file

Market Wrap-Up

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 40 | คอลัมน์ SET Track

SET ไตรมาส 1/2017 (ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 10 มี.ค. 2017) ตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นการซื้อขายในปี 2017 ด้วยความคึกคักจากการประกาศลดกำลังการผลิตของ OPEC และสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 7.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 2.1 ล้านบาร์เรล ทำให้ราคาน้ำมันในเดือน ม.ค. ปรับตัวขึ้นสูงสุด 55.24 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล พร้อมทั้งยืนเหนือ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดทั้งเดือน เป็นปัจจัยหนุนสำคัญของหุ้นกลุ่มพลังงานและดันตลาดไปแตะ 1,600 จุดได้ แต่ในช่วงปลายเดือนมีปัจจัยกดดันจากการขึ้นภาษีน้ำมันของสายการบินภายในประเทศกดดันหุ้นกลุ่มการบิน ในขณะที่เดือน ก.พ. ราคาน้ำมันเริ่มโดนกดดันจากปริมาณแท่นขุดในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เติบโตทั้งเงินเฟ้อและการจ้างงานทำให้ตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ทางด้านตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเนื่องจาก GDP ในช่วง 4Q16 โตเพียง 3% ต่ำกว่าที่เราคาดที่ 3.5% และมีประเด็นค่าเช่าที่ของสนามบิน AOT กดดันแนวโน้มตลาด ในขณะที่การประชุม กนง. ยังคงอัตราดอกเบี้ยแต่มีมุมมองเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นและในเดือน มี.ค. หลังการประกาศผลประกอบการปี 2016 ที่ค่อนข้างเป็นไปตามที่เราคาด แต่ด้วยแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดคาดว่า Fed จะมีการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. สูงสุดแตะ 100% (เราปรับแนวโน้มเป็นเดือนมี.ค. จากเดิม มิ.ย.) ทำให้เม็ดเงินเริ่มไหลกลับสหรัฐฯ และราคาหุ้นไทยเริ่มปรับตัวลดลงหลุด 1,550 จุด จากราคาน้ำมันที่กดดัน

ด้านการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิที่ 7.9 พันล้านบาท ในไตรมาส 1/2017 (ถึง 10 มี.ค.) ต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 4/2016

  • 04/01/2017: ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 20 จุด ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ตลาดหุ้นไทยเปิดทำการวันแรกปรับตัวขึ้นกว่า 20 จุด พร้อมทั้งมูลค่าการซื้อขาย 6.5 หมื่นล้านบาท จากแนวโน้มการบริโภคในเดือน ธ.ค. ที่ดีขึ้นแม้จะเป็นวันทำการวันแรกหลังผ่านช่วงเทศกาลปีใหม่ก็ตาม
  • 09/01/2017: ยุติการปรับตัวขึ้น 9 วันต่อเนื่องหลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลง 3.8% หลังจากที่ตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 9 วันทำการต่อเนื่องหรือ 67 จุด ได้ปรับตัวลดลงเป็นวันแรกเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงกว่า 3.8% ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ จากความกังวลเรื่องปริมาณแท่นขุดในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงอุปทานน้ำมันของอิหร่าน
  •  
  • 10/01/2017: นักลงทุนเก็งผลประกอบการกลุ่มธนาคารหนุนดัชนี หลังจากที่กลุ่มธนาคารโดนเทขายจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงแรง เม็ดเงินได้ไหลเข้าสู่หุ้นกลุ่มธนาคารที่กำลังประกาศผลประกอบการปี 2016 โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดกลาง (KKP, TCAP, BAY) ที่มีการเติบโตสูงเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ (BBL, KBANK, SCB)
  • 16-19/01/2017: นักลงทุนต่างชาติเทขายต่อเนื่องรอดูการประกาศนโยบายของนาย Donald Trump นับจากต้นปีนักลงทุนต่างชาติซื้อต่อเนื่องสุทธิกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นต่อเนื่องและเข้าใกล้การเข้ารับตำแหน่งของนาย Trump โดยนักลงทุนจับตาดูว่า นาย Trump จะมีการประกาศแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ทำให้ตลาดปรับตัวลงกว่า 17 จุด
  • 20/01/2017: การเข้ารับตำแหน่งของนาย Trump ประกาศนโยบาย “America First” นาย Trump ได้เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯโดยประกาศนโยบาย “America First” ซึ่งจะเน้นการจ้างงานและซื้อสินค้าภายในประเทศ การสร้างงาน นโยบายด้านภาษีและด้านการค้าระหว่างประเทศ พร้อมทั้งมีแผนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ
  • 20-26/01/2017: ปัจจัยหนุนรอบด้านดันตลาดหุ้นไทยขึ้นทดสอบ 1,600 จุด ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น 5 วันต่อเนื่องกว่า 36 จุด และขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 1,600.79 จุด โดยได้ปัจจัยบวกจากทั้งตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากนโยบายของนาย Trump ทำให้ดัชนี DJIA ขึ้นทะลุ 20,000 จุด และการประกาศผลประกอบการปี 2016 โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ เช่น SCC ที่ดีกว่าคาด
  • 27/01/2017: ครม. อนุมัติการขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่น ครม. มีมติเห็นชอบคำขอกระทรวงการคลังในการขอขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่น โดยภาษีน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นจาก 20 สตางค์ เป็น 4 บาท/ลิตร และน้ำมันหล่อลื่นจากเดิมไม่เก็บเป็น 5 บาท/ลิตร ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มสายการบินปรับตัวลงโดยถ้วนหน้า

 

Bootstrap Image Preview

 

  • 31/01/2017: นโยบายสุดขั้วของนาย Trump เริ่มเผชิญการต่อต้าน นโยบายด้านการกีดกันผู้อพยพของนาย Trump เริ่มเผชิญกับกระแสต่อต้านทำให้เกิดความไม่แน่นอนในด้านนโยบายอื่นๆ ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงหลุด 20,000 จุด และที่ปรึกษาของนาย Trump ได้กล่าวโจมตียุโรปว่าจงใจทำให้ค่าเงินอ่อนค่าเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าต่อสหรัฐฯ
  • 01/02/2017: Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและแนวทางการขึ้นดอกเบี้ย Fed คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5-0.75% และยังคงแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป และมีปัจจัยบวกจากทั้ง ISM ภาคการผลิตที่ 56 ดีกว่าคาดที่ 55 และการจ้างงานภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 2.46 แสนราย ดีกว่าตลาดคาดที่ 1.68 แสนราย
  • 03/02/2017: นาย Trump ขู่คว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง โดยได้ออกมาขู่ว่าจะกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งหลังจากที่อิหร่านมีการทดสอบจรวดมิสไซล์ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงของ UN ทำให้นักลงทุนเริ่มกังวลว่าอุปทานน้ำมันจากอิหร่านจะลดลง ส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันและหุ้นกลุ่มพลังงาน
  • 08/02/2017: การประชุม กนง. คงอัตราดอกเบี้ยตามคาด โดยคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.5% และมีมุมมองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดีขึ้นจากเดือน ธ.ค. โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และมองการใช้จ่ายภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
  • 14/02/2017: ตลาดหุ้นไทยย่อตัวหลังไม่สามารถผ่านแนวต้านที่ 1,600 จุดได้ ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงทางเทคนิคหลังจากที่ไม่สามารถผ่านแนวต้านสำคัญที่ 1,600 จุดได้ ทำให้เกิดการขายลดพอร์ตหลังจากที่อัพไซด์ที่เริ่มจำกัดลง และมีปัจจัยกดดันจากประเด็นการปรับค่าเช่าที่สนามบินของ AOT ที่เพิ่มขึ้นของกรมธนารักษ์
  • 16/02/2017: AOT ชี้แจงกรณีการขึ้นค่าเช่าคลายความกดดันของราคาหุ้น ผู้บริหารของ AOT ได้ออกมาชี้แจงประเด็นการขึ้นค่าเช่า โดยกล่าวว่าบริษัทยังใช้โครงสร้างค่าเช่าเดิม และประเด็นการขึ้นค่าเช่ายังอยู่ระหว่างการเจรจาและจะไม่มีการเก็บค่าเช่าย้อนหลัง
  • 20/02/2017: GDP 4Q16 โตขึ้น 3% ต่ำกว่าที่เราคาดที่ 3.5% GDP ในช่วง 4Q16 โตขึ้น 3% นำโดยการบริโภคและการลงทุนภาครัฐที่ฟื้นตัวขึ้นในขณะที่ปัจจัยกดดันมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงเนื่องจากช่วงการไว้ทุกข์ และ สศช. คาดการเติบโตในปี 2017 ไว้ที่ 3.0-4.0% (เราคาด 3.6%)
  • 01/03/2017: แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นต่อเนื่องทำให้ประธานของ Fed หลายสาขาส่งสัญญาณการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. โดยมีโอกาสเพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 80% และคาดว่าปีนี้จะมีการขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง
  • 10/03/2017: ปริมาณแท่นขุดน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 8 สัปดาห์ ปริมาณแท่นขุดน้ำมันในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 8 แท่นเป็น 617 แท่น สูงสุดนับจากเดือน ก.ย. ปี 2015 และเมื่อประกอบกับปริมาณน้ำมันในสต็อกที่เพิ่มขึ้น 8.2 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องและปิดที่ 48.49 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล