หุ้นนวัตกรรมการแพทย์ ของจำเป็น รับมือเศรษฐกิจถดถอย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 61 | คอลัมน์ Special Issue

file

“โลกกำลังจะเดินหน้าเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession” เป็นประเด็นที่หลายคนน่าจะได้ยินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทุกคนคงต่างมองหาแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถสู้ สร้างผลตอบแทนสวนตลาดได้ ด้วยกองทุนไบโอเทค-ดิจิตอลเฮลธ์แคร์!

อาจไม่เกินจริงนัก ถ้าจะกล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเดินหน้าเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หลังตัวเลขดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายดัชนีกำลังบ่งชี้ความเสี่ยงดังกล่าวชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือนมิถุนายนได้ปรับตัวลงแตะ 98.7 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2556 ทำให้เริ่มเห็นภาคธุรกิจปรับลดแรงงานให้สอดคล้องความต้องการสินค้าในอนาคตที่เริ่มลดลง

ขณะที่ภาคการเงินเองก็ได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูงถึง 0.75% มากสุดตั้งแต่ปี 2537 ในการประชุมเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และส่งสัญญาณปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องอีก 1.75% สู่ระดับ 3.25 - 3.50% ณ สิ้นปีนี้ ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วจะทำให้สภาวะการเงิน (Financial Conditions) ตึงตัวขึ้นมาก ส่งผลให้สภาพคล่องในตลาดการเงินลดลง

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ Recession อย่างเต็มตัวเมื่อไรนั้น Bloomberg Economics คาดว่า มีโอกาสจะได้เห็นในช่วง 6 - 9 เดือนข้างหน้า

ดังนั้น การลงทุนในระยะข้างหน้าต้องให้น้ำหนักกับหุ้นหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไม่ได้รับผลกระทบ หรือสามารถรอดพ้นจากการหดตัวของเศรษฐกิจได้ ซึ่งกลุ่มที่อาจจะได้รับผลกระทบน้อยเราก็คงนึกถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคที่เป็นสินค้าจำเป็น

แต่มีอีกกลุ่มหนึ่งที่นอกจากผลประกอบการจะไม่ได้รับผลกระทบในช่วง Recession แล้ว ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นั่นคือหุ้นกลุ่ม “Healthcare” หนึ่งในสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิต มีอำนาจต่อรองต่อผู้บริโภค หรือ Bargaining Power of Buyers เพราะมนุษย์ทุกคนไม่สามารถหลบเลี่ยงการเจ็บป่วยได้ ดังนั้น ทั้งรายได้และกำไรของหุ้นกลุ่มนี้ย่อมไม่หยุดเติบโตเช่นเดียวกัน

หากจะให้เห็นภาพขึ้น ลองย้อนข้อมูลจากบลูมเบิร์กจะพบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ 4 กรกฎาคม 2565) กำไรหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ย 10.20% ต่อปี (ดังแผนภาพที่ 1) เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร แต่ความต้องการรักษาพยาบาลมักจะไม่ผันแปรไปตามเศรษฐกิจ

แผนภาพที่ 1: อัตราการเติบโตของกำไรเฉลี่ยหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์กับวิกฤตเศรษฐกิจในรอบ 30 ปี และกำไรบริษัทในดัชนี S&P 500

file

ที่มา: Bloomberg (4 กรกฎาคม 2565), TISCO Wealth Advisory

 

และเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของสหรัฐฯ ต่อ GDP ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2513 พบว่า เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาตลอด แม้ว่าจะเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็ยังมีสัดส่วนที่ขยายตัวมากกว่าการเติบโตของ GDP โดยปัจจุบันมีสัดส่วนราว 19.7% ของ GDP

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare เติบโตอย่างโดดเด่นที่สุด ฝ่าทุกวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกธุรกิจย่อยในกลุ่มเฮลธ์แคร์จะเติบโตได้ในระดับสูง ซึ่งธนาคารทิสโก้ได้วิเคราะห์ว่า หุ้นเฮลธ์แคร์ที่จะช่วยนักลงทุนฝ่าฟันภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าและ Outperform ตลาดได้ คือ หุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี และ หุ้นกลุ่มดิจิตอลเฮลธ์แคร์

โดยข้อมูลจากแผนภาพที่ 2 จะพบว่า หุ้นกลุ่มไบโอเทคโนโลยี (Biotechnology) มีอัตราการเติบโตในระยะยาว (Long-Term Growth) สูงถึง 18% ขณะที่หุ้นกลุ่มเครื่องมือแพทย์ (Health Care Equipment & Services) ในกลุ่มดิจิตอลเฮลธ์แคร์ (Digital Healthcare) ก็มีอัตราการเติบโตได้ดีเช่นเดียวกัน Long-Term Growth อยู่ที่ราว 10.3%

 

แผนภาพที่ 2: หุ้นกลุ่ม Biotech โตเด่นสุดในกลุ่มอุตสาหกรรม Healthcare

file

ที่มา: Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (TISCO ESU)

 

