วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด นวัตกรรมใหม่ หยุดมะเร็งกลายพันธุ์
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 60 | คอลัมน์ Health Focus
โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของคนไทยมากว่า 20 ปี และจำนวนผู้ป่วยใหม่ก็เพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากถึง 381 คนต่อวัน หรือคิดเป็น 139,206 คนต่อปี และเสียชีวิตมากถึงวันละ 230 คน หรือ 84,073 คนต่อปี
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการรักษาหลากหลายวิธี แต่การที่ผู้ป่วยยังมีโอกาสเสียชีวิตสูง เนื่องด้วยการกลายพันธุ์ของมะเร็ง ที่แม้ผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งในอวัยวะส่วนเดียวกัน แต่เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละรายแล้ว กลับพบว่าการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยแต่ละรายนั้นกลับไม่เหมือนกัน
ดังนั้น มะเร็งจึงกลายเป็น “โรคเฉพาะบุคคล” ที่นอกจากจะใช้วิธีการรักษาแบบดั้งเดิม คือ การผ่าตัด การฉายแสง เคมีบำบัด หรือคีโม และยามุ่งเป้าแล้ว วิธีการรักษาแบบใหม่ที่เป็นเทรนด์ของโลก คือ “ภูมิคุ้มกันบำบัด” จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยรักษาโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล เพราะการรักษาด้วยวิธีนี้จะเฉพาะเจาะจงกับเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษา และยังช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดมากยิ่งขึ้นด้วย
และข่าวดีก็คือ ทางเลือกใหม่ในการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดนี้ได้ถูกต่อยอดวิจัยและพัฒนาโดยฝีมือคนไทยกลายมาเป็น “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” TRUST ฉบับนี้ จึงจะพาไปเจาะลึกถึงการทำงานของวัคซีนที่จะเข้ามาช่วยสอดประสานและเสริมประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดให้มีความแม่นยำ เจาะจง และเฉพาะบุคคลมากยิ่งขึ้น กับ อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมแพทย์ผู้เป็นกำลังสำคัญในครั้งนี้
หยุดมะเร็ง ด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด
อ.นพ.ไตรรักษ์ ฉายภาพว่า สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งมาจากเซลล์กลายพันธ์ุ โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์จะมีภูมิคุ้มกันอย่างเม็ดเลือดขาวที่จะเข้ามากำจัดสิ่งแปลกปลอมและเซลล์กลายพันธ์ุในร่างกาย กรณีที่ร่างกายของเราแข็งแรงและมีภูมิคุ้มกันที่ดีเพียงพอก็จะสามารถควบคุมเซลล์กลายพันธุ์ได้ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งจะพบว่า มีเซลล์ที่กลายพันธุ์มากเกินไป จนระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถทำงานได้ทัน สุดท้ายเซลล์กลายพันธุ์หรือมะเร็งก็ลุกลามจนเป็นอันตรายต่อร่างกายในที่สุด
สิ่งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้เดินหน้าวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ก็คือการหาวิธีการรักษาแบบ “ภูมิคุ้มกันบำบัด” หรือการทำให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งกลับมาเข้มแข็ง และต่อสู้กับมะเร็งหรือเซลล์กลายพันธุ์ที่เฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดทั้งหมด 3 วิธี คือ การใช้เซลล์บำบัดมะเร็ง (CAR T-cells) วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (Neoantigen and Cancer Vaccine) และการรักษาแบบการให้ยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง (Anti-PD-1)
ทั้ง 3 วิธี มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้ เพื่อนำมาเป็นทางเลือกและใช้เสริมประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ โดยเซลล์บำบัดมะเร็ง เป็นการรักษาเฉพาะบุคคล ด้วยการนำเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งออกมาปรับแต่งให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น แล้วจึงฉีดกลับเข้าไปในตัวผู้ป่วย เพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเข้าไปทำหน้าที่โจมตีเซลล์มะเร็งในร่างกาย ซึ่งวิธีนี้จะใช้ได้กับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยผู้ป่วยจะมีโอกาสหายได้ถึง 90% เพียงแค่ทำครั้งเดียวเท่านั้น
ในส่วนของวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลนั้น แพทย์จะนำชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคนมาถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อหาการกลายพันธุ์ของเซลล์มะเร็ง โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จากนั้นจึงนำข้อมูลการกลายพันธุ์เฉพาะบุคคลที่ได้ไปผลิตวัคซีนที่มีชิ้นส่วนโปรตีนกลายพันธุ์ขนาดเล็กที่่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ แล้วจึงฉีดกลับเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วยเพื่อสอนให้ระบบภูมิคุ้มกันหรือเม็ดเลือดขาวรู้จักสิ่งแปลกปลอมและแยกแยะหน้าตาของเซลล์มะเร็ง พร้อมกำจัดได้อย่างถูกต้องและไม่ส่งผลกระทบต่อเซลล์ปกติอื่นๆ ซึ่งผู้ป่วยจะไม่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่จะต้องมารับวัคซีนให้ครบ 7 ครั้ง โดยแบ่งเป็น 5 ครั้งแรก ภายใน 1 เดือน และเว้นระยะการฉีดอีก 2 เข็ม เพื่อกระตุ้นไป 1 - 2 เดือน
“หลักการผลิตวัคซีนรักษามะเร็งนั้น เป็นหลักการเดียวกับการผลิตวัคซีน COVID-19 ที่ใช้ชิ้นส่วนของเชื้อโรคมาทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายรู้จักเชื้อโรคและเกิดการป้องกัน แต่วัคซีนรักษามะเร็งจะเป็นการใช้ชิ้นส่วนของเนื้อมะเร็งที่มีการกลายพันธุ์ไปกระตุ้นให้ภูมิต้านทานรู้จักตัวมะเร็ง และเมื่อเม็ดเลือดขาวถูกสอนให้รู้ว่าเซลล์มะเร็งนั้นคือสิ่งแปลกปลอม ก็จะทำหน้าที่ไปทำลายเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งข้อแตกต่างของวัคซีนรักษามะเร็งกับวัคซีนทั่วไป ก็คือการเป็นวัคซีนเพื่อการรักษาแต่ไม่ใช่เพื่อการป้องกัน ซึ่งเทรนด์ของการรักษามะเร็งสมัยใหม่ คือ การรักษาแบบแม่นยำ ดังนั้น การรักษาด้วยวัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลจึงตอบโจทย์เป็นอย่างมาก”
และสุดท้ายหากเจอเซลล์มะเร็งที่สามารถหลอกให้เม็ดเลือดขาวไม่สามารถแยกแยะได้ว่า มีเซลล์ที่ผิดปกติอยู่ตรงตำแหน่งใด เวลานี้เองจะเป็นวิธีของการให้ยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง ที่จะมาทำหน้าที่เปิดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของเซลล์มะเร็ง โดยแอนติบอดีจะเข้าไปขัดขวางการจับกันระหว่างเซลล์มะเร็งกับเม็ดเลือดขาว ซึ่งเปรียบเสมือนการถอดหน้ากากให้กับเซลล์มะเร็ง ทำให้เม็ดเลือดขาวเข้าไปโจมตีเซลล์มะเร็งได้อย่างตรงจุดทำให้เม็ดเลือดขาวกลับมามีประสิทธิภาพในการจัดการกับเซลล์มะเร็งได้ตามปกติ
วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล ความหวังของผู้ป่วยมะเร็งชาวไทย
ความคืบหน้างานวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ในส่วนของ “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” จนถึงขณะนี้ มีความก้าวหน้าค่อนข้างมาก ล่าสุด การทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 กับอาสาสมัครผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะที่ 4 จำนวน 4 ท่าน ผลปรากฎว่า เป็นที่น่าพอใจ มีผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย เช่น อาการปวด บวมบริเวณที่ฉีด ขณะที่ภูมิคุ้มกันของอาสาสมัครนั้นมีการตอบสนองต่อวัคซีนเป็นอย่างดี และจากการทดสอบทางพยาธิวิทยา พบว่า เม็ดเลือดขาวตอบสนองในทางบวกและกระจายตัวเข้าไปจัดการในชิ้นเนื้อมะเร็งได้มากขึ้น
ประเภทและระยะของมะเร็งมีผลต่อการตอบสนองต่อการรักษาด้วยวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกัน กล่าวคือ มะเร็งที่มีความสามารถในการกดภูมิต้านทานได้ไม่มากนัก เช่น มะเร็งเม็ดสี มะเร็งผิวหนัง มะเร็งไฝดำ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งปอดจากการสูบบุหรี่ จะเห็นผลการกระตุ้นภูมิได้ชัดเจนกว่า แต่หากเป็นมะเร็งที่มีความสามารถในการกดภูมิได้มากอย่างมะเร็งสมองหรือมะเร็งตับอ่อน การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดก็อาจจะให้ผลได้ไม่มากนัก เช่นเดียวกับระยะของมะเร็งที่ยิ่งอยู่ในระยะที่รุนแรงก็จะมีวิวัฒนาการในการกลายพันธุ์เพื่อหลบภูมิได้มากขึ้น ดังนั้น การรักษามะเร็งในปัจจุบัน จึงต้องพิจารณาผู้ป่วยเป็นรายๆ ว่า ผู้ป่วยมีความเหมาะสมกับการรักษาแบบใด ซึ่งคุณหมอเชื่อว่า วัคซีนรักษามะเร็งจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเสริมให้การรักษามะเร็งด้วยวิธีต่างๆ นั้นมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและเหมาะสมกับผู้ป่วยมากขึ้น หรือเข้ามาช่วยเป็นทางเลือกหลักสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล
“การทดสอบในครั้งนี้ นับเป็นการทดสอบทางคลินิกครั้งแรกในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลการทดสอบที่ออกมาดี จึงคาดว่า ในระยะต่อไปภายใน 4 ปีนี้ จะมีการทดสอบทางคลินิกครั้งที่สอง คือ การเพิ่มจำนวนอาสาสมัครที่มากขึ้น เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของวัคซีน ทั้งในแง่ของความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิเพื่อหยุดการเติบโตของมะเร็ง โดยหมุดหมายถัดไป หากการทดสอบได้ผลเป็นที่น่าพอใจในอนาคตอันใกล้ก็คงจะเริ่มเปิดให้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยเป็นแห่งแรก”
ในระหว่างที่วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลกำลังเดินหน้าทดสอบทางคลินิกอยู่นี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ก็เร่งเดินหน้าวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) คู่ขนานกันไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โดยคาดว่าจะเริ่มทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลองช่วงปลายปี 2565 และเริ่มการทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งในปี 2566 ต่อไป ซึ่งหากการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีประสบผลสำเร็จ จะสามารถใช้การรักษาทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งให้ดียิ่งขึ้น
คุณหมอย้ำและขยายภาพการทำงานของวิธีการรักษามะเร็งที่ต้องสอดประสานกันให้ชัดเจนขึ้นว่า เมื่อเซลล์มะเร็งแฝงตัวเข้าไปปะปนกับเซลล์ดีในร่างกายของเราแล้ว สิ่งที่จะช่วยให้ภูมิต้านทานสามารถแยกแยะว่าเซลล์ไหนคือเซลล์ดี เซลล์ไหนคือเซลล์ร้ายได้ ก็คือ วัคซีน แต่เมื่อเซลล์ร้ายเริ่มรู้ตัว ก็จะวิวัฒนาการเปลี่ยนหน้าตาของตัวเองเป็นรูปแบบใหม่เพื่อหลบเลี่ยง ทำให้ภูมิต้านทานไม่สามารถแยกแยะได้อีกครั้ง ดังนั้น จึงต้องทำให้ภูมิต้านทานสามารถหาเซลล์ร้ายเจอได้ในที่สุด อีกทั้ง 2 วิธี ยังมีความปลอดภัยที่ค่อนข้างสูง เพราะจะไม่ทำร้ายเซลล์ดี แต่จะเจาะจงไปที่เซลล์ร้ายเท่านั้น ดังนั้น หากทั้ง 2 วิธีการรักษานั้นสำเร็จ ก็น่าจะช่วยให้คนไทยมีโอกาสหายป่วยจากโรคมะเร็งได้มากขึ้น”
ขับเคลื่อนงานวิจัย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย
สถิติจากสหรัฐฯ พบว่า ในชีวิตหนึ่งของมนุษย์เรา มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งมากถึง 1 ใน 3 หรือ มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งได้ถึง 40% ทั้งที่ในความเป็นจริงโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้ป่วยอยู่ในปัจจุบันนั้นสามารถป้องกันได้ ดังนั้น ในฐานะแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นนักวิจัยอย่าง อ.นพ.ไตรรักษ์ จึงยิ่งเร่งพัฒนางานวิจัย โดยหวังว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลและเพิ่มโอกาสในการรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดยาภูมิคุ้มกันรักษามะเร็งนั้น มีมูลค่าสูงถึง 9 ล้านล้านบาทต่อปี และโรงพยาบาลชั้นนำของไทยก็มีความจำเป็นต้องนำเข้ายาจากต่างประเทศ ในราคาโดสละกว่า 2 แสนบาท ซึ่งผู้ป่วยต้องได้รับในทุกๆ 3 สัปดาห์ และถึงแม้การรักษาจะได้ผลดี ก็ยังต้องรับยาต่อเนื่องติดต่อกันไปอีกอย่างน้อย 2 ปี ถึงจะสามารถควบคุมเซลล์มะเร็งได้ เท่ากับว่าผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่ต่ำกว่าคนละ 8 ล้านบาท
“สิ่งที่นักวิจัยไทยกำลังเผชิญก็คือ การขาดแรงสนับสนุนและเม็ดเงินอีกเป็นจำนวนมากในการพัฒนายาและนวัตกรรมทางการรักษาโรคต่างๆ แต่นับว่าเป็นความโชคดีของเรา ที่ภาคประชาชนได้เข้ามาเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนงานวิจัยมะเร็งตั้งแต่ต้น ซึ่งที่ผ่านมา งบประมาณในงานวิจัยกว่า 50% ก็มาจากประชาชนที่ตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนเหล่านี้ และยอมที่จะเสี่ยงไปด้วยกันกับนักวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างมากที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยปลดล็อกการทำงานของนักวิจัยให้ก้าวไปได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น แต่ในทางกลับกันก็ต้องยอมรับว่าการพัฒนานวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งนั้นยังต้องใช้งบประมาณอีกเป็นจำนวนมาก เพราะแต่ละขั้นตอนของงานวิจัยจำเป็นต้องใช้เวลาและค่อนข้างละเอียดซับซ้อน ซึ่งหากเราสามารถสร้างนวัตกรรมการรักษาขึ้นมาเองได้สำเร็จ ก็จะช่วยลดต้นทุนในการรักษาลงได้อย่างมาก เพราะไม่ต้องนำเข้านั่นหมายถึง การช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งที่ดีและมีประสิทธิภาพให้กับคนไทย”
ร่วมบริจาคสมทบทุนวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน
ชื่อบัญชี: คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เงินบริจาคเพื่อการวิจัย)
เลขที่บัญชี: ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย 045-304669-7 (กระแสรายวัน)
สอบถามเพิ่มเติมและแจ้งขอรับใบเสร็จ ได้ที่ไลน์: @cucancer