Let’s be Heroes ใครๆ ก็เป็นฮีโร่ได้

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 49 | คอลัมน์ Giving

ไม่น่าเชื่อว่าความฝันของคนๆ หนึ่ง จะมีอิทธิพลและเบ่งบานขึ้นในใจของใครหลายๆ คน ดังเช่นความฝันในวัยเด็กของ หมอเจี๊ยบ-พญ.ลลนา ก้องธรนินทร์ ที่เคยบอกทุกคนว่าอยากจะเปิดฟรีคลินิกรักษาคนไข้ จากวันนั้นผ่านมาสิบกว่าปี ถึงวันนี้ความฝันของเธอไม่เพียงถูกถักสานให้เป็นจริง ทว่ายังถูกขยายให้ใหญ่โตและทรงพลังมากกว่าที่คิดไว้เสียอีก 

file พญ.รับขวัญ ภัทรานนท์อุทัย กรรมการมูลนิธิ Let’s be Heroes

Everyone can be a Hero

Let’s be Heroes คือมูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นจากการทรานสฟอร์มความฝันของหมอเจี๊ยบ ดำเนินการด้วย 3 กิจกรรมหลัก หนึ่งคือ การสอนกู้ชีพพื้นฐานและการใช้เครื่อง AED สองคือ ฟรีคลินิกแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ และสาม Let’s be Heroes for Animals โครงการช่วยเหลือสัตว์โดยทีมสัตวแพทย์

ในช่วงแรกของการลงมือทำ หนีไม่พ้นบรรดาคุณหมอที่อยู่รอบตัวของหมอเจี๊ยบ ทั้งอาจารย์และผองเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ หนึ่งในนั้นก็คือ พญ.รับขวัญ ภัทรานนท์อุทัย กรรมการมูลนิธิ Let’s be Heroes และมีตำแหน่งพ่วงท้ายเป็นหนึ่งในเพื่อนสนิทของหมอเจี๊ยบ แม้เธอจะเล่าแบบติดตลกว่า ‘โดนล่อลวงมา’ แต่การที่เธอได้เห็นความตั้งใจจริงของเพื่อนที่ทำงานอย่างหนักในฐานะประธานมูลนิธิฯ แล้ว เธอก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในมูลนิธิฯ

“เราอยากให้สิ่งที่ทำ (การเป็นหมอ) สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมในวงกว้างที่สุด และทำแล้วเกิดความยั่งยืนที่สุด” หมอรับขวัญ บอกเล่าถึงที่มาของอุดมการณ์ร่วม “ชื่อมูลนิธิ Let’s be Heroes หมอเจี๊ยบได้แนวคิดมาจากภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ที่บอกว่า Everyone can be a Hero เพราะเชื่อว่าไม่ว่าใครก็สามารถเป็นฮีโร่ในชีวิตจริงได้ ไม่จำเป็นต้องมีพลังพิเศษแต่แค่มีใจที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่น และลงมือทำ”

แม้ในวันนี้เราจะไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของความฝันโดยตรง แต่การพูดคุยกับหมอรับขวัญก็ทำให้เราสามารถจินตนาการได้อย่างกระจ่างชัดถึงความตั้งใจจริงของคนกลุ่มนี้ ที่มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือ การทำให้สังคมของเราดีขึ้น 

ภารกิจเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นฮีโร่

หนึ่งเป้าหมายสำคัญของมูลนิธิ Let’s be Heroes คือการสร้างคนธรรมดาๆ ให้กลายเป็นฮีโร่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ดังนั้น ในทุกๆ เดือน มูลนิธิจึงจัดกิจกรรม Save a Life’ เพื่อให้ความรู้และฝึกสอนประชาชนทั่วไปให้สามารถปั๊มหรือกดนวดหัวใจ (CPR) ได้ และสามารถใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ (AED) เป็น ซึ่งความรู้เหล่านี้อาจทำให้วันหนึ่งคุณกลายเป็นฮีโร่ที่สามารถช่วยเหลือผู้อื่นในยามฉุกเฉินก็เป็นได้

“ในชีวิตจริงคุณอาจมีโอกาสเดินไปเจอคนหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือคนหมดสติล้มลงต่อหน้า แต่คุณจะไม่สามารถช่วยเหลืออะไรเขาได้เลย เพราะคุณไม่มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยชีวิตเบื้องต้น ในขณะที่ตัวหมอเองมีความรู้อยู่คนเดียว แม้จะช่วยเหลือคนได้แต่ก็ช่วยได้ในวงจำกัด แต่ถ้าคนเป็นหมอสามารถสอนให้ทุกคนรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นในเบื้องต้นได้อย่างถูกวิธี เขาเหล่านั้นก็จะสามารถส่งต่อการช่วยเหลือไปยังคนอื่นๆ ได้อีกมาก หรืออย่างน้อยก็ช่วยสอนคนอื่นต่อได้ ทำให้เกิดเครือข่ายของการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างไม่สิ้นสุด”

น่าภูมิใจแทนคนทำงาน เพราะทุกครั้งที่มูลนิธิฯ ประกาศให้ผู้ที่สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม Save a Life’ พบว่าคนสมัครเต็มโควตา 30 ที่นั่ง ทุกรอบในเวลาเพียงไม่กี่นาที นั่นแสดงให้เห็นว่า หากมีโอกาสทุกคนก็อยากจะใช้สองมือของตัวเองช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่หัวใจหยุดเต้น ให้กลับมามีชีวิตใหม่ได้อีกครั้ง 

ส่งทีมแพทย์เฉพาะทางรักษาคนพื้นที่ห่างไกล

กลับมาที่ต้นเรื่องที่ทำให้เกิดมูลนิธิ Let’s be Heroes บ้าง ฟรีคลินิกของที่นี่ถูกออกแบบให้เป็นคลินิกแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ไอเดียนี้เกิดจาก อ.พญ.พรรณอร เฉลิมดำริชัย และคณะกรรมการของมูลนิธิฯ ที่ต้องการดูแลผู้ป่วยให้ได้ไกลที่สุด “อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก” จึงเป็นพื้นที่แรกที่มูลนิธิฯ เลือกเดินทางไปเยือน ซึ่งหมอรับขวัญ ก็เป็นหนึ่งในทีมแพทย์เฉพาะทางด้านสมองที่ร่วมเดินทางไกลไปกับทีมด้วย ถ้าดูจากความยากลำบากของเส้นทางที่ต้องผ่านโค้งน้อยใหญ่ถึง 1,219 โค้ง แล้ว ถือว่าทุกคนไปด้วยใจที่มุ่งมั่นกันจริงๆ

“ความเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และทุกคนควรได้รับสิทธิ์ในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพอย่างเหมาะสม อย่างอำเภออุ้มผางที่พวกเราเดินทางไปกันนั้น เส้นทางค่อนข้างยากลำบาก ทั้งยังอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลในตัวจังหวัด แต่ละครั้งจึงต้องใช้เวลาเดินทางยาวนาน 3 - 4 ชั่วโมง ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางเพราะเป็นเรื่องที่ยากมาก เราเลยพยายามรวบรวมหมอเฉพาะทางในสาขาต่างๆ ที่โรงพยาบาลในพื้นที่ต้องการไปให้ได้มากที่สุด เราจึงกระจายข่าวออกไป เมื่ออาจารย์หมอ และคุณหมอเฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาที่ต้องการทราบเรื่อง ต่างก็ยินดีร่วมเดินทางไปด้วยกัน”

ในวันนั้น คุณหมอรับขวัญ เล่าว่า มีชาวบ้านมารวมตัวกันจำนวนมาก คนที่ป่วยด้วยโรคไตวายได้รับการผ่าตัดทำเส้นฟอกไต ในรายที่ต้องเข้ารับการอัลตราซาวด์ก็มีเครื่องมือพร้อม สามารถตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ มีคุณหมอโรคผิวหนังที่เหมือนยกคลินิกชั่วคราวไปตั้งไว้ มีทีมหมอฉุกเฉินไปสอนการกู้ชีพทารกเบื้องต้น แม้จะมีคุณยายวัย 70 ปีที่เป็นหมอตำแยมาเรียนเพียงคนเดียว แต่คุณยายถือเป็นกำลังสำคัญในการทำคลอดให้กับคนในพื้นที่นั้น ทั้งยังมีทีมสัตวแพทย์ลงพื้นที่ไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นภาพที่ทำให้อิ่มเอมใจเป็นอย่างมาก

“สิ่งที่พวกเราทำคงไม่ได้เปลี่ยนแปลงสังคมในภาพใหญ่ แต่เราหวังว่าจะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ที่จะช่วยทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น คนในพื้นที่ขาดแคลนต้องมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสุขภาพได้เหมือนกับคนในเมือง เพราะเราเป็นคนเหมือนกัน มีสิทธิ์ในการรักษาเหมือนกัน อย่างน้อยก็ทำให้เขาเห็นว่ามีการให้ มีการช่วยเหลือ และเกิดการลงมือทำเท่าที่กำลังจะทำได้อยู่ตรงนี้” หมอรับขวัญ เล่าอย่างภูมิใจ

file

ต่อชีวิตให้เพื่อนร่วมโลก

เพราะในโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อนร่วมโลกอย่างสุนัข แมว ก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน แต่พวกเขาสื่อสารออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ก็เท่านั้น ในระหว่างที่ทีมแพทย์เฉพาะทางทุ่มเทให้กับการรักษาผู้ป่วย อีกด้านหนึ่งทีมสัตวแพทย์จิตอาสาก็ลงพื้นที่แยกออกไปตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมวจรจัด รวมถึงทำหมันฟรี เพราะที่อำเภออุ้มผางไม่มีแม้แต่คลินิกสัตว์เลี้ยงเลยสักแห่ง 

“ก่อนหน้านี้จังหวัดตากเคยถูกประกาศว่าเป็นพื้นที่สีแดง หรือเขตที่มีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้าสูง สัตวแพทย์เลยลงพื้นที่ไปตามหมู่บ้าน โดยมีพี่ๆ ปศุสัตว์ในพื้นที่ร่วมคณะและคอยให้คำแนะนำ ทุกคนช่วยกันฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขจรจัด รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของ เพื่อลดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในอำเภออุ้มผางและพื้นที่โดยรอบ”

หมอรับขวัญ เล่าต่อไปว่า เธอรู้สึกขอบคุณที่ได้ร่วมเป็นส่วนเล็กๆ ของผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจาก 3 กิจกรรมขับเคลื่อนหลักของมูลนิธิฯ “ดีใจแทนหมอเจี๊ยบที่มีคนรอบข้างคอยช่วยสนับสนุน เพราะเขาเหนื่อยที่สุด ส่วนตัวเราก็รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปช่วยกิจกรรม ตอนที่ลงพื้นที่แล้วเจอคนไข้นั่งรอ เราเห็นเขาดีใจมากๆ ที่มีหมอจากกรุงเทพฯ มาหา มันเหมือนเราได้เติมเต็มคุณค่าของตัวเอง”

file
file

ต่อชีวิตให้เพื่อนร่วมโลก

เพราะในโลกใบนี้ไม่ได้มีแต่มนุษย์ที่ต้องการความช่วยเหลือ เพื่อนร่วมโลกอย่างสุนัข แมว ก็ต้องการความช่วยเหลือเช่นกัน แต่พวกเขาสื่อสารออกมาเป็นคำพูดไม่ได้ก็เท่านั้น ในระหว่างที่ทีมแพทย์เฉพาะทางทุ่มเทให้กับการรักษาผู้ป่วย อีกด้านหนึ่งทีมสัตวแพทย์จิตอาสาก็ลงพื้นที่แยกออกไปตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนกันพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมวจรจัด รวมถึงทำหมันฟรี เพราะที่อำเภออุ้มผางไม่มีแม้แต่คลินิกสัตว์เลี้ยงเลยสักแห่ง 

“ก่อนหน้านี้จังหวัดตากเคยถูกประกาศว่าเป็นพื้นที่สีแดง หรือเขตที่มีความเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้าสูง สัตวแพทย์เลยลงพื้นที่ไปตามหมู่บ้าน โดยมีพี่ๆ ปศุสัตว์ในพื้นที่ร่วมคณะและคอยให้คำแนะนำ ทุกคนช่วยกันฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขจรจัด รวมทั้งสัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของ เพื่อลดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในอำเภออุ้มผางและพื้นที่โดยรอบ”