และในอนาคตคาดว่าหุ้นทั้งสองกลุ่มนี้จะมีโอกาสเติบโตอีกมาก จากการที่ทั่วโลกเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยคาดว่าในปี 2593 ประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีมากกว่า 1 ใน 6 ของประชากรโลก สิ่งที่ตามมาก็คือความต้องการด้านการดูแลสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และธุรกิจไบโอเทคโนโลยีทางการแพทย์ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางชีวภาพ ก็จะเข้ามารักษาการเจ็บป่วยในมิติที่เหนือจากยาสามัญ อาทิ การผลิตวัคซีนและยารักษาโรค การผลิตแอนติบอดี้ (Antibody) เพื่อตรวจวินิจฉัยและเยียวยารักษาโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีด้าน DNA เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของโรคทางพันธุกรรม รวมถึงการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคอุบัติใหม่ที่มีความรุนแรง ซับซ้อน และหายาก

ตัวอย่างน่าสนใจที่เกิดจากการพัฒนาของกลุ่มธุรกิจไบโอเทคโนโลยี เช่น การจำลองระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์เพื่อยกระดับการทำงานในระดับโมเลกุล การดัดแปลงไวรัสที่กดระบบภูมิคุ้มกันไม่ให้ต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง การใช้ DNA จำลองเพื่อแทรกแซงการทำงานของระบบเซลล์ในร่างกายให้ตอบสนองต่อโรคและการดัดแปลงพันธุกรรม โดยการตัด ลบ แยกส่วน หรือเพิ่มจำนวน DNA เพื่อเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันโรค

สำหรับในแง่ของการลงทุนนั้น ปัจจุบันหุ้นกลุ่มไบโอเทคฯ ซื้อ-ขายในระดับราคาที่ต่ำกว่าดัชนี S&P 500 Healthcare โดย Forward 12-Month P/E ของดัชนี S&P 500 Healthcare ซื้อ-ขายอยู่ที่ประมาณ 15.55 เท่า ในขณะที่ Forward 12-Month P/E ของดัชนี S&P 500 Biotechnology Industry Index ซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นกลุ่มธุรกิจไบโอเทคฯ ยังซื้อ-ขายอยู่ในระดับเพียงราว 11.22 เท่า (ข้อมูล ณ 28 มิถุนายน 2565) ซึ่งหากเทียบอัตราส่วน P/E ระหว่างดัชนี S&P 500 Biotechnology Industry และ S&P 500 Healthcare จะพบว่า ครั้งล่าสุดที่ราคาเคยปรับลดลงมาในระดับนี้ ต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2541 ช่วงก่อนเกิดวิกฤต Dotcom หรือประมาณ 20 ปีก่อนเลยทีเดียว จึงจะมีโอกาสได้ซื้อหุ้นในระดับราคาแบบนี้1

          นอกจากนี้ ธุรกิจในกลุ่มไบโอเทคยังมีปัจจัยบวกจากโอกาสที่จะเกิดการควบรวมกิจการ (M&A) เป็นแรงหนุนด้วย ยกตัวอย่างบริษัท Pfizer ผู้ผลิตยา Biotech ยักษ์ใหญ่ที่พึ่งประกาศซื้อกิจการบริษัท Biohaven ผู้คิดค้นนวัตกรรมยารักษาโรคไมเกรน ด้วยเงินสดกว่า 11,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้หุ้นของบริษัท Biohaven พุ่งขึ้นถึง 70% ในวันที่ประกาศฯ ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า กลุ่มธุรกิจไบโอเทคฯ มีโอกาสจะเกิด M&A เพราะราคาหุ้นทั้งกลุ่มเล็กและใหญ่ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก ประกอบกับในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา หลายบริษัทไม่ได้มีการลงทุนมาก ทำให้ยังมีกระแสเงินสดดี ดังนั้น โอกาสการเกิด M&A ระหว่างบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปีจึงมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น2

ไม่เพียงเท่านี้ ด้วยเสน่ห์ตามที่ได้เล่ามา จึงมีโอกาสที่หุ้นกลุ่มไบโอเทคฯ จะได้รับอานิสงส์จากเงินทุนไหลเข้า (Fund Flow) อีกด้วย เพราะเมื่อราคาหุ้นไบโอเทคฯ อยู่ในระดับที่ไม่แพง แถมมีโอกาสที่จะได้รับข่าวบวกจากการ M&A ผสานกับประเด็นความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็น่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ Fund Flow เคลื่อนย้ายกลับเข้ามาในกลุ่มธุรกิจที่จะเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่นอย่างชัดเจนขึ้น

ส่วนธุรกิจดิจิตอลเฮลธ์แคร์ก็เป็นกลุ่มที่นำเทคโนโลยีทาง Digital มารวมกับเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อช่วยในการดูแลรักษาผู้ป่วย ยกตัวอย่างเช่น Telehealth การผลิตเครื่องมือตรวจและวินิจฉัยโรคพกพา การผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic Surgery) รวมไปถึงการใช้ระบบ Cloud ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วย ที่ปัจจุบันเรียกได้ว่าน่าสนใจตรงที่ตอนนี้มีราคาหุ้นที่ไม่แพง เห็นได้จาก Enterprise Value Per Sale หรือมูลค่ากิจการต่อยอดขายซึ่งเคยปรับตัวขึ้นไปสูงเกือบ 14 เท่า แต่ในปลายปี 2564 - 2565 ได้ปรับตัวลดลงมาเทรดที่ 6 เท่า เพราะได้รับแรงกดดันจากการที่ Bond Yield ปรับตัวขึ้น กดดันกระแสเงินสดในอนาคตมีมูลค่าลดลง แต่ธนาคารทิสโก้มองว่า Bond Yield น่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและจะเริ่มกลับมาลดลงในช่วงที่เหลือของปี เพราะคาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะเริ่มชะลอตัวลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มปรับตัวลดลง และตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลง ดังนั้น แนวโน้มของการปรับตัวลดลง (Downside) ของหุ้นกลุ่มนี้ก็จะค่อนข้างจำกัด3

แผนภาพที่ 3: Valuation ของกลุ่ม Digital Healthcare กลับมาใกล้เคียงช่วง COVID-19

file

ที่มา: Credit Suisse

 

ไม่เพียงแค่นี้ ธุรกิจในกลุ่มดิจิตอลเฮลธ์แคร์ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริษัทด้านโปรแกรม ซอฟต์แวร์ด้านการแพทย์ ฯลฯ ยังคงมีความสำคัญอย่างมากต่อการรักษาทั่วโลก ดังนั้น ไม่ว่าเศรษฐกิจจะถดถอยหรือตลาดหุ้นเป็นช่วงขาลง แต่ผู้ป่วยก็ยังคงมีความต้องการสินค้าและบริการในกลุ่มนี้

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Dexcom ผู้พัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายระบบตรวจสอบกลูโคสอย่างต่อเนื่อง (CGM) สำหรับการจัดการ “โรคเบาหวาน” ซึ่งเป็นโรคที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง โดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) ระบุว่า ในปี 2564 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลกจำนวน 537 ล้านคน (อายุ 20 - 79 ปี) และคาดว่าภายในปี 2588 จะมีผู้ป่วย 783 ล้านคนเลยทีเดียว ดังนั้น จึงส่งผลให้อุปกรณ์ที่บริษัทนำออกมาจำหน่าย มีความต้องการเพิ่มขึ้นตามทิศทางเดียวกับจำนวนผู้ป่วยทั่วโลกนั่นเอง4 ทั้งนี้ บริษัท Dexcom คาดว่า รายได้ทั้งปี 2565 จะโตประมาณ 15 - 20% อยู่ที่ระดับ 2,820 - 2,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ดังนั้น ในช่วงที่สถานการณ์มีความไม่แน่นอน ทำให้วางแผนลงทุนยากขึ้น หลายคนอาจจะอยากเก็บเงินไว้ในแหล่งปลอดภัย เพราะกลัวความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เรายังมีโอกาสจะชนะได้ หากสู้ด้วยกองทุนรวมที่แข็งแกร่งมากพอ อย่าง กองทุนรวมที่เน้นธุรกิจไบโอเทคโนโลยี และ กองทุนรวมดิจิตอลเฮลธ์แคร์

ธนาคารทิสโก้แนะนำ TBIOTECH - TGHDIGI

จากความโดดเด่นของสองธีมไบโอเทคฯ และธีมดิจิตอลเฮลธ์แคร์ ธนาคารทิสโก้จึงคัดเลือก 2 กองทุนที่น่าสนใจ ได้แก่ กองทุนเปิด ทิสโก้ ไบโอเทคโนโลยี เฮลธ์แคร์ (TBIOTECH) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) การวินิจฉัยโรค (Diagnostics) และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences Tools) ทั่วโลกผ่านกองทุน Polar Capital Funds plc - Biotechnology ชนิดหน่วยลงทุน I US Dollar (กองทุนหลัก)

และ กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล ดิจิตอล เฮลธ์ อิควิตี้ (TGHDIGI) ความเสี่ยงระดับ 7 (เสี่ยงสูง) กองทุนรวมหุ้นที่ลงทุนในต่างประเทศผ่านกองทุน CS (Lux) Global Digital Health Equity ชนิดหน่วยลงทุน IB USD (กองทุนหลัก) เน้นลงทุนในบริษัทที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการแพทย์ (Digital Health) ทั่วโลก

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน ติดต่อสอบถามรายละเอียด หรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารทิสโก้ทุกสาขา หรือ TISCO Contact Center โทร. 0-2633-6000 กด 2 กด 4

====================

ที่มา

1. “หุ้นกลุ่ม Biotech กำลังซื้อขาย Discount ดัชนี S&P 500 Healthcare” Bloomberg, 28 June 2022

2. “Which HC subsector is going to see the most M&A activity in 2H22” Goldman Sachs

3. “Valuation หุ้นกลุ่ม Healthcare กลับมาใกล้เคียงช่วงโควิด” Credit Suisse, Mar 2022

4. DEXCOM Form 10-K “Market Opportunity”, https://investors.dexcom.com/node/21491/html