ฮุกกะ ลากอม ซิสุ ความสุขแสนเรียบง่ายสไตล์นอร์ดิก

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 61 | คอลัมน์ Moment of Happiness

file

เคยสงสัยไหมว่า เหตุใดดินแดนในแถบสแกนดิเนเวียน โดยเฉพาะกลุ่มนอร์ดิกอย่างฟินแลนด์ สวีเดน และเดนมาร์ก จึงมักได้รับการยกย่องว่าเป็น “มหาอำนาจแห่งความสุข” ของโลก

จากรายงานความสุขโลก หรือ The World Happiness Report ประจำปี 2022 ซึ่งจัดอันดับโดยใช้ผลการสำรวจ Gallup World Poll ที่ใช้คำถาม Cantril Ladder เพื่อวัดระดับความสุขของบุคคล ด้วยการให้ผู้คนใน 150 ประเทศทั่วโลก จินตนาการถึงบันไดที่มีตั้งแต่ขั้น 0 ไปจนถึงขั้น 10 เพื่อแสดงถึงชีวิตที่แย่ที่สุดไปจนถึงชีวิตที่ดีที่สุด แล้วให้ผู้ตอบคำถามเลือกขั้นบันไดที่เป็นตัวแทนของความรู้สึกปัจจุบัน จากนั้นจึงนำผลที่ได้ไปวิเคราะห์เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างคะแนนความสุขของคนในประเทศกับทั้งปัจจัยที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ทั้งหมด 6 ตัวแปร ได้แก่ การสนับสนุนทางสังคม อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิต การรับรู้ถึงความเห็นอกเห็นใจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว และการรับรู้การทุจริต โดยผลคะแนนปีนี้ “ฟินแลนด์” ยังครองแชมป์อันดับหนึ่งต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ตามด้วย “เดนมาร์ก” ในลำดับที่ 2 และ “สวีเดน” อยู่ในลำดับที่ 7

คำตอบของคำถามข้างต้นก็คือ เพราะฟินแลนด์ สวีเดน และเดนมาร์กมี 3 ปรัชญาความสุขซึ่งเป็นกระแสนิยมไปทั่วโลกที่เรียกว่า “ฮุกกะ” (Hygge) “ลากอม” (Lagom) และ “ซิสุ” (Sisu) 

ฮุกกะ - หาความสุขได้จากเรื่องง่าย ๆ รอบตัว

ฮุกกะ หรือฮึกเกอ เป็นภาษานอร์เวย์ หมายถึง “ความอยู่ดีมีสุข” แต่ปรัชญาและวิถีความสุขนี้เริ่มแพร่หลายเป็นครั้งแรกในประเทศเดนมาร์ก จากนั้นจึงกลายเป็นกระแสนิยมต่อไปทั่วโลก ขนาดที่ว่าพจนานุกรมออกซฟอร์ด (Oxford) ยังคัดเลือกให้คำว่า “Hygge” นั้นเป็น 1 ใน 10 คำศัพท์แห่งปี 2016

สำหรับฮุกกะแบบชาวเดนมาร์กนั้น คือการตระหนักถึงความสุขที่เรียบง่ายใกล้ตัว ความสุขอันเกิดจากความสบายกายสบายใจ มองเห็นความงดงามของความไม่สมบูรณ์แบบ ใจดีกับตัวเอง ให้รางวัลกับตัวเองบ้างเพื่อความรื่นรมย์ ยกตัวอย่างเช่น การเลือกตกแต่งบ้านด้วยกิ่งไม้ใบหญ้า ถ้วยโถเซรามิก การมีกล่องเก็บสิ่งของชิ้นพิเศษที่มีคุณค่าทางใจ ที่เปิดออกมาเมื่อไหร่ก็พบแต่ความสุข การดูภาพยนตร์เรื่องโปรดซ้ำแล้วซ้ำเล่า การกินเค้กกินขนมหวานแบบไม่รู้สึกผิด (หากมีความสุขก็กินไปเถอะ) หรือแม้กระทั่งการชวนเพื่อนมาทำอาหารแบบสโลว์ฟู้ด (Slow Food) ที่บ้าน เช่น พวกสตูที่ต้องใช้เวลาเคี่ยวหรือตุ๋นนาน ๆ ก็เป็นการกินแบบฮุกกะ เพราะนับเป็นช่วงเวลาแห่งความสบายใจและความสุข หรืออาจกล่าวได้ว่า อะไรที่ทำแล้วมีความสุขก็จงทำเถิด แค่นี้ก็เพียงพอแล้วกับความสุขแบบฮุกกะ 

