แน่ใจได้อย่างไร ว่าเงินเกษียณของคุณมีเพียงพอ?

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 58 | คอลัมน์ Holistic Financial Advisory

file

ก่อนที่คุณจะตอบว่า “ฉันมีเงินมากพอสำหรับรองรับการเกษียณ” คุณควรอ่านบทความนี้อีกครั้ง เพื่อเช็ก ว่าเงินเกษียณที่มีเตรียมไว้นั้น เพียงพอแล้วจริงๆ

เพราะที่ผ่านมา ปัญหาการเงินหลักของคนไทยคือ มีเงินไม่เพียงพอสำหรับการเกษียณอายุ จากข้อมูลสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า คนไทยกว่า 19% รู้สึกว่ามีเงินไม่เพียงพอต่อการเกษียณ โดยหากดูจากแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ จะเห็นว่ามาจากบุตรมากที่สุดประมาณ 34.7% รองลงมาคือ จากการทำงานของผู้สูงอายุเองประมาณ 31% และจากการได้รับจากเบี้ยยังชีพของทางราชการ ได้แก่ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการอยู่ที่ประมาณ 20% อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีลูกหลาน และเบี้ยยังชีพของทางราชการแล้ว ผู้สูงอายุกว่า 86% จะไม่สามารถเกษียณอายุได้ และต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพต่อไป

ถ้าพูดถึงเรื่องการวางแผนเกษียณ (Retirement Planning) คนส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ด้วยเหตุผลที่ว่า อายุยังน้อย ยังมีเวลาให้กับการวางแผนอีกเยอะ จึงละเลยจนทำให้กว่าจะได้วางแผนเกษียณจริงๆ นั้น ก็อาจจะสายเกินไปแล้ว ต้องบอกเลยว่า การวางแผนเกษียณนั้น นอกจากจะทำให้เรามีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายยามเกษียณแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้ เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเตรียมวางแผนเกษียณไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวลว่า หากเกษียณอายุแล้ว จะมีเงินเพียงพอหรือไม่

ตัวอย่างเช่น หากหลังเกษียณอายุ เราต้องการมีเงินใช้จ่ายต่อเดือน เดือนละ 50,000 บาท หรือ 600,000 บาทต่อปี ตั้งใจจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ถึง 80 ปี กำหนดอัตราผลตอบแทนหลังเกษียณที่ 5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อที่ 3% ต่อปี เราต้องมีเงินเก็บรวม ณ วันเกษียณอายุจำนวนราว 10,057,855 บาท ถ้าหากปัจจุบันเรามีอายุ 40 ปี กำหนดอัตราผลตอบแทนก่อนเกษียณที่ 8% ต่อปี เราจะต้องเก็บเงินออมต่อเดือนราว 18,316 บาท แต่หากปัจจุบัน เรามีอายุเพียง 30 ปี เราจะเก็บเงินต่อเดือนราว 7,399 บาทเท่านั้น ซึ่งสามารถลดจำนวนเงินที่ต้องเก็บเพื่อการเกษียณต่อเดือนเทียบกับคนที่อายุมากกว่าแค่ 10 ปี ได้เกินสองเท่าตัวเลยทีเดียว

ยิ่งคนอายุน้อย ยิ่งมีเวลาในการวางแผนเกษียณมากกว่าคนที่มีอายุใกล้เกษียณแล้ว จึงควรใช้เวลาอันมีค่านี้ ในการสร้างแผนเกษียณให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เริ่มจากการที่คิดว่า ช่วงหลังเกษียณเราต้องใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่ เนื่องจากช่วงเกษียณอายุ เป็นช่วงที่เราสามารถใช้ชีวิต ทำสิ่งที่อยากจะทำได้อย่างเต็มที่ แต่เราต้องแน่ใจว่า เราจะมีเงินเพียงพอที่จะทำสิ่งที่เราต้องการเหล่านั้น 

แบ่งเงินออกเป็น 3 ก้อนเพื่อใช้ยามเกษียณ

 Robert Merton นักเศรษฐศาสตร์ผู้ชนะรางวัลโนเบล ได้แนะนำให้แบ่งเงินสำหรับเกษียณอายุออกเป็น 3 ส่วนคือเงินส่วนแรก (สัดส่วนประมาณ 75%) เป็นรายได้ที่รับประกันขั้นต่ำสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันของเราในช่วงเกษียณอายุ เช่น ค่าอาหาร ค่าที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ เป็นต้น ควรจัดสรรในสินทรัพย์ที่มีการการันตีรายได้ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ เช่น ประกันสังคม ประกันบำนาญ เป็นต้น โดยในปัจจุบันมีแบบประกันบำนาญให้เราได้เลือกมากมาย เช่น แบบเงินรับบำนาญทุกปี ปีละ 15% 24% และ 36% ของจำนวนเงินเอาประกัน 

file

ซึ่งควรเลือกแบบประกันที่มีผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefit) หรือประกันที่คุ้มครองในขณะที่คุณยังมีชีวิตอยู่ในจำนวนที่สูง เนื่องจากเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเงินที่เราเก็บไว้นั้น จะเพียงพอในการใช้จ่ายหลังเกษียณหรือไม่ การเลือกประกันบำนาญที่มี Living Benefit สูง ก็จะช่วยให้ชีวิตยามเกษียณของเรามีความมั่นคง และสร้างความอุ่นใจให้เราได้มากขึ้น

เงินส่วนถัดมา (ประมาณ 15%) คือ รายได้ที่ยืดหยุ่น (Flexible Income) เป็นรายได้สำหรับการใช้ชีวิตใน Lifestyle ที่เราต้องการ อาจเป็นเงินเพื่อการท่องเที่ยว บันเทิง บริจาค เป็นต้น รายได้ส่วนนี้ควรจัดสรรในสินทรัพย์ลงทุนแบบระมัดระวัง (Conservatively Invested Assets) เป็นพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ หุ้นกู้ หรือหากรับความเสี่ยงได้มากขึ้นอาจมีการลงทุนในกองทุนผสม ที่มีสัดส่วนของการลงทุนในหุ้นบ้างเล็กน้อย เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนได้มากขึ้น

และสำหรับเงินส่วนสุดท้าย (ประมาณ 10%) เป็นเงินที่เราสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ อาจมีการจัดสรรเงินลงทุนไปในสินทรัพย์เสี่ยงสูง เช่น หุ้น กองทุนหุ้น ฯลฯ ที่มีแนวโน้มได้รับผลตอบแทนสูง เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างความมั่งคั่งให้กับเรามากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ สัดส่วนของเงินแต่ละส่วนข้างต้นโดยประมาณนั้น มาจากข้อมูลเปอร์เซ็นต์การใช้จ่ายของครัวเรือนทั่วประเทศไทยเฉลี่ยต่อเดือน จำแนกตามประเภทค่าใช้จ่ายในปี 2563 ที่จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และจากการสำรวจพบว่า คนไทยมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 21,329 บาท หรือ 255,948 บาทต่อปี สมมติอัตราผลตอบแทนหลังเกษียณเท่ากับ 5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3% คาดว่าจะมีอายุหลังเกษียณอีก 20 ปี แสดงว่าจะต้องมีเงิน ณ วันเกษียณอายุอย่างน้อยประมาณ 4,290,480 บาท ถ้าเหลือเวลาเก็บเงินก่อนเกษียณอายุอีก 20 ปี อัตราผลตอบแทนก่อนเกษียณเท่ากับ 8% แสดงว่าเราจะต้องออมเงินอย่างน้อยประมาณเดือนละ 7,813 บาท หรือ 93,756 บาทต่อปี ถึงจะเพียงพอสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายหลังเกษียณอายุได้นั่นเอง

อย่าลืมวางแผนค่าใช้จ่ายสุขภาพ

จากการศึกษาของ AgeWave ระบุว่ากว่า 81% ของคนเกษียณที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป มองว่าสุขภาพเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับการเกษียณอายุอย่างมีความสุข จึงอาจกล่าวได้ว่า แผนเกษียณอายุที่ดี ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการเงินของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยอายุที่มากขึ้น คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของการเจ็บป่วยไม่สบาย หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น การลื่นหกล้ม ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในปัจจุบันก็สูงลิ่ว จึงควรมี Protection เช่น ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ เพื่อมาปิดความเสี่ยงค่ารักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายดังกล่าว โดยควรเตรียมเงินไว้สำหรับการจ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุในช่วงอายุเกษียณ เพื่อเพิ่มความสบายใจว่าจะมีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายค่าเบี้ยประกัน และมีความสุขกับการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่

file

จะเห็นได้ว่า การวางแผนเกษียณนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราในระยะยาว ซึ่งแผนเกษียณที่ดีจะช่วยให้มั่นใจได้ว่า เราจะมีรายได้เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเราในยามเกษียณอายุ และเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยเกษียณอายุได้อย่างไร้ความกังวลใจ