file

Up-close with TISCO ESU ส่องทิศทางเศรษฐกิจการลงทุน ปี 2020

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 51 | คอลัมน์ Exclusive

ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและมีความผันผวนสูง การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้ถือเป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่ก็ใช้ว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากผู้ลงทุนมีบทวิเคราะห์และกลยุทธ์การลงทุนที่เท่าทันและเชื่อถือได้ ซึ่งถือเป็นหัวใจความสำเร็จในการลงทุน นี่จึงเป็นที่มาที่ TISCO ให้ความสำคัญกับบทวิเคราะห์และมุมมองด้านเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการจัดตั้ง Economic Strategy Unit (ESU) ขึ้นเป็นหน่วยอัจฉริยะด้านข้อมูลเศรษฐกิจการลงทุน เพื่อเป็น “ผู้ช่วยสำคัญ” ของลูกค้า


พันธกิจสำคัญ “Best Advisor in Town”

ขณะที่สถาบันการเงินหลาย ๆ แห่งมักจัดตั้งหน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจ (Research House) กระจายไปอยู่ในแต่ละสายงาน (Function) เช่น ส่วนของธนาคาร ส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือส่วนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) โดยทำหน้า ที่อย่างเป็นอิสระต่อกัน แต่สำหรับกลุ่มธนาคารทิสโก้ (TISCO) ได้สรรหาบุคลากรคุณภาพที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยเศรษฐกิจและการลงทุนมาทำงานร่วมกันภายใต้หน่วยงานส่วนกลางชื่อว่า Economic Strategy Unit (ESU)

 “การมีหน่วยงานวิจัยกระจายอยู่ในหลายสายงานทำให้เกิดปัญหาตามมาคือหลายครั้งที่หน่วยงานวิจัยของแต่ละสายงานมักพูดไม่เหมือนกัน ออกบทวิเคราะห์ที่มีมุมมองต่างกัน เวลาสื่อสารไปภายนอกก็อาจจะขัดแย้งกัน หรือเวลาที่ลูกค้าไปคุยที่สาขาธนาคาร ได้คำแนะนำแบบหนึ่ง พอไปคุยกับโบรกเกอร์กลับได้คำแนะนำอีกแบบลูกค้าก็สับสน TISCO จึงตั้ง ESU เป็นหน่วยงานกลาง เพราะเรามองว่าจะปล่อยให้แต่ละสายงานให้มุมมองการลงทุนที่ขัดกัน หรือต่างกัน จนทำให้ลูกค้าสับสนไม่ได้” คุณคมศรประกอบผล Head of Economic Strategy Unit (TISCO ESU) กล่าว

คุณคมศร เล่าถึงอีกความแตกต่างของ ESU นั่นคือความเป็น Strategy Unit จึงหมายความว่า ESU ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงศูนย์ข้อมูลและการวิจัยเศรษฐกิจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นการวิจัยเศรษฐกิจมหภาคที่จะนำไปสู่คำแนะนำเชิงกลยุทธ์ในภาพรวมเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอย่างเหมาะสมในภาวะนั้นๆ

เขาสรุปว่า ESU เป็นเสมือนหน่วยงานที่รวมเอา Resources และ Intelligences ด้านการวิเคราะห์วิจัย ทั้งเครื่องมือและบุคลากรคุณภาพจากสายงานต่างๆ มาไว้ด้วยกัน ทำให้มีมุมมองที่กว้างและหลากหลายขึ้น เพื่อนำไปสู่บทวิเคราะห์การลงทุนที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์มากที่สุด จึงถือเป็นตัวแทนของ TISCO ในการให้มุมมองและคำแนะนำด้านเศรษฐกิจการลงทุนสำหรับลูกค้าและสายงานต่างๆ ที่ต้องการนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอดการให้บริการลูกค้า

file

“โดยปริยาย ทีม ESU ต้องดูแลลูกค้าทั้งของธนาคาร บล. บลจ. ดูแลทั้งลูกค้ารายย่อย ลูกค้าทั่วไป ลูกค้ามั่งคั่ง (Wealth) ลูกค้าสถาบัน ขณะเดียวกันก็ต้องตอบโจทย์หน่วยงานภายในด้วย ยกตัวอย่าง บลจ. ทิสโก้จะออกกองทุนใหม่ที่ลงทุนในประเทศที่ไม่รู้จัก เรามีหน้าที่ที่ต้องศึกษาศักยภาพของประเทศนั้น หรือถ้าเราเห็นโอกาสในการลงทุนโปรดักส์อะไรที่ บลจ. ของเรายังไม่มี ก็จะไปให้คำแนะนำ ขณะที่ทีม Wealth Management ก็ใช้ข้อมูลของเราไปให้บริการและให้คำแนะนำลูกค้าต่อได้ ดังนั้น ESU จึงต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในฐานะ “คลังสมอง” ด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลต่อการลงทุน เพื่อให้ได้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับลูกค้าในการบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งตอบพันธกิจในการเป็น Best Advisor in Town ของเรา”

คุณคมศร ย้ำว่า TISCO มองว่าคำแนะนำที่ดีที่สุด (Best Advisory) เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในกลยุทธ์ของกลุ่มทิสโก้ และเป็น “จุดแข็ง” ที่จะทำให้ TISCO โดดเด่นและแตกต่างจากที่อื่น

บทวิเคราะห์ที่ดีมาจากทีมที่แข็งแกร่ง

 “เล็กพริกขี้หนู” นับเป็นคำนิยามที่อธิบายคุณสมบัติของทีมนักวิจัยของ TISCO ESU ได้เป็นอย่างดี

คุณธรรมรัตน์  กิตติสิริพัฒน์  Head of Economics, TISCO ESU ยอมรับว่า หากพิจารณาแค่ขนาดของทีมวิจัยเศรษฐกิจมหภาคเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่หลายแห่ง TISCO อาจเป็นรอง แต่หากเทียบคุณภาพของบทวิเคราะห์ในแง่มุมมองที่มีประโยชน์ ต่อการบริหารความมั่งคั่งของลูกค้า ผลงานของทีม ESU ถือได้ว่าไม่เป็นรองใคร ซึ่งหัวใจที่ทำให้ESU สามารถสร้างสรรค์บทวิเคราะห์ ที่มีคุณภาพออกมาได้ดีแม้ว่าทีมจะมีอยู่เพียง 7 คน อยู่ที่การคัดสรรคนที่มีคุณภาพ และที่สำคัญคือคนที่มี Passion (ความลุ่มหลง) และมี Grit (ความถึกและอึด)

 “นอกเหนือจากศักยภาพในเชิงวิชาการที่โดดเด่น คนที่จะอยู่ทีม ESU ต้องมีความยืดหยุ่นสูง เรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็ว มีความคล่องแคล่วและคล่องตัว เพราะต้องมีทักษะในการรับมือกับอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multi-tasking Skill) และต้องรับมือกับความกดดันในเรื่องของเวลาอันสั้นในการหาคำตอบให้กับลูกค้าได้ ซึ่งถ้าดูหน้าตาทีม ESU ส่วนใหญ่จะเป็น Young Blood เพราะเราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มักมีไอเดียที่สดใหม่ ความคิดไม่ถูกจำกัดกรอบ ทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลายและมีไดนามิก (Dynamic) อยู่ตลอดเวลา บวกกับประสบการณ์ของรุ่นพี่ในทีม เพื่อทำให้ได้มุมมองมีความรอบด้านมากที่สุด”

เมื่อสรรหาและคัดเลือกคนที่มีศักยภาพตามที่ต้องการได้แล้ว อีกกระบวนการสำคัญคือการปล่อยให้ “เนื้องาน” ทำหน้าที่กรองคนที่เหลือมาเป็นกำลังสำคัญในทีม ESU โดย คุณคมศร เสริมว่างานจะเป็นตัวพิสูจน์ ว่านักวิจัยคนนั้นพร้อมที่จะเรียนรู้ในทุกๆ วันและมีความอดทนต่อแรงกดดันมากเพียงพอหรือไม่

“เพราะแต่ละวัน เราไม่รู้ล่วงหน้าหรอกว่าวันนั้นจะต้องทำอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อคืนมีข่าวสำคัญอะไร หรือตื่นเช้ามา ลูกค้า (รวมถึงหน่วยงานภายใน) ต้องการรู้เรื่องอะไรที่กระทบต่อความมั่งคั่งของเขาในวันนั้น ขณะที่การทำงานก็จะค่อนข้างกดดัน เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์  ทุกคำถามจะเข้ามาหาเราทั้งที่เราก็รู้พร้อมพวกเขา แต่เราต้องหาคำตอบให้เขาได้ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้น คนที่จะทำงานตรงนี้ได้อย่างมีความสุข ต้องมีความรัก (Passion) ที่จะเรียนรู้ และต้องมีความอึดและถึก (Grit) แต่สำหรับคนที่อยู่ได้ ตัวงานก็จะพัฒนาคนนั้นให้เก่งขึ้นไปเรื่อยๆ”


กุญแจความสำเร็จของ ESU

คุณธรรมรัตน์  กล่าวว่า กุญแจความสำเร็จดอกแรกของ ESU คือการยึดมั่นในปรัชญาการทำงาน ด้วยความที่ESU ถูกคาดหวังให้เป็น “ที่พึ่งแรก” ในเรื่องข้อมูลเศรษฐกิจและการลงทุน ESU จึงพัฒนาตัวเองเป็นเสมือน “Think Tank” ที่เชื่อถือได้และทำหน้าที่โดยยึดประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ตั้งแต่การเลือกสรรหัวข้อบทวิเคราะห์ที่ตอบสนองต่อความสนใจของตลาด และเท่าทันต่อเหตุการณ์ สำคัญที่กระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอันจะนำไปสู่คำแนะนำที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถลงทุนได้อย่างเหมาะสมและได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด

กุญแจความสำเร็จอีกข้อมาจากการอาศัยจุดแข็งของ TISCO ที่มีเครือข่ายลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งบ่อยครั้ง ESU มักจะคุยกับลูกค้าที่เป็นกองทุนบ้าง เป็นสถาบันภายในประเทศบ้างสถาบันในต่างประเทศบ้าง รวมถึงคุยกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก (Insight) ตลอดจนมุมมองความเห็นที่หลากหลายและรอบด้านมากขึ้น อันจะนำไปสู่บทวิเคราะห์ที่แม่นยำและน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือคำแนะนำหรือบทวิเคราะห์นั้นต้องช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการความมั่งคั่งได้ดีขึ้น ซึ่งนั่นคือเป้าหมายความสำเร็จสูงสุดของ ESU

file

 “จุดแข็งอย่างหนึ่งของ TISCO คือด้วยความที่เรามีขอบเขตการวิเคราะห์และการลงทุนที่กว้าง คำแนะนำของเราจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะการลงทุนในประเทศไทย และไม่ได้จำกัดเฉพาะสินทรัพย์ (Asset Class) ประเภทหลักทรัพย์หรือหุ้น แต่ลงทุนในสินทรัพย์ ทางการเงินได้อย่างหลากหลาย ทำให้กระจายความเสี่ยง (Asset Allocation) ได้ดีกว่าและมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่า นั่นเป็นที่มาที่ TISCO ถือเป็นเจ้าแรกๆ ที่เชียร์ให้ลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งถ้าดูดัชนีตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นอเมริกา (S&P) ย้อนหลังไป 4-5 ปี มานี้ จะเห็นว่า S&P Index ทำ New High เกือบทุกปี ส่วน SET Index เกือบทำ New Low และเมื่อบทวิเคราะห์ของเรามีขอบเขตที่กว้างกว่าแค่หุ้นไทย ESU จึงต้องวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างประเทศเยอะกว่าและลึกกว่าคนอื่น ซึ่งโปรดักส์ที่ TISCO ออกมาก็จะเห็นว่ามีการลงทุนต่างประเทศเยอะกว่าที่อื่น มันสอดคล้องกันหมด” คุณคมศร เล่าถึงกุญแจความสำเร็จอีกดอก


ความท้าทายในการทำหน้าที่ของ ESU

สำหรับความท้าทายในการทำงานของ ESU คุณคมศร มองว่า ไม่ต่างจากศูนย์ข้อมูลวิจัยข้อมูลเศรษฐกิจของสถาบันการเงินแห่งอื่นๆ คือการที่โลกยุคปัจจุบันมีเทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาทำหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการลงทุนที่ส่งตรงไปถึงนักลงทุนอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมาก ทำให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายและเร็วขึ้น แต่ด้วยปริมาณข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลเข้ามามากเกินไปในระยะเวลาอันรวดเร็ว ก็ทำให้ยากที่จะแยกแยะได้ว่าข้อมูลไหนจริงหรือไม่จริงข่าวสารนั้นมาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่

“ถือเป็นความยากสำหรับคนทำวิจัย แต่ก่อนลูกค้าต้องโทรเข้ามาเพื่อขอข้อมูลวิจัยหรือบทวิเคราะห์
จากโบรกเกอร์หรือสถาบัน “การเงินเอง แต่เดี่ยวนี้แค่เปิดเฟซบุ๊ก ก็มีบทวิเคราะห์ให้อ่านเป็นสิบเจ้า ทุกคนวิเคราะห์ ได้หมด ทุกคนมีแพลตฟอร์มของตัวเองบางแห่งเขียนคนเดียวแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊กแถมส่งไลน์ (LINE) ไปถึงลูกค้าโดยตรงความท้าทายของเราจึงอยู่ที่ว่าจะทำยังไงให้ลูกค้าอยากเข้ามาอ่านบทวิเคราะห์ของเราท่ามกลางคู่แข่งที่เยอะขึ้น ขณะที่จะแข่งด้วยความเร็ว เราก็ลำบาก ฉะนั้น เราต้องสู้ที่คุณภาพของบทวิเคราะห์  เราต้องวิเคราะห์ให้ลึกกว่า และต้องมีความแม่นยำในการให้คำแนะนำการลงทุน เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนที่ดีที่สุด ภายใต้ความเสี่ยงที่แวดล้อมในขณะนั้น”

คุณคมศร ย้ำว่า ด้วยหัวใจสำคัญในการทำงานของ ESU ที่ยึดหลักความเป็นมืออาชีพ (Professionalism) และต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่นำเสนอออกไปด้วยความตระหนักอยู่เสมอว่า มุมมองหรือคำแนะนำที่มอบให้กับลูกค้าจะส่งผลต่อเงินเก็บและความมั่งคั่งที่ลูกค้าสะสมมาทั้งชีวิต ทำให้ก่อนจะนำเสนอบทวิเคราะห์หรือคำแนะนำการลงทุนใดๆ จะต้องมีการตรวจเช็กอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยไม่หวังความดังจากบทความแบบฟันธงเพื่อเรียกกระแส

สำหรับความท้าทายด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะการนำ AI มาใช้วิเคราะห์  ซึ่งหลายคนมองว่าอาจนำไป
สู่การดิสรัปชั่น (Disruption) ในการวิเคราะห์การลงทุน คุณคมศรเชื่อว่า คงไม่เกิดในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ถึง AI จะมาออกบทวิเคราะห์จริง สุดท้ายแล้ว นักลงทุนส่วนมากก็น่าจะยังต้องการสอบถามความเห็นและฟังคำอธิบายจากมนุษย์อยู่ดี


ลงทุนในภาวะ Low for (Even) Longer

สืบเนื่องจากเศรษฐกิจปี 2019 ที่แย่กว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ ซึ่ง ESU ก็มีมุมมองให้ทุกฝ่ายระมัดระวังเอาไว้แล้ว แต่ด้วยความที่เศรษฐกิจ แย่กว่าที่คิดทำให้ธนาคารกลางสำคัญของโลกมีการปรับลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาด ส่งผลต่อเนื่องมาถึงตลาดไทยที่ต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในที่สุด เพราะโมเมนตั้มเศรษฐกิจไทยทรุดลงค่อนข้างเร็ว ซึ่งทีม ESU มองว่า โมเมนตั้มเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีในปี 2019 จะถูกส่งผ่านไปยังปี 2020 ด้วย

file

 “ปี 2020 แม้อารมณ์ตลาด (Market Sentiment) จะมีทิศทางปรับดีขึ้นมาก แต่เรามองว่าภาพรวมปัจจัยพื้นฐานทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยทุกอย่างยังอยู่ระดับต่ำ ไม่ว่าจะเป็น GDP เงินเฟ้ออัตราดอกเบี้ยและโมเมนตั้มเศรษฐกิจ ทั้งในตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว และตลาดหุ้นเศรษฐกิจเกิดใหม่ตัวเลขน่าจะยังไม่ดี ก็เลยตั้งชื่อธีมการลงทุนว่า “Low for (Even) Longer” ส่วนจะแย่กว่าปี 2019 หรือไม่ ขอใช้คำว่า “เป็นไปได้มาก” เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจทำให้เศรษฐกิจแย่กว่าที่คาด และฟื้นตัวได้ช้า”

คุณธรรมรัตน์  เริ่มด้วยภาพเชิงบวกต่อเศรษฐกิจปี 2020 โดยให้จับตาสัญญาณฟื้นตัวจากดัชนีผู้จัดการจัดซื้อ (PMI) ซึ่งผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้การค้าระหว่างประเทศในหลายประเทศลดลงทำให้ดัชนี PMI ปรับตัวลงมาเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ทั้ง 2 ประเทศมี “การเจรจาข้อตกลงทางการค้าเฟสแรก” กิจกรรมการค้าน่าจะกลับมาฟื้นตัวได้บ้าง เนื่องจากจะเริ่มมีการกลับมาผลิต และเมื่อดัชนี PMI เริ่มกลับทาง สะท้อนว่าเศรษฐกิจน่าจะเริ่มผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และจะส่งผลให้ Market Sentiment ดีขึ้น

ในปี 2020 เหตุการณ์ค้างคาอย่าง Brexit น่าจะถึงจุดยุติ โดยไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ผลดีต่อเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นทันที คือความเสี่ยงในเรื่อง Brexit ถือว่าจบลง ธุรกิจที่ต้องการเข้าไปลงทุนในยุโรปหรืออังกฤษก็จะตัดสินใจได้ทันที่ขณะที่การค้าขายในภูมิภาคยุโรปหรือในอังกฤษก็จะเริ่มมีภาพชัดเจนขึ้น สำหรับมุมมองเชิงลบ คุณธรรมรัตน์  มองที่ความเสี่ยงในประเทศสหรัฐฯ นอกจากภาวะ Government Shutdown ที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นทุกปี ในปี 2020 เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถือเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ เนื่องจากนโยบายสหรัฐฯ อาจพลิกโฉมไปเลยก็ได้ โดยระหว่างทางก่อนถึง การเลือกตั้งยังอาจเกิดความไม่แน่นอน (Uncertainty) ขึ้นหลายครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งอาจกระตุ้นปฏิกิริยา (Reaction) ของตลาดในทิศทางที่ยากแก่การคาดเดา

file
file

ขณะที่คุณคมศร มองว่ายังมีอีกความเสี่ยงสำคัญที่แม้เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น นั่นคือความขัดแย้งในด้านภูมิศาสตร์  เหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2019 นั่นคือเหตุการณ์ยิงบ่อน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย ซึ่งส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลกหายไปจำนวนมาก หรือเหตุการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่มีมาอย่างยาวนานยกระดับความรุนแรงขึ้นเมื่อต้นปี 2020 แม้ล่าสุดเหตุการณ์จะคลี่คลายลงแล้ว หลังผู้นำทั้งสองประเทศออกมาแสดงท่าทีประนีประนอมต่อกัน แต่ก็ยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดต่อไปเพราะหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอีกย่อมกระทบกับราคาน้ำมันโลก ซึ่งราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นเร็วและแรงจนเกินไป อาจกระทบภาคการบริโภคที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่กดดันการส่งออกและการลงทุน และอาจส่งผลให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจนธนาคารกลางต้องกลับมาขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา

ในส่วนของเศรษฐกิจไทย คุณธรรมรัตน์ มองว่า “คงลำบากเพิ่มเติมขึ้นนิดหน่อย” เพราะนอกจากส่งออกจะยังไม่ฟื้นตัว รัฐบาลน่าจะยังไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เหมือนเช่นที่เคยทำทุกครั้งยามเศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากการอนุมัติ “พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายปี 2563” ล่าช้ากว่าปกติมาก ซึ่งกำหนดการอนุมัติงบฯ คาดว่าจะเกิดขึ้นปลายเดือน ม.ค. เมื่อเจอกับกระบวนการเบิกจ่ายภาครัฐที่ค่อนข้างใช้เวลานานและอาจไม่สามารถเร่งการเบิกจ่ายได้อย่างที่หวัง กอปรกับความคืบหน้าของโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอาจต้องใช้เวลา เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ จึงคาดว่าการพยุงเศรษฐกิจจากการขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนภาครัฐอย่างเร็ว อาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีหรืออาจต้องรอไปถึงปี 2021

file

นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับอีกความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ ภัยแล้ง ขณะที่การท่องเที่ยวที่ดูจะเป็นแรงขับเคลื่อนตัวเดียวในเศรษฐกิจไทย ก็ยังอาจส่งผลบวกได้ค่อนข้างจำกัดเนื่องจากเงินบาทที่แข็งค่ามากในช่วงก่อนหน้านี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศก็เป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องจับตา จากหลายสาเหตุดังกล่าวทำให้ ESU มองว่า GDP ไทยปี 2020 จะโตไม่ถึง 3% และโตต่ำกว่าศักยภาพ

 “เมื่อภาวะเศรษฐกิจที่ “ทุกอย่าง” ต่ำ แต่ราคาหุ้นแพง โดยที่ในระยะสั้น ยังไม่เห็นจุดเปลี่ยน (Trigger) ที่จะทำให้หุ้น ลง การลงทุนที่เรามองคือหุ้นยังพอไปได้ โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ที่ภาพรวมยังดี เพียงแต่อาจมีความเสี่ยงระยะสั้นเป็นช่วง ๆ จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง แต่ช่วงหาเสียงอาจทำให้หุ้น Health Care ของสหรัฐฯ ตกลงมาบ้างเพราะผู้สมัครทุกพรรคต่างชูนโยบายลดค่ายาค่ารักษาพยาบาล เรามองว่านั่นเป็นโอกาสเข้าซื้อ นอกจากนี้ เรายังเชียร์  REITs ขณะที่ทองถือเป็นสินทรัพย์ที่ทุกคนควรมีติดพอร์ตเอาไว้”

สุดท้ายนี้ ในสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีและมีความไม่แน่นอนที่อาจทำให้การคาดการณ์มีโอกาสผิดพลาดได้สูง ยิ่งบวกกับเหตุการณ์หลายอย่างที่อาจทำให้เศรษฐกิจแย่ลง สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องยึดมั่น ได้แก่ วินัยการลงทุน กล่าวคือเมื่อถึงราคาที่พอใจกับระดับผลตอบแทนที่ได้แล้ว (Enjoy Return) ให้ขายหรือเมื่อถึงราคาที่เป็นจุดตัดขาดทุน (Cut Loss) ที่ตั้งไว้ให้รีบขาย เพื่อถือเงินสดไว้รอลงทุนตาม Sentiment ของตลาดเป็นรอบๆ ไป สำหรับนักลงทุนระยะสั้น-กลาง และลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยหนุนการเติบโต (หรือมี Story) สำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว