file

Fighting Cancer เป้าหมายที่ต้องไปต่อ...เพื่ออนาคตคนไทย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 54 | คอลัมน์ Giving

โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยต่อเนื่องมา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่เผยแพร่ในปี 2562 พบคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งวันละ 221 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 9 คน และมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นวันละ 336 คน หรือเฉลี่ยกว่า 14 คนต่อชั่วโมง ขณะที่สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (IARC : International Agency for Research on Cancer) คาดการณ์ว่าในปี 2573 จำนวนผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกจะสูงถึง 13 ล้านคน นั่นก็เพราะทุกคนมีความเสี่ยงจะเป็นโรคร้ายนี้สูงถึง 40% และเมื่อเป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 50%

“โลกเรามีวิทยาการก้าวหน้าถึงขนาดส่งคนไปดวงจันทร์ได้ตั้งนานแล้ว แต่ทำไมโรคภัยบางโรคเรายังสู้กับมันไม่ชนะสักที แถมแนวโน้มอัตราการตายก็สูงขึ้นทุกปี เมื่อก่อนเวลาพูดถึง “มะเร็ง” ฝรั่งบอกว่าเป็น “Death Sentence” เท่ากับถูกพิพากษาประหารชีวิตไปแล้ว ไม่ใช่แค่ภัยร้ายด้านร่างกายเท่านั้น แต่มะเร็งยังเป็นภัยร้ายต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะภาระค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นสูงมาก...

แม้ว่าเรายังไม่อาจป้องกันหรือลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้สำเร็จ แต่ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้เรามีความหวังว่าจะลดอัตราการตายให้น้อยลงหรือกลายเป็นศูนย์ได้ TISCO จึงอยากมีส่วนร่วมจุดประกายความหวังนี้ให้กับคนไทย ด้วยการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งของสถาบันการแพทย์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อใดที่โรคมะเร็งกลายเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้เมื่อนั้น คนไทยก็จะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง” คุณพิชา รัตนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงาน Fighting Cancer

file

ตามแนวทางการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินแบบ Holistic Advisory นับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ TISCO หันมาให้การสนับสนุนการต่อสู้กับโรคมะเร็งร้าย ผ่านการมอบเงินบริจาคเป็นทุนทรัพย์และเป็นกำลังใจให้กับสถาบันการแพทย์ไทยในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้จัดงาน Fighting Cancer ขึ้น เพื่อมอบเงินบริจาคที่ได้จากการหักจากรายได้ค่าธรรมเนียมการขายผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและประกันสุขภาพสูงกว่า 7.45 ล้านบาท ให้แก่กองทุนวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ฯ คิดเป็นยอดรวมตลอด 3 ปีกว่า 12 ล้านบาท

“ต้องขอบคุณอาจารย์แพทย์และนักวิจัยที่มุ่งมั่นเสียสละ และขอบคุณลูกค้าของเราที่มีส่วนช่วยให้โครงการนี้ดำเนินมาตลอด 3 ปี ผมเชื่อมั่นว่าบุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใด เพียงแต่การพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนอีกมาก จึงอยากจะเชิญชวนคนไทยทุกภาคส่วนมาช่วยเป็นกำลังใจ และช่วยกัน “สู้มะเร็ง” ผ่านการบริจาคเงินสนับสนุนงานวิจัยเหล่านี้ เพื่อที่วันนึงมะเร็งจะเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้อย่างที่ทุกคนหวัง” คุณพิชาทิ้งท้าย


“ภูมิคุ้มกันบำบัด” จุดเปลี่ยนสู่ชัยชนะสงครามสู้มะเร็ง

“เมื่อก่อน เราจะรู้สึกว่ามะเร็งเป็นโรคที่มนุษย์ไม่สามารถเอาชนะได้ อย่างมากทำได้แค่ประวิงเวลา จนมีการค้นพบภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) จึงเป็นครั้งแรกที่เราเริ่มมีความหวังว่าโรคมะเร็งจะรักษาให้หายขาดได้ มีข้อมูลจากทั่วโลกระบุว่า ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาภูมิคุ้มกันบำบัดเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคมะเร็งอย่างมาก และได้ผลดีกับมะเร็งหลายชนิด แต่ติดปัญหาที่ค่าใช้จ่ายแพงมาก นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด “ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งฯ” ขึ้น” ศ.ดร.พญ.ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มา

