3 ขั้นตอนบรรลุแผนเกษียณอย่าง Smart

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 62 | คอลัมน์ Holistic Financial Planning

file

หากกล่าวถึงการวางแผนเกษียณ ที่ปรึกษาการลงทุนมักให้คำแนะนำด้วยการลงทุนเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น เงินฝากเพื่อรับดอกเบี้ย กองทุนรวม หรือการลงทุนเสี่ยงขึ้นในหุ้นสามัญหรือการลงทุนสินทรัพย์ทางเลือกอื่น ๆ ตามความถนัดของแต่ละบุคคล เพื่อหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนต่างราคาจากการซื้อ-ขายสินทรัพย์ (Capital Gain) หรือในรูปแบบเงินปันผลจากการลงทุนในสินทรัพย์ (Dividend) เป็นต้น ซึ่งเป็นคำแนะนำวิธีการ “สร้างเงินให้งอกเงย”

อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะการลงทุนที่ผันผวนไปตามเศรษฐกิจ ถ้าเป็นเป้าหมายการเงินระยะสั้น เช่น เป้าหมายการซื้อรถยนต์หรือเป้าหมายการซื้อบ้าน หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่หวังไว้ตอนแรกตามความเสี่ยงการลงทุน ก็อาจทำใจยอมรับและปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมที่ตนเองมีงบประมาณและคุณภาพใกล้เคียงกับเป้าหมายเดิมได้ แต่ถ้าเป็นเป้าหมายระยะยาว เช่น การเกษียณ หากต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ยามบั้นปลายชีวิตอีก 20 - 30 ปีข้างหน้าโดยไม่มีความสุขคงเป็นเรื่องที่ทำใจยอมรับได้ยาก หากกลยุทธ์ที่วางไว้ไม่เป็นไปตามแผนส่วนหนึ่งที่เกิดจากการละเลย “ปกป้องความมั่งคั่ง”  ซึ่งความไม่แน่นอนจนเงินไม่พอใช้หลังเกษียณย่อมเป็นปัญหาสำคัญต่อการใช้ชีวิตยามเกษียณแน่นอน

ก่อนเริ่มวางแผนเกษียณ เราควรจะรู้ “เส้นทางความมั่งคั่ง” เพื่อให้เราเดินไปตามเส้นทางและทำให้แผนการเงินสำเร็จได้ตามเป้าหมาย โดยอ้างอิงจากแคมเปญ “เงินทองต้องวางแผน” ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เส้นทางความมั่งคั่งด้วยการวางแผนทางการเงิน ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน คือ การสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) การปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) การเพิ่มพูนความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) และการส่งต่อความมั่งคั่ง (Wealth Distribution)

file

 

จะเห็นว่า จุดเริ่มต้นของเส้นทางความมั่งคั่งนั้น เริ่มจาก “การสร้าง” ซึ่งก็ไม่ผิดจากคำแนะนำของผู้ให้คำปรึกษาด้านการลงทุนที่ได้เกริ่นนำไว้ในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม ช่วงที่สำคัญต่อจากนั้นและอยู่ในขั้นตอนเดียวกับการวางแผนเกษียณนั่นคือ “การปกป้อง” ด้วยการวางแผนประกันเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งที่สร้างขึ้นมาจากขั้นตอนการสร้างความมั่งคั่งสูญหาย จนทำให้ออกนอกเส้นทางความมั่งคั่งหรือไม่สามารถบรรลุแผนเกษียณที่วางไว้นั่นเอง

เมื่อมาถึงขั้นตอนเริ่มการวางแผนเกษียณ แน่นอนว่า ระยะเวลาในช่วงชีวิตเกษียณโดยเฉลี่ยแล้วอย่างน้อย ๆ ก็คือ 1 ใน 3 ของชีวิต (อายุ 60 - 90 ปี หรือราว 30 ปี) เราคงอยากใช้ชีวิตเกษียณตามไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ที่ตนเองต้องการมากกว่าการฝืนใช้ชีวิตเกษียณแบบกระเบียดกระเสียร ซึ่งเคล็ดลับความสำเร็จหรือ 3 ขั้นตอนสู่การวางแผนเกษียณ SMART มีดังนี้

1) การตั้งเป้าหมายการใช้จ่ายหลังเกษียณ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายที่มีคุณภาพจะนำมาสู่การวางแผนที่เห็นภาพชัดเจนและตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) นั้น หนึ่งในบทความที่ตีพิมพ์ลงเว็บไซต์สมาคมนักวางแผนการเงิน คือการใช้หลัก SMART ในการตั้งเป้าหมาย ประกอบไปด้วย Specific (ชัดเจน) Measurable (วัดได้) Achievable (ต้องสำเร็จได้) Realistic (สมเหตุสมผล) และ Time-bound (กรอบเวลาชัดเจน) ตัวอย่างการกำหนดเป้าหมายชีวิตหลังเกษียณแบบ SMART เช่น นายเอ อายุ 40 ปี ต้องการวางแผนเกษียณ ปัจจุบันเงินเดือน 80,000 บาท การขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยปีละ 5% กำหนดเป้าหมายเกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปี และต้องการมีเงินใช้จ่ายทั่วไปหลังเกษียณประมาณ 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 12 เดือนจนถึงอายุ 90 ปี หากกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% และความสามารถในการออมและลงทุนหลังเกษียณได้ผลตอบแทนเท่ากับ 5% ก็จะได้คำตอบเบื้องต้นว่าต้องมีเงินทุนมูลค่า ณ วันเกษียณราว 40.6 ล้านบาท

file

 

อย่างไรก็ตาม จากที่ได้เกริ่นไว้ช่วงแรกว่าโดยปกติแล้วที่ปรึกษาการลงทุนจะให้ความสำคัญเรื่องการลงทุนมากกว่า แต่สิ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักในช่วงวัยเกษียณไม่ใช่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวทั่วไป แต่เป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมากกว่า ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่แน่นอนและเป็นจำนวนเงินก้อนใหญ่หากมีการรักษาในแต่ละครั้ง ดังนั้น หากให้ประเมินค่าใช้จ่ายสุขภาพตามหลัก SMART ก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก ทำให้คนที่คิดวางแผนเกษียณ รวมทั้งที่ปรึกษาการลงทุนที่ช่วยวางแผนเกษียณให้ มองข้ามค่าใช้จ่ายนี้ไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเราสามารถปรับให้ตรงกับหลัก SMART หรือให้ประเมินค่าได้ด้วยการวางแผนประกันควบคู่กัน

สำหรับการวางแผนประกันในช่วงเกษียณจะเน้นด้านผลประโยชน์ในช่วงที่ยังมีชีวิต หรือ Living Benefit ดังนั้นผลิตภัณฑ์ประกันที่จะมีบทบาทในการควบคุมค่าใช้จ่ายคือประกันสุขภาพ ยกตัวอย่างกรณีพบมะเร็งลำไส้ตอนอายุ 65 ปี จากข้อมูลของศูนย์บริการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ค่าใช้จ่ายการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ในแผนกผู้ป่วยใน (IPD) โดยเฉลี่ยประมาณ 1.8 ล้านบาท ณ ปัจจุบัน หากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อการแพทย์อีกปีละ 9.2% คาดว่าเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 16 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการชำระเบี้ยประกันสุขภาพเหมาจ่าย TISCO My Care Prestige Health สำหรับเพศชาย อายุ 40 ปี วงเงินความคุ้มครองสูงสุด 30 ล้านบาท ต่อเนื่องไปจนถึงวันที่พบมะเร็ง คือ อายุ 65 ปี ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพียง 1.8 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายรักษามะเร็งลำไส้ทั้งหมด เทียบเท่ากับการลงทุนที่ได้อัตราผลตอบแทน 15.4% ต่อปีเลยทีเดียว 

file
file

อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคร้ายแรงอาจไม่ได้ทำให้ร่างกายกลับมาสมบูรณ์ 100% อาจต้องมีเงินก้อนสำรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงการแพทย์ทางเลือก หรือนวัตกรรมการรักษารูปแบบใหม่ที่อาจไม่สามารถเคลมจากประกันสุขภาพได้ การทำประกันโรคร้ายแรงที่จ่ายเป็นเงินก้อนทันที จะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนดังกล่าว รวมทั้งสามารถเป็นเงินทุนเพื่อปรับคุณภาพชีวิตส่วนที่เกินจากความคุ้มครองของประกันสุขภาพตัวหลัก เช่น การเดินทาง อุปกรณ์เสริมสำหรับการป่วยติดเตียง ผู้ช่วยส่วนตัว และค่าอาหารเสริม เป็นต้น เพราะฉะนั้นในด้านการวางแผนเกษียณ การใช้ประกันภัยเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคร้ายแรงที่มีค่าใช้จ่ายสูง จะช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายอื่นหลังเกษียณ โดยสามารถประเมินเป็นตัวเลขที่สามารถวัดได้ตามเกณฑ์ SMART ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้เกษียณสามารถเข้าถึงการรักษาโรคที่มีมาตรฐานการรักษาที่ดีได้ง่ายขึ้น

