มูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล 40 ปีแห่งการสร้างโอกาสสู่สังคม

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 61 | คอลัมน์ Giving

file

นับตั้งแต่ปี 2525 กลุ่มทิสโก้และมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นดั่งเงาของกันและกัน เพื่อหยิบยื่นโอกาสและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับสังคมไทยอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมใน 3 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนการศึกษาของนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทั่วประเทศ การให้ความช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลที่นอกเหนือจากสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานแก่ผู้ป่วยยากไร้ ตลอดจนการให้ทุนและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ รวมระยะเวลา 4 ทศวรรษให้ความช่วยเหลือแล้วทั้งสิ้นกว่า 152,000 ทุน คิดเป็นเงินบริจาคกว่า 525 ล้านบาท

คุณศิวะพร ทรรทรานนท์ ผู้บริหารสูงสุดคนไทยคนแรกของทิสโก้ ผู้ริเริ่มก่อตั้งและประธานมูลนิธิทิสโก้เพื่อการกุศล ย้อนเล่าถึงจุดกำเนิดของมูลนิธิฯ ว่า เกิดจากความต้องการขยายขอบเขตการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมของทิสโก้ ออกจากร่มเงาของบริษัทการเงินไปสู่สังคมภายนอกให้มากขึ้น เพื่อคืนกำไรกลับสู่สังคม โดยเน้นใน 3 ด้าน ได้แก่ การศึกษา การรักษาพยาบาล และทุนประกอบอาชีพ อันเป็นรากฐานในการดำรงชีวิตของคน และมีส่วนสำคัญในการผลักดันสังคมให้พัฒนาขึ้นในก้าวต่อไป 

“ในช่วงสิบปีแรก ทิสโก้เติบโตและมีกำไรดีมาตลอด ก็เลยคิดว่าเราจะทำอะไรเพื่อสังคมไทยได้บ้าง แต่ช่วงนั้นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวต่างชาติ หากต้องการบริจาคเงินหรือทำการกุศล เราต้องทำเรื่องขออนุมัติจากต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาติดขัด เลยคิดว่าในเมื่อบริษัทมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้รัฐอยู่แล้ว ให้บริษัทบริจาคให้มูลนิธิโดยตรงคงจะดีกว่า จึงจัดตั้งมูลนิธิทิสโก้ขึ้นมา แยกออกมาจากทิสโก้เพื่อความเป็นอิสระ และมุ่งมั่นในการปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังสามารถตัดสินใจได้เองว่าจะบริจาคในเรื่องใดโดยที่ไม่ต้องขออนุมัติจากต่างประเทศ แต่ก็ขอให้เป็นเรื่องที่มีความต่อเนื่อง โดยจดวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ว่า จะให้ทุนการศึกษากับเด็กที่ไร้ความสามารถทางด้านการเงิน ทุนรักษาพยาบาล และทุนประกอบอาชีพ” 

เริ่มจากทุนการศึกษา ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ทางมูลนิธิฯ วางกรอบคุณสมบัติผู้รับทุนว่า ต้องเป็นนักเรียนที่มีฐานะยากจน ความประพฤติดี เรียบร้อย ขยันหมั่นเพียร มีระเบียบวินัยและมีจริยธรรม โดยเป็นนักเรียนระดับชั้นประถม มัธยม อาชีวะ และอุดมศึกษา ที่ไม่จำเป็นต้องเรียนเก่งก็ขอทุนได้ และปัจจุบันมีนักเรียนทุนมากมายทยอยจบการศึกษาออกมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ

file

“เราแค่อยากส่งให้เขาได้เรียน ให้เขาอยู่ในสังคม เป็นคนดี ไม่อยากให้เขาคิดว่าถูกสังคมทอดทิ้ง อยากให้เขาอยู่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย แค่นั้นเอง" คุณศิวะพรเล่า

ทุนของมูลนิธิฯ “เป็นทุนให้เปล่า” นั่นก็เพื่อให้ทุนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และมูลนิธิฯ ก็ปรับเปลี่ยนเกณฑ์ไปตามยุคสมัย อย่างทุนรักษาพยาบาล แม้ปัจจุบันคนไทยจะมีสวัสดิการรัฐที่ดีขึ้น ทางมูลนิธิฯ ก็เปลี่ยนเป็นให้ในสิ่งที่เขาเบิกไม่ได้หรือไม่มี เช่น วาล์วหัวใจ เครื่องช่วยหายใจพิเศษ ออกซิเจน อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ผู้ป่วยต้องใช้ รวมทั้งค่าเดินทางไปหาหมอ ด้านทุนประกอบอาชีพ ก็ให้เครื่องมือช่วยทำมาหากิน อย่างรถเข็นขายของ เครื่องซักผ้า จักรเย็บผ้า เครื่องมือช่าง ฯลฯ 

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า มูลนิธิฯ และทิสโก้นั้นต่างเป็นดั่งเงาของกันและกัน ด้วยมีปรัชญาการทำงานเช่นเดียวกันคือ การลงมือทำด้วยตัวเอง การเข้าถึง และการศึกษารายละเอียดของคน ซึ่งในที่นี้ก็คือ ผู้ขอกู้เงินและผู้ขอทุน 

“แต่มีสิ่งหนึ่งที่ต่างกันคือ ความคาดหวัง และผลกำไรที่ได้รับ” คุณศิวะพรขยายความ “เมื่อทิสโก้ให้เงินกู้ เราต้องการได้ดอกเบี้ยและเงินต้น แต่สำหรับมูลนิธิ เมื่อให้แล้วเราไม่ต้องการสิ่งเหล่านั้น นอกจากนี้ อีกเรื่องที่ต่างกันในเงาก็คือ ในการศึกษาผู้คน ทิสโก้ต้องแน่ใจว่าลูกค้าสามารถคืนเงินกู้ได้ ในทางกลับกัน มูลนิธิฯ ต้องดูแล้วดูอีกจนมั่นใจว่าคนคนนั้นไม่มีทางคืนสิ่งใดกลับมาได้ เพราะยากไร้จนไม่มีวันคืนได้ เราจึงต้องให้ และต้องให้ให้ได้มากที่สุด”

file

ตลอดระยะเวลาการเดินทางอันยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ การ “ให้” โดยไม่หวังผลตอบแทนของมูลนิธิทิสโก้ ทำกำไรมหาศาลเป็น “รอยยิ้ม” และ “ความสุข” ของผู้ได้รับทุนมากหน้าหลายตา หล่อหลอมเข้ากับความสุขใจของพนักงานทิสโก้ และความสุขอันยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ซึ่งต่อยอดออกดอกผลจากผู้รับทุนกลับไปทำงานช่วยเหลือสังคมอีกทอด

ดังเช่นที่คุณศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวไว้ว่า “การให้ที่ดี” คือการให้ปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งผู้รับสามารถนำไปพัฒนาให้งอกงามต่อตนเองและสังคม เช่น การศึกษา การให้อาชีพ การให้สุขภาพ ส่วน “การให้ที่ยั่งยืน” คือการให้ที่ต่อเนื่อง หรือเป็นกิจกรรมที่เลียนแบบและต่อยอดเป็นกิจกรรมอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็น การสนับสนุนอุปกรณ์การเรียน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาในกลุ่มผู้ที่ไม่มีความพร้อมแล้ว ยังช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยได้พัฒนาศักยภาพทั้งการเรียนรู้และการใช้ชีวิตด้วย     

หลากเรื่องราวจากผู้รับทุน

ทุนรักษาพยาบาล : เท็น - เอกชัย จะฟู - “ผมดีใจที่มีคนมองเห็นคนตัวเล็ก ๆ”

เท็น เริ่มป่วยด้วยโรคลมชักตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และมีอาการรุนแรงขึ้นเมื่อเข้าเรียน ปวช. ต่อมาได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทว่าไม่ได้รับสิทธิ์ประกันสังคม จึงตัดสินใจนำเงินที่เก็บหอมรอมริบจากการฝึกงานราว 3 หมื่นบาทมารักษาตัว แต่ด้วยมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าเล่าเรียนหรือค่าที่พัก ทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่องและมีอาการชักกำเริบ ในเวลานั้น นักสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลได้พยายามหาทุนให้ แต่ไม่เป็นผล จนลองสมัครเข้ารับทุนมูลนิธิทิสโก้และได้รับทุนค่ารักษาพยาบาลถึงสองครั้ง

วันนี้เท็นใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในร้านชานมไต้หวันที่เขาเป็นพนักงานอยู่ “ผมหวังว่าคนที่ขาดแคลนอยู่จะได้รับโอกาสเหมือนผม ทุนจากทิสโก้คือทุนแรกในชีวิตที่ช่วยต่อชีวิต ขอบคุณที่ก่อตั้งมูลนิธิทิสโก้ขึ้นมาครับ”

ทุนการศึกษา : ฝาแฝดนัท - วทันยา และแนน - วรรณิกา งามขำ “ชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการศึกษา”

ครอบครัว “งามขำ” รู้จักมูลนิธิทิสโก้ตั้งแต่เรียนชั้นประถม แต่ไม่เคยยื่นเรื่องขอรับทุนจนกระทั่งขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งนัทและแนน พี่น้องฝาแฝด มีเป้าหมายเดียวกันคือ ศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย พร้อมแบ่งเบาภาระของพ่อแม่รวมถึงผู้อุปการะในขณะนั้น

“เราเป็นแค่เด็กที่มีพ่อแม่เป็นชาวบ้านธรรมดา จะเรียนหนังสือหรือไม่เรียนก็ได้ แต่การได้รับทุนจากมูลนิธิทิสโก้ทำให้เราเข้าใจคำว่าโอกาส ซาบซึ้งใจว่ามีคนสละทุนทรัพย์ของเขามาให้ ดังนั้น ต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้เงินของผู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหากไม่ได้รับทุนในวันนั้น พวกเราสองคนคงไม่ได้ทำอาชีพที่ใฝ่ฝันอย่างในวันนี้”

ปัจจุบันนัทรับราชการเป็นพนักงานศาลปกครอง และแนนเป็นพยาบาลที่โรงพยาบาลศิริราช

ทุนประกอบอาชีพ : อ้อ - ดวงตา หงษ์นาค - “เหมือนมีชีวิตใหม่”

สิ่งที่ป้าอ้อในวัย 54 ปี ได้รับจากมูลนิธิทิสโก้ไม่ใช่เงิน แต่เป็นจักรเย็บผ้า 2 ตัวที่ช่วยสร้างรายได้เสริมช่วง COVID-19 สืบเนื่องจากบริษัทผู้ว่าจ้างลดวันทำงานลง แต่ภาระทางการเงินของครอบครัวไม่ได้ลดตาม โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักษาลูก ซึ่งเป็นเด็กพิเศษทางการเรียนรู้และสติปัญญา

“ตลอดชีวิตที่ผ่านมารายรับไม่เคยพอกับรายจ่าย แต่จักรเย็บผ้าจากมูลนิธิฯ ทำให้ชีวิตที่สิ้นหวังไม่หมดหวัง รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาวันละ 400 บาท ทำให้ไม่มีหนี้สิน ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้รายวันอีกต่อไป”

การ “ให้” จากมูลนิธิทิสโก้ยังเป็นแรงบันดาลใจให้ป้าอ้อส่งต่อโอกาสดี ๆ ให้กับผู้อื่นโดยไม่หวังผล โดยมักจะบริจาคสิ่งของจำเป็นให้กับผู้ยากไร้ตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์ที่มีอยู่เสมอ

เพราะการให้ที่ดี คือการให้ที่ยั่งยืน

file
file
file

40 ปีแห่งการให้ #ให้ทุกที่คือห้องเรียน

มูลนิธิฯ ใช้วาระครบรอบ 40 ปี จัดโครงการ “40 ปีแห่งการให้ #ให้ทุกที่คือห้องเรียน” เพื่อระดมทุนจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล เป็นโทรศัพท์มือถือพร้อมสัญญาณอินเทอร์เน็ต มอบให้แก่น้อง ๆ นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จำนวน 4,040 คนทั่วประเทศ เพื่อให้น้อง ๆ ได้มีโอกาสเข้าเรียนและทบทวนบทเรียนในช่วงสถานการณ์โรคระบาดที่ยังไม่แน่นอน และเปิดโลกการค้นคว้าความรู้ใหม่ ๆ ได้ทุกที่...ทุกเวลา

แคมเปญนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร อาทิ บริษัท เอไอเอ จำกัด บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคได้ ตั้งแต่วันนี้ - 31 ตุลาคม 2565

file