กวิน ว่องกุศลกิจ

กวิน ว่องกุศลกิจ แห่ง GLOWFISH จาก Co-working Space สู่ “ชุมชนธุรกิจ” ที่ร่วมโตไปด้วยกัน

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 49 | คอลัมน์ New Generation

การเป็นทายาทของนักธุรกิจแถวหน้าของประเทศ หากมองว่าช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น...ก็ใช่ แต่จะมองว่ายาก.. ก็จริงเช่นกัน กับการถูกจับจ้องและคาดหวังของคนรอบข้าง โดยเฉพาะกับทายาทที่เลือกยืนหยัดบนเส้นทางที่แตกต่างจากธุรกิจครอบครัว วันนี้ “กวิน ว่องกุศลกิจ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด ทายาทคนโตของ คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า GLOWFISH ธุรกิจ Co-working Space ของเขา แม้จะเล็กแต่ก็ประสบความสำเร็จบนเส้นทางที่ “ยิ่งใหญ่” 

ความยิ่งใหญ่ในวันนี้... อาจยังไม่ใช่ในแง่ของมูลค่ากิจการของ GLOWFISH แต่ใหญ่ด้วยมูลค่าความผาสุกของผู้คนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมแห่งแรงบันดาลใจและความอบอุ่นเป็นมิตรภายใต้ “แพลตฟอร์มความเป็นชุมชนธุรกิจแบบร่วมอยู่ร่วมเจริญ” ที่ GLOWFISH ได้สร้างสรรค์ขึ้น  

ต่อยอด “มรดกทางความคิด” ด้วยความต่าง

หลายคนทราบว่าตระกูลว่องกุศลกิจเป็นเจ้าของกิจการขนาดใหญ่มากมาย ทั้งกิจการน้ำตาล “มิตรผล” ธุรกิจโรงแรม “ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” และธุรกิจพลังงาน “บ้านปู” แต่คุณกวิน เลือกที่จะออกมาทำธุรกิจบนแนวทางของตัวเอง

เขาเล่าให้ฟังว่า หลังจากเรียนจบก็ทำงานด้านการเงินราว 2 ปี ก่อนจะออกมาทำธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มจากร้านขายเสื้อผ้าตามคำชวนของเพื่อน ซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่า ทำให้เขาได้รับรู้ว่า “การนอนไม่หลับ เพราะกลัวเจ๊ง” นั้นรู้สึกเช่นไร พร้อมกับได้รับบทเรียนสำคัญ คือ “การทำธุรกิจโดยไม่มีความหลงใหล (Passion) และขาดความรู้เกี่ยวกับธุรกิจนั้น​ ย่อมนำมาสู่ความล้มเหลว”    ​

บทเรียนจากธุรกิจแรกในชีวิต นำมาสู่การตัดสินใจตั้งบริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด ขึ้น โดยการกู้เงินจากธนาคาร เพื่อนำมาซื้อตึกอโศกทาวเวอร์ของคุณตา เพื่อไปบริหารต่อ ซึ่ง Passion ในตอนนั้น ไม่ใช่เพราะอยากทำธุรกิจออฟฟิศให้เช่า แต่อยากจะช่วยแบ่งเบาภาระของคุณตา เพื่อให้ท่านได้ออกไปใช้ชีวิตพักผ่อนได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องเครียดจนนอนไม่หลับกับภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ที่ส่งผลกระทบมายังธุรกิจออฟฟิศให้เช่า

“วิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 ค่อนข้างกระทบกับธุรกิจของคุณตา เพราะลูกค้าจำนวนมากยกเลิกสัญญาเช่า บางกลุ่มที่ยังอยู่ก็ไม่มีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ พากันมาขอลดค่าเช่าหรือขอยังไม่จ่าย ซึ่งเราก็ทำไม่ได้ เพราะต้องนำเงินไปผ่อนจ่ายกับธนาคาร ฉะนั้น ก็ต้องหาทางช่วยเหลือกันในรูปแบบอื่น เลยเป็นที่มาของไอเดีย Space Sharing แทนที่จะลดค่าเช่า ก็เปลี่ยนแนวคิดมาเป็นการลดขนาดพื้นที่ แล้วหาคนมาช่วยแชร์พื้นที่ทำงาน ห้องประชุม พื้นที่ส่วนกลาง พร้อมแชร์ค่าเช่ากัน ทำให้ไปรอดด้วยกันทุกฝ่าย ทั้งยังได้ธุรกิจใหม่ๆ ของคนรุ่นใหม่เข้ามาอยู่ด้วยกันมากขึ้น”

