
TFPA ปักธง ‘วางแผนการเงินเพื่อคนไทย’ มุ่งสร้างความมั่นคงผ่านนักวางแผนการเงินมืออาชีพ
นิตยสาร Trust ฉบับที่ 73 | คอลัมน์ Exclusive

สมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) เดินหน้าสร้างความตระหนักรู้ด้านการวางแผนการเงินแก่คนไทยทุกระดับอย่างเข้มข้น และถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับทุกคน ไม่จำกัดเฉพาะผู้มีฐานะร่ำรวย เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินส่วนบุคคลและลดปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว พร้อมผลักดันการสร้างนักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงินคุณภาพได้รับมาตรฐานสากลคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP® และคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT™ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นความร่วมมือกับสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศไทย เพื่อยกระดับการให้บริการสู่การเป็นที่ปรึกษาแบบองค์รวม ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
TRUST ฉบับนี้ได้รับเกียรติจากคุณวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (TFPA) ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงวิสัยทัศน์และพันธกิจหลักของสมาคมฯ โดยเน้นย้ำว่า ภารกิจสำคัญที่สุด คือ การทำให้คนไทยทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นของการวางแผนการเงิน ซึ่งไม่ใช่เพียงการนำเงินไปลงทุนหรือฝากธนาคารเท่านั้น แต่เป็นการบริหารจัดการภาพรวมทางการเงินทั้งหมดของชีวิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างมั่นคง
“สมาคมฯ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและสร้างความตระหนักรู้ใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1. กลุ่มสมาชิก ประกอบด้วย สมาชิกนิติบุคคล ที่ธนาคาร บล. บลจ. และธุรกิจประกันเป็นสมาชิกอยู่ประมาณ 38 แห่ง และสมาชิกบุคคลธรรมดา ได้แก่ นักวางแผนการเงิน CFP และที่ปรึกษาการเงิน AFPT 2. การเพิ่มจำนวนสมาชิก เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังมีนักวางแผนการเงิน CFP จำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรที่มีเกือบ 70 ล้านคน และ 3. ภาคประชาชน”
จากเป้าหมายการผลักดันดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่คนไทยจำนวนมากยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน และหลายคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องที่เหมาะสำหรับคนที่มีเงินเหลือเฟือเท่านั้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ดังนั้น ถ้าคนไทยเข้าใจเรื่องการวางแผนการเงินอย่างถูกต้อง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงระดับ 90% ของ GDP คงไม่รุนแรงเท่านี้ แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือ คนส่วนใหญ่มักใช้จ่ายเกินตัว หรือถูกกระตุ้นให้บริโภคจนนำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน จนเกิดเป็นวัฏจักรที่อันตราย
สมาคมฯ จึงเร่งสร้างกิจกรรมและคอนเทนต์ให้ความรู้ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจว่า การวางแผนการเงินที่ดีควรเริ่มต้นจากการบริหารรายรับรายจ่ายให้สมดุล มีเงินออม และปกป้องความเสี่ยง ก่อนที่จะต่อยอดไปสู่การลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาว
เดินหน้าพัฒนา ‘นักวางแผน-ที่ปรึกษาทางการเงิน’
ในมิติของการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพ สมาคมฯ ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับนักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงินให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล โดยคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP (Certified Financial Planner) ถือเป็นคุณวุฒิวิชาชีพระดับโลกที่ได้รับการยอมรับใน 26 ประเทศ ขณะที่คุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT (Associate Financial Planner Thailand) เป็นคุณวุฒิที่สมาคมฯ พัฒนาขึ้นสำหรับประเทศไทย เพื่อเป็นบันไดขั้นแรกให้กับผู้ที่สนใจในวิชาชีพนี้ ซึ่งผู้ที่จะได้รับคุณวุฒิฯ ต้องผ่านกระบวนการที่เข้มข้นตามหลัก 4E (Education, Examination, Experience และ Ethics) ซึ่งทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ที่ได้รับคุณวุฒิเหล่านี้ จะมีความรู้ความสามารถ และจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ สามารถให้คำแนะนำแก่ลูกค้าได้อย่างถูกต้องและเป็นกลาง
คุณวิโรจน์ยังได้กล่าวถึงความร่วมมือกับสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยยกธนาคารทิสโก้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีของการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง “สมาคมฯ มีมุมมองที่ดีต่อการที่ธนาคารทิสโก้วางเป้าหมายให้เจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้าทุกสาขาได้รับคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT และผลักดันให้ผู้ที่ได้รับคุณวุฒินี้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP ต่อไป นี่เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของผู้บริหารที่ต้องการยกระดับการให้บริการ จากเดิมที่อาจเน้นการขายผลิตภัณฑ์ (Product Pushing) ไปสู่การเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่แท้จริง (Wealth Advisory) ซึ่งจะเน้นการนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบบองค์รวม (Holistic Advisory) โดยพิจารณาจากข้อมูลและความจำเป็นของลูกค้าแต่ละรายเป็นสำคัญ”
การที่บุคลากรของสถาบันการเงินมีคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP หรือคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า เพราะพวกเขาสามารถให้คำปรึกษาได้ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การวางแผนสภาพคล่อง การบริหารหนี้สิน การลงทุนเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ การวางแผนภาษี การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ ไปจนถึงการวางแผนมรดก โดยไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่ผลิตภัณฑ์ของสถาบันใดสถาบันหนึ่ง แต่สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย (Open Architecture) และก่อเกิดประโยชน์กับลูกค้าอย่างสูงสุด
“เมื่อสถาบันการเงินมีบุคลากรที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าได้อย่างรอบด้าน และเข้าใจเป้าหมายชีวิตของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง พวกเขาจะทำหน้าที่เป็นบัดดี้ทางการเงินที่คอยให้คำแนะนำ วางแผนการเงินที่เหมาะสม สร้างความพึงพอใจ และต่อยอดสู่ความสัมพันธ์ที่มั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว”

ผนึกสมาชิกฯ มุ่งยกระดับบริการสู่ความยั่งยืน
ยิ่งในยุคที่ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ทางการเงินกลายเป็นโจทย์ท้าทายสำหรับทุกคน การมีที่ปรึกษาทางการเงินที่เปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ และจรรยาบรรณที่เชื่อถือได้ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยนำทางไปสู่ความมั่นคงและความมั่งคั่งในระยะยาว สมาคมนักวางแผนการเงินไทยในฐานะองค์กรหลักที่มุ่งมั่นยกระดับมาตรฐานวิชาชีพนักวางแผนการเงินในประเทศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรคุณภาพสูง จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินชั้นนำที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกัน หนึ่งในนั้นคือธนาคารทิสโก้ ซึ่งได้แสดงความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนในการสร้างทัพนักวางแผนการเงินมืออาชีพที่ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP และคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT เพื่อมอบประสบการณ์และบริการทางการเงินที่เป็นเลิศแก่ลูกค้า
โดยปัจจุบัน ทางสมาคมนักวางแผนการเงินไทยและสมาชิกฯ ที่รวมถึงธนาคารทิสโก้ ได้ร่วมมือกันในการพัฒนาบุคลากร นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญและสะท้อนถึงความมุ่งมั่น ในการยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการเงินในประเทศไทย ซึ่งธนาคารทิสโก้ได้กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลลูกค้า (Relationship Managers) ทุกสาขา ได้รับการพัฒนาศักยภาพผ่านการอบรมและสอบเพื่อรับคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT เป็นพื้นฐานสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้น ยังสนับสนุนและผลักดันให้บุคลากรที่มีศักยภาพสูงได้ก้าวต่อไปสู่การเป็นนักวางแผนการเงิน CFP ซึ่งเป็นคุณวุฒิวิชาชีพระดับสากลที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
คุณวิโรจน์ได้แสดงทัศนะต่อการดำเนินงานนี้ว่า “สมาคมฯ มีมุมมองที่เป็นบวกอย่างยิ่งต่อการที่ธนาคารทิสโก้ได้ให้ความสำคัญและตั้งเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรให้ได้รับทั้งสองคุณวุฒิ นี่คือการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่ามหาศาล ซึ่งไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อตัวองค์กรทิสโก้เอง แต่ยังส่งผลดีต่อลูกค้าผู้รับบริการ และต่ออุตสาหกรรมการเงินโดยรวมของประเทศอีกด้วย”
หัวใจสำคัญของความร่วมมือนี้อยู่ที่การสร้างนักวางแผนการเงินที่ไม่เพียงมีความรู้ความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน แต่ยังมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักการวางแผนการเงินแบบองค์รวม ผู้ที่จะได้รับคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP และคุณวุฒิวิชาชีพที่ปรึกษาการเงิน AFPT นั้น จะต้องผ่านกระบวนการพัฒนาและประเมินที่เข้มข้นตามมาตรฐานสากล 4E อันได้แก่
Education (การศึกษา) ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่ครอบคลุมองค์ความรู้ด้านการวางแผนการเงินทั้ง 6 ด้านหลัก ได้แก่ การวางแผนการลงทุน การบริหารความเสี่ยงและประกันภัย การวางแผนภาษีและมรดก การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ พื้นฐานการวางแผนการเงิน และการจัดทำแผนการเงินแบบองค์รวม
Examination (การสอบ) ต้องสอบผ่านข้อสอบวัดความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งมีความท้าทายและครอบคลุมเนื้อหาที่ได้ศึกษามาทั้งหมด
Experience (ประสบการณ์) ต้องมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษาหรือวางแผนการเงินแก่ลูกค้าเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีความเข้าใจในภาคปฏิบัติจริง
Ethics (จรรยาบรรณ) ต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด โดยให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นอันดับแรก
สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ แผ่ขยายไปในหลายมิติ ในการมีทีมที่ปรึกษาการเงินที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิระดับสากล นั่นหมายถึงการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจในสายตาของลูกค้า ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนในตลาด นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง รวมไปถึงบุคลากรของทิสโก้เอง นี่คือโอกาสในการพัฒนาศักยภาพส่วนบุคคล ยกระดับความก้าวหน้าในสายอาชีพ และสร้างความภาคภูมิใจในการเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สามารถสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับลูกค้าได้
ส่วนในมุมของลูกค้า ย่อมได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าถึงบริการวางแผนการเงินที่มีคุณภาพ ได้รับคำแนะนำที่เป็นกลาง ครอบคลุม และสอดคล้องกับเป้าหมายและความต้องการเฉพาะของตนเองอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนเพื่อการศึกษาบุตร การซื้อที่อยู่อาศัย การเตรียมตัวเพื่อวัยเกษียณที่มั่นคง หรือการส่งต่อความมั่งคั่งไปยังทายาท ลูกค้าจะมั่นใจได้ว่ากำลังได้รับคำปรึกษาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และยึดมั่นในหลักการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า
มุ่งส่งเสริมความรู้ด้านการเงินในทุกระดับ
นอกเหนือจากความร่วมมือกับสถาบันการเงินแล้ว สมาคมฯ ยังได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความรู้ทางการเงินในวงกว้างมากขึ้น เช่น โครงการ FinEd (Financial Education) ที่ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำความรู้ทางการเงินเข้าสู่โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ โครงการพัฒนาหลักสูตร Post-Retirement Planning สำหรับผู้ที่เกษียณอายุไปแล้ว เพื่อให้สามารถบริหารจัดการเงินหลังเกษียณได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงการ ‘หมอหนี้อาสา’ ที่ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการเผยแพร่ความรู้ทางการเงินไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
คุณวิโรจน์เล่าต่อว่า นอกจากการส่งเสริมให้คนทั่วไปตระหนักรู้ถึงการวางแผนทางการเงินแล้ว ต้องเน้นย้ำว่าเรื่องการเพิ่มจำนวนนักวางแผนการเงินที่มีคุณวุฒิในประเทศไทย ถือเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาและผลักดันควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากปัจจุบันเรามีนักวางแผนการเงิน CFP ประมาณ 761 คน และที่ปรึกษาการเงิน AFPT อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีคุณวุฒิวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP กว่า 2,700 คน หรือสิงคโปร์ที่มีเกือบ 900 คน เรายังมีช่องว่างที่ต้องพัฒนาอีกมาก สมาคมฯ จึงตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนผู้มีคุณวุฒิเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการวางแผนการเงินที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง
สำหรับอนาคตอันใกล้ สมาคมฯ มีแผนพัฒนาแพลตฟอร์ม Marketplace เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชนสามารถค้นหาและเข้าถึงนักวางแผนการเงินและที่ปรึกษาการเงินที่มีคุณวุฒิได้โดยง่าย ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ในการให้บริการแก่ลูกค้าในวงกว้างขึ้นอีกด้วย
“ผมอยากฝากถึงคนไทยทุกคนว่า การวางแผนการเงินไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องที่ต้องรอให้มีเงินเยอะก่อนถึงจะทำได้ แต่เป็นเรื่องที่ควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุด ไม่ว่าท่านจะมีรายได้เท่าไหร่ การมีความรู้ความเข้าใจและมีวินัยทางการเงินที่ดี จะเป็นรากฐานสำคัญของความมั่นคงในชีวิต การมีนักวางแผนการเงินหรือที่ปรึกษาการเงินที่มีคุณวุฒิและไว้ใจได้คอยให้คำแนะนำ ก็เปรียบเสมือนการมีโค้ชส่วนตัวที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้ง่าย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขอย้ำว่าสมาคมฯ พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ความมั่นคงทางการเงินที่ยั่งยืน” คุณวิโรจน์กล่าว

เป้าหมายเพื่อคนไทยมีการเงินที่มั่นคง
คุณวิโรจน์ได้กล่าวเสริมด้วยว่า “เทรนด์ของอุตสาหกรรมการเงินทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่การให้บริการที่ปรึกษาแบบองค์รวม ลูกค้าในปัจจุบันมีความรู้มากขึ้น และมองหาที่ปรึกษาที่เข้าใจชีวิต เข้าใจเป้าหมายของพวกเขา และสามารถเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายเพื่อสร้างแผนการเงินที่ตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว การที่ทิสโก้เล็งเห็นความสำคัญในจุดนี้ และลงทุนพัฒนาบุคลากรอย่างจริงจัง ถือเป็นการเดินเกมที่มองการณ์ไกลและสอดรับกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง”
ยิ่งไปกว่านั้น ความร่วมมือระหว่าง TFPA และสมาชิกฯ ยังส่งผลในเชิงบวกต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินในประเทศไทย โดยเป็นต้นแบบและแรงกระตุ้นให้สถาบันการเงินอื่น ๆ หันมาให้ความสำคัญกับการยกระดับมาตรฐานของบุคลากรมากยิ่งขึ้น เมื่อมีจำนวนนักวางแผนการเงินที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นในระบบ ประชาชนโดยรวมก็จะสามารถเข้าถึงบริการวางแผนการเงินที่ดีได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจทางการเงิน (Financial Literacy) และสร้างวัฒนธรรมการวางแผนเพื่ออนาคตที่แข็งแกร่งและยั่งยืนในสังคมไทย
“สมาคมฯ มีความยินดีและพร้อมให้การสนับสนุนสถาบันการเงินทุกแห่งที่มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณวุฒิ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนวิชาชีพนักวางแผนการเงินของไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล และที่สำคัญที่สุด เพื่อร่วมกันสร้างอนาคตทางการเงินที่มั่นคงและมั่งคั่งให้แก่คนไทยทุกคน การจับมือกับธนาคารทิสโก้ในครั้งนี้ จึงไม่เพียงแต่เป็นการยกระดับบุคลากรขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นการร่วมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับความอยู่ดีกินดีทางการเงินของประเทศโดยรวม” คุณวิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย