file

ส่อง Edutainment ปั้น “StartDee” หวังปลดล็อก EdTech ไทย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 53 | คอลัมน์ Global Trend

ในโลกใบนี้มีเพียงไม่กี่อย่าง ที่มนุษยชาติทุกคนจะรู้สึกเหมือนกันว่ามีมากเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ซึ่งสุขภาพที่ดีและการศึกษาเป็นสองสิ่งในจำนวนไม่กี่อย่างนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์และธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพอย่างมากมาย ขณะที่โลกการศึกษาดูเหมือนจะถูกดิสรัป (Disrupt) ยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับวงการอื่นในสังคมปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มตัว

การศึกษานับเป็นหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่ใหญ่และสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก เมื่อไม่นานมานี้ Credit Suisse เผยแพร่ข้อมูลที่น่าสนใจว่าค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อปีรวมกันทั่วโลกสูงกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในเวลาอีก 15 ปี ข้างหน้า แต่ปัจจุบันเซ็กเตอร์การศึกษายังไม่ได้ถูกยกระดับด้วยเทคโนโลยีมากเท่าที่ควร ดูได้จากสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในรูปแบบออนไลน์ที่อยู่ในระดับแค่ 2-3% เท่านั้น

อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการศึกษาโลกกำลังจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างมากในอัตราเร่งที่สูงมากแบบที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ด้วย “ตัวเร่ง (Catalyst)” ที่ชื่อว่า... COVID-19


Unlimited Potentials of Edutainment & EdTech

Edutainment มาจากคำว่า Education + Entertainment หมายถึง การเรียนรู้ที่มีทั้งความรู้และความสนุก โดยเป็นการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่และนวัตกรรมจากอุตสาหกรรมบันเทิงและสื่อมัลติมีเดีย เข้ามาสู่ธุรกิจการศึกษาเพื่อช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน ทำให้กระบวนการเรียนรู้เปิดกว้างและมีประสิทธิผลมากขึ้น โดยธุรกิจ Edutainment และเทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech) จะมีบทบาทอย่างมากในการพลิกโฉมโลกการศึกษา เนื่องจาก...

  1. ทำให้การศึกษาที่มีคุณภาพถูกเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โลกการศึกษาแบบเก่ามีข้อจำกัดทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ เวลา และสถานที่ รวมถึงอุปสรรคด้านการเงิน แต่ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์จะทำให้การศึกษาที่มีคุณภาพสามารถเข้าถึงผู้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงมาก ทุกคนเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาและเข้าถึงคนจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้
  2. ทำให้การเรียนรู้เหมาะกับแต่ละบุคคล (Personalized) ระบบออนไลน์ทำให้การเรียนรู้เป็นไปตามศักยภาพหรือ Speed ในการเรียนรู้ของแต่ละคน ซึ่งคนที่ตามไม่ทันก็สามารถกลับไปทบทวนเนื้อหาที่ต้องการได้ทุกเมื่อ ยิ่งกว่านั้นด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง AI สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ความสนใจและความสามารถในการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปรับเนื้อหาเชิงลึกให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้มากขึ้น เช่น อ่อนตรงไหน หรือโดดเด่นด้านไหน ฯลฯ
  3. ทำให้การเรียนรู้สนุก สมจริง และเข้าใจง่าย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี VR และ AR ช่วยสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่สมจริง ทำให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนที่ยากจะจินตนาการหรือสัมผัสได้ง่ายและลึกซึ้งขึ้น เช่น อียิปต์โบราณ ความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัย หรือการขับเครื่องบิน ฯลฯ
  4. ทำให้สถานศึกษาเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น ระบบประเมินผลด้วยเทคโนโลยี AI ช่วยให้การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนทำได้เร็วขึ้นและช่วยลดข้อผิดพลาดหรืออคติได้ด้วย, เทคโนโลยี Cloud ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลและระบบจัดการการเรียนรู้, Face Recognition ใช้บันทึกข้อมูลเข้าเรียนและป้องกันการโกงการสอบ, Internet of Things (IoT) ใช้เป็นระบบอัตโนมัติในการเปิด/ปิดห้องเรียน ควบคุมอุณหภูมิ ฯลฯ Blockchain ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการจัดเก็บ เข้าถึงและส่งผ่าน ข้อมูลส่วนตัวด้านการเรียน โดยผู้เรียนเป็นผู้อนุญาตทางออนไลน์ว่าจะให้สถานศึกษาส่งข้อมูลไปที่ใดได้ เป็นต้น
file

Global Edutainment Trends beyond COVID-19

ผู้บริโภคยุคมิลเลนเนียล (Millennials) เสพติดการออนไลน์ตลอดเวลา และความต้องการบริการแบบ On-demand (ต้องได้ทันที) รวมถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของ EdTech ทั้งหลาย ทำให้ Edutainment มีแนวโน้มเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ข้อมูลจาก EdTechXGlobal ประเมินว่า มูลค่าตลาดด้านการศึกษาออนไลน์และเทคโนโลยีด้านการศึกษาทั่วโลก มีการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 17% ทุกปี และในปี 2020 มูลค่าตลาดอาจจะสูงถึงกว่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตัวเลขดังกล่าวถูกคาดการณ์ไว้ก่อนจะเกิดวิกฤต COVID-19

ในช่วงที่ COVID-19 ระบาดรุนแรงจนทั่วโลกมีการประกาศปิดสถานศึกษา UNESCO ได้ทำการสำรวจใน 191 ประเทศ พบว่า มีนักเรียนนักศึกษามากถึง 98% ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้หลายสถาบันการศึกษาพากันย้ายการเรียนการสอนขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นผลให้ปลายเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีนักเรียนนักศึกษากว่า 1.7 พันล้านคน ที่เรียนผ่านเทคโนโลยีอย่าง ZOOM, Google Classroom และ Microsoft Teams ส่งผลให้ธุรกิจ Edutainment และบริษัท EdTech ทั้งหลายเติบโตก้าวกระโดดในเวลาอันรวดเร็ว อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน


ข้อจำกัด “การศึกษาไทย” จุดประกาย “StartDee”

กลับมาที่ประเทศไทย แม้ว่าปัจจุบัน อาจจะมี EdTech จำนวนไม่น้อยที่เข้าสู่พรมแดนโลกการศึกษาของคนไทย แต่คงต้องยอมรับว่า EdTech ในประเทศไทยยังมีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับมูลค่าการตลาดในธุรกิจการศึกษาบ้านเรา

นับเป็นเรื่องน่ายินดี ที่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ได้มี EdTech น้องใหม่ในประเทศไทยเปิดตัวเพื่อเข้ามาขับเคลื่อนวงการการศึกษาไทย ได้แก่ StartDee ซึ่งหนึ่งในผู้ก่อตั้งคือ คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ดดูเคชั่น เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตและเป็นเจ้าของแอป StartDee

file

“ผมก้าวเข้าสู่วงการ EdTech เพราะอยากเข้ามาพัฒนาประเทศ และผมเชื่อว่า การศึกษาเป็นกลไกสำคัญที่สุดในการพัฒนาประเทศ  ผมเปรียบประเทศเป็น “เค้ก” ก้อนหนึ่ง ซึ่งเค้กก้อนนี้เป็นผลรวมของความสุข รายได้ หรือผลิตผล ของทุกคนในประเทศ เราจะทำยังไงให้ 1) “เค้ก” ก้อนนี้โตขึ้น ซึ่งนั่นแปลว่า คนไทยมีความสุขเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น มีหน้าที่การงานที่ดีขึ้น และ 2) คนไทยทุกคนมีโอกาสเข้า ถึง “เค้ก” ก้อนนี้อย่างเสมอภาค ซึ่งผมมองว่า การศึกษาเป็นกลไกที่ตอบโจทย์ทั้ง 2 ข้อ”

คุณพริษฐ์ กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้าสู่วงการ “การเมือง” ก็เพราะอยากเข้าไปผลักดันนโยบายด้านการศึกษา แต่เมื่อไม่ได้รับโอกาสทำงานสภาในครั้งนั้น เขาจึงหาช่องทางอื่นในการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ

ด้วยประสบการณ์การเรียนในโรงเรียนไทยชั้นนำบวกกับประสบการณ์ในการเรียนโรงเรียนนานาชาติ และการได้รับทุนไปศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ ทำให้คุณพริษฐ์รู้สึกว่า  ที่ตนเองได้รับโอกาสที่ดีอย่างทุกวันนี้เป็นเพราะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงอยากทำให้เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ บวกกับการได้เห็นหลายประเทศ ที่นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ปิดจุดอ่อนของระบบการศึกษาในประเทศ นั่นจึงเป็นที่มาของแอป StartDee

แอป StartDee เป็นตัวช่วยในการเรียนรู้สำหรับเด็กไทย โดยรวบรวมเนื้อหาบทเรียน และแบบฝึกหัด ครอบคลุมทุกวิชา ตั้งแต่ระดับชั้น ป.4-ม.6 รวมถึงมีหลักสูตรเพิ่มทักษะจำเป็นในการใช้ชีวิตยุคใหม่ เช่น ทักษะ วางแผนทางการเงิน ทักษะดิจิทัล ความรู้เรื่อง เพศศึกษา และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“เด็กหลายคน “ตามหลัง” เพื่อนตั้งแต่ก่อน เริ่ม เพียงเพราะสภาพแวดล้อมเป็นตัวปิดกั้น เด็กบางคนไม่มีเงินกินข้าว แต่อีกคนจ่ายค่าเรียนพิเศษได้ไม่อั้น ตัดภาพมาที่คุณภาพโรงเรียน โรงเรียนชั้นนำมีครูเก่งๆ มากมาย  มีเด็กชนะเหรียญทองโอลิมปิกทุกปี ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กบางแห่ง ครู 1 คนต้องมีภาระสอนหลายวิชา หรือต้องสอนเด็กมากกว่า 1 ระดับชั้นในเวลาเดียวกัน เราจะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำในโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพที่อยู่ทั้งในการเรียนปกติและการเรียนพิเศษ ซึ่งสิ่งที่ StartDee พยายามทำคือ เป็นทางเลือกที่เปิดโอกาสให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน”

สำหรับก้าวต่อไป คุณพริษฐ์ เล่าว่าจะมุ่งพัฒนา StartDee ให้สามารถทำให้การเรียนรู้มีความเป็นเฉพาะบุคคลมากขึ้น (Personalized) โดยใช้เทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์ และทำให้แอปสนุกขึ้น โดยนำเอาตรรกะและฟีเจอร์ของการเล่นเกม (Gamification) มาใช้ เช่น การเก็บเหรียญ XP เพื่อนำไปแลกสิ่งของ หรือการท้าเพื่อนแข่งทำแบบฝึกหัด ฯลฯ ขณะที่ด้านเนื้อหาจะมีการพัฒนาบทเรียนให้ครอบคลุม ตั้งแต่ ป.1- ม.6 ควบคู่กับการทำบทเรียนให้มีความลึกยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มแบบฝึกหัดที่ผลักดันให้เกิดการคิดวิเคราะห์ ซึ่งนั่นหมายถึง กระบวนการดีไซน์บทเรียนและแบบฝึกหัดใหม่

file

“เราอยากเป็น “Netflix ของการศึกษาไทย” ในมิติของการสร้างระบบการเรียนรู้แบบ Personalized เพราะเราเชื่อว่าเด็กแต่ละคนถนัดไม่เหมือนกัน สนใจไม่เหมือนกัน การจะให้เนื้อหาแบบเดียวกันหมดจึงไม่ตอบโจทย์ทุกคน ระบบที่ดีจึงควรแนะนำได้ว่า เด็กที่เก่งด้านนี้ ควรไปดูคลิปไหนเพื่อต่อยอดความเก่งนั้น  เด็กที่มีจุดอ่อนเรื่องนี้ต้องทบทวนอะไรหรือดู คลิปไหนเพื่อทำความเข้าใจ เด็กที่ตอบแบบฝึกหัดถูก ข้อถัดไปควรจะยากขึ้น ส่วนเด็กที่ตอบผิด ข้อต่อไปต้องง่ายขึ้นเพื่อให้เด็กค่อยๆ ทำความเข้าใจและพัฒนาขึ้น ซึ่งการเรียนรู้แบบ Personalized จะทำให้การเรียนสนุกขึ้น และมีประสิทธิผลมากขึ้น”

สุดท้ายนี้ คุณพริษฐ์ย้ำว่า EdTech เป็นเพียง “กองหนุน” แต่บทบาทของครูจะยังไม่หายไป เพียงแค่ต้องปรับตัว เพราะจะเกิดพฤติกรรม “กลับด้าน” จากเดิมที่เคยเรียนที่โรงเรียน  แล้วทำการบ้านที่บ้าน เปลี่ยนเป็นเรียนที่บ้าน ผ่านระบบออนไลน์ แล้วมาทำการบ้านที่โรงเรียน โดยครูมีทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการคิดวิเคราะห์ร่วมกัน ดังนั้น ครูจึงยังเป็นกลไกสำคัญของระบบการศึกษาไม่ว่าจะรูปแบบไหน!