หากไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หุ้นไทยครึ่งปีหลังได้ฤกษ์พลิกฟื้น

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 69 | คอลัมน์ Investment Strategy

file

โมเมนตัมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง คาดจะดีกว่าครึ่งปีแรก

    หลังงบประมาณปี FY2024 มีความล่าช้าเกือบ 7 เดือน ในที่สุดก็ผ่านกระบวนการพิจารณาทางรัฐสภาและได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้วในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา เราคาดจะเห็นการเบิกจ่ายงบประมาณเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป โดยเฉพาะงบลงทุนที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่องจนถึงสิ้นสุดปีงบประมาณในเดือนกันยายนนี้ ทำให้โครงการลงทุนภาครัฐต่าง ๆ เดินหน้า เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม

    นอกจากนี้ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐมีความชัดเจนขึ้น หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการดิจิทัลวอลเล็ตและอนุมัติงบกลางปี 1.22 แสนล้านบาทเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ สะท้อนความตั้งใจในการเดินหน้าโครงการดังกล่าว โดยรัฐคาดจะเริ่มแจกเงินได้ในช่วงไตรมาสที่ 4/2024 ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญต่อการท่องเที่ยวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การให้และขยายฟรีวีซ่าในหลายประเทศ การออกมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองในช่วง Low Season จนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ เป็นต้น คาดจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ระดับ 35-36 ล้านคน และสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจให้กระจายแบบทั่วถึงโดยเฉพาะในต่างจังหวัด

    ผสานกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีการกระจายตัวมากขึ้นในหลายประเทศสำคัญ ผ่านตัวชี้วัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโดยรวมของทั่วโลก (Global Composite PMI) ล่าสุดในเดือน พฤษภาคมที่ปรับขึ้นเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยเฉพาะ PMI ภาคบริการสหรัฐฯ PMI ภาคการผลิตจีน และ PMI ภาคบริการของยูโรโซนอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวเร่งขึ้น สอดคล้องกับประมาณการ GDP ปี 2024F ที่นักเศรษฐศาสตร์เริ่มปรับคาดการณ์ขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั้งกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets: DM) และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EM) น่าจะหนุนภาพการส่งออกฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

    ซึ่งเราคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวได้ราว 2.0-2.6% เทียบกับในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (เดือนมกราคม-เมษายน 2024) ที่ขยายตัว 1.4%  อนึ่ง ตัวเลขการส่งออกในเดือนเมษายนพลิกเป็นบวก +6.8% YoY ดีกว่าตลาดคาดที่ +0.8% YoY ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนเมษายนกลับมาขยายตัว +3.4% YoY เป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2

file

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมยกระดับมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายเรียกความเชื่อมั่น

    ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นชอบมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายด้านต่าง ๆ  ทั้งมาตรการลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหลักทรัพย์ มาตรการกำกับพฤติกรรมการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และมาตรการเพิ่มความคุ้มครองผู้ลงทุน โดยเริ่มมีไทม์ไลน์ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้มีบางมาตรการได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น การเปิดเผยข้อมูล Outstanding Short Position เป็นต้น สำหรับมาตรการสำคัญ ๆ ที่คาดว่าจะดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ได้ภายในช่วงกลางปีนี้ คือ การทบทวนหลักทรัพย์ที่ Short Selling ได้ โดยกรณี Non-SET 100 จะต้องมีมาร์เก็ตแคปมากกว่า 7,500 ล้านบาท ต้องมีปริมาณการซื้อขาย (Turnover Ratio) เฉลี่ยใน 12 เดือนที่ระดับ 2% และยังมีการเพิ่มราคาขายชอร์ตในทุกหลักทรัพย์ต้องสูงกว่าราคาล่าสุด (Uptick) จากปัจจุบันให้ขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากับหรือสูงกว่า (Zero-Plus Tick) นอกจากนี้ จะมีการเพิ่ม Circuit Breaker หุ้นรายตัว (Dynamic Price Band) โดยกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของราคาที่แคบกว่า Celling & Floor เอาไว้ เพื่อไม่ให้ราคาผันผวนเร็วเกินไป

file

  การเพิ่มเกณฑ์ Uptick เคยถูกนำมาใช้ในช่วงต้นปี 2020 ที่เกิดวิกฤต COVID-19 ระบาด ในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้มูลค่าธุรกรรมขายชอร์ตที่ปกติอยู่ประมาณ 5-6% ของมูลค่าซื้อขายโดยรวมของตลาดลดเหลือไม่ถึง 1% หรือลดลงกว่า 80%  เราประเมินว่า หากนำเกณฑ์ Uptick มาใช้ คาดว่าจะทำให้มูลค่าธุรกรรมขายชอร์ตจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 10% ต้น ๆ ของมูลค่าซื้อขายโดยรวม ลดลงเหลือเพียง 2-3% เท่านั้น หรือเทียบเท่ามูลค่าซื้อขายจะลดลงประมาณ 10% หรือประมาณ 4 พันล้านบาท

    อ้างอิงจากสัดส่วนราว 90% ของการขายชอร์ตเป็นหุ้น NVDR ซึ่งลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ และทิศทางการลงทุนของต่างชาติมีอิทธิพลต่อ SET Index ค่อนข้างสูง (Correlation +0.78) ดังนั้น การขายชอร์ตของต่างชาติที่หายไปทุก ๆ 1 พันล้านบาท คาดจะมีผลบวกต่อ SET Index ราว 7-8 จุด หากมูลค่าชอร์ตหายไปราว 4 พันล้านบาทที่กล่าวไว้ในตอนต้น เราประเมินจะส่งผลเชิงบวกต่อ SET Index ราว 30 จุด 

file

คลังเล็งฟื้น LTF คาดจะช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคัก

    กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาฟื้นกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งเคยช่วยดึงเงินทุนสุทธิไหลเข้าตลาดหุ้นไทยประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี เราเชื่อว่าการฟื้น LTF จะช่วยเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนและช่วยหนุนตลาดหุ้นไทยกลับมาคึกคักได้ จากการศึกษาของเราพบว่า ขนาดของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุน LTF มีผลเชิงบวกต่อการเติบโตของ SET Index โดยมีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) เป็นบวกสูงถึง +0.95 โดยนับตั้งแต่ปี 2004 ที่เริ่มต้น LTF เป็นปีแรกจนถึงสิ้นปี 2019 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่หักลดหย่อนภาษีได้ NAV ของกองทุน LTF เติบโตมาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของ SET Index มาโดยตลอด อย่างไรก็ดี หลังจากปี 2020 ที่กองทุน LTF ถูกทยอยถอนเงินออก (มีเงินไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้า หรือยอดเงินสุทธิเป็นลบ) ส่งผลให้ SET Index และสภาพคล่องในตลาดค่อย ๆ ลดลงเช่นกัน 

file

    ในแง่ของผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยในช่วงที่มีกองทุน LTF หรือเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2004 จนถึงสิ้นปี 2019 SET Index ให้ผลตอบแทนในช่วงเวลาดังกล่าว +153% หรือให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ +10% อย่างไรก็ดี ในปี 2016 ที่มีการขยายเวลาการถือครองจาก 5 ปีปฏิทินเป็น 7 ปีปฏิทิน จนถึงสิ้นปี 2019 SET Index ในช่วงเวลานี้ให้ผลตอบแทนราว +22% หรือคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยปีละประมาณ +5% 

file

    ถึงแม้จะมีความไม่แน่นอนของความเป็นไปได้ว่า LTF จะเกิดขึ้นหรือไม่ และเงื่อนไขของ LTF เช่น ประเภทสินทรัพย์ที่ให้ลงทุน วงเงินลดหย่อนภาษี และระยะเวลาการถือครอง ซึ่งจะมีผลต่อเม็ดเงินกองทุน LTF ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย แต่จากการประเมินของเราในช่วงที่มีกองทุน LTF ในอดีตพบว่า ทุก ๆ เงินกองทุน LTF ที่ไหลเข้าสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท จะช่วยหนุน SET Index ปรับขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 12-13 จุด (มีค่าสูงสุดที่ 20 จุด และค่าต่ำสุดที่ 3 จุด ขึ้นอยู่กับช่วงเวลานั้นกองทุนในประเทศมีอิทธิพลต่อความเคลื่อนไหวของ SET Index มากหรือน้อย) 

เฝ้าระวังปัจจัยการเมืองในประเทศไม่นิ่ง 

    ความเสี่ยงทางการเมืองพลิกกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในระยะสั้น หลังกลุ่ม 40 สว. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกฯ ขาดคุณสมบัติหรือไม่ จากกรณีแต่งตั้งคุณพิชิต ชื่นบานเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยศาลฯ มีมติรับคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา และให้นายกฯ ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน  ถึงแม้เราให้น้ำหนักว่า คำวินิจฉัยจะออกมาเป็นบวกต่อนายกฯ หลังได้มือดีทางกฎหมายอย่างอดีตรองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เข้ามาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี

    แต่อะไรก็สามารถเกิดขึ้นเหนือความคาดหมายได้ และความไม่แน่นอนทางการเมืองดังกล่าว จะสร้างความอึมครึมต่อตลาดต่อไปจนกว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกันกับศาลฯ อาจมีคำวินิจฉัยของพรรคก้าวไกลในคดีล้มล้างการปกครองก็ได้ ขณะเดียวกัน คาดจะเห็นความคืบหน้าในคดี ม.112 หลังจากที่อัยการสั่งฟ้องคุณทักษิณในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

file

หุ้นเด่นแนะนำในไตรมาส 3/2024 – BH CK ERW HANA และ TU

    ด้วยโมเมนตัมเศรษฐกิจครึ่งปีหลังคาดจะฟื้นตัวดีกว่าครึ่งปีแรก การยกระดับมาตรการกำกับดูแลการซื้อขาย และการฟื้น LTF คาดจะส่งผลดีต่อแนวโน้มการลงทุนครึ่งปีหลัง เรายังมีมุมมองบวกต่อการลงทุนตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลัง และยังคงเป้าหมาย SET Index ปีนี้ที่ระดับ 1500 จุด อย่างไรก็ดี ต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในประเทศ หากเกิดอุบัติเหตุจะส่งผลกระทบต่อ SET Index และความเชื่อมั่นนักลงทุนอย่างมากในไตรมาสนี้ เพราะฉะนั้น เราแนะนำเลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดีมานด์จากต่างประเทศช่วยหนุนรายได้และแนวโน้มกำไรเติบโต ผสานกับหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบลงทุนในโครงการภาครัฐ หุ้นเด่นที่เราแนะนำในไตรมาส 3/2024 คือ BH CK ERW HANA และ TU

    BH : บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) - คาดผลประกอบการ 2Q24F ดีขึ้น QoQ จากการฟื้นตัวของผู้ป่วยตะวันออกกลางหลังจบเดือนรอมฎอน ซึ่งชดเชยกับเคสผู้ป่วยไข้หวัดในประเทศที่ชะลอลงใน 2Q เนื่องจากเป็นช่วงโรงเรียนปิดเทอม รวมทั้งปลาย 2Q เป็นช่วง High Season ของโรงพยาบาลจากการเข้าสู่ฤดูฝน นอกจากนี้ การเปิด VitaLife ภูเก็ตใน 2Q24 จะช่วยหนุนอัตรากำไร แต่อาจทำให้ EBITDA Margin ลดลงเล็กน้อย คงคำแนะนำ “ซื้อ” เป้าพื้นฐาน 285 บาท

    CK : บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) - คาดกำไร 2Q24F โตต่อเนื่อง QoQ จากรายได้เงินปันผลของ TTW ขณะที่มอง 3Q24F ขยายตัวต่อ ตามส่วนแบ่งกำไรของ CKP และ BEM ซึ่งเข้าสู่ช่วง High Season รวมทั้งบริษัทมีโอกาสเติบโตได้อีกจากโครงการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือ และมีโอกาสในการประมูลงานโครงการใหม่ของภาครัฐ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้ม Double Deck งานระบบสายสีม่วงใต้ และโครงการอื่นที่จะเปิดประมูลในปีนี้ ซึ่งปัจจุบัน Backlog อยู่ที่ราว 1.22 แสนล้านบาท คงคำแนะนำ “ซื้อ” เป้าพื้นฐาน 26.5 บาท

    ERW : บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) - คาดรายได้และการดำเนินงานหลักเติบโต YoY จาก RevPAR ที่ขยายตัว โดยเฉพาะโรงแรมในต่างจังหวัดที่คาดว่าจะโต Double Digits VS High-Single Digits ในกรุงเทพฯ โดยบริษัทยังคง Guidance ปีนี้ด้วยการเติบโตของรายได้ที่ 15% (1Q โต 12%) และผลประกอบการของโรงแรมในญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งจะช่วยหนุนผลประกอบการใน 2Q24F เนื่องจาก 2Q เป็นช่วงฤดูซากุระ (เมษายน-ต้นพฤษภาคม) ขณะที่เรามองว่าการต่ออายุสัญญาเช่าของ Grand Hyatt จะเพิ่ม Upside ให้กับราคาหุ้น รวมทั้งได้แนวโน้มเชิงบวกหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติมาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรองช่วง Low Season คงคำแนะนำ “ซื้อ” เป้าพื้นฐาน 6.5 บาท

    HANA : บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) - มองรายได้ 2Q24F เพิ่มขึ้น QoQ หลังผ่านจุดต่ำสุดใน 1Q24 ไปแล้ว จากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในลำพูน โอไฮโอ และเจียซิง ซึ่งได้แรงหนุนจากอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิต และปัจจัยฤดูกาลของจีน โดยปัจจุบัน บริษัทเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ลดต้นทุน ติดตั้งเครื่องจักร) รวมทั้งได้ประโยชน์จากเงินบาทที่อ่อนค่า ขณะที่แนวโน้มกำไรใน 2H24F ดีกว่า 1H24F จากการฟื้นตัวของอุปสงค์และธุรกิจ PMS คงคำแนะนำ “ซื้อ” เป้าพื้นฐาน 46 บาท

    TU : บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) - คาดผลประกอบการเริ่มกลับสู่ระดับปกติ และไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจากธุรกิจ Red Lobster (RL) แล้ว โดยใน 2Q24F มองธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงยังดีขึ้นต่อเนื่องจากออร์เดอร์ล่วงหน้า และแนวโน้มราคาปลาทูน่าที่ลดลง ทำให้อัตรากำไรธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นและธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมีปริมาณการขายเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าอัตราทำกำไรจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่บริษัทคงเป้าหมายการเติบโตรายได้ปี 2024F ที่ 3-4% คงคำแนะนำ “ซื้อ” เป้าพื้นฐาน 17.5 บาท

file