file

หุ้นยั่งยืน Sustainable Investing การลงทุนเปลี่ยนโลกธุรกิจและสังคมให้ดีขึ้น

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 49 | คอลัมน์ Exclusive

รายงานประจำปีฉบับล่าสุดของ Global Sustainable Investment Alliance หรือ GSIA แนวร่วมการลงทุนที่ยั่งยืนโลกระบุตัวเลขขนาดสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ของการลงทุนในหุ้นยั่งยืน (Sustainable Investing) จากทุกทวีปทั่วโลกรวมกันแล้วมีอัตราการเติบโตสูงถึง 34% ในช่วงปี 2016-2018 หรือมีมูลค่ากว่า 30.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ

file แผนภาพที่ 1: GLOBAL SUSTAINABLE INVESTING ASSETS, 2016–2018 | ที่มา: Global Sustainable Investment Alliance

file แผนภาพที่ 2: GLOBAL SUSTAINABLE INVESTING ASSETS BY REGION 2018 | ที่มา: Global Sustainable Investment Alliance

ญี่ปุ่นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนในหุ้นยั่งยืนเทียบกับสินทรัพย์การลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากระดับ 3.4% เป็น 18.3% คิดเป็นเม็ดเงินการเติบโตสูงกว่า 300% ส่งผลให้ญี่ปุ่นกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนหุ้นยั่งยืนอันดับ 3 ของโลก รองจากยุโรปและสหรัฐฯ ที่ก็ยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ถ้าพิจารณาในมุมประสิทธิผลหลักใหญ่มาจากการผลักดันอย่างจริงจังของภาครัฐและเอกชน ยกตัวอย่าง การนำปัจจัยด้าน ESG (Environment, Social and Governance) มาเป็นเกณฑ์ตัดสินใจในการลงทุนร่วมกับการวิเคราะห์ทางการเงินอย่างจริงจัง การเลือกไม่ลงทุนในบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับ ESG รวมถึงการลงนามสนับสนุนการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบกับสหประชาชาติผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญของรัฐบาล (Government Pension Investment Fund : GPIF) เป็นต้น

ภาพดังกล่าวสะท้อนได้ถึงความตื่นตัวสู่การลงทุนในยุคแห่ง Sustainable Success ที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างปรับ “เข็มทิศ” มุ่งตรงสู่เส้นทางใหม่แห่งอนาคต ไปยังถนนของการแข่งขันอย่างรับผิดชอบ และดูเหมือนการลงทุนในหุ้นยั่งยืนจะไม่ใช่การลงทุนแค่ตามกระแสเป็นครั้งคราว ในหลายประเทศถือเป็นภาคบังคับ นับเป็น Impact Investing ที่ส่งผลต่อการลงทุนทั่วโลกก็ว่าได้

นิพจน์ ไกรลาศโอฬาร

Global Trend

คุณนิพจน์ ไกรลาศโอฬาร Senior Fund Manager แห่ง บลจ.ทิสโก้ เล่าว่า การดำเนินธุรกิจอย่างขาดความรับผิดชอบส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อสังคม สิ่งแวดล้อมในอนาคตของโลกใบนี้ จึงเป็นที่มาของหลายประเทศในการออกกฎหมาย ข้อบังคับ กรอบปฏิบัติตามที่ควรจะเป็น อันกดดันให้ภาคธุรกิจมีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่หวังผลกำไรเพียงระยะสั้น โดยกรอบหลักที่ได้รับความนิยมคือการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีธรรมาภิบาลที่จริงจุดเริ่มต้นของแนวคิดนี้มาจากกรอบแนวทางในการดำเนินธุรกิจของภูมิภาคยุโรปที่กำหนดเป็นข้อบังคับทางกฎหมายระบุให้องค์กรธุรกิจ นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรแล้ว ยังต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รวมไปจนถึงการสร้างผลประโยชน์ตอบแทนสู่สังคมเพื่อความยั่งยืนในระยะยาวของทั้งธุรกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจขยายไปสู่มิติด้านการลงทุน ก่อให้เกิดแนวคิดการลงทุนอย่างรับผิดชอบและเพื่อความยั่งยืน (Responsible and Sustainable Investment) ตามหลักปฏิบัติการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment : PRI) ที่ดำเนินงานโดยสหประชาชาติ โดยมีหลักปฏิบัติด้วยกัน 6 ข้อ หัวใจสำคัญคือ การนำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจในการลงทุน ตลอดจนดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อที่ผู้เกี่ยวข้องและผู้ลงทุนจะมั่นใจได้ว่ามีส่วนร่วมสนับสนุนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบและเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง

รายงานล่าสุดของ PRI ระบุว่ามีนักลงทุนสถาบันที่ลงนามสนับสนุนหลักการของ PRI แล้วทั้งสิ้นกว่า 2,000 แห่ง คิดเป็นสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) มากกว่า 81.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นับเป็นข้อมูลการเติบโตที่ไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลการลงทุนหุ้นยั่งยืนของ GSIA

“ทุกประเทศที่ตลาดทุนมีความก้าวหน้ามักจะส่งเสริมการลงทุนที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน (Sustainable Investing) ไทยถือได้ว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องความตระหนักเกี่ยวกับ Sustainable Investing อยู่ในลำดับต้นๆ ในอาเซียน ใกล้เคียงสิงคโปร์ แต่ก็ยังมีช่องว่าง (Room) ให้พัฒนาอีกเยอะ”

แผนภาพที่ 3: Global Sustainable Investing Growth 2016-2018 แผนภาพที่ 3: Global Sustainable Investing Growth 2016-2018 | ที่มา: Global Sustainable Investment Alliance

Sustainable Investing ในตลาดทุนไทย

อาจกล่าวได้ว่า Sustainable Investing เป็นเทรนด์ที่สังคมไทยเริ่มมีการพูดถึงมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดกระแสสังคมมาจากประเด็นธรรมาภิบาลของผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แห่งหนึ่งที่อาศัยข้อมูลภายใน (Insider Trading) เพื่อซื้อขายหุ้น สร้างความตื่นตัวให้กับผู้เกี่ยวข้องจนนำ ไปสู่การยกระดับธรรมาภิบาลของ บจ. ไทย

จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ตลาดทุนไทยมีความพยายามในการส่งเสริมการลงทุนอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน ผ่านหลายๆ หน่วยงาน อาทิ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD : Thai Institute of Directors Association) ที่มีบทบาทเข้ามาช่วยประเมินปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องธรรมาภิบาลและจัดเรตติ้ง เพื่อให้ผู้ลงทุนนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นอีกองค์กรที่พยายามผลักดันให้ บจ. ทำการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับธรรมาภิบาลและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ที่บริษัทตอบแทนสู่สังคม ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “รายงานความยั่งยืน (Sustainability Report)” ผลคือทำให้บริษัทที่มีคะแนนดี โดยเฉพาะเกณฑ์ที่ตรงกับประเด็นที่ผู้ลงทุนมองหา มีโอกาสได้รับความสนใจและได้รับเงินลงทุนมากกว่า

ในปี 2560 ประเทศไทยได้ริเริ่ม I-Code Project  ซึ่งเป็นหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investor Code : I-Code) เพื่อรองรับการทำหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน โดยมีหลักปฏิบัติสำคัญ 7 ประการ ในปี 2561 บลจ. ต่างๆ ได้ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมปฏิบัติการ I-Code จนครบและในปี 2562 จะเริ่มมีการเปิดเผยผลการปฏิบัติตาม I-Code เป็นครั้งแรก เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนา/ปรับปรุง และยกระดับ I-Code สู่มาตรฐานสากล

