เมื่อร่างกายสูงวัย จิตใจยิ่งต้องดูแล

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 60 | คอลัมน์ Moment of Happiness

file

สิ่งที่น่ากังวลของคนสูงวัย ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของสุขภาพกายที่เสื่อมถอยไปตามอายุที่มากขึ้น แต่สุขภาพจิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลงที่มากมายและเปราะบางเช่นกัน จากการศึกษาในอดีตพบว่า ผู้สูงอายุนั้นมีปัญหาสุขภาพจิตและตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าสูงถึง 10-15% ซึ่งถือว่าสูงกว่าคนในช่วงวัยอื่นๆ 

ภาวะสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงวัย

1. อารมณ์แปรปรวนง่าย เดี๋ยวสุขเดี๋ยวเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ ใน 1 วัน อาจมีหลากหลายอารมณ์ ซึ่งอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างรวดเร็วนี้อาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเป็นผลมาจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมน ความเปลี่ยนแปลงในร่างกาย หรือแม้แต่โรคจิตเวชบางชนิด

2. ภาวะเครียด วิตกกังวล การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสำหรับคนสูงวัยถือเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก จึงอาจทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ย้ำคิดย้ำทำ และนอนไม่หลับ จนอาจแสดงออกทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง เบื่ออาหาร ปวดตึงกล้ามเนื้อ มือเท้าเย็น ใจสั่น เหงื่อออกตามมือ เป็นต้น รวมทั้งสะท้อนออกมาทางพฤติกรรม เช่น จู้จี้ ขี้บ่น มีความกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายต่างๆ มีเรื่องขัดแย้งกับผู้อื่นบ่อยครั้ง แยกตัวจากสังคม เป็นต้น

3. ภาวะซึมเศร้า อาการเจ็บป่วยทางจิตใจชนิดหนึ่ง ซึ่งหากเกิดขึ้นจะทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกไม่มีความสุข เบื่อหน่ายต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว สิ้นหวังกับชีวิต ในขณะที่บางรายอาจมีอาการตรงกันข้าม คือ หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจ ขี้น้อยใจ และอาจทะเลาะกับลูกหลานบ่อยครั้ง ซึ่งในบางรายอาจมีอาการรุนแรงจนคิดทำร้ายตนเองได้

3 ปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพจิตผู้สูงวัย

ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงวัยจะรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ดังนี้

1. ปัจจัยทางกาย เป็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เสื่อมไปตามวัย เช่น โรคประจำตัวหรือการเจ็บป่วยเรื้อรังหรือเป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง เป็นต้น ตลอดจนความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย เช่น ความจำแย่ลง สายตาแย่ลง เคลื่อนไหวร่างกายได้ไม่ถนัด เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้ผู้สูงวัยเกิดปัญหาทางด้านจิตใจตามมา

2. ปัจจัยทางอารมณ์ เป็นความเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์และจิตใจ ที่เกิดขึ้นจากความเสื่อมของสมองและระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ไม่สมดุลเหมือนเดิม ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจมองว่าผู้สูงวัยที่มีอาการหลงลืมนั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่ความจริงแล้วภาวะนี้ถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลให้อารมณ์และพฤติกรรมของคนวัยนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

3. ปัจจัยทางสังคม การมีบทบาททางสังคมลดลง ทำให้ผู้สูงวัยอาจสูญเสียความมั่นคง ความภาคภูมิใจในตนเอง บางคนอาจรู้สึกไร้คุณค่าและมองว่าตนเองเป็นภาระของครอบครัว หรือบางคนอาจรู้สึกว่าสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต ซึ่งสภาวะเหล่านี้อาจก่อให้เกิดภาวะทางอารมณ์ได้ส่วนใหญ่ปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงวัยมักไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว แต่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน (Multi-factors) ดังนั้น ในการรักษาจึงจำเป็นที่จะต้องรู้ลึกถึงปัจจัยที่เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาทางใจ เพื่อที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงวัยจะได้สามารถทำการรักษาได้อย่างตรงจุด 

5 เคล็ด (ไม่) ลับ ดูแลสุขภาพจิต

1. ครอบครัว = ยาขนานเอก ส่วนใหญ่ผู้สูงวัยมักจะไม่รู้ตัวว่าตนเองมีปัญหาทางด้านจิตใจและอารมณ์ หรืออธิบายอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ถูก รวมถึงมีความเกรงใจที่จะบอกกล่าวให้คนรอบข้างรับรู้ เพราะกลัวการเป็นภาระของลูกหลาน  คำแนะนำ: คนในครอบครัวหรือผู้ดูแลควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และหากพบเห็นถึงความผิดปกติควรรีบพาผู้สูงวัยมาพบจิตแพทย์ทันที ทั้งนี้ กลุ่มอาการทางจิตส่วนหนึ่งต้องอาศัยการรักษาด้วยยา เพื่อช่วยลดอาการรุนแรง อีกส่วนหนึ่งต้องใช้ครอบครัวหรือผู้ดูแลเป็นยาขนานเอก โดยครอบครัวหรือผู้ดูแลต้องมีเวลา พยายามปรับตัวเข้าหา หมั่นพูดคุยให้ผู้สูงวัยเกิดความผ่อนคลาย และสอบถามสาเหตุที่ทำให้เป็นกังวล ส่วนผู้สูงวัยเองก็ต้องปรับเปลี่ยนความคิด ด้วยการมองโลกในแง่บวก มองคนรอบตัวเป็นกัลยาณมิตร เพื่อที่จะได้สามารถบอกกล่าวความต้องการได้โดยไม่ต้องเกรงใจ เพราะการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา คือทางออกแห่งความสุขและความเข้าใจที่ดีที่สุด

