เรื่องราวของ BLUE HOMELAND จากกลุ่ม “ธันวาผ้าคราม” สกลนคร ชูอัตลักษณ์ท้องถิ่น สร้างรายได้วิสาหกิจชุมชน

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 62 | คอลัมน์ Giving

file

 

“ผ้าทอย้อมคราม (Blue Homeland)” เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สะท้อนอัตลักษณ์ของเมืองสกลนคร ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีสาน จนได้รับรองจากสภาหัตถศิลป์โลกให้เป็น "นครหัตถศิลป์โลกเจ้าแห่งครามธรรมชาติ" (World Craft City for Natural Indigo) ซึ่งเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับชนพื้นถิ่นมาตั้งแต่สมัยโบราณที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของดีประจำถิ่น หนึ่งในนั้นคือ “ธันวาผ้าคราม” ของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโนนเสาขวัญ ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ภายใต้การนำของคุณธันวา ไชยรบ ประธานกลุ่มธันวาผ้าคราม 

เส้นทางของวิสาหกิจชุมชน “ธันวาผ้าคราม” ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2558 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและพัฒนาภูมิปัญญาพื้นถิ่นของชาวสกลนครให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้แก่ชุมชน โดยผลิตผ้าทอย้อมครามภายใต้สินค้าหลากหลายรูปแบบ อาทิ ผ้าถุง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ กระเป๋า หมวก ฯลฯ กระทั่งได้ออเดอร์สินค้าจนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่พึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งสินค้าที่ขายดีที่สุดของที่นี่ ก็คือผ้าถุงและผ้าพันคอ

คุณธันวาเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอได้ทำผ้าขาวม้าทอมือ และทำผ้าย้อมครามร่วมกับชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ได้เห็นว่าภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้สามารถต่อยอดและช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี จึงได้ก่อตั้งเป็นกลุ่ม “ธันวาผ้าคราม” ขึ้น โดยมีสมาชิกกลุ่มแรกจำนวน 5 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโนนเสาขวัญ ที่ส่วนใหญ่มีทักษะและเชี่ยวชาญในการทอผ้า เนื่องจากมีการทอผ้าใช้ในครัวเรือนเป็นประจำอยู่แล้ว จนปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ครอบครัว

เส้นทางของวิสาหกิจชุมชน “ธันวาผ้าคราม” ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2558 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว โดยมุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและพัฒนาภูมิปัญญาพื้นถิ่นของชาวสกลนครให้เป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้แก่ชุมชน โดยผลิตผ้าทอย้อมครามภายใต้สินค้าหลากหลายรูปแบบ อาทิ ผ้าถุง ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อ กระเป๋า หมวก ฯลฯ กระทั่งได้ออเดอร์สินค้าจนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่พึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งสินค้าที่ขายดีที่สุดของที่นี่ ก็คือผ้าถุงและผ้าพันคอ

คุณธันวาเล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอได้ทำผ้าขาวม้าทอมือ และทำผ้าย้อมครามร่วมกับชุมชนแห่งหนึ่ง ซึ่งทำให้ได้เห็นว่าภูมิปัญญาอันล้ำค่านี้สามารถต่อยอดและช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี จึงได้ก่อตั้งเป็นกลุ่ม “ธันวาผ้าคราม” ขึ้น โดยมีสมาชิกกลุ่มแรกจำนวน 5 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโนนเสาขวัญ ที่ส่วนใหญ่มีทักษะและเชี่ยวชาญในการทอผ้า เนื่องจากมีการทอผ้าใช้ในครัวเรือนเป็นประจำอยู่แล้ว จนปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ครอบครัว

"พอเราขายได้และมีออเดอร์เข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม่ ๆ ของครอบครัวอื่นได้เห็นก็รู้สึกสนใจ เราจึงชักชวนเข้ามาช่วยงาน จนรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนที่อยู่กันแบบเครือญาติ โดยชุมชนของเราจะมุ่งเน้นการผลิตสินค้าจากผ้าทอย้อมครามและเป็นสินค้าที่เกิดจากงานทำมือทุกขั้นตอน ซึ่งเราจะใช้เส้นใยฝ้ายที่กรอมาจากนวลของดอกฝ้ายมามัดเป็นกลุ่มเพื่อทำลวดลายบนผ้า หรือที่เรียกว่า การมัดหมี่ โดยสามารถย้อมทั้งผืนหรือย้อมเฉพาะบางส่วนก็ได้ ขึ้นอยู่กับลวดลายที่ต้องการ หากส่วนไหนไม่ต้องการให้สีติด ก็จะใช้เชือกฟางมามัดไว้ ก่อนที่จะนำเส้นใยฝ้ายไปย้อมด้วยน้ำสีครามจากธรรมชาติ ที่ได้จากใบต้นครามที่ปลูกไว้ในท้องถิ่นผสมกับน้ำคั่ง (น้ำขี้เถ้า) เป็นหลัก  

file

“การปลูกต้นครามไม่ยากถ้าเทียบกับการเก็บครามให้ได้คุณภาพ ใบครามที่นำมาใช้จึงต้องมีอายุที่พอดี ประมาณ 3 – 4 เดือน และเก็บแต่เช้าตรู่เพื่อให้ได้ใบสด เมื่อตัดเสร็จจะต้องรีบนำมาแช่กับน้ำที่เตรียมไว้ทันที เพื่อให้ได้น้ำครามย้อมสีที่มีคุณภาพ โดยจะต้องแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10 – 12 ชั่วโมง ซึ่งกว่าจะได้สีเข้มแบบที่วางขายกัน ต้องย้อมอย่างน้อยถึง 3 ครั้ง ส่วนจะย้อมให้ได้สีที่สม่ำเสมอก็ต้องอาศัยจังหวะและประสบการณ์เข้ามาช่วย โดยแต่ละชุมชนก็จะมีเทคนิคการย้อมผ้าครามที่แตกต่างกันไป ซึ่งกลุ่มชุมชนของเราก็มีเทคนิคที่เฉพาะเช่นกัน จึงทำให้ได้สีที่สด ติดทน ไม่ซีดง่าย จากนั้นจึงนำไปตากแดดไว้จนแห้ง แล้วนำมาขึ้นลายทอ โดยผ้าที่ได้จะให้เนื้อสัมผัสที่นุ่มลื่น ใส่แล้วจะให้ความรู้สึกเย็นสบาย” 

สำหรับลวดลายของผ้าทอนั้น คุณแม่ของคุณธันวาจะเป็นคนลงมือสอนให้กับสมาชิกด้วยตัวเอง ซึ่งฝีมือและความเชี่ยวชาญนี้ นับว่าเป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายายที่ถูกส่งต่อ ๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น และส่งต่อมายังเธอด้วย ทำให้ทั้งคุณธันวาและคุณแม่มีความเข้าใจในการทอผ้าย้อมครามอย่างลึกซึ้ง ว่าแต่ละลายคือลายอะไร ควรจะทอแบบไหน และใช้เทคนิคอย่างไร ในส่วนของการพัฒนาลวดลายใหม่ ๆ เธอจะร่วมคิดกับคุณแม่และผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านที่เป็นผู้ชำนาญและมีฝีมือในการทอผ้าเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ลวดลายที่มีความพิเศษ แปลกตา และงดงาม

file

“กลุ่มธันวาผ้าครามของเราเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีสมาชิกไม่มาก เมื่อเทียบกับกลุ่มชุมชนอื่นใกล้เคียง แต่มั่นใจได้ว่าสินค้าของเรานั้นมีความประณีตและมีคุณภาพดี รวมถึงลวดลายที่แตกต่างและโดดเด่นสวยงามแน่นอน โดยมีทั้งลายที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนที่มีการจดลิขสิทธิ์ไว้คือ “ลายตุ้มทอง” ลายโบราณประยุกต์ ซึ่งเดิมเรียกลายกระดุมทอง โดยนำมาทำเป็นกระเป๋า ผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ ฯลฯ เช่นเดียวกับลวดลายพื้นฐานที่สืบทอดกันมาอย่างลายหมี่กระจับ รวมถึงลายทั่ว ๆ ไป เช่น ลายหมี่ใหญ่ ลายนกยูง เราก็ผลิตด้วยเช่นกัน” คุณธันวาเล่าอย่างภูมิใจ

ส่วนใหญ่ออเดอร์ที่ได้รับมา คุณธันวาจะเป็นแกนนำในการแจกจ่ายให้สมาชิกเพื่อลงมือผลิต ซึ่งทุกคนจะแยกย้ายกันไปผลิตที่บ้าน โดยความยากง่ายและระยะเวลาที่ใช้ในการทอผ้าจะขึ้นอยู่กับลวดลายและวัตถุประสงค์ในการใช้ หากเป็นลวดลายพื้นฐานจะใช้เวลาในการผลิตประมาณ 2 วัน หรือหากเป็นผ้าพันคอที่มีขนาดแค่ 1 เมตร ก็จะใช้เวลาในการผลิตไม่กี่วันเช่นกัน เมื่อถึงกำหนดเวลาก็จะนำสินค้ามารวมกันที่บ้านของเธอ เพื่อตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานก่อนนำส่งมอบให้กับลูกค้า และจัดเตรียมสำหรับออกขายตามสถานที่ต่าง ๆ สมาชิกทุกคนของที่นี่ จึงสามารถทำผ้าทอย้อมครามได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนเสร็จออกมาเป็นสินค้าที่พร้อมสำหรับจัดจำหน่าย

แต่กว่าจะมีออเดอร์ได้แบบทุกวันนี้ คุณธันวาเล่าย้อนกลับไปว่า หลังจากที่รวมตัวกันผลิตผ้าทอย้อมครามออกมา เธอก็ส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีต่าง ๆ เพื่อสร้างคุณภาพให้กับสินค้าภายใต้ชื่อ “ธันวาผ้าคราม” จากการเริ่มประกวดที่ได้มาแค่ดาวเดียว ก็พัฒนาจนคว้ารางวัลระดับ 2 ดาว 3 ดาว จนกระทั่งวันนี้สินค้าของ “ธันวาผ้าคราม” นั้นได้ติดระดับ 5 ดาว ประเภทผ้าของสำนักงานจังหวัดสกลนครแล้ว  และทำให้ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดเป็นเส้นใยฝ้าย ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักสำคัญที่ทำให้สินค้าเกิดขึ้นได้

ความสำเร็จและออเดอร์มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่ม “ธันวาผ้าคราม” กลับเผชิญกับปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อได้เงินมาก็มักจะใช้จ่ายไปทันที โดยยังไม่มีความเข้าใจในการวางแผนการเงิน และการทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้หมุนเงินลงทุนไม่ทัน ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่น้อง ๆ จากโรงเรียนแวงพิทยาคม ซึ่งเป็นโรงเรียนเครือข่ายค่ายการเงินทิสโก้ ได้เข้าไปศึกษาภูมิปัญญาการย้อมครามและได้รับรู้ปัญหาของกลุ่ม จึงได้นำวิธีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่ได้จากการเข้าค่ายฯ  พร้อมเทคนิคการออมในแบบต่าง ๆ ไปพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มซึ่งเป็นคนในชุมชน ทั้งเรื่องของการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น อย่างค่าหวย ค่าเหล้า และเรื่องของการเพิ่มรายได้ด้วยการสร้างธนาคารขยะหมู่บ้าน โดยนำขยะรีไซเคิลที่แยกแล้วมาขายเป็นรายได้  ซึ่งมีส่วนช่วยให้ “ธันวาผ้าคราม” และสมาชิกในกลุ่มรู้จักเก็บออมและมีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น

ในครั้งนี้เองที่ทำให้คุณธันวาได้พบกับ ครูติ๋ม - ณกมลธัญ โคตรประทุม คุณครูของโรงเรียนแวงพิทยาคม ซึ่งเป็นครูที่ปรึกษาของทีมนักเรียนค่ายการเงินทิสโก้ที่ทำหน้าที่ส่งต่อความรู้สู่ชุมชนมาโดยตลอด  เมื่อครูติ๋มได้เห็นถึงความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมคราม จึงช่วยเชื่อมโยงให้ทิสโก้ได้รู้จักกลุ่มแม่บ้านที่นี่ ด้วยทราบว่าทิสโก้ให้การสนับสนุนสินค้าชุมชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจและใช้เป็นของที่ระลึกในกิจกรรมทางสังคมอื่น ๆ  เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้ที่ยั่งยืนตามวัตถุประสงค์ของการเป็นเครือข่ายธุรกิจที่เป็นมิตรต่อชุมชน (Community-Friendly Business) ซึ่งทิสโก้ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ และจากการบอกต่อของครูติ๋มและลูกค้าคนอื่น ๆ ที่เห็นคุณค่าของผ้าทอย้อมคราม ทำให้มีออเดอร์ใหม่กลับมาให้คนในกลุ่มได้ผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันสินค้าผ้าทอย้อมครามของวิสาหกิจชุมชนธันวาผ้าครามนั้นจะจัดจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าโอทอป (OTOP) และตลาดนัดต่าง ๆ อย่างตลาดนัดคนเดิน รวมถึงงานชุมชน ทั้งงานประจำอำเภอและงานประจำจังหวัด ตลอดจนการเริ่มจัดจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์ โดยคุณธันวาจะเป็นผู้จัดหาตลาดและช่องทางต่าง ๆ โดยมีสมาชิกในกลุ่มช่วยกันผลิตสินค้า 

“เราโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดและคนรู้จัก รวมถึงลูกค้าที่มาซื้อสินค้าของเราไปใช้ ก็ถูกอกถูกใจกันเป็นอย่างมาก จนเกิดการบอกต่อกันแบบปากต่อปากไปยังเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ของเขา ทำให้ธันวาผ้าครามเป็นที่รู้จักมากขึ้นและมีออเดอร์เข้ามาไม่ขาดสาย ซึ่งทำให้สมาชิกในกลุ่มของเรามีรายได้เสริมจากอาชีพเกษตรกรและสามารถพึ่งพาตัวเองได้ แต่ด้วยกำลังการผลิตที่มีจำกัด ทำให้บางครั้งก็ไม่สามารถรับบางออเดอร์ที่เข้ามาได้ หรือแม้กระทั่งการขายออนไลน์ เราก็มีสินค้าจำนวนจำกัดเช่นกัน เป้าหมายถัดไป เราจึงอยากที่จะขยายสมาชิกของเราให้มากขึ้น เพื่อรองรับการผลิตและออเดอร์ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมและอนุรักษ์ทักษะการทอผ้าไปยังเด็กรุ่นใหม่”

file

การรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้าน “ธันวาผ้าคราม” นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าและสืบสานหัตถกรรมของชาวสกลนครให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ยังสร้างความสามัคคีและสร้างรายได้ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง พร้อมขยายผลต่อให้ครอบครัวและชุมชนมีความมั่นคงและแข็งแรง ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนต่อไป

ช่องทางสนับสนุน “ธันวาผ้าคราม”

Facebook: ธันวาผ้าคราม

Tel: 08 7964 7420 / 06 4941 9708

Line: 0879647420

โครงการ “ออม Idol” ต้นแบบเยาวชนนักออมต่อยอดสู่ชุมชน

โครงการ “ออม Idol” ผลผลิตจาก “ค่ายการเงินทิสโก้” ที่ธนาคารทิสโก้ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งริเริ่มกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อสร้าง “เยาวชนต้นแบบการออมระดับประเทศ” ที่มาพร้อมความรู้และพฤติกรรมการออมที่ดี รวมถึงยังเป็นแกนนำในการเผยแพร่ชักชวนเพื่อน ครอบครัว และชุมชน ให้หันมาใส่ใจการออมและสร้างวินัยทางการเงิน คู่ควรกับการเป็น “ไอดอล” หรือแบบอย่างที่ดีให้แก่สังคมอย่างแท้จริง โครงการดังกล่าวของน้อง ๆ มีการลงพื้นที่จริงเพื่อสร้างความรู้การออม พร้อมเก็บข้อมูลผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ได้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงพื้นที่บ้านโนนเสาขวัญ ตำบลแวง อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ของวิสาหกิจชุมชน “ธันวาผ้าคราม” ด้วยเช่นกัน 

file
file