ณิศรา ถกลศรี ลมใต้ปีกแห่ง “นีโอ คอร์ปอเรท” อาณาจักรสินค้า FMCG ไทย มุ่งเป้าสู่เวทีโลก

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 67 | คอลัมน์ New Generation


ความชอบสร้างพลังขับเคลื่อนสำคัญให้ทุกการทำงานเป็นไปอย่างมีความหมายพร้อมพัฒนาสู่เป้าหมายความสำเร็จนั้น ได้กลายเป็นคำตอบที่คุณพายน์-ณิศรา ถกลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) ค้นพบในวันที่เข้าร่วมบริหารกิจการครอบครัวมาเป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากการเข้ามาเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้งานหลายแผนก ก่อนก้าวขึ้นรับตำแหน่งสำคัญในบริษัทผู้ผลิตสินค้าประเภท FMCG (Fast-moving Consumer Goods) ที่ประกอบด้วย 8 แบรนด์คู่เรือนคนไทยมากว่า 34 ปี ถึงวันนี้ ทำกำไรได้กว่า 400 - 500 ล้านบาทต่อปี และเป้าหมายยิ่งเข้มข้นขึ้นจากการเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากพาแบรนด์อุปโภคที่ผลิตโดยคนไทยให้ยิ่งใหญ่ไปถึงระดับโลก

file

อาณาจักรสินค้าอุปโภคคู่เรือนคนไทย 

อาณาจักรของนีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) หรือ “นีโอ” ก่อตั้งและบริหารโดยคนไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2532 และมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของตลาด จนต้องสร้างฐานการผลิตใหม่ ประกอบด้วยอาคารสำนักงานโรงงานและส่วนของโรงงาน รวมเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท บนพื้นที่ 188 ไร่ ในชื่อบริษัท นีโอ แฟคทอรี่ จำกัด ถึงวันนี้ล่วงเข้าปีที่ 34 แล้ว ปัจจุบันมีสินค้า 8 แบรนด์ดังเรียงตามไทม์ไลน์การออกวางตลาด โดยคุณพายน์ ทายาทเจเนอเรชัน 2 เริ่มต้นเล่าเส้นทางการเติบโตของธุรกิจครอบครัว ผ่านรอยยิ้มอันแสนภาคภูมิใจว่า

“จากความตั้งใจของ CEO  คือคุณพ่อซึ่งเป็นเจเนอเรชัน 1 มองว่าเวลาไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตมีสินค้าให้เลือกเยอะก็จริง แต่ที่ดูดีมักจะเป็นของต่างชาติ จึงเป็นแรงบันดาลใจว่าทำไมคนไทยจะทำสินค้าดี ๆ มาแข่งบ้างไม่ได้  เราเริ่มจากโคโลญจน์ผู้หญิง เอเวอร์เซ้นส์ (Eversense) แบรนด์ในดวงใจของสาววัยรุ่นทุกสมัย ตามมาด้วยทรอส (TROS) โคโลญจน์ผู้ชาย และจากสินค้า Personal Care หรือสินค้าของใช้ส่วนบุคคล ก็เริ่มมองกว้างขึ้นสู่สินค้าในครัวเรือน คือไฟน์ไลน์ (Fineline) ต้องบอกว่าสินค้าเราเพิ่มไปตามวิถีชีวิตของคุณพ่อคุณแม่เอง ทีนี้พอมีลูกก็เริ่มสนใจสินค้าเด็ก พี่สาวกับพายน์โตมากับแบรนด์ดีนี่ (D-nee) เลยค่ะ ซึ่งข้อสนุกของ FMCG คือตรงนี้ เพราะคนทำก็เป็นคนใช้สินค้าเหมือนกันจึงเห็นความต้องการที่แท้จริง

