โรงเรียนวัดลาดเป้ง กับ “Zero Waste” รู้คุณค่า “ขยะ” สู่การบ่มเพาะ “คุณธรรม”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 56 | คอลัมน์ Giving

file

 

ด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของกลุ่มทิสโก้ในการสนับสนุนการศึกษาของเด็กไทย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมและเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ กลายเป็นที่มาของการส่งมอบอาคารเรียน “ทิสโก้ร่วมใจ 8” ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น จำนวน 12 ห้องเรียน และห้องสุขา จำนวน 4 ห้อง มูลค่ารวม 8.3 ล้านบาท ให้แก่ โรงเรียนวัดลาดเป้ง จ.สมุทรสงคราม เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ และพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาให้เด็กอย่างเต็มที่

ในโอกาสนี้ TRUST จึงขอพามารู้จักกับโรงเรียนวัดลาดเป้ง และพาชมกิจกรรมดีๆ ของน้องๆ ที่สร้างชื่อเสียงจนทำให้หลายคนรู้จัก จากโครงการ “Barber School ลดโลกร้อน” ซึ่งเป็นการบูรณาการกิจกรรมส่งเสริมทักษะอาชีพให้เข้ากับแนวคิด “โรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste)” ได้อย่างลงตัวและเห็นผล

ก้าวสู่มาตรฐาน “โรงเรียนคุณภาพของชุมชน”

นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเปิดการเรียนการสอน มาถึงวันนี้ โรงเรียนวัดลาดเป้งย่างเข้าสู่ปีที่ 91 จากที่เคยอาศัยศาลาการเปรียญของวัดลาดเป้งเป็นสถานที่เรียน มาตอนนี้โรงเรียนวัดลาดเป้งได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้เป็น “โรงเรียนคุณภาพของชุมชน”

คุณนัคสวรรย์ ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดลาดเป้ง เล่าว่า โรงเรียนมีพื้นที่ 10 ไร่มีจำนวนนักเรียน 369 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งจัดการเรียนรู้ตามโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยเด็กนักเรียนจะได้รับการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ อาทิ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงการงานอาชีพและเทคโนโลยี พร้อมด้วยชั่วโมง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อทำกิจกรรมเสริมทักษะด้านต่างๆ ตามความสนใจของเด็ก

file

นอกจากสาระวิชาการ โรงเรียนฯ ยังมีกิจกรรมเสริมสร้างการเรียนรู้นอกหลักสูตรในหลากหลายโครงการ อาทิ โครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste) โครงการ Barber School ลดโลกร้อน รวมถึงโครงการประกอบการงานอาชีพ ที่มีการนำขยะจากโครงการ Zero Waste มาประดิษฐ์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ เป็นต้น และการได้ “อาคารทิสโก้ร่วมใจ 8” ก็เข้ามาช่วยให้เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ ทำให้นักเรียนมีความสุข และสามารถรองรับการเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชนได้ดีขึ้น 

จุดประกาย Zero Waste  “ขยะไม่ไร้ค่า”

ครูเพิ่มพร ม่วงใหญ่ ครูผู้ดูแลโครงการ Zero Waste เล่าว่า แรงบันดาลใจที่ทำให้เธออยากนำแนวคิด “โรงเรียนปลอดขยะ” ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมพยายามกระตุ้นให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและชุมชน มาประยุกต์ใช้ในโรงเรียนวัดลาดเป้ง เริ่มต้นในปี 2560 “ตอนนั้นนักเรียนไม่ค่อยตระหนักเรื่องการคัดแยกขยะ โรงเรียนเลยสกปรกมาก ครูและนักเรียนแกนนำจึงอยากจัดกิจกรรมธนาคารขยะ เพื่อเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ให้ลดลง จึงนำแนวคิดนี้ไปปรึกษากับผู้บริหารโรงเรียน พอดีกับที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สมุทรสงคราม ให้งบสนับสนุน โครงการ Zero Waste จึงเกิดขึ้นได้”

หลังจากสำนักงานทรัพยากรฯ พาคณะครูและนักเรียนแกนนำไปดูงาน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักถึงผลกระทบจากขยะที่มีต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพียงไม่นาน “ธนาคารขยะ” ก็ถูกจัดตั้งขึ้น พร้อมกับการจัดวางจุดคัดแยกขยะทั่วโรงเรียน และการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะให้แก่เด็กนักเรียน

file

“ช่วงแรก นักเรียนยังไม่เห็นว่าธนาคารขยะมีประโยชน์ รู้แต่ว่าเขาต้องไปเดินเก็บขยะตามที่ครูสั่ง ทั้งร้อน ทั้งเมื่อย หลายคนจึงไม่ได้นำขยะมาขายที่ธนาคารขยะ เพราะไม่รู้ว่าจะได้เงิน แต่พอครูเริ่มประกาศว่ามีเพื่อนที่เอาขยะมาขายจนมีเงินฝากเท่านี้ และได้ถอนเงินออกไปใช้แล้ว ก็ทำให้เด็กคนอื่นเชื่อว่า “ขยะกลายเป็นเงิน” ได้จริงๆ”

ทั้งนี้ ราคารับซื้อขยะจะปรับเปลี่ยนทุกสัปดาห์ตามราคาตลาด โดยธนาคารขยะจะแจกแจงราคาขยะแต่ละชนิด ซึ่งทำให้นักเรียนยิ่งเห็นคุณค่าของการแยกขยะชัดเจน เช่น ขวดพลาสติกใส กก.ละ 6 บาท ขวดพลาสติกสี กก.ละ 8 บาท กระดาษขาวดำ กก.ละ 4 บาท กระดาษขยำมา กก.ละ 1 บาท กระป๋องเบียร์ กก.ละ 10 บาท จุกกระป๋อง กก.ละ 10 กว่าบาท ฯลฯ

“เดิมนักเรียนเคยมองว่า “ขยะไร้ค่า” แต่พอรู้ว่าขายได้ ก็เริ่มมองว่า “ขยะมีค่า” เราอยากทำให้เขาตระหนักว่ามูลค่าของขยะแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เขาจะได้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของการแยกขยะอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น”


นอกจากนี้ โครงการฯ ยังร่วมมือกับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อให้นักเรียนนำขยะมาแลกเป็นอุปกรณ์การเรียนได้ เช่น ขวดพลาสติก 10 ขวดแลกปากกา 1 แท่ง ฯลฯ และร่วมมือกับโครงการ Barber School ลดโลกร้อน ที่ให้นำขยะมาแลกการตัดผม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้รับความสนใจทั้งจากนักเรียน ชุมชน และสื่อมวลชน

ครูเพิ่มพรเล่าว่า เมื่อได้รับขยะ ธนาคารขยะจะแยกขยะที่สามารถนำไปใช้ทำสิ่งประดิษฐ์สำหรับกลุ่มสาระเรียนรู้การงานอาชีพ หรือทำผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการ “๑ ผลิตภัณฑ์ ๑ ห้องเรียน” เพื่อเตรียมไว้ขาย ส่วนขยะที่เหลือจะขายให้กับร้านรับซื้อ โดยกำไรที่ได้จะถูกนำไปใช้ในกิจกรรมของธนาคารขยะและของโรงเรียน

“แต่ละปี ธนาคารขยะจะขายขยะได้เงินไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท เงินก้อนนี้กระจายไปสู่นักเรียนที่เอาขยะมาขาย และหมุนเวียนในโรงเรียน เช่น สหกรณ์ ชมรม Barber School และธนาคารขยะ และอย่าลืมว่า มูลค่าของขยะยังอยู่ในรูปของสิ่งประดิษฐ์จากการนำขยะไปรีไซเคิล เช่น แจกันขวดพลาสติก กระปุกเศษกระดาษ ฯลฯ เหล่านี้ช่วยให้นักเรียนประหยัดเงิน และบ่อยครั้งก็ขายได้เงินกลับมา ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งยืนยันว่าขยะมีคุณค่าและนำมาสร้างมูลค่าได้” 

“Barber School”  จิ๊กซอว์ที่ตอบโจทย์หลายฝ่าย

ครูอรกัญญา ช้างหิน ครูผู้ดูแลโครงการ Barber School ลดโลกร้อน เล่าว่า ปลายปี 2559 โรงเรียนได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์ตัดผมจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นางตะเคียน พร้อมด้วยวิทยากรที่เป็นช่างตัดผมในชุมชน มาช่วยฝึกทักษะให้แก่ ครูและนักเรียนโรงเรียนวัดลาดเป้งในชมรม Barber School ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมสร้างทักษะอาชีพในชั่วโมง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”

“หลังจากฝึกฝนกับวิทยากรจนคล่อง ก็เริ่มให้บริการกับเด็กที่ทรงผมผิดระเบียบ เพื่อให้เด็กในชมรมได้ฝึกฝนทักษะการตัดผม ส่วนเด็กที่มาตัดผมก็ได้ทรงผมถูกระเบียบโดยไม่ต้องเสียเงิน จนปี 2561 เราเข้าร่วมกับโครงการ Zero Waste จึงเริ่มคิดค่าตัดผมจากขยะ เช่น ขวดพลาสติก 5 ขวด หรือไม้ไอศกรีม 10 ชิ้น ฯลฯ เพื่อตอกย้ำให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของขยะ”

file

ขยะที่ชมรมฯ ได้มา บางส่วน เด็กนักเรียนในชมรมฯ จะเลือกเพื่อนำไปใช้ทำงานประดิษฐ์ส่งคุณครูในกลุ่มวิชาการงานอาชีพ ส่วนขยะที่เหลือจะถูกนำไปขายเข้าบัญชีของชมรมฯ ที่ธนาคารขยะ เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในชมรมฯ

“น้องเบล” นักเรียนชั้น ม.1 เล่าว่า เธอเลือกมาอยู่ชมรม Barber School เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่ดีสามารถสร้างรายได้หรือทำเป็นอาชีพได้ โดยได้เรียนรู้การตัดผมมา 2 ปีกว่าแล้ว จนถือเป็น “ช่างผมมือหนึ่ง” อีกคนของชมรมฯ โดยเธอตัดผมให้กับเพื่อนและรุ่นน้องมาแล้วนับไม่ถ้วน และเธอรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ได้ตัดผมให้เพื่อนนักเรียน เพราะนั่นหมายความว่าเธอได้มีโอกาสช่วยให้ผู้ปกครองของเด็กเหล่านั้นได้ประหยัดเงินค่าตัดผมครั้งละ 40-50 บาท เลยทีเดียว

“นักเรียนบางคนที่ตัดผมได้ชำนาญจนผู้ปกครองเห็นแวว ถึงกับยอมลงทุนซื้ออุปกรณ์ตัดผมให้น้อง นำไปใช้ให้บริการตัดผมแก่คนในชุมชนเพื่อหารายได้เสริมก็มี ในอนาคตเราจะเพิ่มทักษะการตัดผมทรงนักเรียนหญิงให้เด็กในชมรมฯ ด้วย เพื่อจะได้ตอบโจทย์นักเรียนและผู้ปกครองได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น” ครูอรกัญญาทิ้งท้าย

file
file

ขยายผล “Zero Waste”  สู่ “ชุมชนปลอดขยะ”

ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการ Zero Waste ภาพที่นักเรียนเดินเก็บขยะในโรงเรียนและชุมชน แบกกลับบ้านทุกวัน เพื่อรอวันที่ธนาคารขยะจะเปิดรับซื้อเป็นภาพที่เห็นได้บ่อยในชุมชนวัดลาดเป้ง แต่ที่น่ายินดียิ่งกว่าคือการได้เห็นนักเรียนและผู้ปกครองนำขยะที่คัดแยกแล้วจากบ้านมาขายที่ธนาคารขยะ เพราะนั่นสะท้อนถึงการขยายผลความตระหนักรู้ของนักเรียนไปสู่ครอบครัวและชุมชน

“น้องขวัญ” นักเรียนชั้น ม.1 เป็นนักเรียนแกนนำในกิจกรรมธนาคารขยะ เธอไม่เพียงบอกต่อเพื่อนและรุ่นน้องให้คัดแยกขยะ เธอยังนำความรู้ในการแยกขยะจากโรงเรียนกลับไปสอนสมาชิกในบ้าน เพื่อที่เธอจะได้นำขยะมาขายที่โรงเรียน เธอเล่าว่า การได้ทำบัญชีเงินฝากจากขยะให้เพื่อน ทำให้เธอรู้ซึ้งถึงพลังของการเก็บเล็กผสมน้อย จึงทำให้วันนี้ เงินฝากของเธอในธนาคารขยะคงมีไม่น้อย ซึ่งเธอตั้งใจเก็บออมไว้เพื่อใช้ซื้อของจำเป็นโดยไม่ต้องรบกวนทางบ้าน

“โครงการ Zero Waste สอนให้เด็กเข้าใจและคิดอย่างมีเหตุผลว่า ขณะที่เขาเก็บขยะ เขาไม่ได้เก็บเพื่อความสะอาดของโรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เขายังรู้ว่าขยะนี้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้ หรือเอาไปแบ่งปันหรือขายต่อเพื่อให้คนอื่นนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่า นั่นคือ เขาได้รู้จักแบ่งแยกและแบ่งปัน ในเวลาเดียวกัน แถมยังช่วยกันขยายผลให้ “ชุมชนปลอดขยะ” ให้เกิดขึ้น อีกทั้งโครงการ Zero Waste ยังถือเป็นโครงการที่สนับสนุนการเป็น “โรงเรียนคุณธรรม (สพฐ.)” ของโรงเรียนวัดลาดเป้ง ในแง่ของการส่งเสริมให้ครูและนักเรียน ซึมซับคุณค่าแห่งคุณธรรมความดีอย่างเป็นธรรมชาติและร่วมกันสร้างเครือข่ายชุมชนองค์กรแห่งคุณธรรมด้วย” ผอ.นัคสวรรย์กล่าวทิ้งท้าย

ความในใจจากทางโรงเรียน

“ขอขอบคุณคณะกรรมการ คณะผู้บริหารคณะทำงาน ของกลุ่มทิสโก้ รวมถึงพนักงานและผู้มีจิตศรัทธาทุกท่าน ที่เห็นคุณค่าของการศึกษา และมีความตั้งใจที่จะพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการมีอาคารเรียนที่ได้มาตรฐาน สวยสะอาด โปร่งสบาย และมีความปลอดภัย เป็นปัจจัยแรกๆ ที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน ครูและเด็กก็สามารถจัดการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข ดิฉันจึงขอเป็นตัวแทนผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และนักเรียน รวมถึงชุมชนวัดลาดเป้ง ขอบคุณทุกๆ ท่านค่ะ” คุณนัคสวรรย์ ศรีจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดลาดเป้ง