Tibet ดินแดนแห่งศรัทธา

Beyond Faith & Purity A Journey to Tibet

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 47 | คอลัมน์ Horizon

น่าจะเป็นการเริ่มต้นปีที่ดีสำหรับทุกคน หากได้ยืนสูดอากาศในดินแดนอันบริสุทธิ์ผุดผ่องบนแผ่นดินทิเบต (Tibet) ที่นี่คือมุมที่อวลไว้ด้วยศรัทธาอันเข้มแข็งของผู้คน หากได้สัมผัสทิเบตก็จะรู้ว่า ชีวิตชาวทิเบตเกิดมาเพื่อศรัทธา สวดมนต์ และภาวนาโดยแท้ ตาม TRUST เล่มนี้ไปสำรวจทิเบตในมุมที่น่าสนใจกัน

Jokhang Temple

วัดโจคังแห่งเมืองลาซาถูกเรียกขานกันว่า “วาติกันแห่งลาซา” สำหรับนักเดินทางคงไม่มีมุมไหนในลาซาอีกแล้ว ที่มีสีสันและชีวิตชีวาเท่าจัตุรัสบาคอร์ ด้วยว่านี่คือมุมที่เผยให้เห็นทั้งจิตวิญญาณและชีวิตชีวาของทิเบต รายรอบจัตุรัสคือความชุลมุน รอบด้านคือคลื่นมนุษย์ บางคนปักหลักอยู่ที่แผงขายของ บางคนแค่มาเดินเล่นกินลมชมแดด แต่โดยมากเป็นชาวทิเบตที่ต่างเดินทางมาเพื่อแสวงบุญและซึมซับความศักดิ์สิทธิ์ของวัดใจกลางเมืองเก่าแห่งนี้และมุมหนึ่งของจัตุรัสบาคอร์คือ วัดโจคังศูนย์รวมจิตใจของชาวทิเบต ซึ่งเก็บโบราณวัตถุชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายอย่างที่ใครๆ พากันหมายตาอยากเข้าไปชม

วัดโจคังสร้างในสมัยของกษัตริย์ซองเซนกัมโป ตอนนั้นพระองค์บัญชาให้สร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อเอาไว้เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปโจโบ ที่มเหสีชาวจีนของพระองค์ได้รับเป็นของขวัญวันแต่งงานจากองค์จักรพรรดิจีนแห่งราชวงศ์ถัง ชั้นดาดฟ้าเป็นลานโล่งเปลือยเปิดให้เห็นท้องฟ้า หลังคาทองคำสีอร่ามตาเมื่อตัดกับสีฟ้าคราม ยิ่งขับให้หลังคาทองคำดูวิจิตรและสง่างาม

วัดโจคังแห่งเมืองลาซา
วัดโจคังแห่งเมืองลาซา

Potala Palace

เมื่ออยู่ในนครลาซาไม่ว่าจะเร่ไปมุมไหน พระราชวังโปตาลาก็เคลื่อนตามไปแทบทุกที่นั่นเพราะส่วนสูงที่ไม่ธรรมดาของพระราชวังฤดูหนาวแห่งนี้ ในอดีตคือศูนย์รวมอำนาจทางศาสนาและการเมืองของทิเบต วังนี้คือพิพิธภัณฑ์ที่เปิดให้คนทั่วมุมโลกเข้ามาสอดส่อง แต่เมื่อไร้ร้างองค์ทะไลลามะและพระลามะ ที่นี่จึงเป็นเพียงสถานที่คุมขังอดีตจิตวิญญาณ ความโบราณ และความหลังเอาไว้ในพระราชวังโอฬารแห่งนี้ ความจริงแค่อยู่ด้านหน้าของโปตาลา ก็จะเพลิดเพลินกับภาพมหัศจรรย์แห่งความศรัทธาของผู้คน ที่หมุนเวียนเปลี่ยนผัน ซ้ำไปซ้ำมา ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ชาวทิเบตทั่วผืนแผ่นดินที่มีความศรัทธาเจืออยู่ในเส้นเลือดอย่างเข้มข้น เดินเท้าสลับกับการแสวงบุญด้วยการทำอัษฎางคประดิษฐ์เป็นระยะทางหลายร้อยหลายพันกิโลเมตร เสียงสวดมนต์กังวาลไปบนทุ่งแล้งท่ามกลางอากาศอันหนาวยะเยือก ทั้งหมดนี้ดั้นด้นมาเพื่อให้ได้สบตาและสัมผัสกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อโปตาลา

สำหรับชาวทิเบตทุกคน สักครั้งในชีวิตที่ได้อัษฎางคประดิษฐ์ออกจากรั้วบ้านไปจนถึงพระราชวังโปตาลา ถือว่าได้บรรลุภารกิจอันยิ่งใหญ่ ไม่ต่างจากชาวมุสลิมที่ได้เดินทางไปยังนครเมกกะเพื่อประกอบศาสนกิจ ไม่ต่างจากชาวคริสต์ที่ได้ดั้นด้นไปหาบ้านเกิดพระเจ้าของพวกเขาที่แผ่นดินอิสราเอล ราวกับว่ามีชีวิตอยู่เพื่อทำสิ่งนี้ เสื้อผ้าขาดวิ่น ยับเยิน มอมแมม เนื้อตัวกรำแดด คลุกดินกินฝุ่นมาตลอดทาง นั่นเป็นภาพที่เห็นในทิเบตได้อย่างชินตา ทั้งชีวิตของพวกเขา จึงไม่ได้อยู่เพื่อแก้วแหวน เงินทอง ไม่ได้ปรารถนาจะเป็นเจ้าของคำว่า “ร่ำรวย” แค่เดินปฏิบัติธรรมรอบโปตาลาอันศักดิ์สิทธิ์ ก็ราวกับว่าได้หลุดพ้นจากความอยากทั้งปวง 

หากเดินเข้าสู่ด้านในของพระราชวัง ก็จะเจอกับท่อนซุงลำมหึมากว่าหมื่นต้น ค้ำยันห้องหับเกือบพันห้องเอาไว้อย่างแข็งแรงใต้หลังคาสีทองอร่ามที่อยู่เหนือสุด คลุมสิ่งปลูกสร้างที่มีลักษณะคล้ายป้อมปราการสีขาวอันสง่าผ่าเผย ตรงกลางเป็นพระราชวังสีเลือดหมูอมแดง ปีกซ้ายขวาโอบไว้ด้วยพระราชวังสีขาว ฝั่งหอสูงขนาดใหญ่สีเลือดหมูอมแดงมี 13 ชั้น เป็นส่วนที่พระลามะใช้ปฏิบัติศาสนกิจและประกอบพิธีกรรมสำคัญ มีทั้งหอสวดมนต์ หอสำหรับนั่งสมาธิ และหอเก็บพระไตรปิฎก นอกจากนี้ยังเป็นส่วนที่บรรจุศพขององค์ทะไลลามะหลายพระองค์ แต่ที่ทุกคนให้ความสนใจมากที่สุดคงเป็นแท่นเก็บศพ

พระราชวังโปตาลา
พระราชวังโปตาลา

Yamdrok Lake

ทะเลสาบยัมดรกอยู่ห่างจากลาซาเกือบ 100 กิโลเมตร การเดินทางสู่ทะเลสาบแห่งนี้ รถต้องวิ่งเลาะไปตามเหลี่ยมเขา บางช่วงวิ่งผ่านช่องแคบคัมบาลาที่สูงทะลุ 4,700 เมตร จากระดับน้ำทะเล บางช่วงต้องข้ามแม่น้ำสายกว้างที่ชื่อยาร์ลุง ซังโป หรือคุ้นกันในชื่อของแม่น้ำพรหมบุตร

ทะเลสาบบนหลังคาโลกแห่งนี้ เป็น 1 ใน 4 ทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ของชาวทิเบต ที่เหลืออีก 3 แห่งคือ ทะเลสาบลาโม-ลา ที่อยู่ในหุบเขายาร์ลุง ซังโป ทะเลสาบมานาซาโรวาร์ อยู่ตีนเขาไกรลาศ และที่ใครๆ ยกให้เป็นสุดยอดแห่งความสวยคือทะเลสาบนัมโซ เรียกว่าเป็น 4 ทะเลสาบซึ่งเป็นเส้นทางแสวงบุญของชาวทิเบต ผู้มุ่งมั่นในการเดินเท้าทำอัษฎางคประดิษฐ์ ขณะเดียวกันก็เป็นเส้นทางที่บรรดานักท่องเที่ยวผู้หลงใหลการเดินเท้าบนที่สูงชื่นชอบ 

ทะเลสาบยัมดรก
ทะเลสาบยัมดรก

Gyantse

เมืองเจียนเซ่อยู่ห่างจากลาซาประมาณ 250 กิโลเมตร ที่นี่อาจเป็นเมืองเงียบๆ เหงาๆ เมื่อเทียบกับลาซา ทว่าในความว่างโล่งยังคงเข้มข้นและหนักแน่นไปด้วยศรัทธา หากเดินเหินอยู่ในเมืองนี้ก็จะเห็นชาวทิเบตที่เดินสวนไปมาล้วนอยู่ในท่าพร้อมเหวี่ยงกงล้อสวดมนต์กันทั้งสิ้น บ้างก็กำลังคลุกฝุ่นอยู่กับการทำอัษฎางคประดิษฐ์ ว่ากันว่าถ้าใครจะมองหาเมืองในทิเบตมีเสน่ห์แบบดิบๆ เดิมๆ คงต้องมาหาได้ที่เจียนเซ่ เมืองนี้อยู่สูงเกือบ 4 พันเมตร จากระดับน้ำทะเล และเป็นเมืองที่มากมายไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ หากอยากแกะรอยประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าเก่าเก็บของแต่ละเมือง ไม่มีอะไรบอกเล่าได้ดีไปกว่าป้อมปราการและของคู่บ้านคู่เมืองซึ่งอยู่ในรั้วของปัลคอร์ โชเด ที่มีกำแพงล้อมสถูปคุมบุนและอารามเก่าแก่หลายหลัง

เจียนเซ่เริ่มถูกพูดถึงกันแบบปากต่อปากจากผู้ผ่านมาพบเมื่อประมาณกว่า 500 ปีก่อน ว่าเป็นเมืองที่มีสถาปัตยกรรมการก่อสร้างโดดเด่นน่าประทับใจ นั่นเพราะผู้ผ่านทางเหล่านั้นคงได้พบกับสถูปคุมบุน ศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองประจำเจียนเซ่ ในอดีตที่นี่เป็นเส้นทางสายการค้า มีบรรดาพ่อค้าวานิชต่างบ้านต่างเมืองพากันแวะเวียนมา เรียกว่าเป็นย่านการค้าที่ในอดีตคึกคักไม่แพ้ถนน ฌ็อง เซลิเซ่ แห่งมหานครปารีสเลยทีเดียว

เจียนเซ่ที่ผู้คนสมัยนั้นรู้จักคือเมืองศูนย์กลางสำคัญด้านการค้าไม้ ขนสัตว์ พรม นาฬิกา และใบชา ระหว่างอินเดีย ภูฏาน และทิเบต เป็นที่เลื่องลือกันในเวลานั้นว่า หากใครอยากได้พรมทอมือดีที่สุดในทิเบตต้องมาตามล่าหาแถวเจียนเซ่ รับรองว่าไม่ผิดหวัง ยิ่งฤดูร้อนเวียนมาถึงเมื่อไหร่ เจียนเซ่จะยิ่งคึกคัก แขกเหรื่อจะเฮมาเพื่อมาดูเทศกาลแข่งม้าและเทศกาลยิงธนู นั่นทำให้ถนนสายการค้าแห่งนี้ไม่เคยว่างเว้นจากผู้คนจนกระทั่งเมื่อ 100 กว่าปีก่อน เจียนเซ่ก็ถูกแปลงจากสนามการค้าให้เป็น สนามรบ ที่นี่กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์ ระหว่างทิเบตกับอังกฤษนานนับเดือน ก่อนที่กองทัพอังกฤษจะเคลื่อนเข้าลาซา ที่จริงอังกฤษชายตามองทิเบตด้วยแววตาของนักล่าตั้งแต่ราวปี 1887 แล้ว ตอนนั้นเริ่มส่งแมวมองมาสำรวจโดยทำทีเป็นพวกพ่อค้า แต่มาบุกเข้าจริงๆ 10 กว่าปีหลังจากนั้น เหยื่ออย่างทิเบต ตกอยู่ในเกมการล่าอาณานิคมระหว่างอังกฤษกับรัสเซีย ใครลงมือยึดลาซาก่อนถือเป็นฝ่ายได้เปรียบเพราะตอนนั้นรัสเซียเองก็อยากมีของสะสมเป็นแผ่นดินในแถบเอเชียกลาง เลยเดินหน้าแผ่อิทธิพลปกคลุมทิเบตและชาติอื่นๆ ในแถบนั้น ในที่สุดราวปี 1904 อังกฤษก็ตัดสินใจบุกเข้ายึดลาซา โดยเคลื่อนทัพฝ่าด่านเจียนเซ่ไปก่อน

วันนี้อาจจะเป็นเมืองท่องเที่ยว ที่นักท่องโลกแวะเวียนมาไม่ขาดสาย หากแต่เจียนเซ่ซ่อนอดีตอันปวดร้าว ริ้วรอยการต่อสู้ และประวัติศาสตร์ที่จมกองเลือดไว้ ณ ป้อมปราการแห่งนี้ หลังจากถูกบุกยึดและทำลายป้อมปราการประจำเมืองก็อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาตลอด เพิ่งมาบูรณะและเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมานี้เอง ที่นี่ยังมีสถูปคุมบุนอายุเกือบ 600 ปี สถูปศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ในอดีตมีอาราม 9 หลัง น่าสนใจตรงที่เป็นอารามที่ยอมให้นิกายต่างๆ ของทิเบตทั้ง 3 นิกายอยู่ในบริเวณเดียวกัน ทุกวันนี้บริเวณลานวัดถูกปิดล้อมโดยกำแพงอยู่แนบอิงกับเชิงเขา แม้จะมีส่วนสูงเพียง 35 เมตร แต่คุมบุนถูกระบุว่าเป็นสถูปใหญ่สุดของทิเบต บางคนมองเห็นความงดงามของสถาปัตยกรรมเชิงโครงสร้างของคุมบุน และความวิจิตรของภาพเขียนและจิตรกรรมฝาผนังอันเก่าแก่ นักท่องเที่ยวอาจจะอยากตะกายสถูปขึ้นไปถึงชั้น 6 เพื่อกินลมชมวิวบนนั้น แต่สำหรับชาวทิเบตพวกเขาไม่ได้เข้าไปในสถูปเพียงเพื่อสักการะพระพุทธรูปพระศรีศากยมุนีที่ประดิษฐานอยู่ด้านใน ไม่ใช่แค่มากราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธ์หรือปีนสถูปขึ้นไปสวดมนต์ตามห้องหับที่อยู่ด้านใน แต่พวกเขาต่างมาเพื่อพาตัวเองจมดิ่งเข้าไปในดวงตาแห่งความศักดิ์สิทธิ์ทั้ง 4

สถูปคุมบุน ศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองเจียนเซ่
เจียนเซ่

Shigatse

บนระดับความสูง 3,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เมืองซิกัตเซ่ทอดตัวอยู่ที่นั่น เมืองหลวงของแคว้นซางแห่งนี้มีคนอยู่ไม่ถึงแสน ในอดีตคือเมืองชุมทางการค้า แต่วันนี้เจริญรุดหน้าไม่แพ้ลาซา ซิกัตเซ่ไม่ได้เป็นเมืองล้าหลังเร้นลับบนหลังคาโลกอีกต่อไป ในอดีตยามที่รัสเซีย อังกฤษ หรือแม้แต่จีนแย่งชิงกันครอบครองทิเบต ซิกัตเซ่ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ถูกหมายตา เพราะเป็นเมืองหน้าด่านสำหรับเส้นทางการค้าที่จะเชื่อมโยงไปหาเนปาล ภูฏาน และอินเดีย

มาถึงที่นี่ใครๆ ก็อยากไปเห็นอารามทาชิหลุนโป สำหรับชาวทิเบต อารามใหญ่ประจำเมืองแห่งนี้ถือเป็น 1 ใน 4 ศาสนสถานสำคัญของทิเบต สมัยก่อนเคยมีพระจำวัดเกือบ 5 พันรูป แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึงพันรูป อารามน้อยใหญ่ในรั้วของทาชิหลุนโปไม่เงียบเหงาเพราะนอกจากมีพระลามะจับกลุ่มเดินเหินไปมา ยังมีผู้ศรัทธาในธรรมเดินเข้าออกเพื่อไปสักการะบชู าพระพุทธรูปที่อยู่ตามหอสวดมนต์ในอารามต่างๆ ที่นี่นอกจากจะเป็นโรงเรียนผลิตลามะผู้ใฝ่เรียนและผู้มีใจในพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นแหล่งพำนักพักพิงของปันเชนลามะซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในอาณาจักรทิเบตรองจากองค์ทะไลลามะเลยทีเดียว

สมัยก่อนอารามทาชิหลุนโปไม่ได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เป็นเพียงวัดของพระนิกายหมวกเหลืองขนาดธรรมดาๆ แต่หลังจากสร้างขึ้นเมื่อปี 1447 ก็ต่อเติมขยับขยายให้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งมาถูกทำลายในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมก็บูรณะกันชุดใหญ่จนอลังการตระการตาอย่างทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้คือหลายมุมในทิเบต ที่หากใครได้สัมผัสจะพบว่าไม่ว่าโลกจะเคลื่อนไหวไปแค่ไหน แต่มวลความหนักแน่นในศรัทธาของผู้คนยังคงเอ่อล้นท่วมแผ่นดินแห่งนี้

ความงดงามทางสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตทิเบต
วิถีชีวิตทิเบต

Travel’s Guide

  • เดี๋ยวนี้บินเข้าทิเบตอาจเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว นักท่องเที่ยวนิยมนั่งรถไฟไปมากกว่า สามารถเริ่มต้นได้จากหลายจุด เช่น ปักกิ่งต้องนั่งยาวถึง 48 ชั่วโมง จากเฉิงตูต้องนั่งรถไฟเกือบ 45 ชั่วโมง จากเซี่ยงไฮ้ใช้เวลาเท่าๆ ปักกิ่ง 48 ชั่วโมง จากซีอันใช้เวลาประมาณ 35 ชั่วโมง จากซีหนิงใช้เวลาประมาณ 26 ชั่วโมง อย่าใช้วิธีนั่งรถไฟทั้งไปและกลับเพราะจะเหนื่อยมาก ควรนั่งรถไฟเข้าลาซาแล้วบินกลับ เพราะร่างกายจะได้มีเวลาค่อยๆ ปรับตัวขึ้นสู่ที่สูง แต่ถ้าบินไปแล้วนั่งรถไฟกลับโอกาสเกิดอาการแพ้ที่สูงจะเป็นมากกว่า จองตั๋วรถไฟไปบนเส้นทางสายชิงไห่-ทิเบต คลิกจองได้ที่ www.seat61.com หรือ www.chinatraintickets.net
  • ลาซาอยู่สูงมาก การเตรียมตัวเมื่อขึ้นสู่ที่สูง คือดื่มน้ำเยอะๆ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ ดึงตัวเองให้ทำอะไรช้าๆ สูดหายใจเข้าออกลึกๆ เป็นการบริหารปอด อย่าบริโภคอาหารหนักๆ สำหรับผู้เป็นโรคหัวใจและความดันไม่ควรไปเส้นทางสายนี้ เตรียมยาไปให้พร้อมโดยเฉพาะยาแก้แพ้ความสูง เช่น Diamox งดสูบบุหรี่ ถ้าอดไม่ได้ลดจำนวนลง บนรถไฟมีสายยางเพื่อเสียบกับท่อออกซิเจนให้ทุกเตียง ถ้าเริ่มหายใจติดขัดให้รีบเสียบแล้วหายใจช้าๆ
  • ควรเว้นการเดินทางช่วงสัปดาห์ทองของจีน คือช่วงวันแรงงาน ตั้งแต่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป เพราะผู้คนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาหนาแน่นมาก ไม่ว่าจะนั่งรถไฟ รถบัส หรือเรือบิน ทุกอย่างจะเต็มและราคาแพงมาก
  • มุมช้อปปิ้งดีที่สุดของลาซาอยู่ตรงตลาดแปดเหลี่ยม จัตุรัสบาคอร์ แค่มุมนี้ก็เดินเลือกกันตาลายแล้ว เพราะมีของเยอะมาก