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ก่อตั้งเมื่อ ต.ค. ปี 2560 ด้วยเงินทุนแรก 160 ล้านบาท จาก “กองทุนศตวรรษที่ 2 เพื่อการก้าวกระโดดของจุฬาฯ” เพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์ที่ท้าทายของสังคมไทย โดยมีพันธกิจหลักคือ การพัฒนางานวิจัยด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง เพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในคนไข้ได้โดยเร็วที่สุด และเพื่อให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่เป็นความหวังว่าจะทำให้โรคมะเร็งหายขาดได้

“ความรุนแรงของสถานการณ์มะเร็งในเมืองไทย อาจวัดจากที่ทุกวันนี้ เราทุกคนต่างก็มีเพื่อนหรือญาติที่ป่วยเป็นมะเร็ง แต่สิ่งที่ผมมองว่ารุนแรงที่สุด คือการขาดโอกาสได้รับ “การรักษาที่ดีขึ้น” เพราะไม่มีเงิน อย่างการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อาจต้องเตรียมเงินไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาทเมื่อก่อนผมเป็นหมอรักษาโรคไต สมัยนั้นยาล้างไตยังเบิกไม่ได้ ทำให้คนไข้บางคนที่ไม่มีเงินเสียชีวิต เพราะไม่ได้รับการรักษา สิ่งนี้หลอกหลอนผมมาถึงทุกวันนี้ ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดในการทำวิจัยของผม คือทำให้ยารักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพมีราคาถูก เพิ่มโอกาสที่จะถูกบรรจุใน “บัญชียาหลักแห่งชาติ” เพื่อเป็นหลักประกันสุขภาพให้กับคนไทย หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ทำให้คนไทยจำนวนมากพอจ่ายไหว” อ.ดร.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าถึงแรงบันดาลใจส่วนตัว

file

ความก้าวหน้าในงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง แบ่งเป็น 3 โครงการใหญ่ ได้แก่

1) แอนติบอดีรักษามะเร็ง (Antibody) เป็นการรักษาด้วยวิธีกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดขาวกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อที่จะกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยอาจารย์ณัฏฐิยา ย้ำว่าการผลิตยาตัวนี้ยากมากใช้เวลากว่า 7 ปีในการผลิต “ต้นแบบ (Prototype)” ให้มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันอยู่ในเฟส 3 คือนำต้นแบบไปผลิตให้มีปริมาณมากขึ้น เพื่อเตรียมทดลองในลิง และหากไม่มีข้อจำกัดเรื่องทุน น่าจะเริ่มทดลองรักษาผู้ป่วยภายใน 2 ปีนี้

2) วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (Cancer Vaccine) เป็นการออกแบบและสร้างวัคซีนที่จำเพาะกับโปรตีนของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งต้องใช้เวลามาก แล้วจึงนำไปฉีดให้ผู้ป่วย โดยต้องใช้ร่วมกับยา Antibody โดยจะเริ่มทดลองรักษากับผู้ป่วยคนแรกปลายปีนี้

3) กลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง (Cell Therapy) หรือ Car T-Cell เป็นการนำเซลล์ภูมิคุ้มกันในเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมาดัดแปลงพันธุกรรมแล้วฉีดกลับเข้าไป ซึ่งทางศูนย์ฯได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกยาประเทศญี่ปุ่นเพื่อพัฒนา Car T-Cell โดยไม่ใช้ไวรัสในการดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งเป็นวิธีใหม่ที่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยจะเริ่มทดลองรักษาในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองรายแรกราวเดือน ต.ค. นี้

