file

Google Effect: สมองเสื่อมดิจิทัล

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 50 | คอลัมน์ Global Trend

เรากำลังพึ่งพา Google มากเกินไปหรือเปล่า? มีผลวิจัยพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันมีภาวะความจำสั้นจากการใช้อินเทอร์เน็ต ไม่เชื่อลองทายดูเล่นๆ ว่าโลโก้ด้านบนนี้ตัวอักษรแต่ละตัวมีสีอะไรบ้าง? ถ้าทายได้ถูกต้องก็แสดงว่าคุณยังปกติดีอยู่... แต่ถ้าไม่ แนะนำให้ปรับตัวด่วน

Google Effect เป็นนิยามบ่งบอกถึงอาการของสมองที่ไม่สามารถจดจำข้อมูลต่างๆ ในอดีตได้ เพราะมั่นใจว่าข้อมูลเหล่านั้นสามารถค้นหาเจอด้วย Google ซึ่งจะว่าไปเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และมีการศึกษาอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2011 แล้วในวิทยานิพนธ์หัวข้อ Google Effects on Memory: Cognitive Consequences of Having Information at Our Fingertips (ผลกระทบจาก Google ที่มีต่อความจำ: ผลลัพธ์จากกระบวนการคิดของการได้รับข้อมูลผ่านปลายนิ้ว) โดย 3 นักศึกษา Betsy Sparrow, Jenny Liu และ Daniel Wegner ชาวสหรัฐฯ ปัญหาคือทุกวันนี้ชาวเน็ตล้วนได้รับผลกระทบจาก Google Effect โดยไม่รู้ตัว


file

ต้นเหตุจาก Google

เนื้อหาในวิทยานิพนธ์ตอนหนึ่งบรรยายคุณลักษณะ Google โดยเปรียบเป็นบรรณารักษ์มือฉมังในห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลก บรรณารักษ์คนนี้ไม่เพียงสามารถเดินไปหยิบหนังสือหลายพันเล่มที่มีข้อมูล ซึ่งเราต้องการได้อย่างรวดเร็วโดยไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย แต่ยังวิวัฒนาการตัวเองด้วยการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าคุณจะอ่านข้อมูล ดูภาพถ่าย รับชมวิดีโอ หรือแม้แต่อยากได้มาครอบครองในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสินค้าทุกอย่างจะถูกเตรียมไว้ให้พร้อมในชั่วพริบตา

99% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตยอมรับว่า Google เป็นเครื่องมือค้นหาที่ดีที่สุด จึงไม่แปลกที่มันถูกใช้ค้นหาข้อมูลกว่า 3.5 พันล้านครั้งในแต่ละวัน หัวข้อที่ถูกค้นหาก็สุดแล้วแต่จินตนาการ ดาราเลิกกัน การเหยียดผิว การเปรียบเทียบ รีวิวร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว การแปลภาษา ปรึกษาปัญหาครอบครัว หรือแม้กระทั่งคำถามไร้สาระที่ไม่รู้จะไปหาคำตอบจากใคร ยิ่งไปกว่านั้น Google ยังมีความสามารถในการคาดเดาข้อความที่เราพิมพ์โดยอัตโนมัติ จนบางครั้งเราแทบไม่ต้องใช้ความรู้ในสมองเรียงรูปประโยคให้ถูกต้อง เรียกว่าพิมพ์ไปมั่วๆ เดี๋ยวมันก็เข้าใจเอง


ความสะดวกสบายกลายเป็นดาบสองคม

การหาอะไรก็เจอและเจอในทันที ทำให้พวกเรา ‘เคยตัว’ และมัวแต่พึ่งพามันมากเกินไปจนละเลยการใช้ความสามารถที่มีอยู่ของเราอย่าง ‘การจดจำ’ จนทำให้เกิดภาวะ ‘สมองเสื่อม’ แบบถดถอยอย่างช้าๆ

Christopher Winter นักประสาทวิทยาชาวสหรัฐฯ บอกว่าการที่สมองของเรารับรู้ว่า “ไม่ต้องจำข้อมูลเหล่านี้” เพราะสามารถค้นหาข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายๆ ทำให้สมองของเราไม่มีการเตรียมรับข้อมูลเพิ่ม ไม่เตรียมให้ข้อมูลเหล่านั้นเป็นความจำระยะยาว (Long-term Memory) และอาจลดความสำคัญในการรับข้อมูลมาเก็บบันทึกในความจำด้วย (Memory Capacity) ในทางกลับกัน การจำข้อมูลด้วยตัวเองเหมือนเมื่อครั้งที่ยังไม่สามารถเข้าถึง Google ได้ง่ายๆ สมองของเราจะถูกบังคับให้ ‘จำข้อมูล’ ที่แม้ว่าจะเกิดความเครียดบ้าง แต่มันก็ส่งผลดีในแง่ของการได้บริหารสมองอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ

อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะอยากรู้ว่าตัวเองได้รับผลกระทบจาก Google Effect หรือเปล่า ลองทำแบบทดสอบต่อไปนี้ดูครับ

file

โจทย์คือให้ดูภาพประกอบแล้วพูดชื่อ ‘สี’ ที่เห็นให้ถูกต้อง (ไม่ใช่อ่านคำ) แล้วลองจับเวลาดูว่าสามารถระบุสีได้ถูกต้องทั้งหมดในเวลากี่วินาที การทดสอบเชิงจิตวิทยาลักษณะนี้เรียกว่า Stroop Test ซึ่งสามารถวัดระดับการประมวลผลของสมองและความมีสมาธิจดจ่อของตัวเราได้

หนึ่งในการทดสอบเรื่อง Google Effect ของ Wegner ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าคนรุ่นใหม่ที่ใช้ Google เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันจะมีรูปแบบการจดจำที่แตกต่างไปจากเดิมคือไม่สามารถจดจำตัวเนื้อหาข้อมูลได้ แต่จะจำได้ว่าเนื้อหาข้อมูลเหล่านั้นถูกเก็บบันทึกไว้ที่ไหน


Google Effect แล้วยังไง?

งานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อสรุปตรงกันว่า Google Effect มีแนวโน้มทำให้เราลืมข้อมูลที่เรารู้อยู่ในใจว่ามีอยู่ในออนไลน์ (หรือในอุปกรณ์ดิจิทัลที่เราใช้) ซึ่งหลายครั้งทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น มีเหตุฉุกเฉินต้องโทรหาญาติผู้ใหญ่แต่จำเบอร์โทรไม่ได้ เพราะมือถือแบตหมด ในกรณีของนักศึกษา แม้อินเทอร์เน็ตจะช่วยค้นข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แต่ความสามารถในการจำข้อมูลเหล่านั้นจะด้อยกว่าการหาเจอจากหนังสือ ซึ่งแน่นอนว่าในการทำข้อสอบคงไม่สามารถใช้ Google ได้หรือแม้แต่ในชีวิตการทำงาน การพรีเซนต์ข้อมูลที่ต้องจดจำรายละเอียดมากๆ อาจกลายเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสกว่าที่คิด

file

ใช้งานสมอง จำข้อมูลที่จำเป็น

ต้องยอมรับว่าการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บและดึงข้อมูลกลับมาใช้ในหลายกรณี มันมีประสิทธิภาพและสะดวกกว่าการจำด้วยสมองเราเอง เช่น กรณีของเบอร์โทรที่ไม่ใช่ญาติหรือเพื่อนสนิทหลายร้อยเบอร์ หรือการใช้ Password Manager ช่วยจำรหัสผ่านที่เราจงใจตั้งไว้ยากๆ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ลืมที่จะลำดับความสำคัญ อะไรควรจด อะไรที่ควรแบ่งมาให้สมองจำ ยกตัวอย่างเช่น รหัสผ่านง่ายๆ หมายเลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร หรือคำศัพท์เดิมๆ ก็ควรพยายามนึกความหมายให้ออกก่อนจะ Google หาคำตอบซ้ำทุกครั้ง

สิ่งสุดท้ายที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่าลืมรับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ งดสูบบุหรี่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สิ่งเหล่านี้ช่วยลดโอกาสสมองเสื่อมได้อีกแรงครับ

 

ข้อมูลอ้างอิง:scienceabc.com, effectivology.com, pobpad.com