หมอรับขวัญ เล่าต่อไปว่า เธอรู้สึกขอบคุณที่ได้ร่วมเป็นส่วนเล็กๆ ของผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจาก 3 กิจกรรมขับเคลื่อนหลักของมูลนิธิฯ “ดีใจแทนหมอเจี๊ยบที่มีคนรอบข้างคอยช่วยสนับสนุน เพราะเขาเหนื่อยที่สุด ส่วนตัวเราก็รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ไปช่วยกิจกรรม ตอนที่ลงพื้นที่แล้วเจอคนไข้นั่งรอ เราเห็นเขาดีใจมากๆ ที่มีหมอจากกรุงเทพฯ มาหา มันเหมือนเราได้เติมเต็มคุณค่าของตัวเอง”

ขยายพื้นที่การให้อย่างไม่สิ้นสุด 

นับเป็นเวลาเกือบ 1 ปีที่มูลนิธิ Let’s be Heroes ดำเนินกิจกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมประสบความสำเร็จ  นั่นคือ ความใส่ใจในการรับฟังความต้องการของคนในพื้นที่ เพื่อส่งมอบความช่วยเหลือให้ได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการจริง อีกทั้งยังมีการติดตามผล รวมถึงการขีดทิศทางที่จะก้าวต่อไปอย่างชัดเจน ด้วยการส่งเสริมให้คนในสังคมมีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“มีเคสหนึ่งที่ประทับใจมากคือ คุณหมอหัวใจได้ทำ Echo ให้กับคนไข้ที่อุ้มผาง ผลการวินิจฉัยพบว่ามีภาวะลิ้นหัวใจผิดปกติ จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน แต่คนไข้ไม่มีเงิน ทั้งยังไม่มีสิทธิ์ในการรักษาพยาบาล เราจึงช่วยกันติดต่อประสานงานส่งตัวคนไข้เข้ามารับการผ่าตัดลิ้นหัวใจที่โรงพยาบาลราชวิถี โดยทางมูลนิธิฯ ออกค่ารักษาและค่าเดินทางให้ทั้งหมด จากการติดตามผลพบว่าตอนนี้คนไข้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว”

หมอรับขวัญ ยังเล่าต่อไปว่า มูลนิธิ Let’s be Heroes ไม่หยุดที่จะขยายการรักษาไปยังพื้นที่ขาดแคลนอื่นๆ ในประเทศต่อไป และยังมีแผนที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้คนให้ได้มากและหลากหลายที่สุด และตอนนี้ประชาชนก็สนใจให้การสนับสนุนทั้งในรูปของ “เงินบริจาค” หรือแม้กระทั่ง “แรงกาย” ที่จะสามารถเสียสละให้ได้ตามวาระโอกาส ยิ่งเพิ่มโอกาสให้มูลนิธิฯ เข้าไปให้การช่วยเหลือและทำสิ่งดีๆ ได้มากยิ่งขึ้น

“ในส่วนของเงินบริจาคเราจะพิจารณานำไปใช้ตามแนวทางที่คิดว่าจะเกิดความเหมาะสมที่สุด เช่น ใช้สำหรับการส่งตัวคนไข้มาผ่าตัดที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ บริจาคเงินสร้างบ้านให้กับชาวมอแกนที่ถูกไฟไหม้ทั้งหมู่บ้าน นอกจากเงินบริจาคแล้ว ที่เหลือคือแรงกายแรงใจของคนทำงานกว่า 30 ชีวิต ไม่นับรวมคณะกรรมการ และอาสาสมัครที่เป็นพลังสนับสนุนอีกจำนวนมาก อย่างทีมงาน Forward ที่อาสามาช่วยถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ ตัดต่อคลิปให้กับทางมูลนิธิฯ ด้วยใจ สุดท้ายเรายังย้ำประโยคเดิมที่ว่า ทุกคนสามารถเป็นฮีโร่ได้ แค่ทำหน้าที่ตามที่ตัวเองถนัด เพราะยิ่งมีคนร่วมเดินทางไปกับเรามากเท่าไหร่ การช่วยเหลือก็จะยิ่งขยายวงกว้างไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”  

file
file

ติดตามกิจกรรมและร่วมเป็นฮีโร่กับทางมูลนิธิได้ที่ 

Facebook: Let’s be heroes foundation
Instagram: @lets.be.heroes.foundation