“จากนั้นตามมาด้วยวีไวต์ (Vivite) โรลออนผู้หญิง ต่อด้วยบีไนซ์ (BeNice) ครีมอาบน้ำ ตอนที่เริ่มทำท้าทายมากเพราะมีเจ้าตลาดที่แข็งแกร่งอยู่ แต่ด้วยจุดเด่นของเราชัดเจนมากคือเป็นเจ้าแรกที่ใช้ผลไม้ผสม ทำให้มีโมเมนตัมในการได้ส่วนแบ่งการตลาดที่ดี จากนั้นแบรนด์สมาร์ท (Smart) น้ำยาซักผ้ากับปรับผ้านุ่มที่เน้นฟังก์ชันแอนติแบคทีเรียก็ตามมา 

และล่าสุดแบรนด์โทมิ (TOMI) เป็นผลิตภัณฑ์ล้างทำความสะอาดห้องน้ำที่ได้นวัตกรรมจากญี่ปุ่น แล้วเรานำมาเบลนด์เป็นสูตรของเราเอง เป็น Surfactant Base สูตรไม่มีกรด ไม่อันตราย กลายเป็นสินค้าในตลาดที่แตกต่าง เพราะผลิตภัณฑ์ล้างทำความสะอาดห้องน้ำมักมีกรดทำลายสุขภัณฑ์ กลิ่นค่อนข้างแรง แต่ของเราไม่ และยังตอบโจทย์สำหรับคนอยู่คอนโดฯ พื้นที่เล็กด้วย”

การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ FMCG เน้นฟังเสียงความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งมักเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ รวมถึงแก่นของการผลิตสินค้าที่ต้องมีคุณภาพ เมื่อถูกถามว่า “อะไรทำให้คนเลือกหยิบแบรนด์ของนีโอ”

คุณพายน์มองว่าเป็นในเรื่องของคุณภาพและความคุ้มค่าที่ผู้บริโภคต้องการ “อย่างผลิตภัณฑ์ซักผ้าชนิดน้ำ ที่แม้ในตลาดมีตัวเลือกเยอะแต่ช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา เรากลับทำยอดได้ดีมาก นั่นเพราะคนเลือกใช้ของที่ Value for Money คือเลือกที่ความคุ้มค่า ไม่ได้เลือกเพราะราคาถูกที่สุด ดังนั้นการมีสินค้าคุณภาพดี กลิ่นหอม อ่อนโยน สะอาด และขายในราคาที่เหมาะสม จึงเป็นจุดเด่นสินค้าของนีโอ”

เนื่องด้วยสินค้าประเภท FMCG นั้นเกี่ยวพันอยู่กับชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างแยกไม่ออก จึงเชื่อมโยงเช่นกันกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ คุณพายน์ยอมรับว่าถ้าเทียบกันในตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว เมืองไทยเราเป็นรองก็เฉพาะอินโดนีเซียเท่านั้น นั่นหมายความถึงโอกาสที่ยังเติบโตกว่านี้ได้อีกมาก  

ในมุมนักธุรกิจสาวรุ่นใหม่มองว่า จากสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ไลฟ์สไตล์ของผู้คนเปลี่ยนไปในสองด้าน เรื่องแรกคือ ทุกคนหันมาสนใจในเรื่องสุขภาพ สุขอนามัย สุขลักษณะมากขึ้น ผู้บริโภคศึกษาที่มาของสินค้ามากขึ้น พร้อมไปกับความต้องการอยากลองสินค้าใหม่ ๆ และอีกด้านนั้นเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ ด้วย “เมืองขยาย” (Urbanization) ขึ้น หันมาอาศัยอยู่คอนโดฯ มากขึ้น หลายคนจึงมองหาสินค้าที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป “และนั่นได้ทำให้แนวโน้มตลาด FMCG มีความสนุกตื่นเต้น เพราะผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งด้านปริมาณและความหลากหลาย แล้วเราไม่เพียงมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการได้เท่านั้น แต่ยังสามารถพัฒนาไปสำหรับข้างหน้าด้วย” คุณพายน์กล่าว

ธุรกิจครอบครัวคือเส้นทางที่ใช่

ก่อนหน้านี้ลูกสาวคนสุดท้องของครอบครัว “ถกลศรี” ยอมรับว่าแม้จะเติบโตมาอย่างคุ้นเคยกับสินค้าหลายหลากที่ทางบ้านผลิตเอง หากแต่ไม่เคยตั้งเป้าหรือแม้แต่ถูกคาดหวังว่าจะต้องเข้ามาสืบทอดกิจการ กระทั่งเมื่อเรียนมหาวิทยาลัย ผ่านการชั่งตวงวัดทางความคิดอย่างถี่ถ้วนแล้ว ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจกลับมาเริ่มงานแรกในชีวิตกับธุรกิจของครอบครัว และใช้เวลาไม่นานเลยที่จะพบคำตอบว่า นี่คือเส้นทางที่ใช่ ก่อนนำพามาจนถึงปีที่ 7 แล้วในวันนี้

“พายน์ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน คือการชอบงานที่ทำ ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องชอบทุกพาร์ต อาจจะชอบสัก 80% ก็ได้ ขอแค่ตื่นมาแล้วอยากทำ คิดถึงมัน พอมีแพสชันแบบนี้แล้วเราก็อยากคิดว่าจะต่อยอดงานอย่างไร” คุณพายน์กล่าว

file

“ลมใต้ปีก” คอยซัพพอร์ตพนักงาน

หลังจากวนเวียนเรียนรู้งานฝั่งหลังบ้านหลายแผนกแล้ว ในที่สุดก็ถึงเวลาก้าวขึ้นรับตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายปฏิบัติการ บริษัท นีโอ คอร์ปอเรท จำกัด (มหาชน) รับผิดชอบดูแลงานด้านโอเปอเรชันทั้งหมดหรือเรียกว่า “ทัพหลังดูแลหลังบ้าน” นั่นเอง ปัจจุบันบริษัทมีพนักงานรวมทั้งสิ้นราว 2,400 คน โดยอยู่ภายใต้การดูแลของคุณพายน์ราว 200 คน ซึ่งแต่ละขวบปีในการทำงานที่ผ่านมา ยิ่งเพิ่มพูนประสบการณ์ พร้อมกับเรียนรู้ไปด้วยเช่นกันว่าควรใช้หลักบริหารคนอย่างไรจึงจะได้ใจทีมและนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการ ซึ่งความพยายามในการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดีภายในบริษัทก็ส่งผลสำเร็จแล้ว การันตีด้วยรางวัลองค์กรที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในเอเชีย (Best Companies to Work for in Asia) ที่นีโอ คอร์ปอเรท ได้รับถึง 4 ปีซ้อน (ปี 2019, 2021, 2022 และ 2023)

“พายน์เป็นคนชัดเจนในการทำงาน และชอบคุย ชอบเรียนรู้งานจากฝ่ายอื่นให้เขาสอนงาน ตอนแรกอาจจะเป็นการบริหารแบบ Top-Down ก็จริง แต่หากเราเปิดกว้าง รับฟังเสียงจากคนทำงานมาพิจารณา ซึ่งที่นี่เรียกได้ว่ามีพนักงานทุกเจเนอเรชัน ทำให้มีมุมมองในเรื่องต่าง ๆ กว้างขึ้น ผู้ร่วมงานก็จะรู้สึกว่าเสียงของตัวเองมีคุณค่า มีความสำคัญต่อบริษัท ต่อมาเขาก็จะกล้าเสนอไอเดีย สนุกกับการทำงาน และมีแรงจูงใจที่จะพัฒนางานให้ดีขึ้นด้วยตัวเอง

“ข้อเด่นอีกอย่างหนึ่งของพายน์คือไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ บวกกับมีเป้าหมายที่ตัวเองต้องการทำไว้ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการสรรหาหลากหลายวิธีระหว่างทางการทำงานที่ทำให้เราสนุก ยกตัวอย่างเช่น โปรเจ็กต์ลด Production Waste คือในโรงงานมีปริมาณของเสียจากการผลิตในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นต้นทุนที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เช่น การผลิตครีมอาบน้ำจะมีฝา ขวด หรือสติกเกอร์ที่เอาไปใช้ต่อไม่ได้ เมื่อก่อนเราไม่ได้บันทึกข้อมูลการผลิตแบบเรียลไทม์ จึงไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงว่ามีปริมาณของเสียอยู่เท่าไร ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือจากคนหน้างานเพื่อให้บันทึกข้อมูลที่ถูกต้อง โดยที่ต้องหาวิธีที่ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้มีภาระงานเพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยเจรจากับฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เห็นตรงกันว่าปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญ เรียกว่าต้องใช้พลังสร้างความร่วมมือกับหลายฝ่ายเพื่อแก้ปัญหา ผลลัพธ์คือเราสามารถลด Production Waste ได้จากเดิม 2% เหลือแค่ 0.15% เท่านั้น” คุณพายน์เล่า

file
file
file
file

ใกล้ชิดชุมชน แบ่งปันและหมั่นให้โอกาส

ความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความพยายามจะลดของเสียจากการผลิตที่คนเป็นผู้นำให้ความสำคัญยังถูกนำไปต่อยอดเป็นการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการหมั่นสานสัมพันธ์กับชุมชนรอบข้างอย่างใกล้ชิด

“เราให้ความสำคัญด้านดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนค่อนข้างสูง มีการเข้าไปสอนให้โรงเรียนในพื้นที่รอบ ๆ  โรงงาน อาทิ การแยกขยะ ปลูกต้นไม้ การเลี้ยงผึ้ง ทำธนาคารน้ำ เรามีระบบการบำบัดน้ำที่ค่อนข้างครบวงจร ทันสมัย ไม่มีการปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงาน ทำให้มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างแข็งแกร่งกับชุมชนโดยรอบบริเวณเพราะถือว่าเราต้องอยู่ร่วมกัน ในส่วนของ Production Waste ในโรงงาน เราก็ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์นำไปทำ Upcycling ออกมาเป็นอิฐเป็นปูนที่มีชื่อบริษัท สำหรับนำไปใช้งานก่อสร้างในวัดหรือทำทางเดิน เป็นงานหนึ่งที่สร้างภาพจำได้อย่างชัดเจน”

ก้าวต่อสู่บริษัทมหาชน มุ่งเป้าเวทีโลก

ภายในปี 2567 นีโอ คอร์ปอเรท พร้อมแล้วสำหรับก้าวใหญ่สำคัญสู่การเป็น “บริษัทมหาชน” หลังจากเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ได้ยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายหุ้น IPO เตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหุ้นน้องใหม่ในธุรกิจ FMCG สัญชาติไทยแท้ที่น่าจับตามอง

การนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นั้นมองว่าเพราะเราอยากจะเติบโตไปข้างหน้า ด้านหนึ่งเป็นเรื่องของการระดมทุน เพื่อให้เกิด S-Curve ที่จะทำให้สามารถโตในอัตราที่เร็วขึ้น กับอีกด้านหนึ่งอยากได้มาตรฐานการทำงานในฐานะบริษัทมหาชน  ส่วนเป้าหมายหลังจากนี้ อยากให้นีโอซึ่งเป็นกิจการของคนไทยก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำด้าน FMCG ในระดับเอเชียและระดับโลก และเป็นแรงบันดาลใจ ผลักดันให้ธุรกิจอื่น ๆ ของคนไทยให้ก้าวขึ้นมาแข่งขันได้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ในการทำงานจริงเรามีความร่วมมือกับหลายบริษัท เช่น กลุ่มสินค้าที่ไป Collab กับแบรนด์ไทยดีไซเนอร์ ทำรีเสิร์ชร่วมกับมหาวิทยาลัย ทำสินค้าคอมเมอร์เชียล ซึ่งการเป็นบริษัทมหาชนจะช่วยยกระดับพาร์ตเนอร์ของเราไปด้วย  

“ภาพอนาคตที่อยากเห็น คือการที่บริษัทไทยที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ให้กับเมืองไทยได้ เช่น เวลาคิดถึงประเทศไทยเราจะนึกถึงเรื่องอาหาร ก็อยากให้นึกถึงสินค้า FMCG ของไทยในแนวเดียวกัน พายน์อยากเป็นแรงสนับสนุนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาพอนาคตแบบนั้นค่ะ” คุณพายน์กล่าวทิ้งท้าย