บ่มเพาะความเข้าใจ

​ในมิติของผู้ลงทุน คุณนิพจน์ มองว่า บลจ. ต่างๆ ต้องช่วยกันให้ความรู้ควบคู่กับการออกผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ รวมถึงส่งเสริมให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ แต่การที่จะทำเช่นนั้นได้ บลจ. เองต้องมีความเข้าใจก่อน เพื่อให้สามารถออกผลิตภัณฑ์ หรือออกไปลงทุนได้อย่างถูกต้องตามหลักปฏิบัติและวัตถุประสงค์

การลงทุนของกองทุนขนาดใหญ่ โดยเฉพาะ กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม จะมีผลอย่างมากในการสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับ Sustainable Investing ในระยะยาว ทั้งในแง่ของขนาดการลงทุนและการมีสมาชิกเป็นนักลงทุนรายย่อยนับแสนนับล้านคน

เขายกตัวอย่าง กองทุนบำนาญ (Government Pension Fund Global) ของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นกองทุนที่มีเม็ดเงินมหาศาล แต่ปีที่แล้วได้ลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นธุรกิจขนส่งเดินเรือชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย เพราะกระบวนการกำจัดซากเรือที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นผลลบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนปัญหา Human Rights ต่อกลุ่มแรงงานของบริษัท นี่ถือว่าเป็นตัวอย่างของการจุดประกายให้นักลงทุนตื่นตัวต่อประเด็นดังกล่าว ขณะที่ธุรกิจเองก็เริ่มทบทวนการดำเนินงานของตน

“เวลาเกิดปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับปัจจัย ESG ขึ้นแต่ละครั้ง มักจะทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงแรง ถ้านักลงทุนอยากลดความเสี่ยงเหล่านี้ก็ต้องเลือกบริษัทที่คำนึงถึง ESG ด้วยความที่ Sustainable Investing เป็นปรัชญาการลงทุนระยะยาว กองทุน ESG จึงขยายตัวได้ไม่เร็วนักและปัจจุบันกลุ่มผู้ครองความมั่งคั่งในตลาดทุนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นคนยุคเบบี้บูมและ Gen X ที่มักพอใจผลตอบแทนโดยเปรียบเทียบกับอัตราเงินฝาก แต่เราเชื่อว่าในระยะยาวผลตอบแทนจากการลงทุนแนวนี้จะชนะดัชนีอ้างอิงและความเสี่ยงยังน้อยกว่ามาก”

file

เขามองว่า การลงทุนแนวนี้อาจจุดติดในยุคของคนเจน Y ลงไป ด้วยโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ดังนั้นทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ บลจ. ต่างๆ จำเป็นต้องนำเสนอข้อมูลและผลิตภัณฑ์อย่างรับผิดชอบและยั่งยืนตั้งแต่วันนี้ เพื่อปลูกฝังให้คนเจน Y และ Z ซึมซับแนวคิดการลงทุนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นอกจากนี้ คนเจน Y ยังมีเวลาลงทุนเพื่อการเกษียณอีกยาว จึงเหมาะกับ Sustainable Investing เป็นอย่างยิ่ง

ผลักดันสู่การลงทุนที่ “ยั่งยืน”

คุณนิพจน์เล่าว่า กลุ่มทิสโก้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการมีธรรมาภิบาลมาโดยตลอด ถือเป็นวิสัยทัศน์หลักในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ซึ่งธุรกิจการลงทุน ก็ต่อยอดมาจากวิสัยทัศน์ในภาพรวม ที่ต้องการเป็นที่จดจำของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ในแง่ของความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ความน่าเชื่อถือ และการดำรงไว้ซึ่งธรรมาภิบาลที่ดีจากนั้นจึงนำมาสู่เรื่องของการลงทุนตั้งแต่เมื่อ 5-6 ปีก่อน

“จุดเริ่มต้นเกิดจากการตั้งคำถามของลูกค้าถึงความมุ่งมั่นของ บลจ. ทิสโก้ ในแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการลงทุนอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาการลงทุนของเรา จึงขับเคลื่อนไปสู่การคิดวิเคราะห์ ศึกษาต่อยอด ออกมาเป็น “โมเดลธุรกิจ” ตามมาด้วยนโยบายการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ร่วมกับแนวทางการลงทุนที่เน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของหุ้น”

