นวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อสังคมสูงวัย มิติใหม่ของการใช้ชีวิต

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 61 | คอลัมน์ Global Trend

file

 

นอกจากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี อีกหนึ่งเมกะเทรนด์โลกที่เข้มข้นในศตวรรษที่ 21 ก็คือการก้าวสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” โดยข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ระบุว่า ภายในปี 2573 หรืออีกเพียง 8 ปีข้างหน้า ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิม 901 ล้านคน เป็น 1.4 พันล้านคน 

เมื่อสังคมผู้สูงอายุกำลังจะครองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั่วโลกจึงต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรในวัยทำงานลดน้อยลง ส่งผลให้การพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจอาจเติบโตได้ช้าลง

ขณะเดียวกันสาธารณสุขก็ต้องทำงานหนักขึ้น จากการที่ต้องดูแลโรคเรื้อรังจำนวนมากขึ้นและใช้ระยะเวลายาวนานขึ้น ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ในภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของหุ่นยนต์ที่มีความอัจฉริยะ และเป็นหนึ่งในตัวช่วยล้ำสมัยที่ทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ 

Living with Bots เมื่อหุ่นยนต์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

จากรายงานวิสัยทัศน์อุตสาหกรรมทั่วโลก (Global Industry Vision: GIV) คาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2025 ทั่วโลกจะมีอัตราการใช้งานหุ่นยนต์ในที่อยู่อาศัยราว 14% โดยแบ่งหุ่นยนต์ได้เป็น 4 ประเภท คือ

Nursing Bot หุ่นยนต์พยาบาล เปรียบเสมือนผู้ช่วยพยาบาลที่สามารถดูแลผู้สูงอายุและแบ่งเบางานของมนุษย์ได้อย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ดังเช่นที่บ้านพักคนชราแห่งหนึ่งในเมืองโอสึ (Otsu) ของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้นำหุ่นยนต์ประเภทนี้เข้ามาช่วยงานผู้ดูแลในช่วงกะดึก โดยมีหน้าที่ยกของหนัก พ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณลูกบิดประตู พาคุณตาคุณยายไปยังห้องพัก คอยเดินตรวจตราดูอาการผิดปกติของผู้สูงอายุตามห้องต่าง ๆ และหากพบสิ่งที่ไม่ชอบมาพากลก็สามารถถ่ายรูปรายงานได้ทันที

Butler Bot หุ่นยนต์แม่บ้าน หุ่นยนต์อัจฉริยะที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบางานบ้านที่ต้องทำเป็นกิจวัตร เช่น ดูดฝุ่น ตัดหญ้า ประกอบอาหาร ปัจจุบันหุ่นยนต์แม่บ้านได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถมากยิ่งขึ้น โดยมีทั้งระบบควบคุมการทำงานด้วยเสียง และเครื่องมือสื่อสารผ่านวิดีโอคอล เป็นต้น ซึ่งเมื่อมีหุ่นยนต์แม่บ้าน ผู้สูงอายุก็จะมีเวลาทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มคุณค่าและคุณภาพชีวิตให้ตัวเองมากขึ้น

Companion Bot หุ่นยนต์เพื่อนมนุษย์ เพราะความเหงาเป็นเงาติดตามตัวความชรา คนสูงวัยจำนวนไม่น้อยป่วยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อม สูญเสียความทรงจำที่สร้างมาทั้งชีวิต เพราะถูกตัดขาดจากสังคมที่คุ้นเคยในช่วงวัยทำงาน หุ่นยนต์ประเภทนี้จึงได้รับการออกแบบให้เป็นเหมือนเพื่อนคลายเหงาให้กับผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง และด้วยปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง จึงสามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้สูงอายุผ่านบทสนทนาง่าย ๆ และเชื่อมต่อกับระบบสื่อสารรอบตัวของเจ้าของได้ เช่น วิดีโอคอลคุยกับลูกหลาน เชื่อมต่อกับระบบดูแลสุขภาพ ระบบรักษาความปลอดภัย ระบบบ้านอัจฉริยะ รวมทั้งชักชวนให้ผู้สูงอายุออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

Bionics Bot หุ่นยนต์เสริมอวัยวะ ปัจจุบันไบโอนิกส์อยู่ในรูปแบบของอุปกรณ์สวมใส่ หรืออุปกรณ์ทดแทน เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของร่างกายที่ทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น เช่น ชุดที่ใส่แล้วช่วยทำให้เดินเหินคล่องตัวและมีกำลัง มีตัวช่วยพยุงหัวเข่าทำให้นั่งยองแล้วลุกขึ้นยืนง่าย หรือที่คุ้นกันดีอย่าง Bionic Arm สำหรับผู้พิการแขนขาด ที่สั่งงานผ่านสัญญาณประสาทบริเวณแขนของผู้ใช้งาน เป็นต้น

ส่องหุ่นยนต์สุดล้ำที่เกิดมาเพื่อผู้สูงวัย

ตัวอย่างหุ่นยนต์ที่อาจไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาเหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์ไซไฟ แต่ศักยภาพการทำงานนั้นน่าสนใจและสามารถใช้งานทุกวันได้ง่าย ๆ ในชีวิตจริง

ลาบราดอร์ (Labrador)

เดินไม่ไหวไม่เป็นไร ให้ชั้นวางของลาบราดอร์เดินได้ช่วยคุณ ลาบราดอร์ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยเคลื่อนย้ายข้าวของภายในบ้าน สามารถควบคุมการใช้งานผ่านหน้าจอสัมผัส แอปพลิเคชัน และปุ่มไร้สาย โดยมีรูปร่างขนาดประมาณโต๊ะข้างเตียง และมีด้วยกัน 2 รุ่น คือ “แคดดี้” (Caddie) ที่มาพร้อมความสูงคงที่ 30 นิ้ว และ “รีทรีฟเวอร์” (Retriever) ขนาดความสูง 25 - 38 นิ้ว ซึ่งสามารถยืดหดและเคลื่อนย้ายสิ่งของได้เอง เพียงแค่ผู้ใช้งานกำหนดจุดรับ-ส่งล่วงหน้าที่เรียกว่า “ป้ายรถเมล์” ไว้รอบบ้าน เช่น ห้องครัว ข้างโซฟา ประตูหน้า จากนั้นลาบราดอร์ก็จะเคลื่อนที่เองด้วยเซนเซอร์ไปยังสถานที่ต่าง ๆ เหล่านั้น สำหรับจุดขายของลาบราดอร์คือ การขนย้ายของจากจุด A ไปยัง B ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก โดยทั้งสองรุ่นจะวางจำหน่ายช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป สนนราคาอยู่ที่ประมาณ 1.8 - 2.4 แสนบาท

file
file

เอลลี่ คิว (ElliQ)

หุ่นยนต์ตั้งโต๊ะเอลลี่ คิว (ElliQ) เพื่อนคู่หูคู่ใจที่พร้อมพูดคุยทักทายให้คลายเหงา หนึ่งในความน่ารักของเอลลี่ คิวคือการจดจำรายละเอียดสำคัญเกี่ยวกับชีวิตและบุคลิกของเจ้าของได้ เช่น หากบอกว่าจะออกไปเดินเล่น เมื่อกลับมาเอลลี่ คิวจะทักทายทันทีว่า “ไปเดินเล่นมาสนุกไหม” นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้คุณเข้าถึงข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น อาทิ ฟังบรรยาย ฟังเพลง ตลอดจนติดต่อกับครอบครัวและเพื่อนฝูง สำหรับรูปลักษณ์ของเอลลี่ คิวนั้น ดูคล้ายกับตุ๊กตาเด็กเล็ก ที่มีหน้าปัดเรืองแสง ไมโครโฟน และลำโพง โดยสามารถขยับหน้าให้หันเข้าหาคู่สนทนาได้ แต่มีข้อจำกัดคือ หากอยากเป็นเจ้าของ คุณจะต้องมีบ้านอยู่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น โดยค่าบริการรายเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 - 1,5000 บาท/เดือน

PILLSID

สำหรับผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานและต้องพึ่งพาคนมาฉีดอินซูลินให้ทุกวัน ข่าวดีก็คืออนาคตของการฉีดอินซูลินด้วยหุ่นยนต์นั้นใกล้เป็นความจริงแล้ว ซึ่งปัจจุบัน PILLSID ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ โดยมีหลักการทำงานคือ การจ่ายอินซูลินอัตโนมัติโดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เข็มฉีดยาฉีดอินซูลินเข้าทางใต้ผิวหนัง แต่สามารถรับอินซูลินจากหุ่นยนต์ที่ฝังไว้ใกล้กับลำไส้เล็ก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ บอทจ่ายอินซูลินที่แพทย์ฝังไว้ในช่องท้องของผู้ป่วย และอีกส่วนคือแคปซูลแม่เหล็กบรรจุอินซูลินที่ผู้ป่วยต้องกลืนเข้าไป โดยแคปซูลจะทำหน้าที่เหมือนรถขนส่งสินค้าที่เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบย่อยอาหารจนไปถึงบริเวณที่ฝังบอทจ่ายอินซูลิน จากนั้นแม่เหล็กที่แคปซูลจะเข้าไปประกบกับแม่เหล็กของหุ่นยนต์จ่ายยาซึ่งจะปรับ “จุดเข้าจอด” ให้พอดี โดยแคปซูลแม่เหล็กและหุ่นยนต์จ่ายยาจะทำงานประสานกันเหมือนรถไฟฟ้าที่วิ่งเข้าสถานีเพื่อรับส่งผู้โดยสารตามเวลาที่กำหนด เมื่อหุ่นยนต์จ่ายยาดูดอินซูลินมาเก็บไว้ในหน่วยเก็บยาแล้ว แคปซูลแม่เหล็กที่ว่างเปล่าจะถูกขับออกไปตามระบบการขับถ่ายปกติของร่างกาย  

file