เชอรี่ เข็มอัปสร พลิกชีวิตสู่เส้นทางสีเขียว ในวันที่โลกต้องการความรักษ์

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 59 | คอลัมน์ All Around Me

file

ในฐานะนักแสดงมากฝีมือ ไม่ว่าคุณเชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ จะได้รับบทบาทไหน เธอก็ทำอย่างเต็มที่มาตลอด 20 กว่าปีในวงการบันเทิง จวบจนเมื่อตัดสินใจผันตัวมาทำงานเพื่อสังคม เธอก็ทุ่มเทอย่างเต็มที่ไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็น โปรเจกต์ Little Forest กิจกรรมปลูกป่า Little Big Green แพลตฟอร์มให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม หรือล่าสุดกับแบรนด์สิริไท (Sirithai) ผลิตภัณฑ์เพื่อสังคมที่มุ่งหวังจะช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณเชอรี่หันมาสนใจด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเกิดขึ้นราวปี 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนักและมีการบุกรุกถางป่า ประกอบกับช่วงนั้นเธอมีโอกาสได้เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยครั้ง ทำให้ได้พบเห็นแม่น้ำหลายสายที่กลายเป็นดินแห้งผาก เธอจึงคิดว่าความผิดปกตินี้เป็นปัญหาที่ควรจะต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

“เป็นจังหวะพอดีที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงได้ติดต่อเข้ามา เพื่อหาอาสาสมัคร Influencer โครงการ “คนยืนได้ ไม้ยืนต้น” ไปร่วมลงพื้นที่แก้ปัญหาภูเขาหัวโล้นที่ จ.น่าน เชอรี่เลยตอบตกลงและขอลงพื้นที่ไปกับเขาด้วย แวบแรกที่เราได้เห็น ความคิดผุดขึ้นมาในหัวเลยว่า ปัญหามันใหญ่เกินกว่าที่เราจะแก้ไขได้หรือเปล่า เพราะพื้นที่ป่าลดลงไปมาก ทั้งๆ ที่วันนั้นที่เราลงพื้นที่เป็นช่วงหน้าฝน แต่กลับเห็นได้ชัดถึงความแห้งแล้งและการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นวงกว้าง แต่หลังจากที่เราได้ไปเห็นพื้นที่อื่นๆ ที่เคยเป็นภูเขาหัวโล้นเหมือนกัน แต่ปัจจุบันถูกฟื้นคืนสภาพกลายเป็นผืนป่าสีเขียวขึ้นมาได้ ก็ทำให้เราเริ่มเห็นความหวังและคิดว่าปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ ถ้าพวกเราและคนในพื้นที่ร่วมมือกัน เชอรี่เลยเริ่มศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมร่วมกับเหล่าอาสาสมัครและเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ทำโครงการด้วยกัน” คุณเชอรี่เล่าเธอยอมรับว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมสำหรับเธอในเวลานั้นยังถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัว แต่การได้ร่วมลงพื้นที่ไปเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในตอนนั้น ทำให้เธอคิดว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างแล้ว 

file
file

โครงการแรกที่คุณเชอรี่ได้ร่วมก่อตั้ง ก็คือ โครงการ Little Forest ปลูกป่า ปลูกคน ปลูกใจ ซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมปลูกป่าเพื่อคืนพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ที่สวนป่าวังชิ้น จ.แพร่ โดยเป็นการปลูกป่าในลักษณะของการปลูกเสริม เพื่อเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศและทำให้ป่ามีความแข็งแรงได้เร็วขึ้น แต่ในช่วงแรกที่ต้นไม้ยังไม่แข็งแรงพอ การทำให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและเห็นความสำคัญของป่าจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

“ในช่วงที่ต้นไม้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เราจึงพยายามหาแนวทางร่วมกัน ซึ่งโจทย์ตอนนั้น ก็คือ จะทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย เพราะเรามองว่าคนในชุมชนคือหัวใจสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด” และด้วยอาชีพหลักของชาวบ้านวังชิ้นคือการทำสวนส้ม แต่ปัญหาขณะนั้นคือ สวนส้มไม่ให้ผลผลิตเท่าที่ควร จึงเกิดกิจกรรมปลูกคนเพื่อให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการพัฒนาไร่ส้ม ซึ่งจากการวิเคราะห์ร่วมกัน พบว่า ปัญหาหลักของส้มที่ออกดอกแต่ไม่ออกผล ก็มาจากเรื่องน้ำ คุณเชอรี่จึงได้ร่วมกับผู้นำชุมชน ระดมทุนในการสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 3 ฝาย เพื่อให้มีน้ำใช้กันอย่างทั่วถึงและเพียงพอสำหรับช่วงหน้าแล้ง พร้อมรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้ชาวบ้านตระหนักถึงปัญหา น้ำท่วม ภัยแล้ง ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างจริงจังด้วย

file
file

“นอกจากการลงมือลงแรงเข้าไปช่วยตามพื้นที่ต่างๆ แล้ว สิ่งที่เชอรี่คิดว่าพอจะช่วยได้เพิ่มเติม ก็คือเรื่องของการสื่อสาร เพราะเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว อย่างตอนเราลงพื้นที่ไปปลูกป่าและสร้างฝาย เราสามารถสื่อสารกับคนในชุมชนได้ราว 300 หลังคาเรือน  แต่ถ้าเรายิ่งเพิ่มช่องทางการเข้าถึง ก็น่าจะยิ่งทำให้เราสื่อสารไปสู่สังคมได้กว้างมากขึ้น”นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งอีกหนึ่งโครงการที่ชื่อว่า Little Big Green ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกับคนเมืองและคนรุ่นใหม่ พร้อมสร้างคอมมูนิตี้เกี่ยวกับไลฟ์สไตล์กรีนๆ ภายใต้คอนเซปต์ As Green As You Can

“เชอรี่เชื่อว่า ทุกคนมีเฉดสีเขียวอยู่ในตัวเอง และการเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว ที่สามารถทำได้ง่ายๆ นี่แหละ จะยิ่งช่วยเพิ่มเฉดสีเขียวให้กับตัวเอง พร้อมช่วยให้โลกดีขึ้นไปด้วยกัน เราจึงได้เพิ่มการสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และ Youtube” 

file

โดยสิ่งที่สื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม Little Big Green นั้น เป็นข้อมูลด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เข้าใจง่ายและเป็นเรื่องใกล้ตัว พร้อมแนวทางในการแก้ไขปัญหา อาทิ รู้หรือไม่กว่าจะเป็นพลาสติก 1 ขวด ใช้น้ำในการผลิตมากกว่าที่ได้ดื่มจริงถึง 3 เท่า และ #Wear วนไป ซื้อน้อยใช้ซ้ำทำเอง เป็นต้น ซึ่งหลังจากที่ดำเนินการไปได้สักระยะ คุณเชอรี่และเพื่อนๆที่มีอุดมการณ์เดียวกันต่างก็คิดตรงกันว่า หากจะทำโครงการเหล่านี้ให้ยั่งยืนและเผยแพร่ออกไปในวงที่กว้างขึ้น น่าจะต้องทำในรูปแบบของบริษัท ด้วยเหตุนี้ บริษัท ต้องการธรรม จำกัด จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านความยั่งยืนให้แก่องค์กรต่างๆ ที่มีความสนใจและต้องการทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งคุณเชอรี่เป็นผู้ก่อตั้ง ร่วมกับคุณลูกกอล์ฟ-คณาธิป สุนทรรักษ์ และ คุณกอล์ฟ-รัฐวุฒิ ชัยวงศ์ขจร

“พวกเราเชื่อว่า ทุกคน ทุกภาคส่วน สามารถมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบและดูแลสิ่งแวดล้อมได้ เพียงแต่ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมการลงมือทำอย่างถูกวิธี ไม่อย่างนั้นแล้วแทนที่จะเกิดผลดี ก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้” คุณเชอรี่เล่าเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา Little Big Green ได้ร่วมงานกับองค์กรมากมาย หนึ่งในนั้นคือ โครงการ แยก Bin กัน แค่แยกขยะชีวิตก็ดีขึ้น ที่ทำร่วมกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ Asset Wise เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับลูกบ้านในการคัดแยกขยะที่ง่ายและถูกวิธี ซึ่งเรื่องราวและ Video ที่ทำขึ้นก็ถูกเผยแพร่ผ่านทางช่องทางต่างๆ ของ Little Big Green ด้วย

นอกเหนือจากงานด้านสิ่งแวดล้อม คุณเชอรี่ยังมีอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ทำควบคู่กันไป นั่นคือการทำ แบรนด์สิริไท ธุรกิจเพื่อสังคมที่ต้องการช่วยเหลือเหล่าเกษตรกรไทยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งยังช่วยเสริมการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่ง “แบรนด์สิริไท” ตั้งต้นมาจากความตั้งใจที่อยากจะสนับสนุนเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบอินทรีย์ หรือทำการเกษตรแบบรับผิดชอบต่อสังคม เพราะส่วนหนึ่งของปัญหาการปนเปื้อนของสารเคมีที่เกิดขึ้นในน้ำและในดิน ก็มาจากการละเลยในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม”

หลังจากใช้เวลาในการคัดเลือกอยู่นาน ผลิตภัณฑ์แรกที่เธอเริ่มต้นก็คือ ข้าวอินทรีย์ ผลผลิตจากชุมชนบ้านโคกสะอาด จ.สกลนคร ที่นอกจากการได้เข้าไปช่วยรับซื้อข้าวแล้วนำมาจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์สิริไทแล้ว ยังช่วยออกแบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ด้วย 

file

จุดเด่นของข้าวสิริไท คือ การเพาะปลูกในระบบอินทรีย์แบบ 100% และผลตอบรับก็ถือว่าดีมาก เพราะหลังจากลงมือทำไปแล้ว 1 ปีกว่า ก็สามารถช่วยเพิ่มยอดขายและสร้างรายได้ให้ชาวบ้านบ้านโคกสะอาดได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 และอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ต่อยอดจากข้าว ก็คือ Sirithai Artisan Liquid Soap สบู่ที่ทำจากน้ำมันรำข้าวพรีเมียมออร์แกนิคที่สกัดเข้มข้นภายใน 24 ชม. จากแหล่งผลิตข้าวใน อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ที่ไม่เพียงมั่นใจได้ว่าจะช่วยทำความสะอาดได้อย่างหมดจดและถนอมผิวแล้วยังไม่ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างที่ผิวอีกด้วย

file
file
file

เมื่อถูกทีมงานถามว่า ตลอดระยะเวลา 5 - 6 ปี บนเส้นทางการอุทิศตนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ชีวิตของผู้หญิงที่ชื่อเข็มอัปสรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เธอตอบอย่างทันทีว่า “เปลี่ยนไปมาก เมื่อเทียบกับเมื่อก่อน เปลี่ยนไปจนตัวเองก็งงว่าทำไมถึงเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้” และเธอยังเล่าต่อว่า ตอนนี้การใช้ชีวิตประจำวันการเลือกซื้อเสื้อผ้า การเลือกใช้สิ่งของต่างๆ การทิ้งขยะ ตลอดจนการใช้พลังงานและทรัพยากรต่างๆ ของเธอนั้น ทุกอย่างจะอยู่บนพื้นฐานของความพอดี คือ การใช้อย่างระมัดระวัง รู้จักใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่

”เรียกได้ว่าตอนนี้เชอรี่ใช้ทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกของเราอย่างเข้าใจมากขึ้น แล้วยิ่งเราได้มาทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และมีโอกาสได้เป็น Speaker ทุกครั้งที่ขึ้นพูดเชอรี่จะต้องหาและเตรียมข้อมูล ก็ยิ่งทำให้เราอิน และยิ่งได้ไปฟังมุมมองจาก Speaker ท่านอื่นด้วย ก็ยิ่งทำให้เราเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและมากขึ้นในทุกๆ วัน เชอรี่เข้าใจว่าการจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเหล่านี้ได้นั้นต้องอาศัยระยะเวลา เพราะทุกคนมีระดับความเข้มของเฉดสีเขียวที่แตกต่างกัน อย่างเชอรี่เองกว่าจะเข้มขึ้นอย่างทุกวันนี้ ก็เริ่มมาจากการค่อยๆ เปลี่ยนเท่าที่จะทำได้เช่นกัน”

สำหรับโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่เธอทำนั้นยังคงขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าจะสามารถขยับขยายต่อยอดออกไปในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทั้ง Little Big Green ที่คุณเชอรี่วางแผนไว้ว่าจะหาองค์กรและพันธมิตรที่เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพื่อเข้ามาช่วยเป็นอีกกระบอกเสียงในการกระจายข่าวสารและร่วมกันสร้าง Big Impact ให้เกิดขึ้นกับสังคมและโลกของเรา ส่วนแบรนด์สิริไทนั้น เธอตั้งใจที่จะเพิ่มมูลค่าเพื่อขยายความช่วยเหลือแก่เกษตรกรไทยมากขึ้น ควบคู่ไปกับการช่วยจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

file

 

ปัจจุบันคุณเชอรี่ได้รับเชิญให้เป็น Speaker บรรยายในหัวข้อด้านสิ่งแวดล้อมให้กับองค์กรต่างๆ มากมาย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เธอมักแนะนำให้กับผู้เข้าร่วมฟังบรรยายเสมอก็คือ “การลงมือทำ” เพราะหากมัวแต่คิดก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนที่จะลงมือทำ ต้องมีความรู้เพียงพอเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยเพิ่มระดับให้สิ่งที่ทำนั้นเกิดความยั่งยืน

“หากต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือปรับพฤติกรรมตัวเองให้หันไปใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราต้องเริ่มจากการหาข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ เพราะข้อมูลจะทำให้รู้ว่าเราจะสามารถทำอะไรในด้านไหนได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันก็มีเพจให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมอยู่หลายเพจ ทั้งเพจของ Little Big Green เอง และเพจอื่นๆ อาทิ Greenery และ Environman เป็นต้น จากนั้นให้เริ่มลงมือทำทันที แล้วค่อยๆ เพิ่มระดับเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวยกตัวอย่าง การลดขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เราอาจจะเริ่มจากการลดการใช้ขวดพลาสติกลง ด้วยการใช้ซ้ำหรือการซื้อขวดน้ำรักษ์โลกที่ใช้ได้ในระยะยาว นี่เป็นจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่ใครๆ ก็ทำได้ เพื่อช่วยโลกของเรา” คุณเชอรี่ทิ้งท้ายด้วยความหวัง