พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ปั้น “โรงพยาบาลคูน” เน้นการดูแลแบบ Palliative Care แห่งแรกในประเทศไทย

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 63 | คอลัมน์ All Around Me

file

 

เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยไม่ได้มีเพียงการได้รับการรักษาที่ดีจนทำให้หายขาดจากโรคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสิทธิ์ที่จะได้รับการดูแลแบบประคับประคองเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ร่างกายและจิตใจมีความสุขสบายและได้ทำตามเจตนารมณ์ของตัวเอง เมื่อยามที่เข้าสู่กระบวนการรักษาจนมาถึงช่วงท้ายของชีวิต

หน้าที่ของ พญ.นิษฐา เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลคูน ในฐานะแพทย์ จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงการรักษาเพื่อช่วยชีวิต แต่ภารกิจ “ดูแลแบบประคับประคอง” เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นที่ พญ.นิษฐาตั้งใจทำให้โรงพยาบาลคูนเป็นโรงพยาบาลนำร่องในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดและช่วยสร้างความทรงจำที่ดีให้กับสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย

พญ.นิษฐาเล่าว่า Palliative Care หรือ การดูแลแบบประคับประคองที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยประมาณ 3% เท่านั้นที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองจาก 100 คนที่ควรจะได้รับ ซึ่งในต่างประเทศมีการระบุไว้ชัดเจนว่าการดูแลแบบ Palliative Care ควรเริ่มควบคู่กัน ตั้งแต่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคร้ายแรง นอกจากนี้ จากสถิติยังพบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 400,000 - 500,000 คน และประมาณ 100,000 คน เป็นผู้ป่วยเรื้อรังจากโรคอัมพาต อัมพฤกษ์ โรคไต และมะเร็ง ซึ่งถือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของคนไทย และก่อนที่จะเสียชีวิตมักจะมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ไม่ดีเท่าที่ควร

อีกทั้งการปลูกฝังความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของการเสียชีวิตและความตายนั้น ประเทศไทยอาจจะยังไม่ได้มีการเรียนการสอนที่ชัดเจนมากนัก แตกต่างจากต่างประเทศ ที่มักปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ปฐมวัย เพื่อให้ตระหนักและเข้าใจชีวิต ซึ่งส่งผลให้มุมมองต่อเรื่องความตายในแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน โดยในอดีตผู้คนส่วนใหญ่มักจะมีมุมมองในเชิงลบต่อความตาย หรือแม้กระทั่งในเชิงการแพทย์เอง ก็อาจถูกมองว่าความตายเป็นความล้มเหลวในการรักษา ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วความตายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่วันหนึ่งก็ย่อมมาถึงวาระสุดท้าย ดังนั้น การยอมรับการจากไปอย่างมีความสุข จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ

และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ พญ.นิษฐา ตัดสินใจก่อตั้ง “โรงพยาบาลคูน (Koon)” โรงพยาบาลด้าน Palliative Care ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ควบคู่ไปกับการรักษาปกติ และลดการพึ่งพาการรักษาที่ไม่ได้ประโยชน์ พร้อมตระเตรียมพื้นที่ในช่วงสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยให้อยู่อย่างมีความสุขและได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด

“แม้ว่าความตายและการสูญเสียจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ถ้าต้องเกิดขึ้น ก็ควรจะต้องเป็นสิ่งที่สวยงาม ไม่เจ็บปวดหรือเจ็บปวดน้อยที่สุด ทั้งต่อผู้ป่วยและครอบครัว และถ้าครอบครัวยังมีเวลาและโอกาสที่จะได้สร้างความทรงจำที่ดีร่วมกัน เราก็ยิ่งควรจะช่วยสร้างความทรงจำที่ดีให้กับเขาและครอบครัว”

file
file
file

โรงพยาบาลคูน เป็นโรงพยาบาลที่ดูแลแบบประคับประคองตามมาตรฐานในการดูแลรักษา (Standard Treatment) ขนาด 30 เตียง ในเครือโรงพยาบาลเอกชัย ซึ่งปัจจุบันสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 10 เตียง เนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาบุคลากรให้เรียนรู้ เข้าใจ และพร้อมสำหรับการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้าย ที่ไม่ใช่แค่การดูแลผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้อย่างมีความสุขและไม่ทุกข์ทรมาน

“เราตั้งใจออกแบบและสร้างโรงพยาบาลคูนให้ไม่เหมือนกับโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตในโรงพยาบาลแห่งนี้ได้ในระยะยาว และอยู่ด้วยความรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย ไม่เครียด เพราะสุขภาพจิตที่ดีก็ส่งผลดีต่อร่างกายเช่นกัน ดังนั้น อาคารจึงถูกออกแบบในคอนเซปต์ Biophilic Design ที่ดึงธรรมชาติทั้งต้นไม้ สายน้ำ เข้ามาผสมผสานกับอาคารและการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างลงตัว เพื่อให้ผู้เข้ามาใช้บริการสามารถเข้าถึงธรรมชาติและเข้าใจว่าการจากไปเป็นเรื่องธรรมชาติของชีวิต”

นอกจากนี้ โรงพยาบาลคูนยังมีห้องกิจกรรม สันทนาการ ห้องชมภาพยนตร์ ที่สามารถรับชมกันได้ทั้งครอบครัว เพื่อสร้างความทรงจำร่วมกัน หรือห้องดนตรี ห้องศิลปะ ห้องอโรมาเธอราปีที่ช่วยในเรื่องกลิ่นบำบัด รวมถึงพื้นที่ส่วนตัวสำหรับนั่งสมาธิ หรือแม้กระทั่งกิจกรรมปลูกต้นไม้ใส่กระถาง ที่ไม่ใช่แค่เพื่อความสวยงามและผ่อนคลายเท่านั้น แต่ทางโรงพยาบาลยังตั้งใจที่จะส่งมอบต้นไม้ในกระถางนี้ให้กับคนในครอบครัวได้ดูแลต่อไป เสมือนเป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายที่จะมอบให้กันได้อีกครั้ง

file

การดูแลแบบประคับประคองจะเริ่มตั้งแต่การวางแผนพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ทราบถึงเป้าหมายและเจตนารมณ์ในการรักษา ตลอดจนเรื่องสำคัญในชีวิตของผู้ป่วย ว่ามีสิ่งใดบ้างที่อยากทำ มีใครบ้างที่อยากเจอ โดยสิ่งที่ท้าทายในการดูแลรูปแบบนี้ ก็คือ การออกแบบการดูแลรักษาให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งทุกขั้นตอนต่างล้วนต้องอาศัยบุคลากรที่เชี่ยวชาญและได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

“หน้าที่ของเรา คือ ต้องฟังเขาอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และพยายามเจาะให้ลึกลงไปว่า อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งหมอจะใช้เวลาตรงนี้ค่อนข้างมากในการพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัวของเขา โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณภาพชีวิตที่ดีในรูปแบบที่เขาต้องการ รวมไปถึงการดูแลความไม่สุขสบายของอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นด้วย”

พญ.นิษฐา ยกตัวอย่างการดูแลแบบประคับประคองว่า เคสหนึ่งที่เธอเคยรักษา เป็นเคสนักธุรกิจที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย และทราบว่าจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 1 เดือน เขาจึงเข้ามาปรึกษา เพื่ออยากใช้ชีวิตในช่วงวาระสุดท้ายนี้ในการเคลียร์งานและอยู่บ้านกับครอบครัว ทางโรงพยาบาลจึงออกแบบวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับความต้องการของเขา ด้วยการให้ยาประคับประคองอาการ พร้อมมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลจิตใจเขาและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายและจากไปอย่างมีความสุข

“หมออยากให้โรงพยาบาลคูนเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วย ที่สามารถออกแบบได้ว่าช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เขาอยากให้เป็นแบบไหน โดยเขาสามารถเลือกที่จะเป็นเหมือนต้นคูนได้ ซึ่งช่วงที่เริ่มผลัดใบจะเป็นช่วงที่ดอกเต็มต้นและสวยงามที่สุด” พญ.นิษฐากล่าวและเล่าต่อว่า เป้าหมายการรักษาแบบ Palliative Care คือ การประคับประคองให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้สุขสบายที่สุด แตกต่างจากการุณยฆาตที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับ โดยอาจเรียกได้ว่าเป็นการยุติการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยมีวิธีการดูแลรักษาที่หลากหลาย อาทิ การปรับการรักษาอย่างการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงชีพ การปรับยาอย่างการให้ยาประคับประคอง เป็นต้น ในทางกลับกันการรักษาที่ยื้อผู้ป่วยเป็นระยะเวลานาน จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีแต่ความทุกข์ทรมาน ดังนั้น การยุติการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบการดูแลรักษาที่แพทย์ควรต้องทำเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย

พญ.นิษฐาให้มุมมองว่า ยิ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แล้ว การดูแลแบบ Palliative Care ก็ยิ่งมีความจำเป็น เพราะอายุยิ่งมาก ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคก็ยิ่งเพิ่มขึ้นตาม และมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาฯ เป็นต้น ก็ได้เปิดให้บริการการดูแลแบบ Palliative Care เพื่อช่วยผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน แต่ประเทศไทยก็ยังมีกำแพงที่สำคัญ ก็คือ การส่งต่อผู้ป่วยจากการรักษามาสู่การดูแลแบบประคับประคองที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์แต่ละคน

ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้ โรงพยาบาลคูนมีแผนขยายสาขาให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายไว้ปีละ 1 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ในภาคต่าง ๆ พร้อมเร่งสร้างและพัฒนาบุคลากรขึ้นมารองรับ เพื่อให้การดูแลแบบ Palliative Care ของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากที่สุด