ลมหายใจของการคลายกังวล

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 58 | คอลัมน์ Moment of Happiness

file

หลายเดือนที่ผ่านมาหมอใช้เวลาในการสื่อสารเรื่องการดูแลความกังวลมากพอสมควรทั้งเนื้อหาในเพจของหมอเอง (หมอเอิ้นพิยะดา Unlocking Happiness) รวมถึงการให้ความรู้ในองค์กรและสื่อออนไลน์ต่างๆ เนื่องจากช่วงนี้มีปัจจัยภายนอกมากมายที่เป็นตัวกระตุ้นความกังวลทั้งเรื่อง COVID-19 อุทกภัย เศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือแม้กระทั่งปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในที่ทำงานและที่บ้านซึ่งดูเหมือนปัญหาเหล่านี้จะต้องใช้เวลาพอสมควรในการเยียวยาให้ดีขึ้น

เมื่อเราห้ามปัญหาที่จะเข้ามากระตุ้นความกังวลไม่ได้ การมีเทคนิคในการรับมือความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในจิตใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเรามีความคิดกังวลที่เกิดขึ้นมากเกินไป ความคิดจะส่งผลให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากขึ้น เราอาจจะรู้สึกว่า หายใจไม่อิ่ม หัวใจเต้นแรง ใจสั่น เหงื่อแตก ปวดตึงตามกล้ามเนื้อ อาการทางกายที่เกิดขึ้นนี้อาจทำให้รู้สึกไม่ดี หรือบางคนอาจถึงขนาดรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะตาย แต่พอไปพบแพทย์ทางกายแล้วกลับไม่พบสาเหตุ

สุดท้ายได้รับการสรุปว่า เครียดเกินไป วิตกกังวล หรือเป็นโรคแพนิค ซึ่งหากเรามีประสบการณ์เหล่านี้ การมาพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสม แต่หากเราเกิดอาการของความกังวลบ้าง แล้วอยากดูแลตัวเองเบื้องต้นด้วยตัวเอง...เราจะทำอะไรได้บ้าง? วันนี้หมอจึงมีเทคนิค BREATH ที่แปลว่า ลมหายใจ เพื่อเอาไว้รับมือความกังวลมาฝากค่ะ

B = Breathing การหายใจ

เมื่อเราเกิดความกังวล ระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (Para-sympathetic Nervous System) จะทำงานมากขึ้น ส่งผลให้เราหายใจเร็วกว่าปกติ ดังนั้น การรู้ตัวถึงความคิดกังวลแล้วเบี่ยงเบนความสนใจมาใส่ใจกับการหายใจจะช่วยลดความคิดกังวลที่เกิดขึ้นได้ เริ่มจากการหายใจโดยปกติ คือ หายใจเข้าเท่ากับหายใจออก เช่น หายใจเข้านับ 4 หายใจออกนับ 4 แล้วเมื่อหายใจเป็นปกติได้แล้ว ให้เริ่มลองหายใจในแบบที่ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก ( Sym-pathetic Nervous System) ซึ่งเป็นระบบประสาทอัตโนมัติแบบผ่อนคลายได้ทำงานมากขึ้น ด้วยการหายใจเข้าให้สั้น หายใจออกให้ยาวกว่า เช่น หายใจเข้านับ 4 หายใจออกนับ 8

file
file

R = Relaxation การผ่อนคลาย

ความกังวลเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไหร่ความกังวลเริ่มส่งผลทำให้ร่างกายตึงเครียด อารมณ์ขุ่นมัว อาจเป็นสัญญาณว่าเรากังวลมากเกินไป ซึ่งการรับรู้ความตึงของร่างกายแล้วทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การนวดผ่อนคลาย การเกร็งกล้ามเนื้อผ่อนคลาย (Progressive Muscle Relaxation) ฟังเพลงที่ชอบ เป็นต้น ก็จะช่วยลดความตึงเครียดของกายและใจได้เป็นอย่างดี

E = Eyes Closed การหลับตา

ความกังวลที่ท่วมท้นจากการได้รับสิ่งกระตุ้นภายนอก อาจทำให้เราเกิดอาการแพนิคได้ หรืออาจรู้สึกไวต่อการรับประสาทสัมผัส การหลับตาชั่วครู่จะช่วยลดการกระตุ้นจากภายนอกได้ และทำให้เราสามารถที่จะหันกลับมาตั้งหลักกับการใส่ใจกับลมหายใจแทนความคิดได้ง่ายขึ้น

A = Awareness การตระหนักรู้

การกลับมารับรู้ปฏิกิริยาของร่างกายตามความเป็นจริงตั้งแต่หัวจรดเท้า และรับรู้ถึงสัมผัสของเท้าเรากับพื้นแทนความคิดอัตโนมัติมากมายที่ผุดขึ้นมาให้เรากังวล จะทำให้สมองที่ถูกกระตุ้นอยู่สงบได้ง่ายขึ้น

file
file

T = Thought Distortion การเห็นความคิดที่บิดเบือน

การเห็นความคิดที่บิดเบือน เช่น เมื่อเกิดอาการแพนิคแล้วมีความคิดว่า “ฉันต้องตายแน่” มีอาการใจสั่น แล้วคิดว่า “หัวใจต้องวายแน่ๆ” ลองสังเกตความคิดที่ทำให้เรารู้สึกไม่มีทางออก แล้วเปลี่ยนชุดความคิดใหม่ที่เป็นอีกทาง เช่น “ไม่เป็นไร อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้เราตาย” 

H = Healthy Lifestyle การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี

การใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดี ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเป็นปกติ เช่น ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งเมื่อเวลาเกิดความเครียด การมีสุขภาพและการนอนที่ดีเป็นพื้นฐาน ก็จะทำให้เรากลับมาสู่สภาวะปกติได้ง่ายขึ้นเมื่อไรที่เรามีความกังวลใจ อย่าลืมว่าเรายังมีลมหายใจ (BREATH) ที่อยู่กับเราและพร้อมที่จะช่วยเหลือเราเสมอ

พญ.พิยะดา หาชัยภูมิ หรือ หมอเอิ้น

จิตแพทย์ นักแต่งเพลงรัก ผู้บริหารโรงแรมเลยพาวิลเลี่ยน และที่ปรึกษาผู้บริหารด้านการสื่อสารและ Influencer Leadership

file