การใส่แร่กัมมันตรังสี High Dose Rate Brachytherapy เทคนิคใหม่ใช้รังสีรักษา “มะเร็งต่อมลูกหมาก” โดยไม่ต้องผ่าตัด

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 63 | คอลัมน์ Health Focus

file

สำหรับคุณผู้ชายแล้ว “มะเร็งต่อมลูกหมาก” เป็นอีกโรคหนึ่งที่ต้องพึงระวัง เพราะในบรรดาโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตคนไทยกว่า 400 คนต่อวัน หรือกว่า 140,000 คนต่อปี ตามข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2565 นั้น พบว่า มะเร็งต่อมลูกหมากเป็นโรคยอดฮิตอันดับสี่ที่ชายไทยป่วยมากที่สุด

และที่น่าเป็นห่วงก็คือ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะไม่ค่อยรู้ตัวและวางใจว่าเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ประเด็นนี้ นายแพทย์ยงยุทธ คงธนารัตน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลเมดพาร์ค อธิบายว่า อาการที่สื่อว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากกับอาการที่ไม่ใช่มะเร็งนั้นแยกกันยาก เพราะผู้ชายที่เริ่มสูงอายุส่วนใหญ่จะมีอาการปัสสาวะติดขัด และต้องเข้าห้องน้ำบ่อยในช่วงกลางคืนอยู่แล้ว โดยส่วนมากอาการเหล่านี้คือเรื่องของ “ต่อมลูกหมากโต” ไม่ใช่ “มะเร็งต่อมลูกหมาก” ทว่าในความเป็นจริงแล้ว อาการต่อมลูกหมากโตอาจมีโรคมะเร็งต่อมลูกหมากซ่อนอยู่ได้ในผู้ป่วยบางราย

file

การตรวจวัดค่า PSA (Prostatic Specific Antigen) คือ การตรวจหาสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด ซึ่งหากค่า PSA สูงเกินกว่า 10 นาโนกรัม/มิลลิลิตร นั่นอาจหมายถึง มีโอกาสตรวจเจอมะเร็งต่อมลูกหมากมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

“ในประเทศญี่ปุ่นพบว่า การชันสูตรศพของผู้ชายที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และแจ้งเหตุเสียชีวิตด้วยโรคอื่นนั้น หลายรายตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยไม่เคยมีอาการผิดปกติมาก่อน” นพ.ยงยุทธเล่าก่อนจะกล่าวเสริมว่า ผู้ชายที่มีอายุเกิน 60 ปี หากมีอาการปัสสาวะบ่อย ติดขัด หรือปัสสาวะเป็นเลือด ควรมาตรวจร่างกายให้แน่ชัด โดยวิธีการเจาะเลือดตรวจหาค่า PSA (Prostate Specific Antigen) ซึ่งเป็นการเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก

“หากพบว่า มีค่า PSA สูง ควรพบแพทย์ศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งปัจจุบันมีทั้งวิธีการผ่าตัด การฉายแสงจากภายนอก การฝังแร่ และการใส่แร่ ส่วนผู้ที่ไม่มีอาการ แต่มีอายุเกิน 60 ปี แนะนำควรตรวจสุขภาพประจำปี ด้วยการเจาะเลือดตรวจค่า PSA เพราะกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีค่า PSA สูง โดยมะเร็งต่อมลูกหมากมักพบได้ในผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ส่วนในช่วงอายุ 40 - 60 ปี ก็อาจพบได้ แต่เจอน้อยกว่า” คุณหมออธิบาย

 

วิวัฒนาการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก

ปัจจุบันมีวิธีการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหลากหลายวิธี ทั้งการผ่าตัดปกติ ซึ่งอาจตามมาด้วยภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินปัสสาวะหลายอย่าง หรือบางรายอาจมีผลต่อเส้นประสาทจนทำให้ความเป็นผู้ชายสูญเสียไป ต่อมาจึงมีการผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมากโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เพราะเชื่อว่ามีความแม่นยำสูงและช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการผ่าตัดปกติได้บ้างบางส่วน แต่ผู้ป่วยก็ยังคงต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลเป็นเวลาหลายวัน

“จนกระทั่งมีการนำเทคนิคทางรังสีรักษาโดยใช้แร่กัมมันตรังสีมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากร่วมด้วย ซึ่งผู้ป่วยจะใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อยมาก การใช้แร่กัมมันตรังสีในการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งออกเป็น 2 วิธีหลัก ๆ วิธีแรก เรียกว่าการฝังแร่ หรือ Low Dose Rate Brachytherapy คือการนำแร่กัมมันตรังสีชนิดไอโอดีน 125 ฝังเข้าไปในต่อมลูกหมากจำนวนหลายสิบเม็ดโดยจะเป็นการฝังแร่กัมมันตรังสีในตัวผู้ป่วยอย่างถาวร ดังนั้น วิธีนี้จึงจะมีการแผ่รังสีปริมาณเล็กน้อยออกมาจากตัวผู้ป่วยตลอดเวลา  อีกทั้งเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตและมีการเผาศพจะทำให้เกิดการปล่อยกัมมันตรังสีออกสู่สิ่งแวดล้อม  

ส่วนวิธีที่สอง เรียกว่าการใส่แร่ หรือ High Dose Rate Brachytherapy คือการใช้แร่กัมมันตรังสีชนิดอิริเดียม 192 ใส่เข้าไปในเครื่องมือที่ใส่เข้าไปในตัวผู้ป่วยเพียงชั่วคราว แล้วถอดออก ซึ่งเป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่า เพราะจะไม่มีแร่กัมมันตรังสีติดตัวผู้ป่วยและไม่แผ่ออกสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งปัจจุบันเนื่องจากเครื่องมือและระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้คำนวณมีความทันสมัย สามารถคำนวณปริมาณและการกระจายของรังสีได้อย่างแม่นยำ จึงทำให้ผลการรักษาดีขึ้นและอัตราการหายขาดจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเทียบเท่าการผ่าตัด และผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนค่อนข้างน้อย

การรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยจะได้รับการให้ยาระงับความรู้สึกตลอดเวลาที่ทำหัตถการ หลังจากนั้นจะมีการใส่เครื่องมือขนาดเล็กเข้าไปที่ต่อมลูกหมากผ่านทางผิวหนัง และมีการใช้โปรแกรมที่ทันสมัยคำนวณปริมาณและการกระจายรังสีโดยละเอียด ทำให้ผลการรักษาดี และผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะพักอยู่โรงพยาบาลแค่ประมาณ 1 วันและหลังจากกลับบ้าน ก็สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้ตามปกติ” 

file

หากคุณมีปัญหาในการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่สุด มีเลือดปนในน้ำอสุจิ ปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน หรือมีอาการปวดกระดูก เหล่านี้คือสัญญาณของการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งควรรีบพบแพทย์

ทั้งนี้ การรักษาโดยการใส่แร่กัมมันตรังสีชนิดอิริเดียม 192 หรือ High Dose Rate Brachytherapy จะมีความเหมาะในการรักษากรณีที่มะเร็งยังอยู่เฉพาะในต่อมลูกหมาก แต่สำหรับผู้ป่วยที่มะเร็งแพร่กระจายไปบริเวณอื่นแล้ว ต้องใช้วิธีอื่น ๆ ในการรักษาร่วมด้วย เช่น การใช้ฮอร์โมน หรือการฉายแสงจากภายนอก เป็นต้น  

“ปลอดภัย ฟื้นตัวเร็ว” จุดเด่น High Dose Rate Brachytherapy

ปัจจุบันการรักษาด้วย High Dose Rate Brachytherapy เป็นการรักษาที่ปลอดภัยและให้ผลดีมาก อีกทั้งผู้ป่วยยังฟื้นตัวได้เร็ว และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แม้จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับคุณภาพในการรักษาแล้ว นับว่ามีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง 

file

การสแกน MRI หรือการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะมีโอกาสตรวจพบมะเร็งได้สูงถึง 60 - 80 เปอร์เซ็นต์ ช่วยให้ทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที

“ผลข้างเคียงหลังจากวันที่ใส่แร่อาจจะมีปัสสาวะติดขัดหรือมีเลือดออกเล็กน้อย แต่ไม่กี่วันอาการเหล่านี้ก็จะหายไป โดยการใส่แร่เพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากให้มีประสิทธิภาพ แนะนำให้รับการใส่แร่ต่อเนื่องเป็นจำนวนทั้งหมด 4 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อให้ได้รับปริมาณรังสีที่สม่ำเสมอในการกำจัดเนื้อร้าย” 

สำหรับขั้นตอนในการรักษา เมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ ทั้งแพทย์ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ และแพทย์รังสีรักษาจะทำการประชุม เพื่อวางแผนการรักษาร่วมกัน 

คุณหมอยงยุทธกล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยวิธี High Dose Rate Brachytherapy ต้องอาศัยเครื่องมือที่มีความเฉพาะทาง และราคาค่อนข้างสูง อีกทั้งต้องใช้ผู้ชำนาญการในหลายด้าน ทั้งทีมแพทย์หลายสาขา นักฟิสิกส์ นักรังสีเทคนิค และพยาบาลที่มีความชำนาญพิเศษ จึงทำให้สถาบันที่สามารถเปิดให้บริการการรักษาด้วยวิธีนี้มีค่อนข้างจำกัด แม้แต่ในต่างประเทศ 

ดังนั้น หากคุณสงสัยหรือได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และต้องการรักษาด้วยวิธี High Dose Rate Brachytherapy สามารถเข้ามารับการให้คำปรึกษาและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลเมดพาร์ค ซึ่งมีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการครบถ้วน

สุขภาพดี สร้างได้ด้วย 3 กฎเหล็ก

“กินน้อย เดินเยอะ อารมณ์ดี” คือกฎเหล็ก 3 ข้อที่คุณหมอยงยุทธกล่าวทิ้งท้ายให้นำไปใช้ในการดูแลสุขภาพ  โดยคุณหมอย้ำว่าเคล็ดไม่ลับนี้สามารถใช้ได้กับทุกโรค เพราะปัจจุบันความเจ็บป่วยส่วนหนึ่งเกิดจากการบริโภคมากเกินความต้องการของร่างกาย และไม่ได้ออกกำลังกาย การเดินเยอะจึงหมายถึงให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่วนคำว่าอารมณ์ดี หมายถึงอย่าโมโหง่าย เพราะการโมโหส่งผลกับหลายโรค ตั้งแต่ความดันโลหิตสูงไปจนถึงมะเร็ง ฉะนั้น ถ้าใครทำได้ตามกฎ 3 ข้อง่าย ๆ นี้ ชีวิตก็จะยืนยาวอย่างมีความสุข

file
file

ทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ โรงพยาบาลเมดพาร์ค (จากซ้ายไปขวา)

1. นพ.ไพบูลย์ บุญญะพานิชสกุล ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบทางเดินปัสสาวะ

2. นพ.อาคเนย์ วงษ์สวัสดิ์ - ศัลยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านระบบทางเดินปัสสาวะ

3. นพ.ยงยุทธ คงธนารัตน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

4. พญ.นารีนาฎ รัชพงษ์ไทย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

5. นพ.ธีรกุล จิโรจน์มนตรี แพทย์ผู้ชำนาญการด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา

file