“เอกภัทร พรประภา” ภารกิจสานต่อ “อาณาจักรยานยนต์”

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 59 | คอลัมน์ New Generation

file

 

 

ในช่วง 1 ปีเศษที่ผ่านมา สปอตไลท์แวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน สาดส่องไปที่การเข้ามารับไม้ต่อธุรกิจอย่างเต็มตัวในอาณาจักรผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ ของ “เอกภัทร พรประภา”หรือ “คุณคิม” ทายาทธุรกิจ รุ่นที่ 4 ของ “ดร.อรรณพ พรประภา” ผู้บุกเบิกและร่วมก่อตั้งบริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด หนึ่งในตำนานแวดวงธุรกิจยานยนต์ของประเทศไทย

หลายคนอาจมองว่าการเป็นทายาทนักธุรกิจนับว่าเป็นความโชคดี แต่แท้จริงแล้วอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันมากกว่าที่คิด กับความท้าทายมากมายจากเงาของครอบครัวไปจนถึงตำนานแห่งความสำเร็จของคนรุ่นก่อน ซึ่งการเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย TRUST ฉบับนี้ จึงจะพาทุกท่านไปพูดคุยเจาะลึกถึงชีวิต วิธีคิด ตัวตนของผู้บริหารหนุ่มไฟแรง กับภารกิจใหญ่ในการนำอาณาจักรยานยนต์ของครอบครัว ให้สามารถเติบโตอย่างยิ่งใหญ่และยั่งยืนต่อไปได้

“การเข้ามารับไม้ต่อในกลุ่มธุรกิจของคุณพ่อ ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก” คุณเอกภัทร เกริ่นนำและเล่าว่า ก่อนที่เขาจะเข้ามาดูแลกิจการแทนคุณพ่ออย่างเต็มตัว เดิมเคยมีความคิดว่า “ไม่น่าจะมีอะไรยาก” เพราะบริษัทมีระบบการบริหารจัดการและการดำเนินงานที่ดีอยู่แล้ว แต่หลังจากที่เขาได้เข้ามาสานต่อ กลับพบว่าหนึ่งในจุดแข็งสำคัญของบริษัทก็คือตัวคุณพ่อเอง เพราะ “ท่านเพียงคนเดียว เสมือนมีผู้บริหาร 20 คนรวมกัน” ณ ตอนนั้นคุณเอกภัทรจึงตั้งปณิธานกับตัวเองว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้ เขาจะต้องเป็นผู้นำที่เดินตามรอยคุณพ่อให้ได้ดีที่สุด แม้จะยังไม่สามารถทำแบบท่านได้อย่างสมบูรณ์แบบทั้งหมด แต่อย่างน้อยจะต้องทำให้ท่านสบายใจว่าสามารถดูแลงานแทนท่านได้ 100%

จาก Passion สู่ภารกิจรับไม้ต่อ 

ด้วย Passion ที่มีต่อรถยนต์เป็นทุนเดิม ของคุณเอกภัทร ซึ่งได้สะสมประสบการณ์ และทักษะ โดยเริ่ม “โมดิฟายด์รถ” มาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ ประกอบกับเป็นคนที่มุ่งมั่น ทำจริง จึงเป็นปฐมบทใหม่ของบางกอกเมทอลเวอร์ค ที่เปี่ยมไปด้วย Passion ที่ต้องจับตามอง

“หลังจากเรียนจบจาก London Metropolitan University คณะบริหารธุรกิจด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง ผมก็ยังไม่ได้กลับมาทำงานทันที เพราะอยากใช้ชีวิตหาประสบการณ์ในแบบที่ตัวเองต้องการก่อน ซึ่งผมเป็นคนที่สนใจเรื่องรถมาก ผมเติบโตคลุกคลีมากับแวดวงยานยนต์ และใช้ชีวิตอยู่ในกิจการยานยนต์และอู่รถมาตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ผมมี Passion เกี่ยวกับเรื่องรถเป็นพิเศษ พอถึงเวลาที่จะต้องกลับมาช่วยงานคุณพ่อ ผมจึงใช้ Passion นี้มาเป็นแรงผลักดัน”

ด้วยความที่เป็นคนที่ “ทำสุดในทุกอย่าง” คือไม่ว่าจะทำอะไรต้องอยู่บนพื้นฐานของการรู้ลึก รู้จริง และเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ และหากไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นเพียงพอ เขาจะเลือกที่จะไม่ทำดีกว่า“การเข้ามารับไม้ต่อในครั้งนี้ ผมมั่นใจว่า ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาและการไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ จะทำให้การสืบทอดกิจการครอบครัวของผมเป็นไปอย่างไร้รอยต่อและนำพาธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

แม้การเข้ามาทำงานของคุณเอกภัทร จะเป็นการเริ่มต้นในฐานะลูกชายเจ้าของบริษัท แต่เขาก็ใช้ชีวิตเหมือนกับพนักงานใหม่ทั่วไป ที่ต้องลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้งานเช่นกัน “ตอนแรกที่เข้ามาทำงาน ผมมาพร้อมกับ Passion และความรู้เรื่องรถที่ผมชื่นชอบ แต่ยังขาดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในบริษัท ผมจึงต้องลงพื้นที่ไปเรียนรู้งาน เพื่อให้เข้าใจในทุกๆ กระบวนการ ในช่วงแรกยอมรับเลยว่าหนักและเหนื่อยมาก เพราะต้องไปดูงานที่โรงงานใน จ.ลำพูน เดินสายดูโรงงานของคู่ค้าตามจังหวัดต่างๆ ควบคู่กับการเรียนรู้งานในสำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ แต่พอเริ่มปรับตัวได้ ทุกอย่างก็กลายเป็นความสนุก ที่สำคัญการที่เราได้เข้าไปลงพื้นที่และลงมือทำจริง ก็ทำให้เรารู้ลึก เข้าใจ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ปัญหาสำคัญอีกอย่างที่เชื่อว่าทายาทนักธุรกิจต้องเจอ คือ ปัญหาการยอมรับจากคนรุ่นเก่า “กว่าที่ผมจะได้รับการยอมรับจากคุณพ่อ ก็ต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ผลงานนานพอสมควร ซึ่งนอกจากความมุ่งมั่น ทุ่มเทที่คุณพ่อได้มองเห็นแล้ว ผมว่าสิ่งที่ผมมีและช่วยในการเอาชนะใจคุณพ่อได้ ก็คือ ศาสตร์ในด้านการบริหาร ที่ไม่ใช่แค่บริหารงาน แต่ต้องบริหารคน บริหารเวลา และบริหารงบประมาณบริษัทฯ ให้ดี ตลอดจนการเสาะหาพันธมิตรใหม่ๆ ด้วย ซึ่งผมก็ได้พิสูจน์ให้ท่านเห็น จนมั่นใจและยอมรับในความสามารถของผมแล้ว”

ตลอดระยะเวลากว่าหนึ่งปีที่เขาได้เข้ามารับหน้าที่สานต่อธุรกิจจากคุณพ่อ สิ่งที่คุณเอกภัทรยึดมั่นมาโดยตลอดก็คือ การสืบทอดรากฐานของ “ธุรกิจพรประภา” ที่วางไว้มาเป็นอย่างดีกว่า 40 ปี จนเป็นที่ยอมรับในแวดวงธุรกิจยานยนต์อันดับต้นๆ ของประเทศไทย พร้อมพัฒนาต่อยอด อาณาจักรยานยนต์ที่เขาดูแลอยู่ให้ยิ่ง
ก้าวไกลในต่างแดน

ไม่หยุดมองหาโอกาสลงทุน

ท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์ COVID-19 แน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คุณเอกภัทรคิดเสมอว่าในวิกฤตย่อมมีโอกาสจึงเดินหน้าลงทุนธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่อยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจความเป็นไปของสถานการณ์อย่างรอบคอบและระมัดระวัง

“ประมาณปลายไตรมาส 2-3 ในปี 2565 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มกลับเข้ามาสู่ภาวะที่ควบคุมได้แล้ว น่าจะเริ่มได้เห็นการขยายธุรกิจไปยังประเทศแถบยุโรปและประเทศญี่ปุ่น ผมมองว่า ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์น่าจะยังเป็นธุรกิจที่สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า”

เขาเล่าต่อว่า สิ่งที่ต้องจับตาในอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็คือ การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า ที่ปัจจุบันได้รับการตอบรับที่ดีจากคนไทย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยในระดับอุตสาหกรรมถือเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ขณะที่ประเทศไทยนั้นยังเป็นเรื่องที่กำลังหารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันให้อุตสาหกรรมไทยหันมาผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและยังอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของโลก ซึ่งอาณาจักรยานยนต์ของเขาก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวาระสำคัญนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำในตลาดนวัตกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของโลกและหนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปข้างหน้า

file

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณเอกภัทรย้ำก็คือ การที่จะต้องมองหาการลงทุนและธุรกิจใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งในเร็วๆ นี้ อาจจะได้เห็นอาณาจักรยานยนต์กับการจุดกระแสการลงทุนใหม่ ที่เรียกว่าเป็น Talk of the Town จากการคุมบังเหียนบริหารงานในรูปแบบใหม่ๆของเขาเองด้วย “นอกจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมสำหรับยานยนต์ ที่ผมเข้ามาช่วยดูแลอย่างเต็มตัวแล้ว ผมยังได้เริ่มสร้างธุรกิจใหม่ของตัวเองด้วย ทั้งธุรกิจทางด้านสุขภาพและเทคโนโลยี และที่ผมสนใจที่จะเข้าไปต่อยอดเพิ่มเติม ก็คือ สินทรัพย์ดิจิทัล NFT รวมถึง Blockchain เพราะเป็นสิ่งที่น่าจะมาแรงในโลกแห่งอนาคต เบื้องต้นได้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในวงการนี้ไปบ้างแล้ว หากสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น ในช่วงปลายไตรมาส 3 อาจจะได้เห็นการลงทุน
ครั้งใหญ่ของผมก็เป็นได้”

ถอดสูตรบริหารงาน-ชีวิต

ความน่าสนใจของผู้บริหารหนุ่มไฟแรงคนนี้ นอกจากจะเป็นคนเปิดกว้างทางความคิดและต่อยอดความรู้แล้ว เขายังพร้อมรับฟัง และเข้าใจผู้อื่นอยู่เสมอ เห็นได้จากหลักคิด “3 รู้” ของเขาที่หล่อหลอมจนกลายเป็นคุณเอกภัทรที่ “รู้ลึก รู้จริง” และได้รับการยอมรับจากทุกคนในองค์กรอย่างรวดเร็ว

“สิ่งที่ผมยึดถือเป็นอย่างแรก คือ 1. รู้ให้ลึกคือ การเข้าใจอย่างลึกซึ้งและรอบด้านในสิ่งที่ทำ หากมีสิ่งใดที่ยังไม่รู้และไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้จะต้องไปศึกษาเพิ่มเติมก่อน ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะนอกจากจะเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจพัฒนาได้เร็วกว่าคู่แข่งแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการรับมือและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดด้วย” แต่หากจะให้ครบเครื่อง เขาย้ำว่า ควรต้อง “รู้รอบ” คือ รู้ทันสถานการณ์รอบโลก ยิ่งในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วจากแรงเหวี่ยงของเทคโนโลยี ในฐานะผู้บริหารหลักขององค์กรก็ยิ่งต้องตามโลกให้ทัน เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับใช้และเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ

ต่อมาคือ 2. รู้จักการวางแผน ทั้งแผนในด้านธุรกิจและแผนการใช้ชีวิต ต้องมองไปข้างหน้าว่าเป้าหมายที่ต้องการนั้นคืออะไร และมีเส้นทางหรือวิธีการใดบ้างที่ทำให้ไปถึงสิ่งนั้น ซึ่งถ้าคิดคนเดียวอาจจะไม่ครอบคลุมและอาจมีช่องโหว่ได้ ดังนั้น ในเรื่องนี้คุณเอกภัทรมักจะปรึกษาคุณพ่อ ผู้ซึ่งมีคมความคิดที่เฉียบขาดและมากประสบการณ์ขณะเดียวกัน เพื่อให้แผนที่วางไว้นั้นนำกระแสโลก ก็จำเป็นต้องปรึกษาและสอบถามมุมมองของคนรุ่นใหม่ จากนั้นจึงนำมาตัดสินใจและวางแผนที่ “นอกกรอบ” แต่ “รัดกุม”

และ 3. รู้ใจคน คือ รู้จักหลักที่จะใช้บริหารคน โดยยึดหลัก “ใช้ใจ” เข้าแลก เพราะคนไม่ใช่หุ่นยนต์ การบริหารจึงต้องใช้ศิลปะ และช่างสังเกต ต้องรู้ลึกว่าพนักงานชอบอะไร ต้องการอะไร “สิ่งที่คุณพ่อมักจะพูดกับผมอยู่เสมอก็คือ ถ้าเราดูแลคนของเราให้อยู่อย่างสบาย เราเองก็จะสบายไปด้วย ดังนั้น กองทัพที่ดีจึงต้องมีทหารที่แข็งแกร่ง เราจะเป็นแม่ทัพที่เก่งและสู้เพียงคนเดียวก็คงไม่ชนะ ดังนั้น ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทจึงยังคงดูแลพนักงานทั้ง 3 หมื่นชีวิตอย่างดี ไม่เอาคนออก ไม่ลดเงินเดือน และไม่ลดสวัสดิการเลย” และอีกหนึ่งที่เขามองว่าสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือ การรู้ใจคนในครอบครัวที่เป็นทั้งกำลังใจและแรงขับเคลื่อนให้กับเขา ดังนั้น แม้ว่างานจะหนักขนาดไหน เขาจะจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวเสมอ

file

ต่อยอดความชอบสู่โอกาสในอนาคต

ถ้าพูดถึงระดับความชอบในเรื่องของรถ เรียกได้ว่า เป็นระดับ DNA ที่ฝังอยู่ในตัวของคุณเอกภัทรเลยก็ว่าได้ ปัจจุบันเขาเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ของคนเล่นรถหรู เพราะเขาคือนักสะสมรถตัวยงที่มีรถหายากและสมรรถนะสูงอยู่ในครอบครองหลากหลายแบรนด์ อาทิ Lamborghini Gallardo LP 570-4 Squadra Corse ที่มีเพียง 50 คันในโลก Lamborghini Sián Roadster ที่มีเพียง 19 คันในโลก Rolls-Royce Phantom Tempus Collection ที่มีเพียง 20 คันในโลก Koenigsegg รุ่นพิเศษคันแรกของโลก และล่าสุดกับซูเปอร์คาร์ที่มีราคาสูงที่สุดในโลกอย่าง Lamborghini Aventador SVJ 63 Roadster ซึ่งผลิตเพียง 63 คันเท่านั้น

“ผมชอบการสะสมรถอย่างพวกซูเปอร์คาร์ไฮเปอร์คาร์ และเมกะคาร์ (Mega Car) มาก” คุณเอกภัทรเล่าต่อว่า “ผมชอบเรื่องราวของ Lamborghini เป็นพิเศษ เพราะในทุกๆ ครั้งที่ Lamborghini เปิดตัวรถรุ่นใหม่ มักจะเป็นรถที่มีรูปโฉม โครงสร้าง การออกแบบ และสมรรถนะที่ดีกว่ารุ่นก่อน ซึ่งค่อนข้างตรงกับการใช้ชีวิตของผมที่ต้องพัฒนาตัวเองในทุกๆ วัน และเช่นเดียวกับอาณาจักรยานยนต์ของเขาที่ไม่เคยหยุดพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สินค้าตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างดีที่สุด“การไม่หยุดพัฒนา พร้อมกับการเป็นมืออาชีพที่รู้ลึก รู้รอบ และเข้าใจทุกองค์ประกอบของธุรกิจนี่เอง ทำให้ผมมั่นใจว่าจะเป็นเส้นทางที่พาให้ธุรกิจของครอบครัวเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่แพ้เส้นทางที่คุณพ่อสร้างไว้อย่างแน่นอน” คุณเอกภัทรทิ้งท้าย  

ความประทับใจต่อทิสโก้

“ผมรู้จักและผูกพันกับทิสโก้มาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อใช้บริการกับทิสโก้มานาน ซึ่งสำหรับผมแล้ว ผมมองว่าการลงทุนของทิสโก้มีความเซ็กซี่ คือ นำเทรนด์ แปลกใหม่ และทันสมัยอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีการดูแลลูกค้าที่ไม่ไช่แค่เป็นเพียงการดูแลแบบพี่เลี้ยง แต่เป็นการดูแลแบบเพื่อน แบบครอบครัว ที่ทำให้เรารู้สึกไว้วางใจและสบายใจในการขอคำแนะนำด้านการลงทุน”