โภชนพันธุศาสตร์ กิน-อยู่-เป็น ตาม DNA เทรนด์ดูแลสุขภาพแห่งอนาคต
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 60 | คอลัมน์ Variety
ปัจจุบันเทคโนโลยีการตรวจพันธุกรรม DNA หรือการไขรหัสพันธุกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพเชิงรุก ทำให้เราได้ทราบว่า ปัญหาของสุขภาพส่วนหนึ่งถูกกำหนดมาแล้วตั้งแต่กำเนิด แต่นอกจากการทำนายโอกาสในการเกิดโรคต่างๆ ในอนาคตที่ถ่ายทอดมาจากพันธุกรรมเพื่อให้เราสามารถป้องกันได้ทันท่วงทีแล้ว ในรหัสพันธุกรรมของเรายังสามารถบ่งบอกถึงสิ่งที่เหมาะสมกับที่ร่างกายของเราต้องการได้ ด้วยการตรวจโภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomic) ที่จะเข้ามาช่วยออกแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ทั้งในเรื่องการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้สอดคล้องไปกับรหัสพันธุกรรมได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้เรามีสุขภาพที่ดีและมีชีวิตที่ยืนยาวอย่างมีคุณภาพ
ไขรหัสลับ DNA
ร่างกายของคนเรานั้น ประกอบด้วยเซลล์จำนวนมหาศาล ซึ่ง DNA (Deoxyribonucleic Acid) เป็นสารพันธุกรรมที่อยู่ภายในนิวเคลียสของเซลล์ โดยมีโครงสร้างเป็นเกลียวคู่ (Double-helix) คล้ายกับบันไดที่บิดตัววนไปทางขวา โดย DNA คือรหัสพันธุกรรมพื้นฐานของแต่ละบุคคลที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และเป็นตัวบ่งชี้ลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ เช่น รูปร่าง หน้าตา ผิวพรรณ ฯลฯ ซึ่งเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในร่างกายที่ทำหน้าที่เก็บและถ่ายทอดข้อมูลทางพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่น โดยการแสดงออกลักษณะทางพันธุกรรมจะถูกควบคุมโดยยีน (Gene) ซึ่งยีนถือเป็นส่วนหนึ่งของ DNA และเป็นหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดทางพันธุกรรม
ทั้งนี้ คนเราจะมีลำดับเบสบนสาย DNA ที่เหมือนกันกว่า 99.9% และมีความแตกต่างกันแค่เพียง 0.1% เท่านั้น แม้เปอร์เซ็นต์จะเล็กน้อย แต่กลับมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในแง่ของลักษณะภายนอก ตลอดจนความไวต่อสภาพแวดล้อม ความไวต่ออาหาร และความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน จึงได้มีการนำเอาเทคโนโลยีการตรวจพันธุกรรมมาใช้ในการวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรคต่างๆ และการป้องกันการเกิดโรค โดยเฉพาะโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ตลอดจนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมหรือโภชนพันธุศาสตร์ (Nutrigenomic)
ทุกวันนี้การตรวจพันธุกรรม DNA สามารถทำได้ง่ายขึ้น ใช้เวลาสั้นลง และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลงอย่างมากเมื่อเทียบกับในอดีต โดยการเก็บตัวอย่างเลือด น้ำลาย หรือเซลล์เยื่อบุกระพุ้งแก้มของคนๆ นั้น ก่อนนำไปถอดรหัสวิเคราะห์ และเปรียบเทียบลำดับเบสบนสาย DNA กับมาตรฐานอ้างอิง เพื่อดูความผิดปกติของยีนด้วยเทคโนโลยี Molecular Technique หรือชีววิทยาระดับโมเลกุล ที่มีความแม่นยำกว่า 90% ซึ่งการตรวจพันธุกรรม DNA นั้น ไม่ว่าจะตรวจในช่วงอายุใด ก็ล้วนให้ผลที่ไม่ต่างกัน เพราะ DNA ของเราจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดชีวิต เพียงแต่กลุ่มโรคหรือสภาวะร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัยของเราเท่านั้น โดยการเกิดโรคหรือสภาวะต่างๆ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ พันธุกรรม การใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การรู้ข้อมูล DNA ที่ชัดเจนจะช่วยให้เราสามารปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อช่วยให้ความเสี่ยงโดยรวมลดลงได้
เจาะลึกโภชนพันธุศาสตร์
โภชนพันธุศาสตร์ เป็นการนำเอาเทคโนโลยีการตรวจ DNA มาประยุกต์เข้ากับการดูแลสุขภาพ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโภชนาการ สมรรถภาพร่างกาย และพันธุกรรม ซึ่งจะทำให้ทราบถึงความเสี่ยงของสภาวะทางร่างกาย ดังนี้ความต้องการสารอาหาร คือ ร่างกายของเราสามารถดูดซึมและนำสารอาหารไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ และต้องการสารอาหารใดเพิ่มเติม เช่น DNA อาจจะบอกว่าเรามีแนวโน้มที่จะมีวิตามินบี 12 ในเลือดอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ นั่นก็เป็นเพราะพันธุกรรมของเราสามารถดูดซึมวิตามินนั้นได้น้อยกว่าปกติ
ความไวต่ออาหาร คือ ร่างกายของเราตอบสนองต่อสารอาหารแต่ละประเภทมากเกินปกติหรือไม่ เช่น หาก DNA บอกว่าเรามีความไวต่อไขมัน แม้เราจะรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่มากนัก ก็อาจทำให้เกิดการสะสมหรือเกิดไขมันในเลือดสูงได้ง่ายกว่าคนอื่น
สุขภาพองค์รวม คือ ร่างกายของเรามีการตอบสนองต่อการเผาผลาญและการอักเสบอย่างไร ตลอดจนความเสี่ยงของโรคอ้วนและความสามารถในการควบคุมความอยากอาหาร เช่น จากงานวิจัยของ Dolores Corella และคณะในปี 2009 พบว่าคนที่มีความเสี่ยงของโรคอ้วนมักจะมีลักษณะคู่ยีนที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหารอย่าง APOA2 (Apolipoprotein A-II) เป็น CC ดังนั้น จึงมีดัชนีมวลกาย (BMI) และการกินอาหารประเภทต่างๆ โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวเยอะกว่าคนที่มีลักษณะคู่ยีนที่เป็น CT หรือ TT
สมรรถภาพทางร่างกาย คือ ร่างกายของเราเหมาะกับการออกกำลังกายแบบใดมากที่สุด ความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ ประสิทธิภาพของการนำออกซิเจนไปใช้ ระยะเวลาในการฟื้นตัวหลังออกกำลังกาย และความทนทาน (ความอึด) หรือพละกำลังของร่างกาย เช่น ยีน ACTN3 ซึ่งเป็นยีนที่แสดงออกถึงความไวและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ดังนั้น ผู้ที่มียีนนี้ก็อาจจะมีโอกาสในการเล่นกีฬาได้ดีกว่า
โดยผลตรวจของโภชนพันธุศาสตร์ จะช่วยให้เราสามารถนำไปใช้ประกอบการรักษาและวางแผนการดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อจับตาดูความเสี่ยงต่อสภาวะนั้นๆ อย่างใกล้ชิด การวางแผนด้านโภชนาการ อาหารเสริม และการออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับชีวิตประจำวันและสร้างเสริมสุขภาพที่ดีขึ้นได้ เช่น การเลือกรับประทานอาหาร ปริมาณการทานอาหารแต่ละชนิด การเลือกกิจกรรมการออกกำลังกาย ระยะเวลาการออกกำลังกายที่เหมาะสม และการกำหนดเวลาในการฟื้นฟูร่างกายให้เพียงพอ เป็นต้น
ออกแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม
แม้เราจะเปลี่ยน DNA ไม่ได้ แต่เราสามารถปรับไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีของเราได้ เช่น หากเรามีความไวต่อคาร์โบไฮเดรตสูง ก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ (Low Carb) อย่างเนื้อปลาที่มีไขมันดี ไข่ ถั่ว บรอกโคลี เป็นต้น หรือบางคนที่มีพฤติกรรมกินจุบจิบ สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจาก DNA เช่นกัน โดยปกติร่างกายของเราจะมีการส่งสัญญาณให้หยุดกินไปที่ยีน LEPR (Leptin Receptor) ซึ่งเป็นยีนที่รับและตอบสนองต่อฮอร์โมนควบคุมความอิ่ม แต่หากยีนนี้มีการทำงานผิดปกติ ร่างกายก็จะตอบสนองโดยการกินไม่หยุดและกินจุบจิบมากขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและมีดัชนีมวลกาย (BMI) ที่มากกว่าคนปกติ แนวทางการปรับตัวก็คือ การแบ่งอาหารเป็นระหว่างมื้อย่อยๆ และเน้นอาหารจำพวกโปรตีนและไฟเบอร์แทนแป้งอย่างผลไม้ ถั่ว และธัญพืช เพื่อลดความหิวระหว่างมื้ออาหาร
ในเรื่องของการออกกำลังกายก็เช่นกัน DNA จะสามารถบอกได้ว่าเราเหมาะกับการออกกำลังแบบใด เช่น DNA บอกว่าเราเหมาะกับการออกกำลังกายแบบ Power ที่เน้นการใช้กล้ามเนื้อในช่วงสั้นๆ เราก็ควรจะเลือกเล่นกีฬาจำพวกยกน้ำหนัก วิ่งระยะสั้น กระโดดสูง เป็นต้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถเล่นกีฬาชนิดอื่นได้ เพียงแต่การเล่นกีฬาที่ไม่สัมพันธ์กับความเหมาะสมของร่างกายอาจจะทำให้ไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ยากขึ้น เช่น เราเหมาะกับการออกกำลังแบบ Endurance ที่เน้นฝึกความอึดของร่างกาย แต่เราชอบยกน้ำหนัก ไม่ชอบวิ่งมาราธอน กีฬาที่เราชอบก็อาจจะช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อได้ยากและช้ากว่าคนอื่น ดังนั้น อาจต้องเพิ่มเทคนิค พร้อมปรับโปรแกรมการซ้อมเข้ามาช่วยเสริม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับจุดประสงค์ที่ต้องการ
ท่ามกลางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า วันนี้ผลลัพธ์ที่แม่นยำจากการถอดรหัสพันธุกรรม DNA กลายเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาพที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด และเป็นตัวช่วยในการวางแผนการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ที่ทำให้เรารู้ว่าจะต้อง “กิน อยู่ เป็น” แบบไหน ถึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาว
ขอบคุณข้อมูลจาก: ดร.นพ.สาครินทร์ บุญบรรเจิดสุข
ผู้บริหาร Genfosis (ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ จากการตรวจในระดับ DNA)