หลังจากวันนั้นหนึ่งปีถัดมา บลจ.ทิสโก้ ได้ออกกองทุนเปิด ทิสโก้ ESG หุ้นไทยยั่งยืน หรือ TISESG เน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีความโดดเด่นด้าน ESG ซึ่งตรงกับแนวคิด “การลงทุนสุนทาน (Philanthropic Investment)” ของสถาบันไทยพัฒน์ อันเป็นการลงทุนแนวใหม่ในเวลานั้น เขาย้ำว่า ทิสโก้ถือเป็น บลจ. อันดับแรกๆ ที่ตื่นตัวเรื่อง Sustainable Investing อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมโดยในระยะแรกเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุน ที่เน้นการลงทุนระยะยาวในหลักทรัพย์ของธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับปัจจัยด้าน ESG แล้วนำผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนมาจัดสรรเป็นความช่วยเหลือสังคม หมุนเวียนเป็นระบบนิเวศ (Ecosystem) ต่อไป

ด้วยผลตอบรับที่ดีมาก ปัจจุบันจึงเปิดให้ผู้ลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนได้ จากเดิมที่ตั้งมาเพื่อผู้ลงทุนกลุ่มสถาบัน และกองทุนนี้เองที่ทำให้ บลจ.ทิสโก้ ได้รับรางวัล Best Responsible Investor จากนิตยสาร ASIA Asset Management ต่อมาการออกผลิตภัณฑ์ของทิสโก้ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศจะดำเนินการตามหลักปฏิบัติเกี่ยวกับ ESG เสมอมา

ความท้าทายของ Sustainable Investing

“กระแสความตื่นตัวในการลงทุนอย่างรับผิดชอบและยั่งยืนจะจุดติด ก็ต้องมีองค์ประกอบทั้งด้านดีมานด์ (ความต้องการของนักลงทุน) และซัพพลาย (ผลิตภัณฑ์ของ บลจ.) ที่หลากหลายให้เลือก แต่จุดมุ่งหมายของเราคือ อยากให้ทุก 1 บาท ที่ลงทุนในตลาดทุน มีการคำนึงถึงเรื่อง ESG และ Sustainable Business ทั้งหมด ซึ่งตรงนี้จะไปไม่ถึงเลย ถ้าไม่มีเรื่องการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบเข้ามาเกี่ยวข้อง”

คุณนิพจน์กล่าวเพิ่มว่า บริษัทยักษ์ใหญ่แทบจะไม่ต้องเป็นห่วงในประเด็นเหล่านี้ เพราะมีงบประมาณและทรัพยากรเพียงพอที่จะจัดสรรได้อยู่แล้ว แต่สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็กที่เพิ่งเริ่มต้นเรื่องเหล่านี้ อาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ภาครัฐ ตลอดจน ตลท. กลต. หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าไปสนับสนุนทางด้านเม็ดเงินให้แรงจูงใจทางภาษี ตลอดจนองค์ความรู้ (Know-how)

ขณะที่ด้านดีมานด์ แม้ว่าปัจจุบันสถานะความสนใจเกี่ยวกับ Sustainable Investing ในตลาดทุนไทยจะดีขึ้นถ้าเทียบกับ 5 ปีก่อน แต่ บลจ. ในฐานะผู้ลงทุน ก็ต้องมีหน้าที่นำเอาความสำคัญในประเด็นต่างๆ ไปถ่ายทอดสู่นักลงทุน เพื่อให้เขาตระหนักและรับรู้ว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมผ่านการลงทุนแนว Sustainable ได้อย่างไร ควบคู่ไปกับการใช้ความสามารถในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวให้กับนักลงทุนด้วย เพื่อทำให้การลงทุนในลักษณะนี้ขยายตัวได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว