บลจ.ทิสโก้ มุ่งยกระดับบริการ Advisory ชูคุณภาพทีมผู้จัดการกองทุนประสบการณ์สูง-มีธรรมาภิบาล ช่วยลูกค้าสร้างความมั่งคั่งและเกษียณสุข
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 69 | คอลัมน์ Exclusive
ภาวะการลงทุนยังคงเผชิญกับความท้าทายจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาโดยตลอด นับตั้งแต่สถานการณ์โรคระบาด COVID-19 กระทบถึงภาวะเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก ตามมาด้วยปัญหา Geopolitics ที่นับวันขยายวงกว้างขึ้น แต่ท่ามกลางความเสี่ยงอันหลากหลาย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด ยังสามารถเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้อย่างโดดเด่น การันตีด้วยรางวัลล่าสุด Best Asset Manager จาก Morningstar Awards 2024 ซึ่ง บลจ.ทิสโก้ได้รับคัดเลือกตามเกณฑ์คุณภาพของ Morningstar มาหลายปีติดต่อกัน
นิตยสาร TRUST ฉบับนี้ ได้รับโอกาสจากคณะผู้บริหารของ บลจ.ทิสโก้ นำโดยคุณภาวิณี องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คุณสาห์รัช ชัฏสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ และคุณสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ร่วมให้ข้อมูลถึงแนวทางการดำเนินงานของ บลจ.ทิสโก้ นำพาลูกค้าฝ่าฟันสถานการณ์ความผันผวนต่าง ๆ รวมทั้งฉายภาพแผนงานในอนาคตที่เน้นบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล เพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว มุ่งให้คำแนะนำการลงทุนที่ทันต่อสถานการณ์ และรักษาความเชื่อมั่นของลูกค้าตามแนวคิดของกลุ่มทิสโก้ที่มุ่งมั่นเป็น “Your Trusted Financial Advisor” พร้อมเติบโตเคียงข้างลูกค้าไปด้วยกันอย่างมั่นคง
บริหารความเสี่ยง-ฝ่าความผันผวน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง แต่ขณะเดียวกัน ทุกความเสี่ยงย่อมมีโอกาสสร้างกำไรซ่อนอยู่ ซึ่ง บลจ.ทิสโก้ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “ความเป็นมืออาชีพ” และ “ประสบการณ์” สามารถทำให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนที่ดีได้ในทุกสภาวะ
“ด้วยวัฒนธรรมองค์กรของกลุ่มการเงินทิสโก้ที่ให้ความสำคัญในการเติบโตภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ยึดหลักธรรมาภิบาลและความยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ร่วมกันทำงานเป็นทีมอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการดังกล่าว บลจ.ทิสโก้ได้นำมาปรับใช้ให้เหมาะกับปรัชญาการลงทุนในด้านการวิเคราะห์ วางแผนการลงทุน และจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างต่อเนื่องภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
คุณภาวิณี กล่าวถึงแนวคิดในการทำงานของ บลจ.ทิสโก้ที่แม้สถานการณ์การลงทุนไม่เป็นใจมากนัก แต่ บลจ.ทิสโก้ยังคงได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้ามาโดยตลอด และยังได้รับรางวัลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
“สิ่งที่เราเน้นย้ำและเดินหน้าทำมาตลอดในช่วงที่สถานการณ์การลงทุนผันผวน คือ 1. นำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสม นอกจากจะเน้นเรื่องผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังต้องพิจารณาเรื่องสภาพคล่องของแต่ละสินทรัพย์และแนวโน้มในระยะยาวด้วย 2. การให้ข้อมูลและอัปเดตสถานการณ์การลงทุนให้ทันต่อสถานการณ์ โดยขยายการสื่อสารไปยังช่องทางต่าง ๆ เช่น ช่องทางออนไลน์และแอปพลิเคชัน รวมถึงส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าติดต่อลูกค้าเพื่ออัปเดตสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นส่วนช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง”
เจาะกลยุทธ์ บริหารกองทุนให้ผลตอบแทนปัง !
การมองหาโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในภาวะที่ยากลำบากเช่นนี้ แน่นอนว่าบทบาทสำคัญอยู่ที่ “ผู้จัดการกองทุน” คุณสุพงศ์วร ในฐานะหัวเรือใหญ่ของทีมผู้จัดการกองทุนยอมรับว่า ภาพรวมการลงทุนตั้งแต่หลัง COVID-19 ระบาดนั้น ทำให้การลงทุนยากมากกว่าในอดีต เพราะเดิมราคาหุ้นอาจปรับขึ้นและลงตามปัจจัยพื้นฐานและงบการเงิน แต่ในระยะหลังมีปัจจัยเรื่องข่าว (Story) ที่ส่งผลอย่างรวดเร็วมากขึ้นทั้งจากโซเชียลมีเดียและโปรแกรมเทรดดิ้งต่าง ๆ ที่ทำให้ผูัจัดการกองทุนมีคู่แข่งเป็นแมชชีนเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องยิ่งพัฒนาให้มากขึ้น
“Trend Monitor คือสิ่งที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้จัดการกองทุนจะรักษาการลงทุนอย่างไรให้ได้ทั้ง Fundamental ทั้ง Movement ของราคา และ Momentum ตัวอย่างที่ชัดเจนในช่วง COVID-19 หุ้นที่เกี่ยวกับวัคซีน mRNA ราคาเคยวิ่งขึ้นไปแบบ All Time High แต่พอเลิกฉีดวัคซีน ราคากลับลงมาถูกกว่าตอนก่อนเกิด COVID-19 ซึ่งมีหุ้นหลายตัวที่มีลักษณะเป็นแบบเดียวกันนี้”
เคล็ดลับการลงทุนของ บลจ.ทิสโก้ในช่วงที่ผ่านมาจนทำให้ได้รับรางวัลจากหลากหลายสถาบัน คือ การมี “หลักการ” การลงทุนที่ดี โดยในภาวะตลาดหุ้นที่ท้าทายอย่างปัจจุบัน บลจ.ทิสโก้ยึดหลัก 2 เรื่อง คือ 1.การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และ 2. การพิจารณาเชิงลึกถึงโอกาสสร้างผลตอบแทนระยะยาวภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม
“บลจ.ทิสโก้ยึดมั่นปรัชญาในการวิเคราะห์การลงทุนเชิงลึก ควบคู่กับวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดีในการบริหารกองทุน และมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการวิเคราะห์การลงทุนของ บลจ.ทิสโก้มีการศึกษาข้อมูลบริษัทอย่างละเอียด รวมถึงการวิเคราะห์ปัจจัยทางด้าน ESG ซึ่งทำให้การลงทุนเป็นไปอย่างรัดกุม และมีการประเมินผลการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ บลจ.ทิสโก้ได้นำเครื่องชี้วัดต่าง ๆ และแบบจำลองด้านการลงทุน มาใช้เพื่อให้ตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง เพื่อคัดเลือกตราสาร กำหนดกลยุทธ์และตัดสินใจลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”
คุณสุพงศ์วร อธิบายเพิ่มเติมว่า การเลือกลงทุนหุ้นแต่ละตัว หรือตราสารหนี้ของบริษัทใด สิ่งที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากงบการเงินของบริษัทคือ “คุณภาพของผู้บริหาร” ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด โดยผู้จัดการกองทุนจะต้องไป Company Visit เอง หากพบว่าผู้บริหารมีนโยบายการบริหารงานเชิงรุกมาก ๆ ก็ต้องพิจารณาว่ามีโอกาสทำได้จริงตามที่ให้ข่าวหรือไม่
นอกจากนี้ การเลือกหุ้นที่จะเข้ามาลงทุนนั้น ผู้จัดการกองทุนจะนำข้อมูลเข้ามาปรึกษากับคณะกรรมการ (Committee) ก่อน เช่น ราคาที่เหมาะสมลงทุนและราคาที่ต้องการขายทำกำไร จากนั้นจึงจะเริ่มนำมาจัดน้ำหนักการลงทุนในพอร์ตตามจังหวะ และไม่ลงทุนหุ้นหรือตราสารหนี้บริษัทใดบริษัทหนึ่งจนส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานเพื่อป้องกันความเสี่ยง และพิจารณาการลงทุนจากคุณภาพของหุ้นเป็นหลัก
ทำงานเป็น “ทีม” ไม่มี One Man Show
ผู้บริหารทั้ง 3 ท่านได้แชร์ความเห็นร่วมกันถึงสไตล์การทำงานของทีมผู้จัดการกองทุนของ บลจ.ทิสโก้ที่จะต้องเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ (Integrity) ความเชี่ยวชาญ (Mastery) และต้องสามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้
คุณภาวิณีกล่าวให้เห็นภาพถึงความเป็น Mastery ของผู้จัดการกองทุนว่า โดยปกติแล้ว ผู้จัดการกองทุนจะต้องมีคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น คุณวุฒิ Chartered Financial Analyst (CFA) หรือผ่านหลักสูตร Certified Investment and Securities Analyst (CISA) อยู่แล้ว ซึ่ง บลจ.ทิสโก้มองว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ “ประสบการณ์”
“แค่มีใบอนุญาตอย่างเดียวไม่พอ เพราะเด็กจบใหม่สามารถสอบใบอนุญาตได้ ทิสโก้จะให้ความสำคัญเรื่องประสบการณ์มากกว่าใบอนุญาต จึงได้ลงทุนกับบุคลากรตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน นอกจากมีผลการศึกษาที่ดี มีทักษะการวิเคราะห์ที่ดีแล้ว จะสอนให้ทำงานเป็นทีม มีพี่ช่วยน้อง สร้างทีมเวิร์กที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดี สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และสนับสนุนการเติบโตในอาชีพ เพื่อรักษาคนเก่งคนดีให้อยู่กับทิสโก้ จะเห็นได้ว่าผู้จัดการกองทุนของทิสโก้จะมีอายุงานมากกว่า 10 ปี เป็นมืออาชีพ ไม่ท้อ ไม่หวั่นไหวกับภาวะตลาดหุ้นผันผวน เพื่อสร้าง Performance ให้ลูกค้าได้สม่ำเสมอ”
คุณสาห์รัชเสริมว่า เจ้าหน้าที่ของ บลจ.ทิสโก้มีอัตรา Turnover ต่ำมาก เพราะฉะนั้นการให้คำแนะนำหรือการดูแลลูกค้าจะมีความต่อเนื่อง ขณะที่คุณสุพงศ์วร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการกล่าวว่า เรื่องความโปร่งใส Good Governance เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำงานภายใต้กรอบนี้ ถือเป็นเรื่องหลักของทิสโก้
“จะไม่มีคนใดคนหนึ่งโดดเด่น ไม่มีซูเปอร์สตาร์ เราจะทำงานเป็นทีม ไม่พยายามให้ใครเด่นคนเดียว เพราะจะเป็นผลเสียระยะยาว สิ่งที่เจอในอุตสาหกรรมนี้ การเด่นคนเดียว ไม่ฟังทีม พอทำแล้วผลออกมาไม่ดี ก็ย้ายบริษัท ปล่อยให้คนที่เหลืออยู่รับผิดชอบ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้” สามผู้บริหารประสานเสียง
คุณภาวิณีกล่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า การสร้างทีมจะเน้นความหลากหลายสาขาที่เรียน มีทั้งวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไม่เฉพาะสายการเงินเท่านั้น เพราะทักษะที่หลากหลายจะสามารถช่วยทีม ทั้งในเรื่องของการวิเคราะห์ได้ดีขึ้น ช่วยตอบโจทย์กับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงบ่อย
ยกระดับ “Advisory” หัวใจสำคัญของการลงทุน
ในโอกาสครบรอบ 55 ปี กลุ่มทิสโก้ประกาศความมุ่งมั่นเป็น “Your Trusted Financial Advisor” นั้น คุณภาวิณีฉายภาพว่า ในส่วนของ บลจ.ทิสโก้ได้เดินหน้าพัฒนาด้านการให้คำแนะนำ หรือ “Advisory” อย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งทีม Wealth Advisory เพื่อติดตามและสรุปข่าวสาร พร้อมกำหนดกลยุทธ์การลงทุนและสื่อสารไปยังช่องทางต่าง ๆ เพราะมองว่า “การให้คำแนะนำที่ดี” จะเป็น “หัวใจสำคัญ” ที่จะช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง ส่งผลให้เป้าหมายทางการเงินของลูกค้าประสบความสำเร็จ
และเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าคำแนะนำนั้นมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากลนั้น ประเด็นนี้ คุณภาวิณีระบุว่าพนักงานระดับ Specialist ที่ดูแลลูกค้า รวมทั้งทีม Wealth Advisory มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการลงทุน เพราะทุกคนล้วนแต่ได้รับคุณวุฒิที่ปรึกษาการเงิน (AFPT™) และบางรายได้รับคุณวุฒินักวางแผนการเงิน (CFP®) อีกด้วย
ขณะที่คุณสาห์รัชกล่าวเสริมว่า จากการที่ บลจ.ทิสโก้มีผลิตภัณฑ์กองทุนที่หลากหลาย สร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจนทำให้ได้รับรางวัลมากมายนั้น อีกหนึ่งตัวช่วยที่จะเพิ่มโอกาสให้ลูกค้าได้รับผลตอบแทนเป็นไปตามความต้องการคือ เจ้าหน้าที่ธนกิจส่วนบุคคล (RM) ที่ดูแลลูกค้าจะต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าและเลือกกองทุนแต่ละธีมแต่ละนโยบายมาจัดพอร์ต
“เจ้าหน้าที่ของเราต้องเข้าใจสถานการณ์การลงทุน และรู้จักความต้องการของลูกค้าด้วย เพื่อที่จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม แต่ละราย และเลือกกองทุนให้เหมาะสม เพราะผู้จัดการกองทุนแต่ละกองทุนเป็นเหมือนสารถีที่จะขับรถไปตามเส้นทางที่กำหนด นั่นคือบริหารจัดการกองทุนไปตามนโยบายกองทุน ขณะที่เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าต้องช่วยแนะนำให้ลูกค้าเลือกขึ้นรถไปให้ถูกคัน”
ด้านคุณภาวิณีกล่าวเสริมว่า การที่ บลจ.ทิสโก้มีผลิตภัณฑ์กองทุนหลากหลายธีมการลงทุนให้เลือกนั้นเป็นข้อได้เปรียบ เพราะ RM ของเรารวมถึง Wealth Advisory ก็จะช่วยแนะนำว่าธีมไหนเหมาะกับสภาวะตลาดอย่างไร เหมาะกับลูกค้าหรือไม่ อย่างเช่นถ้าลูกค้ากลัวความเสี่ยง เราก็จะแนะนำลงทุนกองทุนหุ้นปันผล ผสมกับกองทุนตราสารหนี้ หรือถ้าคิดว่าเศรษฐกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เราจะแนะนำให้ลงทุนในหุ้นเติบโตสูงเพื่อรอเศรษฐกิจฟื้นตัว เป็นต้น
กระตุ้นให้ความรู้ เลือกแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณ
จากเม็ดเงินที่ บลจ.ทิสโก้บริหารอยู่กว่า 60% เป็นเงินจากธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งมีเป้าหมายการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ และจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คนไทยมีโอกาสอายุยืนยาวขึ้นมากกว่าในอดีต ทำให้ บลจ.ทิสโก้จำเป็นต้องกระตุ้นให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเลือกแผนการลงทุนให้มีความเสี่ยงเหมาะสมกับช่วงอายุ และออมเงินเพิ่มเพื่อสร้างเงินก้อนก่อนเกษียณให้ได้มากที่สุด
คุณภาวิณีเล่าถึงวิธีให้ความรู้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจุบัน บลจ.ทิสโก้เป็นบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแห่งแรกของไทยที่มีขนาดกองทุน จำนวนบริษัทนายจ้าง และจำนวนสมาชิกกองทุนภายใต้การบริหารมากที่สุดว่า
“ที่ผ่านมา บลจ.ทิสโก้ได้เร่งให้ความรู้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้น ผ่านกิจกรรมและช่องทางต่างๆ เช่น การจัดสัมมนา และการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน Line Official ภายใต้ชื่อ “Freedom by TISCO PVD” เป็นต้น เพราะทุกวันนี้ บริษัทนายจ้างเปิดกว้างให้สมาชิกสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง เราจึงต้องส่งเสริมและช่วยให้สมาชิกเข้าใจเรื่องการเลือกนโยบายการลงทุนให้เหมาะกับตัวเอง หากเป็นกลุ่มใกล้เกษียณ แผนการลงทุนควรลดความเสี่ยงลง แต่ถ้ายังอยู่ในวัยทำงาน ก็จะเน้นให้ลูกค้าเก็บออมมากขึ้น ทำแผนการลงทุนที่มองระยะยาวเป็นหลัก และในปีนี้ บลจ.ทิสโก้จะพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปรับเปลี่ยนนโยบายการลงทุนได้เอง และในก้าวต่อไปจะเพิ่ม Investor Choice ให้มากขึ้น”
ขยายช่องทางสื่อสารให้ตรงเป้า
นอกจากกลุ่มลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว บลจ.ทิสโก้ยังให้ความสำคัญกับการให้คำแนะนำลูกค้าที่ซื้อกองทุนผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงลูกค้าที่ซื้อกองทุนผ่านสถาบันการเงินที่เปิดขายหน่วยลงทุนของ บลจ.ทิสโก้อีกด้วย
ประเด็นนี้ คุณสาห์รัชช่วยขยายความการดำเนินงานของ บลจ.ทิสโก้ว่า “ในอดีตเรามุ่งเพิ่มฐานลูกค้ารายใหญ่โดยให้บริการผ่านเจ้าหน้าที่ RM ในการให้คำแนะนำกับลูกค้ารายบุคคล แต่ในระยะหลัง บลจ.ทิสโก้ได้ขยายฐานลูกค้าไปหลายช่องทาง ทั้งกลุ่มลูกค้าที่ซื้อขายกองทุนรวมแบบออนไลน์ และกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เปิดขายหน่วยลงทุนของ บลจ.ทิสโก้
“การขายกองทุนผ่านสถาบันการเงินอื่น ๆ เราต้องมั่นใจว่า เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินแห่งนั้นเข้าใจผลิตภัณฑ์กองทุนของ บลจ.ทิสโก้ได้อย่างดี และสามารถหาจังหวะการลงทุนที่เหมาะสมให้กับลูกค้า เราจึงไปให้ความรู้แบบเจาะลึกรายกองทุนแก่เจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินที่เปิดเสนอขายกองทุนของ บลจ.ทิสโก้อีกด้วย”
สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ซื้อกองทุนออนไลน์นั้น บางส่วนเป็นลูกค้าเดิมที่หันมาใช้บริการซื้อขายกองทุนออนไลน์ โดยมี RM ส่วนตัวสำหรับให้คำปรึกษาหรือแนะนำการลงทุนอยู่ แต่ต้องยอมรับว่ามีลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่ไม่มี RM ส่วนตัว เป็นนักลงทุนมือใหม่ที่เพิ่งลองลงทุนครั้งแรกผ่าน บลจ.ทิสโก้ โดยเปิดบัญชีและซื้อขายกองทุนแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งอาจยังไม่มีความรู้เรื่องการจัดพอร์ตการลงทุน ไม่เข้าใจเรื่องการวางแผนการลงทุนระยะยาว และไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนเพื่อการเกษียณ เช่น ลงทุนในกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำทั้งที่ตัวเองอายุยังน้อยทำให้พลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น บลจ.ทิสโก้จึงเน้นให้ความรู้ลูกค้ากลุ่มนี้ผ่านช่องทางออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทุกเพศ ทุกวัย
“ยิ่งในภาวะตลาดทุนยังผันผวน เรื่องการให้ความรู้กับสาธารณะจำเป็นต้องมีมากขึ้น เมื่อก่อนธนาคารทิสโก้มีสาขาน้อย เหมือนร้านอาหารที่อยู่ท้ายซอย ต้องเป็นคนที่รู้จักจริง ๆ จึงจะหาเจอ แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนั้น เทคโนโลยีในปัจจุบันช่วยได้มาก บลจ.ทิสโก้จึงได้สื่อสารข้อมูลและข่าวสารผ่าน Line Official ภายใต้ชื่อ TISCO My Funds ช่องทาง Facebook เพจ TISCO Asset Management ช่องทาง Youtube : TISCO Fun(d) Station ซึ่งมีรายการแต่ละประเภทที่เหมาะกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า เช่น Tax Saving (กลุ่มเสียภาษี), White Collar (กลุ่มพนักงานออฟฟิศ) และรายการสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่ต้องการอัปเดตข้อมูลข่าวสาร”
ซึ่งคุณสาห์รัชมั่นใจว่าการที่ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารกองทุนให้มีผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ การนำเสนอกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายบนความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ RM และ Wealth Advisory อัปเดตข่าวสารและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้า ประกอบกับการพัฒนาบริการที่เกี่ยวข้องทั้งการซื้อขายกองทุนรวมออนไลน์ การขยายช่องทางการขายผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ การพัฒนาช่องทางการสื่อสาร อีกทั้งการได้รับรางวัลด้านผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้ลูกค้ามั่นใจใน บลจ.ทิสโก้ และใช้บริการกันไปอย่างต่อเนื่อง
ก่อนจบการสนทนา คุณภาวิณีได้กล่าวทิ้งท้ายพร้อมทั้งให้คำมั่นเรื่องการบริหารจัดการกองทุนที่โปร่งใส เดินหน้าสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว พร้อมทั้งขยายช่องทางการสื่อสารและให้ความรู้เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า
“ขอบคุณลูกค้าที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด บลจ.ทิสโก้ยังคงยึดถือการบริหารงานกองทุนอย่างโปร่งใส ขยายช่องทางการซื้อขายให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งขยายช่องทางการสื่อสาร ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ทันต่อสถานการณ์ยิ่งขึ้น มุ่งมั่นเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแก่ลูกค้าทุกกลุ่ม ช่วยลูกค้าดูแลเรื่องความเสี่ยง ทั้งความเสี่ยงด้านการลงทุน ด้านเครดิตสภาพคล่อง รวมทั้งจะบริหารจัดการภายในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่า หากลงทุนกับเราจะสามารถซื้อและขายหน่วยลงทุนได้ตามต้องการ”