TISCO Eco Society ปลูกภารกิจรักษ์โลก ส่งต่อความยั่งยืนจากภายในขยายสู่สังคม
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 60 | คอลัมน์ Giving
ความยั่งยืนเป็นกระแสที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทุกองค์กรต่างตื่นตัว หันมากำหนดแนวทางในการสร้างความยั่งยืนของตัวเองอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งความสำคัญของเรื่องนี้ไม่ไช่แค่เพียงว่าองค์กรจะกำหนดเป็นนโยบายเท่านั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การนำไปปฏิบัติ และคนในองค์กรพร้อมที่จะก้าวเดินไปด้วยกันหรือไม่ รวมถึงสังคมโดยรอบตอบรับหรือเห็นชอบในเรื่องนี้อย่างไร ดังนั้น แผนงาน (Roadmap) การสร้างความยั่งยืนที่วางไว้ นอกจากจะต้องล้อไปกับการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังต้องสร้างความสมดุลของผลประโยชน์ เพื่อคืนกำไรสู่ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อมไปด้วยเช่นกัน
TRUST ฉบับนี้ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด ผู้เป็นทัพหน้าในการดูแลภารกิจด้านการพัฒนาความยั่งยืนของกลุ่มทิสโก้ พร้อมด้วยทีมงาน ในมุมของความยั่งยืนที่เจาะลึกประเด็นด้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน” ซึ่งเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 3 ของกลยุทธ์การขับเคลื่อนความยั่งยืนในองค์กรให้ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social and Governance) ที่องค์กรธุรกิจต้องกำหนดแนวปฏิบัติทั้งทางด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม การรับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดีควบคู่กับการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
“สิ่งแวดล้อม” อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของความ “ยั่งยืน”
คุณไพรัช ได้เล่าถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนในอดีตที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญต่อผู้ถือหุ้นและการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบการดำเนินธุรกิจผนวกการให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเข้าสู่กระบวนการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น
โดยในด้านของสิ่งแวดล้อมที่เป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของความยั่งยืนนั้น กลุ่มทิสโก้ได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมตลอดห่วงโซ่ เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ ครอบคลุมกิจกรรมที่ส่งผลโดยตรงต่อการลดการใช้พลังงานและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีส่วนร่วมในการส่งเสริมชุมชนที่กลุ่มทิสโก้ดำเนินธุรกิจอยู่ให้บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมร่วมกัน
นอกจากนี้ ทิสโก้ยังเดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงาน ตลอดจนฝ่ายบริหารให้รู้จักการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นตัวเชื่อมในการส่งต่อและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งประเด็นเรื่อง “ภาวะโลกร้อน” เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด จึงได้พยายามขยายผลผ่านโครงการและกิจกรรมที่สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ในโครงการ “TISCO Eco Society” ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2561 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
“โครงการ TISCO Eco Society ขับเคลื่อนผ่าน 3 กิจกรรมหลัก คือ การลดปริมาณการใช้กระดาษ การอนุรักษ์พลังงาน และการจัดการขยะ โดยใช้การรณรงค์ควบคู่ไปกับการกำหนดแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้พนักงานสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ซึ่งหากเราสามารถชวนพนักงานทั้งหมดกว่า 4,000 คนให้เข้ามามีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักให้แก่พวกเขาได้ ก็จะขยายผลไปสู่ครอบครัวของพนักงานทั้งหมดอีกกว่าหมื่นคน และครอบครัวของเขาก็จะสามารถส่งต่อไปยังผู้คนได้อีกเป็นจำนวนมาก จนอาจจะกลายเป็นวงจรการส่งต่อที่ยั่งยืนและไม่มีวันสิ้นสุด” คุณไพรัชเล่า
คุณประยุกต์ เจริญจรัสกุล ผู้อำนวยการอาวุโส หน่วยงานพัฒนาความยั่งยืน หนึ่งในทีมงานปฏิบัติการครั้งนี้ขยายภาพแต่ละกิจกรรมว่า การลดปริมาณการใช้กระดาษ เป็นกิจกรรมแรกที่เกิดขึ้นในปี 2561 ด้วยแนวคิดการใช้กระดาษอย่างรู้คุณค่า (Paperless) โดยรณรงค์ให้ใช้กระดาษทั้งสองด้าน แยกประเภทกระดาษ และย่อยกระดาษเอกสารสำคัญก่อนทิ้ง อีกทั้งยังได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าในยุคดิจิทัล ด้วยการขยายช่องทางการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ที่สามารถเรียกดูและจัดเก็บภาพในรูปแบบไฟล์แทนการจัดเก็บในรูปแบบเอกสาร
สำหรับกิจกรรมการอนุรักษ์พลังงานนั้น เป็นการรณรงค์ให้ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้เกิดการลดการบริโภคและการอนุรักษ์พลังงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการ VDI (Virtual Desktop Infrastructure) หรือการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เสมือนเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า แต่พนักงานยังสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพเท่าเดิม หรือการจัดซื้อเครื่อง Zero Client ทดแทนเครื่อง PC ตลอดจนการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบ LED เพื่อประหยัดพลังงานและกิจกรรมส่วนสุดท้าย การจัดการขยะ ที่มุ่งเน้นการลดปัญหาการเกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การนำกลับมาใช้ซ้ำ ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกและการตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นกับพนักงานทิสโก้
ภารกิจลดขยะ ลดโลกร้อน ที่ไม่เคยหยุดพัฒนา
ปีแรกของการเริ่มต้นโครงการ TISCO Eco Society โจทย์ขณะนั้นคือ การแก้ปัญหาจากสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวที่เห็นกันอยู่ทุกวันภายในอาคาร เมื่อพนักงานมีการบริโภค ก็ย่อมเกิดขยะ จึงเริ่มต้นจาก “โฟมใส่อาหาร” บรรจุภัณฑ์ที่ทุกคนต่างทราบกันดีว่าเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน แต่จะทำอย่างไรให้กิจกรรมและการจัดการเกิดความต่อเนื่อง ซึ่งคำตอบก็คือความร่วมมือร่วมใจของ “พนักงานทุกคน” จากนั้นกิจกรรม “3 ท้า กล้า เปลี่ยน” ซึ่งเป็นปฏิบัติการแรกในการร่วมลดโลกร้อนของกลุ่มทิสโก้จึงเริ่มต้นขึ้น
คุณประยุกต์ เล่าว่า “3 ท้า กล้า เปลี่ยน” เป็นกิจกรรมที่ชวนพนักงานทิสโก้มาร่วมเปลี่ยนพฤติกรรม 3 อย่าง นั่นคือ 1. การปลอดโฟมทุกเวลา 2. แยกขยะเพิ่มมูลค่า และ 3. ไม่พึ่งพาพลาสติก ซึ่งนอกจากการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในการแยกขยะแล้ว ยังมีจุดให้บริการยืมถุงผ้าที่บริเวณชั้น 1 ของอาคาร อีกทั้งยังได้ร่วมกับนิติบุคคลอาคาร จนเกิดเป็น “มือปราบพิชิตโฟม” อย่างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่คอยช่วยดูแลและสกัดการนำโฟมขึ้นอาคาร และมีด่านที่ 2 อย่างฝ่ายแม่บ้าน ที่คอยช่วยตรวจสอบพื้นที่ในแต่ละชั้น รวมถึงการขยายความร่วมมือไปสู่ร้านค้าโดยรอบ และบางร้านค้ายังให้ความร่วมมือด้วยแคมเปญลดราคา หากพนักงานนำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มด้วย ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ การเป็นสังคมปลอดโฟมแบบ 100% ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มกิจกรรม
เมื่อกิจกรรมแรกประสบความสำเร็จ จึงเกิดเป็นกิจกรรมที่ใหญ่ขึ้นอย่าง “ลด พก แยก” ในปี 2562 เพื่อลดการใช้แก้วพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง พกถุงผ้าหรือใช้พลาสติกซ้ำ และแยกขยะอย่างถูกวิธี ซึ่งสีสันในกิจกรรมนี้ ในแต่ละวันจึงทำให้ได้เห็นแฟชั่นถุงผ้าของพนักงาน เห็นการพกแก้วเก็บความเย็นมาใส่เครื่องดื่มในตอนเช้า ประกอบกับที่พนักงานได้เริ่มเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงทำให้กิจกรรมนี้ กลุ่มทิสโก้สามารถลดการใช้พลาสติกแบบ Single-use ในอาคารลงได้ถึง 97%
และเพื่อให้ขยะที่ได้รับการจัดแยกอย่างถูกประเภทไม่เสียเปล่า กลุ่มทิสโก้จึงได้นำน้ำหนักขยะที่แยกได้จากโครงการ “ลด พก แยก” ไปยื่นกับโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นโครงการขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ซึ่งได้ใบรับรองในการลดก๊าซเรือนกระจกถึง 19,761 กิโลคาร์บอนเทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 2,080 ต้น
ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ของการจัดกิจกรรม ทางโครงการได้เพิ่มระดับความเข้มข้น ด้วยการปรับเปลี่ยนเป้าหมายจากการกำจัดขยะ มาเป็นการจัดการขยะให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมขององค์กร จึงเกิดเป็นกิจกรรม “เราใช้ เราแยก” เพื่อให้พนักงานได้ตระหนักในเรื่องของสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวมากขึ้น และเมื่อได้ทำการสำรวจและประเมินประเภทขยะที่เกิดขึ้นในอาคารแล้ว จึงแบ่งการแยกขยะออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะเศษอาหาร ขยะกระดาษ ขยะรีไซเคิล และขยะกล่องพลาสติกใส่อาหาร ที่รณรงค์ให้ทำความสะอาดล้างและผึ่งให้แห้งก่อนทิ้ง ทำให้ในปีนี้กลุ่มทิสโก้ได้รับการรับรองการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการ LESS ลงได้ 3,576 กิโลคาร์บอนเทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 376 ต้น ซึ่งลดลงจากปีก่อน เนื่องจากมาตรการให้ทำงานที่บ้าน (Work from Home)
“ผลตอบรับถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะจากที่สังเกตนั้น ช่วงแรกถังขยะทั่วไปจะมีปริมาณที่ค่อนข้างเยอะ แต่ปัจจุบันก็เริ่มน้อยลง ขณะที่ถังขยะพลาสติกที่ใส่กล่องข้าวก็เริ่มมีจำนวนสูงขึ้น แสดงว่าพนักงานทิสโก้มีความตั้งใจและใส่ใจในรายละเอียดของการแยกขยะมากขึ้น เพราะการจะทิ้งขยะในถังนี้ได้ จะต้องมีการล้างและตากพลาสติกให้แห้งก่อน ซึ่งหากเราแยกขยะถูกที่ ขยะที่เราทิ้งไปนั้นจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่าที่คิด และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเราทุกคน นั่นก็คือ ในแต่ละปีเงินที่ได้จากการแยกขยะก็จะนำไปเป็นทุนการศึกษาให้แก่เด็กยากไร้ผ่านมูลนิธิทิสโก้ เพื่อการกุศล ที่มีการช่วยเหลือสังคมเสมอมา” คุณประยุกต์เล่า
ส่วนในปี 2564 “เราใช้ เราแยก” ปีที่ 2 ได้เพิ่มในเรื่องของการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็น E-waste ฝากไปกับบริษัทไปรษณีย์ไทย เพื่อนำไปกำจัดอุปกรณ์ E-waste อย่างถูกวิธี และผลิตปฏิทินแจกลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องด้วยนวัตกรรมหมึกพิมพ์ธรรมชาติจากถั่วเหลืองที่จะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกลงด้วย ทำให้ในปีนี้กลุ่มทิสโก้ได้รับการรับรองจาก อบก. ในการลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 20,110 กิโลคาร์บอนเทียบเท่า หรือเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหญ่ 2,116 ต้น อย่างไรก็ดี หากนับรวมทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้น กลุ่มทิสโก้สามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกลงไปได้ถึง 969,733 กิโลคาร์บอนเทียบเท่า หรือเท่ากับ การปลูกต้นไม้ใหญ่ 102,171 ต้น
อีกทั้ง ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 กลุ่มทิสโก้ก็ได้นำน้ำดื่มไปบริจาคช่วยเหลือผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งโดยปกติการแยกขยะขวดน้ำ 1 ขวด ต้องแยกประเภทขวด ฝา หรือฉลากที่ติดบนขวดว่าเป็นประเภทไหน ในปี 2565 กลุ่มทิสโก้จึงได้จัดทำโครงการ “น้ำดื่มไร้ฉลาก” ขึ้น เพื่อช่วยลดขยะจากฉลากขวดน้ำดื่ม และจากผลที่ทำการศึกษา พบว่าการลดขยะฉลากขวดน้ำดื่มสามารถช่วยลดคาร์บอนได้ถึง 25% ซึ่งคาดว่าจะเริ่มส่งมอบสำหรับกิจกรรมบรรเทาทุกข์ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้และหน่วยงานต่างๆ รวมถึงใช้รับรองลูกค้าทิสโก้ตามสาขา ตลอดจนการประชุมภายในต่างๆ ได้ตั้งแต่ ก.ค. 65 เป็นต้นไป
จับมือพันธมิตรมุ่งสร้างภารกิจลดโลกร้อน
ความสำเร็จของโครงการไม่ได้หยุดอยู่ที่อาคารทิสโก้เท่านั้น คุณไพรัชบอกว่า เพราะผลลัพธ์ของโครงการ TISCO Eco Society ยังได้ถูกส่งต่อไปยังพันธมิตรหลัก คือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เป็นผู้ริเริ่มโครงการ Care The Bear ซึ่งเป็นกิจกรรมลดโลกร้อน และ Care The Whale ที่มุ่งเน้นการจัดการขยะพลาสติก โดยกลุ่มทิสโก้ได้นำมาต่อยอดเป็นโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในองค์กร อีกทั้งยังได้นำผลลัพธ์มาแปรผลจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนเท่าไรเทียบเท่ากับการช่วยปลูกต้นไม้ได้จำนวนกี่ต้น ซึ่งการที่สามารถคัดแยกขยะได้ลงลึกถึงการให้พนักงานล้างกล่องพลาสติกก่อนทิ้ง ก็สร้างความประหลาดใจให้กับทีมงานตลาดหลักทรัพย์ได้ไม่น้อย และในอนาคตมองว่าจะสามารถพัฒนาต่อไปให้การแยกขยะมีความละเอียดมากขึ้น เพื่อที่จะสามารถนำไปรีไซเคิลได้อย่างเจาะจงมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ยังได้รณรงค์โครงการ “วน” ร่วมกับคู่ค้าเพื่อต่อยอดโครงการสู่สังคม ซึ่งโครงการนี้เป็นการสนับสนุนการคัดแยกขยะ แล้วแปรสภาพเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) โดยตั้งกล่องรับบริจาคถุงและฟิล์มพลาสติกสะอาด เพื่อนำกลับไป Recycle ให้พลาสติกหมุนเวียนอยู่ในระบบ ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา กลุ่มทิสโก้นำส่งขยะพลาสติกเข้าร่วมโครงการ “วน” จำนวน 198 กิโลกรัม สามารถผลิตเป็นเม็ดพลาสติกวนกลับมาใช้ได้ 190 กิโลกรัม รวมถึงความร่วมมือกับบริษัทไปรษณีย์ไทยในการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
หลอมรวมหัวใจเพื่อเป้าหมายที่ยั่งยืน
คุณไพรัชกล่าวว่า กลยุทธ์ของโครงการ TISCO Eco Society คือการพยายามสอดแทรกกิจกรรมไปในทุกๆ การดำเนินชีวิตของพนักงาน ซึ่งผู้บริหารเองก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพนักงาน ในด้านพนักงานก็ยังได้รับแรงจูงใจจากการสร้างคุณค่าทางจิตใจ ด้วยการเปิดพื้นที่แบ่งปันเทคนิคที่ทำแล้วสำเร็จ จนซึมซับเข้าไปในกระบวนการทำงาน เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม และพนักงานหลายรายก็สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมและยังขยายจิตสำนึกไปถึงครอบครัว ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือร่วมใจกันจากทุกฝ่ายในองค์กร
สุดท้ายคุณไพรัชได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นในโครงการนี้ว่า กลุ่มทิสโก้จะยังคงเดินหน้าและต่อยอดภารกิจรักษ์โลกเหล่านี้พร้อมสร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงานและสังคมโดยรอบต่อไป โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2566 กลุ่มทิสโก้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 20% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งเป็นปีฐานของโครงการ และในอนาคตยังมีแผนตั้งเป้าหมายให้ทิสโก้เป็นองค์กร Net Zero Carbon ภายในปี 2573 อีกด้วย