file

2. เข้าใจ > เหตุผล กลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นโรคสมองเสื่อมส่วนใหญ่มักจะมีอาการหลงลืม และมีพฤติกรรมกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เช่น ลืมว่าหยิบของมาเก็บแล้ว พอหาของไม่เจอก็โทษคนอื่น หรือผู้สูงวัยบางรายคุ้นเคยที่จะอยู่กับบ้าน แต่บางทีลูกหลานหวังดีอยากพาพ่อแม่ไปเที่ยว ปรากฏว่าผู้สูงวัยไม่มีความสุขกับการเดินทาง ลูกๆ เองก็พลอยทุกข์ไปด้วยคำแนะนำ: ในบางครั้งสมาชิกในบ้านอาจไม่ควรใช้เหตุผลแบบผู้ใหญ่ แต่ควรใช้ใจในการรับฟังและพยายามทำความเข้าใจในความต้องการของผู้สูงวัย ซึ่งกลุ่มผู้สูงวัยที่เป็นโรคสมองเสื่อมค่อนข้างมีการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ดังนั้น การแสดงอารมณ์ที่ออกมา เช่น โกรธ เศร้า อาจเพียงเพราะสิ่งที่ร้องขอไม่ได้รับการตอบสนองเท่านั้น

3. สภาพแวดล้อม + ความปลอดภัย ผู้สูงวัยจะรู้สึกเครียดหากอยู่ในสถานที่ที่รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น ในรายที่มีอาการเข่าเสื่อม แต่ต้องอาศัยอยู่ในอาคารสูงที่ไม่มีลิฟต์ บางกรณีลูกหลานเป็นกังวลเกินเหตุถึงกับห้ามไม่ให้ทำอะไร หรือห้ามไม่ให้ออกจากบ้านไปไหน ด้วยเกรงว่าจะหกล้มและเกิดอันตราย จนผู้สูงวัยเกิดความรู้สึกเครียดคำแนะนำ: เมื่อลูกหลานรู้ว่าผู้สูงวัยชอบหรือต้องการที่จะทำกิจกรรมใด ก็ควรสนับสนุนให้ทำอย่างอิสระ เพื่อสร้างคุณค่าความภาคภูมิใจในตัวผู้สูงวัยเอง เพียงแต่ต้องช่วยปรับสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น ผู้สูงวัยชอบทำสวน ก็ดูแลพวกอุปกรณ์ของมีคม ตลอดจนระวังทางลาดและทางเดินให้เหมาะสมเพื่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิต

4. เทคโนโลยี x ความสุขทางใจ ในช่วงที่สถานการณ์ COVID-19แพร่ระบาด และเป็นช่วงเวลาที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ทว่าสุขภาพกายและจิตใจของผู้สูงวัยก็ต้องได้รับการติดตามและดูแลอย่างใกล้ชิดคำแนะนำ: อาจใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยคลายเหงา เช่น สอนให้ผู้สูงวัยเล่นโซเชียลมีเดีย เพื่อใช้เป็นช่องทางติดต่อทักทายกับเพื่อนๆ รวมทั้งใช้นวัตกรรมอย่าง Teletherapy มาช่วยเสริมในการบำบัดดูแลสุขภาพจิตผ่านทางออนไลน์ เพียงเท่านี้ผู้สูงวัยก็มีความสุขได้โดยง่ายแล้ว

5. เตรียมสุขภาพจิต 100% ก่อนสูงวัย คนที่ยึดติดกับอดีตที่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่รู้สึกพึงพอใจกับทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ส่วนใหญ่จะก้าวผ่านจากวัยทำงานตอนปลายเข้าสู่ผู้สูงวัยได้ไม่ราบรื่นนัก ทั้งยังอาจไม่สามารถปรับตัวและรับมือกับชีวิตช่วงบั้นปลายได้คำแนะนำ: ผู้ที่กำลังจะก้าวผ่านสู่ผู้สูงวัยควรสำรวจว่าตนเองมีสิ่งใดที่ยังคงค้างคาหรือทำไม่สำเร็จหรือไม่ หากมีก็ควรรีบจัดการให้สำเร็จก่อนจะเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ ที่สำคัญต้องไม่หันกลับไปมองอดีต ให้มองไปในอนาคตข้างหน้าว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีความสุข รวมถึงการวางแผนเกษียณล่วงหน้า เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีความสุขตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้จะเห็นได้ว่า ความสุขของผู้สูงวัยนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรถูกละเลย หากเข้าใจและส่งเสริมให้คนวัยนี้มีสุขภาวะที่ดีทั้งกาย จิตใจ และสังคม พวกเขาก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ ปลอดภัย และมีความสุขอย่างยั่งยืน

ขอบคุณข้อมูลจาก: นพ.ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

แพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ ศูนย์อายุรกรรม คลินิกผู้สูงอายุอายุรศาสตร์ และอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลนครธน

file