะที่จังหวัดปทุมธานีเองก็จะมีแหล่งในการใช้ชีวิตที่สมบูรณ์แบบขึ้นการอยู่อาศัยในปทุมธานีก็จะมีความสุขขึ้น นี่คือปรัชญาของเภตรากรุ๊ป คือ มองอะไรที่ Win-Win” ผู้บริหารกลุ่มเภตรากล่าว

ปิยะวัฒน์ มังกรพาณิชย์

ความรู้สึกกับ TISCO

คุณปิยะวัฒน์เล่าว่า นับเป็นเวลาร่วม 20-30 ปีที่ทางเครือเภตรากรุ๊ปได้รับบริการทางการเงินจาก TISCO ด้วยความประทับใจที่มีต่อทีมงานโดยเฉพาะเรื่องของบริการที่ดี และการดูแลเอาใจใส่ รวมถึงการสนับสนุนให้ความช่วยเหลือในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจอย่างดีเสมอมา ทำให้เขามั่นใจว่าเครือเภตราน่าจะยังคงเป็นลูกค้ากลุ่มธนาคาร TISCO ไปอีกนาน

“ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ผมมองว่าตอนนี้ TISCO เหมือนคนหนุ่มไฟแรงเพียงแต่กำลังเผชิญโลกใบใหม่ที่ท้าทายขึ้น โดยเฉพาะกระแส Digital Disruption ทำให้ TISCO ต้องมีการปรับตัว แต่ก็เชื่อว่าด้วยความเป็น TISCO และประวัติศาสตร์อันยาวนาน TISCO จะผ่านคลื่นความเปลี่ยนแปลงลูกนี้ไปได้เหมือน 50 ปีที่ผ่านมา และผมก็เชื่อว่าจะได้เห็นอนาคตที่สดใสของ TISCO ไปเรื่อยๆ จนฉลองครบรอบร้อยปี”