ชวนคนไทยร่วมใจบริจาคโลหิต ฝ่าวิกฤตขาดแคลนจาก COVID-19

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 57 | คอลัมน์ Giving

 

 

“โลหิต หรือ เลือด” เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญต่อการรักษาผู้ป่วยเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ ผู้ป่วยโรคเลือด รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคระบาดบางชนิดที่มีความจำเป็นต้องการใช้โลหิต อย่างโรคไข้เลือดออก และโรคอื่นๆ อีกมากมาย แต่การจะได้มาซึ่งโลหิตในการรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย ต้องมาจากการบริจาคเท่านั้น แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ปริมาณโลหิตสำรองลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ จนเกิด “วิกฤตขาดแคลนโลหิต” ขึ้น

file

“คลังโลหิต” แตะระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เล่าว่า ก่อนเกิดการแพร่ระบาด COVID-19 โดยปกติในแต่ละเดือน ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติจะได้จำนวนโลหิตที่รับบริจาคมากกว่า 200,000 ยูนิตต่อเดือน และเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้บริจาคที่เพิ่มขึ้นในทุกปี แต่นับตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 ระลอกแรก ในปี 2563 จำนวนโลหิตที่ได้รับบริจาคก็ลดลงจนเหลือ 160,000 ยูนิตต่อเดือน ก่อนจะกลับมาอยู่ที่ระดับประมาณ 200,000 ยูนิตต่อเดือนในช่วงกลางปี2563 กระทั่งมีการระบาดของ COVID-19 ระลอก 2 และระลอก 3 ก็ทำให้จำนวนโลหิตที่ได้รับบริจาคกลับลดลงไปอย่างมากอีกครั้ง

“ตั้งแต่ต้นปี 2564 จำนวนโลหิตที่ได้รับบริจาคปรับตัวลดลงไปมาก เหลือเฉลี่ยอยู่ที่ 140,000 ยูนิตต่อเดือน โดยบางเดือนลดลงเหลือแค่ 100,000 ยูนิตต่อเดือน และในแต่ละวัน จำนวนโลหิตที่ได้รับบริจาคก็ลดลงไปเกือบ 60% นับว่าเป็นวิกฤตที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลต่างๆ ต้องช่วยกันขอรับบริจาคโลหิตอย่างเร่งด่วน ซึ่งจากการออกแคมเปญระดมพล ก็ช่วยให้มีจิตอาสากลุ่มต่างๆ เข้ามาบริจาคเพิ่มขึ้นบ้าง หรือเพิ่มขึ้นราว 10% จากยอดเฉลี่ยเดิมมาอยู่ที่ 160,000 ยูนิตต่อเดือน ทำให้พอจะผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้” 

file

 

รศ.พญ.ดุจใจ เล่าต่อว่า ในสถานการณ์ปกติ ศูนย์บริการโลหิตฯ จะได้รับโลหิตมาเก็บในคลังจาก 2 ช่องทางใหญ่ๆ ได้แก่ จากศูนย์บริการโลหิตฯ และภาคบริการโลหิตแห่งชาติทั่วประเทศ ในสัดส่วน 48% ของจำนวนโลหิตที่เจาะเก็บได้ทั้งหมด และอีก 52% จากสาขาบริการโลหิตแห่งชาติที่อยู่ตามโรงพยาบาลประจำจังหวัด และโรงพยาบาลใหญ่ที่เป็นสาขาของภาคบริการโลหิตฯ

แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ช่องทางโรงพยาบาลที่เคยเจาะเก็บโลหิตถึงมากกว่าครึ่งของปริมาณทั้งหมด ต้องหันมาช่วยดูแลผู้ป่วย COVID-19 ส่งผลให้โลหิตที่ได้รับลดลงอย่างมาก ขณะที่ช่องทางจากศูนย์บริการโลหิตฯ ก็ได้รับการบริจาคลดลงเช่นกัน เนื่องจากผู้บริจาคมีความกังวลในเรื่องของการติดเชื้อ COVID-19 ส่วนหน่วยรับบริจาคเคลื่อนที่ที่เคยไปตามบริษัท หน่วยงานรัฐ และมหาวิทยาลัย ก็ต้องยกเลิกไป เพราะหลายแห่งทำงานที่บ้าน (Work from Home)

“ถ้าจะไม่ให้เกิด “วิกฤตขาดแคลนโลหิต” ตามหลักแล้ว คลังควรมีโลหิตสำรองอย่างต่ำที่สุดอยู่ที่ 3,000 ถุง (ยูนิต) แต่ทุกวันนี้เหลือสำรองแค่วันละ 1,000 กว่าถุง (ยูนิต) ขณะที่โลหิตที่เจาะเก็บมาได้หลังผ่านกระบวนการ ก็แทบจะต้องแจกจ่ายให้โรงพยาบาลทันที เพราะมีผู้ป่วยหลายคนที่ต้องใช้โลหิตเป็นประจำในการรักษา โลหิตสำรองจึงช่วยต่อชีวิตให้คนเหล่านี้ แต่เมื่อใดที่มีความต้องการโลหิตฉับพลันหรือเร่งด่วนมากกว่าที่มีสำรอง ก็อาจจะต้องมีการขอรับบริจาคโดยด่วนหรือรับบริจาคทันทีจากญาติผู้ป่วย” 

โลหิตสำรอง...ลด แต่ความต้องการ...ไม่ลด

รศ.พญ.ดุจใจ กล่าวว่า ศูนย์บริการโลหิตฯ มีหน้าที่จัดหาและให้บริการโลหิตแก่โรงพยาบาลต่างๆ โดยหลังได้รับโลหิตมาจากผู้บริจาค โลหิตในถุงจะถูกนำไปปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิต ส่วนโลหิตในหลอดจะถูกนำไปตรวจหาเชื้อที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะเชื้อที่ติดต่อทางโลหิต และหากพบว่ามีเชื้อ โลหิตในถุงที่มาจากผู้บริจาคคนเดียวกันก็จะถูกกำจัดทิ้งทันที ขณะที่โลหิตที่ปลอดเชื้อ หลังปั่นแยก จะได้ผลิตภัณฑ์ทางโลหิต 3 ถุง คือ เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และพลาสมา ซึ่งสามารถนำไปช่วยผู้ป่วยได้มากกว่า 3 ชีวิต โดยพลาสมาสามารถนำไปผลิตเป็นยารักษาโรคได้ และพลาสมาจากผู้ที่เคยป่วย COVID-19 ก็สามารถนำไปผลิตเซรุ่มป้องกัน COVID-19 ได้ 

“ทุกวันนี้ เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ทางโลหิตมาก็แทบจะไม่ได้มีการเก็บเข้าคลังโลหิตเลย เพราะมีโรงพยาบาลทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รอเบิกเป็นจำนวนมาก โดยศูนย์บริการโลหิตฯ จึงจำเป็นต้องให้บริการบนหลัก “First Come First Serve” คือโรงพยาบาลใดทำเรื่องเบิกเข้ามาก่อน เราก็จะพิจารณาเบิกให้ก่อน แต่ในกรณีฉุกเฉินเราก็จะใช้ดุลยพินิจของแพทย์ที่รักษาในการช่วยพิจารณา หลังจากทำการจัดส่งโลหิตให้แต่ละโรงพยาบาลแล้ว โลหิตก็จะถูกนำไปเก็บในคลังโลหิตของแต่ละโรงพยาบาล เพื่อรอนำไปใช้งานต่อไป” 

ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตฯ เล่าว่า ทุกวันนี้ จำนวนโลหิตที่เจาะเก็บมาได้ทั้งหมดมีปริมาณเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-5,000 ยูนิตต่อวัน ขณะที่ความต้องการใช้โลหิตทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-8,000 ยูนิตต่อวัน โดยผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ที่ต้องได้รับโลหิตเป็นประจำ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคโลหิต ซึ่งต้องได้รับโลหิตตลอดชีวิต เช่น ผู้ป่วย
ธาลัสซีเมีย ต้องรับโลหิตทุก 3-4 สัปดาห์ หรือ 1-2 ถุงต่อเดือน เป็นต้น ซึ่งจำนวนโลหิตที่ได้รับบริจาคมาทั้งหมด จะมีประมาณ 23-25% ที่ถูกนำไปใช้รักษาผู้ป่วยโรคโลหิตเหล่านี้

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องใช้โลหิตเป็นครั้งคราว เช่น การผ่าตัด การคลอดลูก ฯลฯ ทั้งยังมีกลุ่มที่ต้องการโลหิตฉุกเฉิน เช่น ผู้ประสบอุบัติเหตุ ผู้ป่วยตกเลือด ฯลฯ ซึ่งจากสถานการณ์ขาดแคลนโลหิตหลายช่วงที่ผ่านมาทำให้มีผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดจำนวนไม่น้อย ต้องถูกเลื่อนการรักษาออกไปอย่างไม่มีกำหนด 

file

“จากปริมาณโลหิตสำรองที่เรามีอยู่ หากมีอุบัติเหตุใหญ่หรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการขาดโลหิตได้ แต่ยิ่งกว่านั้น ยังมีผลกระทบที่เรามองไม่เห็นด้วย นั่นก็คือ มีผู้ป่วยที่ต้องถูกเลื่อนการผ่าตัด หรือบางรายอาจมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง หรือบางรายพอเลื่อนการรักษาไปนานๆ เราก็ไม่ทราบได้ว่าจะทำให้เขาเสียชีวิตหรือไม่ หากไม่ได้รับโลหิตได้ทันท่วงที ซึ่งหากวิกฤตคลังโลหิตยังเกิดขึ้นอยู่เช่นนี้ต่อไป ก็จะทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก” 

คุมเข้มคัดกรอง COVID-19 ปลอดภัยมั่นใจทุกฝ่าย

เพราะศูนย์บริการโลหิตฯ ห่วงใย ใส่ใจทั้ง“ผู้ให้” และ “ผู้รับ” ในสถานการณ์การแพร่ระบาดนี้ ศูนย์บริการโลหิตฯ จึงได้เพิ่มมาตรการป้องกันความปลอดภัยขั้นสูงสุดสำหรับผู้บริจาค ด้วยการคัดกรองที่เข้มข้นขึ้น เริ่มจากการให้ผู้บริจาคคัดกรองตนเองก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ COVID-19 ก่อนมาบริจาค โดยทางศูนย์ฯ ได้มีการเผยแพร่คู่มือในการคัดกรองและการเตรียมตัวก่อนเข้ารับบริจาคโลหิตในช่วง COVID-19 ผ่านทางสื่อต่างๆ และจะมีการคัดกรองอีกครั้งโดยเจ้าหน้าที่เมื่อมาถึงที่ศูนย์ฯ แล้ว

ภายในศูนย์บริการโลหิตฯ จะมีเจ้าหน้าที่คอยทำความสะอาดสถานที่และอุปกรณ์ภายในห้องรับบริจาค รวมถึงทุกจุดสัมผัสร่วมด้วยน้ำยาและโอโซนฆ่าเชื้ออยู่เป็นระยะ พร้อมทั้งจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือตามจุดต่างๆ อีกทั้งยังจัดให้มีการเว้นระยะห่างทุกจุดบริการ และจัดตั้งฉากกั้นระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้บริจาคทุกจุดของกระบวนการบริจาค นอกจากนี้ทุกคนที่อยู่ภายในศูนย์ฯ จะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยมาตรการป้องกันการระบาดที่เข้มงวดนี้ยังถูกนำไปใช้กับหน่วยเคลื่อนที่และหน่วยรับบริจาคโลหิตประจำที่ (Fixed Station) ทุกแห่งทั่วประเทศ 

file
file
file

สำหรับบุคลากรของศูนย์บริการโลหิตฯ นอกจากต้องปฏิบัติตามมาตรการของกรมควบคุมโรคติดต่ออย่างเคร่งครัดแล้ว ทางศูนย์ฯยังมีระเบียบปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น บุคลากรทุกคนต้องไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงหรือแหล่งที่มีคนจำนวนมาก บุคลากรในพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัวและปฏิบัติงานที่บ้าน ห้ามเข้ามาที่ศูนย์ฯ โดยเด็ดขาด ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถือว่ามีความผิดทางวินัย โดยทางศูนย์ฯ ยังได้จัดรถรับส่งบุคลากรที่ไม่มีรถส่วนตัว และมีการคัดกรองก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น

“ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับโลหิตไปรักษา สามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่มีเชื้อใดๆ ที่เป็นอันตรายปนเปื้อนไปในโลหิต สำหรับเชื้อ COVID-19 ปัจจุบันทั่วโลกยังไม่มีที่ใดนำเอาโลหิตบริจาคไปตรวจหาเชื้อ COVID-19 เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า เชื้อนี้จะไม่สามารถติดต่อหรือแพร่เชื้อทางโลหิตได้ ดังนั้น การรับโลหิตหรือการถ่ายโลหิตจึงไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อ COVID-19 แต่ก็ยังจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากผู้บริจาค ให้แจ้งข้อมูลที่เป็นจริงทุกครั้ง เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า โลหิตทุกยูนิตปลอดภัย และเราขอให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่า โลหิตทุกถุงจะถูกนำไปช่วยผู้ป่วยอย่างเสมอภาคและคุ้มค่า”

ภาคเอกชนร่วมใจ บริจาคโลหิตช่วยชาติ

“จริงๆ แล้ว เราค่อนข้างโชคดี เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจิตอาสาบริจาคโลหิตเป็นพื้นฐานในระดับที่สูงมาก โดยเรามีผู้บริจาคโลหิตอยู่เป็นประจำสูงถึง 70% ของผู้บริจาคโลหิตทั้งหมด เพียงแต่การระบาดของ COVID-19 ระลอกหลังนี้ ทำให้ผู้บริจาคมีความกังวลในการติดเชื้อมากขึ้น จึงหลีกเลี่ยงการเดินทางออกจากบ้านให้มากที่สุด ซึ่งเป็นอุปสรรคที่เราเข้าใจ ทำให้เราต้องเร่งจัดการและปรับยุทธศาสตร์ใหม่”

รศ.พญ.ดุจใจ กล่าวว่า ศูนย์บริการโลหิตฯ มีสถานที่รับบริจาคโลหิต 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) หน่วยรับบริจาคประจำที่ อาทิ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีหน่วยประจำที่ตามห้างสรรพสินค้า เช่น เดอะมอลล์ สาขาบางแค บางกะปิ งามวงศ์วาน และล่าสุดคือศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งใหม่ และ 2) หน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ โดยศูนย์บริการโลหิตฯ จะจัดรถรับบริจาคโลหิต หรือนำอุปกรณ์และเตียงบริจาค ออกไปจัดตามองค์กรหรือหน่วยงานที่ประสานกันไว้ล่วงหน้า 

“นับตั้งแต่เกิดวิกฤตคลังโลหิต ภาคเอกชนหลายแห่งมีความตื่นตัวและรวมพลังเข้ามาช่วยกันบริจาคเยอะมาก บางส่วนประสานขอนัดหมายเพื่อเข้ามาบริจาคเป็นหมู่คณะที่ศูนย์บริการโลหิตฯ บางส่วนติดต่อให้เราเข้าไปจัดตั้งหน่วยรับบริจาคในสถานที่ของเขา และหลายแห่งเพิ่มความถี่ในการรับบริจาคมากขึ้น จากปีละ 4 ครั้ง เป็นทุก 1-2 เดือน หรือบางแห่งที่ยังไม่เคยจัดเลย ก็ติดต่อเข้ามาขอจัดเป็นครั้งแรก เช่น สามย่านมิตรทาวน์” 

file
file

 โดย “ทิสโก้” เป็นหนึ่งในภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบริจาคโลหิตเพื่อต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์มาโดยตลอด จึงได้มีการจัดตั้งหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2527 และปัจจุบันกิจกรรมรับบริจาคโลหิตได้กลายเป็นกิจกรรมรายไตรมาส ณ สำนักงานใหญ่ อาคารทิสโก้ทาวเวอร์ และอาคารภคินท์ นอกจากนี้ผู้บริหารทิสโก้ยังมีนโยบายให้สาขาต่างๆ สามารถจัดรับบริจาคได้ตามแต่ละสาขา ซึ่งสาขาตามหัวเมืองใหญ่ที่จัดเป็นประจำ ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง นครปฐมสงขลา ขอนแก่น พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ทิสโก้ได้จัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิตมามากกว่า 160 ครั้ง โดยมีจำนวนโลหิตที่ได้รับบริจาครวมมากกว่า 45,800 ยูนิต หรือเป็นปริมาณโลหิตกว่า 17 ล้านซีซี ซึ่งปริมาณโลหิตทั้งหมดนี้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของทั้งผู้บริหารและพนักงานกลุ่มทิสโก้ ลูกค้าของทิสโก้ และประชาชนทั่วไป

รศ.พญ.ดุจใจ กล่าวว่า การบริจาคโลหิตของคนไทยเป็นการบริจาคโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนทั้ง 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลก (WHO) อยากให้เกิดขึ้นกับทั่วโลก ซึ่งการบริจาคด้วยใจและความเป็นจิตอาสาของคนไทยมาจากวัฒนธรรมการให้ที่อยู่ในจิตใจของคนไทย แต่สาเหตุส่วนหนึ่งที่ “คลังโลหิต” ยังขาด มีอีกปัจจัยที่สำคัญมาจากการที่คนไทยยังขาด “สุขภาพที่ดี” 

“มีหลายคนที่ตั้งใจมาบริจาคโลหิต แต่ต้องถูกปฏิเสธ เพราะความเข้มโลหิตไม่เพียงพอ หรือมีโลหิตขุ่น เพราะทานไขมันมา ฉะนั้น นอกจากคนไทยจะมีจิตศรัทธาอันแรงกล้าที่ดีแล้ว เรายังอยากให้คนไทยดูแลสุขภาพ เพื่อให้สามารถบริจาคโลหิตกันได้เป็นประจำ ซึ่งจะได้ช่วยเพิ่มจำนวนโลหิตสำรองให้กับประเทศไทยได้ ส่วนผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว ก็อยากขอให้มาบริจาคกันอย่างสม่ำเสมอเมื่อถึงกำหนด อย่าเพิ่งชะล่าใจ หรือคิดว่าโลหิตมีเพียงพอแล้ว เพราะความต้องการใช้โลหิตนั้นไม่เคยหยุด” ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ทิ้งท้าย