“เรารับผู้ป่วยที่จะเข้ามาทดลองรักษาด้วยภูมิบำบัดได้จำนวนจำกัด เพราะแต่ละโครงการต้องใช้ทุนวิจัยสูง อย่างวัคซีนมะเร็งใช้ต้นทุนประมาณ 3 ล้านต่อผู้ป่วย 1 คน เพราะเป็นวัคซีนจำเพาะผู้ป่วยแต่ละคน ปัจจุบันเรามีทุนเพียงพอสำหรับทดลองกับผู้ป่วยเพียง 2 ราย ซึ่งจะเข้าสู่เฟสที่พร้อมใช้กับผู้ป่วยเมื่อใดนั้น ก็ตอบไม่ได้ เพราะเราต้องระดมทุนสำหรับทดลองรักษาในผู้ป่วย 10 รายให้ได้เสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่าปลอดภัยและได้ผลดีจริง จึงจะเข้าสู่เฟสถัดไปได้ ซึ่งโครงการนี้เราภูมิใจมาก เพราะเราพัฒนามาจนอยู่ในเฟสที่ใกล้เคียงกับประเทศสหรัฐฯ แล้ว เพียงแต่ติดที่เรามีทุนไม่มากพอที่จะเก็บตัวอย่างได้ครบในเวลาอันสั้นแต่อย่างน้อยนี่คือสิ่งที่ตอกย้ำว่าจริงๆ แล้ว นักวิจัยไทยไม่ใช่ว่าไม่เก่ง แต่เราขาดเงินทุน” อาจารย์ไตรรักษ์ กล่าว

“ทุนก่อตั้งศูนย์ฯ 160 ล้านบาท ที่จุฬาฯ ให้มาในปีแรกนั้น อาจฟังดูเยอะแต่ได้หมดไปกับการลงทุนเครื่องไม้เครื่องมือ ซึ่งเทียบไม่ได้กับต่างประเทศที่ลงทุนกัน 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี่จึงเป็นเหตุผลให้ทางศูนย์ฯ ต้องจัดตั้ง “กองทุนวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง” ขึ้นเพื่อรับบริจาคเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งตามแผนงานในปีหน้า ถ้าจะให้ทั้ง 3 โครงการเดินหน้าไปอย่างราบรื่น จำเป็นต้องใช้ทุนวิจัยร่วม 200 ล้านบาท ไม่เช่นนั้น โครงการทั้งหมดก็ยากที่จะดำเนินได้ตามเป้า

“นอกจากเทคโนโลยีและบุคลากร เงินทุนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ซึ่งเรายังขาดอีกมากในการวิจัย ที่ผ่านมาภาครัฐมีงบให้จำกัด ถ้าไม่ได้ภาคเอกชนและประชาชนช่วยกันบริจาค โครงการวิจัยต่างๆ คงไปต่อได้ยาก ผมจึงอยากชวนคนไทยมาช่วยกันบริจาคคนละเล็กละน้อย เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ต่อเนื่อง เพราะอย่าลืมว่า “สงครามสู้มะเร็ง” เป็นสงครามระยะยาว เราต้องพัฒนา “อาวุธ” ของเราขึ้นเองและสะสมไปเรื่อยๆ เพราะยิ่งมีวิธีการใหม่ๆ ที่หลากหลายขึ้น โอกาสที่ผู้ป่วยมะเร็งจะรอดและหายขาดก็ย่อมเพิ่มขึ้น” อาจารย์ไตรรักษ์ ทิ้งท้าย


file

สนับสนุนงานวิจัยเท่ากับลงทุน “ซื้อประกัน” ให้ประเทศ

สำหรับความก้าวหน้าในงานวิจัยนวัตกรรมรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลรามาธิบดี ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย หัวหน้าหน่วยโรคเลือด และโรคมะเร็งในเด็ก และปลูกถ่ายไขกระดูกในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า ที่ผ่านมา โรงพยาบาลรามาฯ ได้ใช้วิธีภูมิคุ้มกันบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กหายขาดมาแล้วถึง 8 คน โดยสามารถผลิตยาที่มีต้นทุนเพียงเข็มละ 7 แสนบาท แต่หากต้องซื้อจากบริษัทผลิตยาต่างประเทศจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึงเข็มละ 15 ล้านบาท

“แต่ละปี ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของคนไทยร่วม 3 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้ เราผลิตได้เองเพียง 2 หมื่นล้านบาท ซื้อเข้ามาจากต่างประเทศกว่า 90% ซึ่งถ้าเราผลิตนวัตกรรมการรักษาได้เอง ค่าใช้จ่ายในการรักษาจะถูกลงเกือบ 10 เท่า ประเทศชาติก็จะประหยัดเงินได้มาก”

จากความสำเร็จดังกล่าว โรงพยาบาลรามาฯได้ต่อยอดการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งอื่นๆ โดยใช้คอนเซ็ปต์ “การรักษาด้วยเซลล์และยีนส์บำบัด” ซึ่งเป็นการรักษาเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) มาต่อยอด และมุ่งเน้นพัฒนาไปสู่การจดทะเบียนสิทธิบัตรให้เป็นของคนไทย โดยปัจจุบันมีงานวิจัย CAR T-Cell ที่สำเร็จแล้วอยู่ระหว่างทดสอบ กำลังจดสิทธิบัตร และจดสิทธิบัตรแล้ว ได้แก่ CD19 และ CD22 รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง GD2 รักษามะเร็งต่อมหมวกไตและมะเร็งสมอง และ BMCA รักษามะเร็งมัยอิโลมา

ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างการผลิต Antibody รักษามะเร็ง ได้แก่ Anti GD2 สำหรับมะเร็งต่อมหมวกไต และ Anti CD22 สำหรับมะเร็งเม็ดเลือดขาว พร้อมกันนี้ โรงพยาบาลรามาฯ ยังได้ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยจาก
โรงพยาบาลอื่นเพื่อทดลองผลิต Antibody จาก Peptide ซึ่งจะช่วยทำให้การรักษามะเร็งด้วย Antibody มีราคาถูกลงอย่างมาก นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการทดสอบนวัตกรรมการรักษามะเร็งด้วยเทคโนโลยีนานาโพลิเมอร์ ในการนำส่งยาเคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็งสมองและมะเร็งตับ ซึ่งเพิ่งได้ทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็งสมองเมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้ผลค่อนข้างดี

อาจารย์สุรเดช เชื่อว่า ในอนาคต การรักษาโรคมะเร็งจะต้องเป็นแบบจำเพาะบุคคล (Personalized Medicine) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าและเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า แต่ถ้าประเทศไทยยังต้องนำเข้านวัตกรรมการรักษาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Antibody, CAR T-Cell,  Cancer Vaccine ฯลฯ โอกาสที่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดจะกลายเป็นการรักษาพื้นฐานที่ สปสช. จะจ่ายให้ก็แทบไม่มี เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงมาก

“ผมเชื่อว่าการเข้าถึงสำหรับการรักษาที่มีประสิทธิภาพถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับ ผมอยากชักชวนภาคเอกชนและประชาชนให้มาช่วยกันสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมของเรา เพราะถ้าเรา
ผลิตได้เอง ราคายาก็จะถูกลง โอกาสที่คนไทยจะเข้าถึงยารักษามะเร็งที่ราคาถูกลง และการรักษาแบบ Personalized Medicine ก็ย่อมมีมากขึ้น แถมเมืองไทยยังมีโอกาสสร้างรายได้จากการส่งออก หรือเป็น “Medical Hub” ที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมการรักษามะเร็งได้อีกด้วย

“การลงทุนในงานวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรมรักษามะเร็งถือเป็นการลงทุนระยะยาว เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต และก็ไม่ใช่อนาคตของใคร แต่เป็นอนาคตของเราทุกคน เพราะการรักษาแบบ Personalized Medicine จะเข้ามามีบทบาทแน่นอนในอีก 10-20 ปีข้างหน้า ถ้าประเทศไทยไม่เตรียมตัว ไม่พัฒนานวัตกรรมของเราเสียแต่วันนี้ วันหน้า คนไทยอาจต้องเสียเงินค่ายารักษามะเร็งให้ต่างชาติอย่างน้อย 20-100 ล้านบาท แล้วจะเอาที่ไหนมาจ่าย ฉะนั้น การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษามะเร็ง จึงเป็นเสมือนการลงทุนซื้อประกันสุขภาพให้กับคนไทยและซื้ออนาคตให้กับประเทศ”อาจารย์สุรเดช ฝากทิ้งท้าย


ร่วมบริจาคสมทบทุน

  • กองทุนโรคมะเร็งในเด็ก ในพระอุปถัมภ์ฯ
    เลขที่บัญชี ไทยพาณิชย์ 133-208742-3
  • กองทุนวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    เลขที่บัญชี ไทยพาณิชย์ 408-004443-4