file

เปิดมุมมอง นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา "ราชวิถี" ยุคใหม่ มุ่งทั้งเป็นเลิศและเป็นมิตร

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 50 | คอลัมน์ Giving

เวลาพูดถึงโรงพยาบาลรัฐ คนจำนวนไม่น้อยที่มีภาพจำที่ไม่ดี บ้างก็มองว่าเป็น “ฝันร้าย” หรือ “เรื่องสยองขวัญ” ทั้งที่หลายคนอาจยังไม่เคยสัมผัสจริงๆ สักครั้ง ด้วยความพยายามของโรงพยาบาลรัฐชั้นนำของประเทศหลายแห่งในการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ ทำให้ช่วงหลัง เสียงเล่าจากประสบการณ์ตรงที่มีต่อโรงพยาบาลรัฐจึงเริ่มดีขึ้น “โรงพยาบาลราชวิถี” เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีกลยุทธ์เชิงรุก เพื่อพัฒนาคุณภาพการรักษาและความพอใจของผู้รับบริการ

TRUST ได้รับเกียรติจาก นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี มาบอกเล่าวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการบริหารโรงพยาบาลราชวิถี พร้อมให้มุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะคำยืนยันที่ว่า “คนไทยโชคดี เพราะเรามีระบบสาธารณสุขที่เอื้ออาทรและอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน”


Roadmap สู่เป้าหมาย “ความเป็นเลิศ” และ “ความเป็นมิตร”

“ในวาระ 4 ปีนี้ ผมมุ่งเน้นจะพัฒนาโรงพยาบาลราชวิถีให้มี 4 ลักษณะ คือ 1) ต้องมีความเป็นเลิศทางการแพทย์ก่อน 2) ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นมิตร เพราะถ้า “เป็นเลิศ” แต่ไม่ “เป็นมิตร” ก็ไม่ต่างอะไรจากหุ่นยนต์ ฉะนั้น เราในฐานะผู้บริหาร มีหน้าที่สร้างบรรยากาศและกลไกที่อำนวยให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างบุคลากรกับผู้รับบริการ 3) มีทีมเวิร์คที่ดี เพราะการรักษาให้ได้ดีต้องเกิดจากการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพ และ 4) คนทำงานต้องมีความสุข เราจึงต้องใส่ใจกับสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ เพราะถ้าเขาไม่มีความสุข ก็ยากที่จะถ่ายทอดความสุขไปสู่ผู้ป่วยและญาติ เพราะจะรักษาแค่กายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรักษาจิต วิญญาณ สังคม และครอบครัวของเขาด้วย ผมเชื่อว่าถ้าโรงพยาบาลมีทั้งหมดนี้ ผลลัพธ์ย่อมออกมาดี และนี่คือเป้าหมายที่ผมวางไว้”

file

นพ.สมเกียรติ อธิบายแผนสำคัญเพื่อปูทางสู่การเป็น “โรงพยาบาลแห่งความเป็นเลิศ” เริ่มจากปลายปีนี้ โรงพยาบาลฯ จะเปิดให้บริการ “อาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี” อาคารสูง 25 ชั้น ที่จะเข้ามาช่วยลดความแออัดในการมารอรับบริการ รวมทั้งมีห้องตรวจ ห้องผ่าตัด ห้องไอซียูและจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ทั้งยังสามารถรองรับผู้ป่วยนอกได้มากขึ้น จากปัจจุบันรับได้เฉลี่ย 1 ล้านคนต่อปี เป็น 1.5 ล้านคนต่อปี

อีกทั้งยังมีศูนย์การตรวจและรักษาโรคเฉพาะทางที่ครบวงจรและทันสมัย อาทิ ห้องผ่าตัดอัจฉริยะ ศูนย์ผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ศูนย์ไตเทียมเทคโนโลยีใหม่ และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ถึง 8 ศูนย์ ฯลฯ ตลอดจนมีการนำระบบไอทีมาใช้ลดขั้นตอนการทำประวัติ ลดระยะเวลาในการรอคิว และลดความเครียดระหว่างรอคิวนานๆ อันเป็นปัญหาหลักของโรงพยาบาลรัฐที่กลายเป็น “ภาพจำเลวร้าย” ในหมู่ประชาชน

“อาคารใหม่นี้จะมีองค์ประกอบที่ช่วยให้บรรยากาศดีขึ้น เช่น บันไดเลื่อน ห้องพักรับรอง ร้านกาแฟ Wifi ฯลฯ ซึ่งน่าจะช่วยให้จิตใจผู้ป่วย ญาติ และคนทำงานดีขึ้น หรือจากเดิมที่ผู้ป่วยมาจองคิวช่วงเช้าเยอะ ตอนนี้มีระบบไอทีมาช่วย ทำให้การจองคิวกระจายไปช่วงบ่าย ความแออัดในพื้นที่นั่งรอและปริมาณผู้ป่วยก็ลดลง การดูแลผู้ป่วยก็ดีขึ้น ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้มาจากการฟังเสียงของผู้รับบริการ”

นอกจากนี้ ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า โรงพยาบาลยังมีแผนจะสร้าง “อาคารศูนย์ความเป็นเลิศราชวิถี” เพื่อเป็นศูนย์รวมความเป็นเลิศในการรักษาโรคร้ายแรงและเรื้อรังที่คร่าชีวิต และบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนไทย รวมถึงเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล อาทิ โรคหัวใจ โรคทางสมอง โรคมะเร็ง ฯลฯ อันเป็นก้าวสำคัญสู่การเป็น “โรงพยาบาลที่มีความเป็นเลิศทางการแพทย์” ที่แท้จริง


เมืองไทยน่าอยู่ เพราะระบบสาธารณสุขไทย “น่ารัก”

โรงพยาบาลราชวิถีเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกรมการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคที่มีความซับซ้อน และเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลรัฐที่เป็นที่พึ่งของคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาส แม้จะได้รับการจัดสรรงบสำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีสิทธิ์จากบัตรต่างๆ รวมถึงงบสำหรับสร้างอาคารและจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์จากรัฐบาล แต่แทบจะไม่เคยครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด จึงเป็นเหตุให้โรงพยาบาลฯ ต้องมีโครงการรับบริจาคอย่างต่อเนื่อง

file

ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 70-80% รัฐบาลดูแลให้อยู่ ส่วนที่เหลือคือภาระที่โรงพยาบาลฯ ต้องหามาเอง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขอรับบริจาคทั้งจากผู้ที่มารับบริการที่มีสิทธิ์บัตรยอมจ่ายเงินส่วนเพิ่มสำหรับบริการทางการแพทย์และยาที่อยู่นอกบัญชีตามสิทธิ์ ที่เรียกว่า “Co-pay” ซึ่งถือเป็นการ “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ช่วยให้โรงพยาบาลมีเงินมาหมุนมากขึ้น เพราะถ้าเขาไม่จ่าย โรงพยาบาลฯ ก็ต้องจ่ายเอง รวมถึงการบริจาคจากภาคประชาชน และเงินบริจาคจากภาคเอกชนที่เห็นใจการทำงานของโรงพยาบาลฯ อย่างโครงการ Friends for Life ของ TISCO ก็ถือว่าช่วยโรงพยาบาลฯ ได้มากในการจัดซื้อและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ทางการแพทย์ อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจที่ดีให้องค์กรอื่นทำตามด้วย...

“คนไทยโชคดี เพราะปัจจุบัน คุณภาพบริการของระบบสาธารณสุขไทยถือว่าอยู่ในอันดับที่ดีมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรามีระบบที่เอื้ออาทรและอุปถัมภ์ซึ่งกันและกัน รัฐบาลช่วยสนับสนุนโรงพยาบาล โรงพยาบาลขนาดใหญ่ช่วยโรงพยาบาลขนาดเล็ก ภาคเอกชนช่วยสนับสนุนเงินให้กับโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่มีสิทธิ์บัตรและคนที่มีกำลังทรัพย์ช่วยโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถไปช่วยคนที่ด้อยโอกาสหรือผู้ป่วยยากไร้ต่อได้”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลฯ ย้ำว่า การบริจาคให้โรงพยาบาลเล็กในชุมชนก็ดี หรือจะบริจาคให้โรงพยาบาลใหญ่ก็ดี สุดท้ายแล้วประชาชนไทยคือผู้ได้ประโยชน์ เพราะเม็ดเงินเหล่านั้นจะวิ่งเข้าไปอยู่ในระบบสาธารณสุขไทย ซึ่งปัจจุบันถูกวางระบบเป็นเครือข่ายอย่างดี โดยแต่ละเขตมีโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิเป็นหน่วยบริการทางการแพทย์ของชุมชน ระดับทุติยภูมิเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดกลางเพื่อรับส่งต่อจากระดับต้น และระดับตติยภูมิ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ที่รับส่งต่อจากเขตนั้นๆ โดยมีโรงพยาบาลระดับประเทศอย่างโรงพยาบาลราชวิถีเป็นศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยจากทั่วประเทศ

file

ใส่ใจสุขภาพตัวเอง ช่วยยกระดับระบบสาธารณสุขไทย

นพ.สมเกียรติ ให้มุมมองว่า ในหลายปีที่ผ่านมา พัฒนาการของฝั่งผู้ให้บริการทางการแพทย์และบริการด้านการรักษา ถือว่ามีการปรับตัวและมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ในส่วนของผู้รับบริการ กลับดูยังไม่ตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพของตนเองอย่างจริงจัง ซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน

file

คุณหมอกล่าวเพิ่มว่า การที่ทุกคนขวนขวายหาความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพ (Health Literacy) แล้วนำมาใช้เพื่อหลีกเลี่ยงให้ตัวเองไม่ป่วย รวมถึงไม่หาเรื่องป่วย หรือป่วยโดยไม่จำเป็น พร้อมกับเข้าใจบทบาทหน้าที่ในการช่วยกันทำให้สังคมเข้มแข็งและปลอดจากโรคภัยไข้เจ็บ นั่นย่อมเท่ากับการเปิดโอกาสให้ระบบสุขภาพและบุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าไปทุ่มเทดูแลผู้ป่วย (ที่เลี่ยงไม่ได้) อย่างเต็มที่ โอกาสที่ผู้ป่วยเหล่านั้นจะหายดีกลับมามีสุขภาพดี และเป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็ย่อมมากขึ้น

“ทุกภาคส่วนมีความสำคัญในเรื่องระบบสุขภาพ โรงพยาบาลเป็นปลายทาง ต้นทางคือประชาชน ถึงคุณไม่ป่วย โรงพยาบาลก็ไม่เจ๊ง ฉะนั้น ถ้าเราช่วยกันลดอัตราการป่วยโดยไม่จำเป็นลงสัก 10-20% อาจช่วยให้คุณภาพการรักษาดีขึ้นได้มากถึง 20-30% ต้นทุนที่ประเทศต้องใช้ไปกับการรักษาก็ลดลง เม็ดเงินที่เหลือก็นำกลับมาสร้างประโยชน์ด้านการวิจัยทางการแพทย์ หรือนำไปใช้เตรียมการสำหรับการดูแลรักษาผู้สูงอายุ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยในอนาคตอันใกล้”

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถีทิ้งท้ายว่าอยากให้คนไทยมีภาพจำใหม่ว่า ไม่ต้องรอให้ป่วยจึงเข้าโรงพยาบาล ยามที่สุขภาพแข็งแรงก็ติดต่อโรงพยาบาลได้ (ทั้งออฟไลน์และออนไลน์) โดยเฉพาะด้านการค้นหาความรู้สุขภาพ (Health Literacy) และการเข้าไปเป็นจิตอาสาในงานด้านที่โรงพยาบาลต้องการรวมถึงการบริจาคเงินเพื่อช่วยในการยกระดับโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

file
file