ลากอม - กลมกล่อมแบบพอดี

ในขณะที่ฮุกกะให้ความสำคัญกับห้วงเวลาแห่งความสุข “ลากอม” ซึ่งเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตแบบชาวสวีเดนนั้นว่าด้วยเรื่องการรักษาสมดุลชีวิตในทุก ๆ เรื่องให้พอดี ไม่มากไปและไม่น้อยจนเกินไป หรือ “Not too little, not too much - just right” เพราะความ “พอดี” เท่ากับ “ดีที่สุด” ยกตัวอย่างเรื่องงาน หากอยากสุขสันต์แบบลากอม ก่อนอื่นต้องมีความเชื่อที่ว่า “ถ้าคุณทำงานอย่างถูกต้อง คุณจะใช้เวลาในการทำงานได้พอดี” ดังนั้น เมื่อไหร่ที่คิดว่าทำงานเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็ไม่ต้องไปเค้นทำให้เสียเวลาอีก พักดื่มกาแฟ เลิกงานตรงเวลา ให้เวลากับการพักผ่อนบ้าง หรือถ้าเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว สไตล์ของลากอมคือ แต่งตัวเรียบง่าย เน้นคุณภาพไม่เน้นราคา ใช้พลังงานไปกับการเดินสูดอากาศชมนกชมไม้ เป็นต้น

ซึ่งว่ากันว่าการใช้ชีวิตแบบลากอมเปรียบได้กับ “นมกึ่งพร่องมันเนย” กล่าวคือ เป็นนมที่ดีกว่านมทั่วไปที่มีไขมันเนยเต็มร้อย แต่ก็ไม่ได้ดีที่สุดเหมือนนมพร่องมันเนย 100% ดังนั้น ทำให้ดีที่สุด แต่ก็เว้นพื้นที่ให้ชีวิตมีสีสันบ้าง เหมือนกับที่ชาวสวีดิชมักเลือกดื่มนมที่มีไขมัน 1.5% เพราะมองว่ามีไขมันไม่มากและไม่น้อยเกินไป เป็นปริมาณที่ “Just Right” นั่นเอง

ซิสุ - เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว

ซิสุเป็นปรัชญาการใช้ชีวิตที่เข้มข้นของชาวฟินแลนด์ ที่ว่าด้วยเรื่องทัศนคติทางกายและใจ ซึ่งตรงกันข้ามกับการแสวงหาความสุข แต่เป็นการยอมรับว่าชีวิตคนเรานั้นมีทั้งทุกข์ สุข และเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยให้น้ำหนักในเรื่องของจิตวิญญาณ ความมั่นคงและมั่นใจในศักยภาพภายในของตนเอง ความแกร่งกล้า มีมานะอุตสาหะ ไม่ยอมแพ้ต่อข้อจำกัดต่าง ๆ อันเป็นคุณลักษณะทางกายและใจของมนุษย์ที่ต้องอาศัยบนแผ่นดินซึ่งห่อหุ้มด้วยความหนาวยาวนาน ดังเช่นที่ชาวฟินแลนด์ชอบอยู่กลางแจ้งในทุกสภาพอากาศ กระโดดลงน้ำได้แม้อุณหภูมิจะต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส หรือใช้จักรยานปั่นไปทำงานเป็นกิจวัตรโดยไม่สนว่ามีหิมะหรือไม่ การก้าวข้ามขีดจำกัดของร่างกายเหล่านี้คือซิสุ และความกล้าหาญเช่นนี้ก็คือหัวใจสำคัญในการสร้างชาติ สร้างนวัตกรรม สร้างการศึกษา ทั้งยังเป็นจิตวิญญาณที่ชาวฟินแลนด์ปกปักรักษาและส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

เราเองก็ใช้ชีวิตแบบซิสุได้โดยไม่ต้องผจญภัยไปถึงฟินแลนด์ แค่มีความกล้าในเรื่องเล็ก ๆ อย่างการลองกินผักที่ไม่ชอบ ฉุดตัวเองให้ตื่นเช้าเพื่อออกไปวิ่ง “รู้แหละว่ายาก แต่มุ่งมั่นตั้งใจ” นี่ก็คือหลักของซิสุเช่นกัน

file

The Little Book of Hygge: The Danish Way to Live Well โดย Meik Wiking

รู้จักวิถีฮุกกะในหลากหลายแง่มุมจากชาวเดนมาร์กผู้ก่อตั้งสถาบันวิจัยความสุข เพื่อสร้างวิถีชีวิตที่ฮุกกะในแบบของคุณเอง

Lagom: The Swedish Art of Balanced Living โดย Linnea Dunne

ร่วมค้นหาความ “พอดี ที่ดีที่สุด” ในแบบ “ลากอม” ปรัชญาสวีดิชที่จะปรับชีวิตล้น ๆ ของผู้อ่านให้กลมกล่อมในทุกด้าน

file

Finding Sisu โดย Katja Pantzar

เรียนรู้แนวคิด “ซิสุ” ของประเทศที่รับรู้ความทุกข์ จนกลายเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก จากหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ถึง 22 ภาษา