2) สำรวจแหล่งที่มาของเงินทุน เมื่อได้เงินทุนที่ต้องจัดเตรียมไว้ ณ วันเกษียณได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสำรวจแหล่งที่มาของเงินทุน สำหรับพนักงานเอกชนโดยทั่วไปแล้วจะมีสวัสดิการภาคบังคับ ได้แก่ กองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ต้องมีการจ่ายสมทบเป็นรายงวดต่อเนื่อง แต่มักเป็นการลงทุนในหุ้นสามัญทั่วไปที่อัตราผลตอบแทนเทียบเท่าตลาดและภาคสมัครใจ เช่น กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แม้กระทั่งการนำเงินออมส่วนตัวมาลงทุน ซึ่งในปัจจุบันมีสินทรัพย์การลงทุนและนโยบายการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น และให้ผลตอบแทนสูงในระยะยาวกับธุรกิจที่สอดคล้องกับ Megatrends โลก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ตามสังคมโลก ทำให้มีศักยภาพเติบโตสูงกว่าธุรกิจอื่น และช่วยสร้างเงินทุนให้ถึงเป้าหมายเกษียณที่วางไว้ได้ง่ายขึ้นเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบทั่วไป เช่น ธุรกิจ IT ที่อยู่ในช่วง S-Curve อย่าง Cloud Computing และ Cyber Security เป็นต้น หรือธุรกิจ Innovative Healthcare ที่อ้างอิงจากดัชนี MSCI World Healthcare Index และ MSCI World IT Index สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 10 ปีตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2012 - 2022 ได้ถึง 12.16% และ 16.83% ตามลำดับ ขณะที่ MSCI World Index มีผลตอบแทนเพียง 9.47% ต่อปีเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หากคำนวณแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เข้าไปแล้วเงินทุนยังขาดจากเป้าหมายเกษียณที่วางแผนไว้ แน่นอนว่าคำแนะนำคือต้องเพิ่มการออมเงิน อย่างไรก็ตาม สังเกตได้ว่าแหล่งเงินทุนเพื่อการเกษียณมักมาจากการลงทุนเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ตราสารที่ผลตอบแทนสูงจะตามมาด้วยความผันผวนสูง ซึ่งอาจทำให้แผนเกษียณมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ทั้งช่วงก่อนและหลังเกษียณ ดังนั้น หากเราต้องการลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของแหล่งเงินทุน อาจใช้การวางแผนประกันภัยมาช่วยให้การวางแผนเกษียณ SMART ได้ ซึ่งในที่นี้ เราสามารถใช้ประกันบำนาญมาช่วยเสริมความมั่นคงของกระแสเงินสดที่ต้องการหลังเกษียณ เพราะเงินบำนาญที่จะได้รับจากประกันบำนาญมีลักษณะการจ่ายคงที่ ไม่ผันผวนไปตามเศรษฐกิจ

3) ปฏิบัติตามแผน เมื่อวางแผนเรียบร้อยแล้วผู้วางแผนเกษียณสามารถดำเนินการตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ทันที ทั้งนี้ควรประเมินแผนการลงทุนรวมถึงแผนประกันอย่างต่อเนื่อง เพราะเมื่อเวลาผ่านไปผลิตภัณฑ์การลงทุนและประกันภัยอาจพัฒนาไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งอาจทำให้แผนเกษียณของเราถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น หากผลิตภัณฑ์การเงินตอบโจทย์แผนเกษียณ เช่น การลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีการเติบโตสูงในอนาคต รวมทั้งเมื่ออัตราดอกเบี้ยขยับสูงขึ้นในช่วงนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัทรับประกันต่าง ๆ จะสูงขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยในตลาด ทำให้บริษัทรับประกันภัยเหล่านี้สามารถเพิ่มผลประโยชน์แก่ผลิตภัณฑ์ประกันใหม่ ๆ ที่จะออกสู่ท้องตลาดได้ในอนาคต

ทั้งหมดนี้เป็น 3 ขั้นตอนเพื่อเกษียณอย่าง SMART ซึ่งแม้ว่าภาพรวมจะเป็นขั้นตอนที่พูดถึงกันมานานแล้ว แต่ในเชิงรายละเอียดได้นำหลักการตั้งเป้าหมายแบบ SMART มาประยุกต์ใช้คู่กับการเลือกผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นนอกเหนือจากการลงทุน อย่างการวางแผนประกันภัย เช่น ประกันสุขภาพหรือประกันบำนาญ เข้ามาเป็นตัวเสริมให้การกำหนดเป้าหมายค่าใช้จ่ายหลังเกษียณมีความแม่นยำมากขึ้น และลดความเสี่ยงเงินไม่พอใช้และใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างเป็นสุขตามไลฟ์สไตล์ (Lifestyle) ที่ต้องการ

-----

• ประกันสุขภาพเหมาจ่าย “TISCO My Care Prestige Health” รับประกันโดยบริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จํากัด (มหาชน)

• ผู้ซื้อควรทำความเข้าใจรายละเอียดความคุ้มครองและเงื่อนไข ก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง

• ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัท ทิสโก้ อินชัวรันส์ โซลูชั่น จำกัด เป็นเพียงนายหน้าประกันภัย เท่านั้น