ผลตอบรับดีกว่าที่คาด จากที่มีพื้นที่ว่างกว่า 60% กลับถูกจองเต็มภายใน 6 เดือน แต่ผลพลอยได้ที่มีค่ามากกว่า นั่นคือโมเดลธุรกิจออฟฟิศให้เช่าคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ออกมาเป็น “GLOWFISH” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น Co-working Space รายแรกๆ ของเมืองไทย

คุณกวินเล่าว่า ณ วันแรกที่ตั้งชื่อบริษัทว่า “เฮอริเทจ เอสเตทส์” อาจหมายถึงการได้รับที่ดินที่เป็นมรดกของคุณตา แต่จริงๆ แล้วยังแฝงความหมายถึง “มรดกความคิดทางธุรกิจ” ที่เขาได้รับตกทอดมาจากครอบครัวมาโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ ค่านิยมในการทำธุรกิจที่ว่า “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” ซึ่งเขามองว่าค่านิยมนี้มีผลอย่างยิ่งต่อการเติบโตของ GLOWFISH

file

GLOWFISH ธุรกิจเพื่อการเติบโตไปด้วยกัน

จากจุดกำเนิดเมื่อราว 10 ปีก่อน ถึงวันนี้คอนเซ็ปต์ของ GLOWFISH เติบโตและ​หนักแน่นขึ้นมากในเชิงสไตล์และอุดมการณ์ทางธุรกิจ ​ซึ่งเป็นส่วนผสมจากคาแรกเตอร์และไลฟ์สไตล์ของผู้บริหารทุกคน โดยเฉพาะคุณกวิน​ ที่ไม่ได้มี Passion อยู่ที่การทำธุรกิจเพื่อรายได้หรือกำไรเพียงอย่างเดียว แต่เป้าหมายอยู่ที่การทำให้ “ชุมชน (Community)” ใน GLOWFISH ที่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการและนักธุรกิจรุ่นใหม่เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน​ โดยที่ GLOWFISH ทำหน้าที่ให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่สร้างบรรยากาศแห่งความคิดสร้างสรรค์​ แรงบันดาลใจ และตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของพลเมืองแห่งชุมชนนี้

“คาแรกเตอร์ของ GLOWFISH ที่ต่างคือ นอกจากความสวยงามแล้ว ยังเน้นบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิด Comfortability, Creativity และ Collaboration โดยเฉพาะตัวหลังสำคัญมาก เพราะความร่วมมือร่วมใจกันจะพาธุรกิจให้ไปได้ไกลกว่าเดิม และจะทำให้เราเป็น Solution ของลูกค้า ที่ทำให้ทั้งเขาและเราเติบโตและยั่งยืนไปด้วยกัน”

แนวคิดของคุณกวินและโมเดลธุรกิจแบบ GLOWFISH ได้ผลตอบรับที่ดีอย่างมาก โดยเฉพาะสาขาสาทรธานี เพราะหลังเปิดตัวไม่นาน พื้นที่ก็ถูกจองเต็ม จนมีการเรียกร้องให้เพิ่มพื้นที่ ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กที่เช่าพื้นที่ใน GLOWFISH แล้ว พอกิจการโตขึ้นก็อยากได้พื้นที่ที่ใหญ่ขึ้น จากเสียงเรียกร้องทั้งภายในและภายนอก ทำให้เกิด GLOWFISH เฟส 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตึกสาทรนคร ใกล้กับเฟส 1 โดยสามารถรองรับลูกค้าได้เพิ่มขึ้นถึง 60 ยูนิต ทั้งยังสามารถรองรับธุรกิจขนาดกลางได้ด้วย ​

“เราพยายามเก็บ “หัวใจ” ของ Co-working Space ในคอนเซ็ปต์ของเราไว้ คือ การเป็นพื้นที่ที่พอทำงานร่วมกันแล้ว ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เกิดการเรียนรู้ เกิดความคิดสร้างสรรค์​ เกิดแรงบันดาลใจ เกิดความร่วมมือกัน อันจะนำไปสู่ความรู้สึกเป็นชุมชนเดียวกัน ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของการสร้างคุณค่า (Value) ด้วย Hardware แต่มันเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย Software จากการที่ทุกคนในชุมชนนี้จะก้าวหน้าด้วยกันไปเรื่อยๆ”

กวิน ว่องกุศลกิจ

จาก “Space” เชิงกายภาพ สู่ “Platform” แห่งการร่วมเจริญ

“วันนี้ เรามองว่าเราเป็น Co-working Space ซึ่ง “Space” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่ทางกายภาพสำหรับการทำงานร่วมกัน​ แต่ยังหมายถึงพื้นที่เชิงความคิดที่เชื่อมต่อผู้คนและธุรกิจ อันจะนำไปสู่การร่วมอยู่ร่วมเจริญไปด้วยกัน โดย “พื้นที่” อย่างหลัง ต่อให้ดิจิทัลหรือ AI เข้ามาก็สร้างไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคน ที่ต้องใช้ “ไฮทัช (Hi-touch)” และไม่ใช่เรื่องที่ “ไฮเทค (Hi-tech)” จะมาทดแทนได้

“ไฮทัช” หมายถึง การทำงานกับคนด้วยวิธี “เข้าถึง” และ “เข้าใจ” ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง โดยอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจและความตั้งใจแน่วแน่ที่อยากจะเติบโตไปด้วยกัน ซึ่ง “ไฮทัช” นี้เองที่ถือเป็นจุดแข็งหลักของ GLOWFISH และเป็นแนวทางที่ทำมาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน รวมถึงในอนาคต ​ เพราะเขาเชื่อว่า ต่อให้อนาคตมีคู่แข่งต้องการสร้าง Co-working Space ที่มีเทคโนโลยีที่ดีกว่า ในช่วงแรก “ไฮเทค” อาจเข้ามาสู้ได้ แต่ในระยะยาวก็ไม่อาจชนะ “ไฮทัช” ได้​

คุณกวินเล่าว่า สิ่งที่เขาและทีมงานพยายามทำอยู่ในตอนนี้คือ การนำเอาโมเดลธุรกิจของ GLOWFISH รวมถึงองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญตรงนี้ ไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่น ซึ่งการข้ามกรอบปฏิบัติ (Cross Culture) แบบเดิมๆ ของอุตสาหกรรม จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมทางความคิด และวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ได้

เขาเล่าต่อว่า ขณะนี้ได้มีการพูดคุยกับ “บริษัทใหญ่” ในธุรกิจเกษตรเพื่อนำเอา “GLOWFISH Model & Platform” ​แพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือเพื่อนำไปสู่ชุมชนแห่ง “การร่วมอยู่ร่วมเจริญ” ไปต่อยอดระบบนิเวศ (Ecosystem) ในธุรกิจฟาร์มเชื่อมโยงกับธุรกิจอาหาร โดยคุณกวินเองก็มีธุรกิจ Food & Beverage จึงมีทั้งประสบการณ์ ความรู้ และเครือข่ายที่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับธุรกิจฟาร์มได้ ซึ่งจะทำให้เป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจอาหาร

“นวัตกรรมเป็นผลผลิตจาก “Power of Many” ไม่ใช่ “Power of One” ซึ่งบริษัทใหญ่อาจจะมีหลักการบริหารที่ต่างจากบริษัทเล็กอย่างเรา ดังนั้น การร่วมมือกันครั้งนี้ จึงเป็นการสร้าง Co-working Space ในเชิง Mindset เพื่อนำไปสู่การร่วมอยู่ร่วมเจริญร่วมกันทั้งระบบนิเวศของอุตสาหกรรม”

ผู้บริหารวัย 37 ปีทิ้งท้ายว่า ถ้าโมเดลความร่วมมือกับบริษัทใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆ สำเร็จ ใน 2 ปีข้างหน้า คนอาจจะได้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง (Transform) ของ GLOWFISH จาก “Co-working Space” ไปเป็น “Community Platform for Growth” อันหมายถึงการเติบโตของเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกันด้วย

file