file

กลยุทธ์การลงทุนปี 2019

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 47 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 2019 นี้ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ แม้จะเป็นไปในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลากหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสงครามการค้าที่ยังคงยืดเยื้อและคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในปี 2019 ส่วนนโยบายปฏิรูปภาษีและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐของสหรัฐฯ ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมาคาดว่าจะยังคงมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2019 แต่เป็นไปในอัตราที่ลดลง ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลัง และญี่ปุ่นมีกำหนดจะปรับขึ้นอัตราภาษีการบริโภคจาก 8% เป็น 10% ในเดือนตุลาคม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลง

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปี 2019 อยู่ที่ 3.7% YoY เท่ากับปี 2018 และ 2017 ซึ่งเป็นการประมาณการในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และเป็นการปรับลดประมาณการลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี โดยมีสาเหตุจากประเด็นเรื่องสงครามการค้าและความกังวลในวิกฤตเศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (EM) ในส่วนของประมาณการตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายประเทศ IMF คาดว่า GDP ของสหรัฐฯ จะขยายตัวในระดับ 2.5% YoY จีนขยายตัวที่ระดับ 6.2% YoY ยูโรโซนขยายตัวที่ระดับ 1.9% YoY และญี่ปุ่นขยายตัวที่ระดับ 0.9% YoY ส่วนประเทศไทย IMF คาดว่า GDP ของไทยจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็น 3.9% YoY นอกจากนี้ IMFประเมินว่าหากสงครามการค้ายังคงยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลให้ GDP โลกในปี 2020 ปรับลดลงกว่า 0.8% โดยสหรัฐฯ และจีนจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

ในช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา เรากังวลเรื่องมูลค่าของหุ้น เนื่องจากดัชนีของตลาดหุ้นหลัก เช่น S&P500 ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจนมี Forward P/E ถึง 18 เท่า ซึ่งเป็นระดับ P/E ที่เกือบสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เป็นรองแค่เพียงช่วงฟองสบู่ดอทคอมในช่วงปี 2000 เท่านั้น แต่เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่กดดันตลาดหุ้นในช่วงปี 2018 ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงแรง โดยหากนับตั้งแต่จุดสูงสุดเมื่อช่วงต้นปี 2018 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นกลุ่มพัฒนาแล้ว (DevelopedMarket) เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ปรับตัวลง 10-15% ส่วนตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่น จีน และเกาหลี ปรับตัวลงกว่า 15-30% ทำให้ Valuation ของดัชนีหุ้นที่เคยอยู่ในระดับสูงเมื่อช่วงต้นปีที่แล้วปรับตัวลงมาซื้อขายในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปี

จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในปี 2018 จึงทำให้ปี 2019 Valuation ของหุ้นไม่ใช่ประเด็นหลักที่น่ากังวล แต่เป็นประเด็นเรื่องอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นแทน

file แผนภาพที่ 1 : Valuation ของตลาดหุ้นทั่วโลกลดลง จากระดับสูงในช่วงต้นปี 2018 , Source : Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (ESU)

สำหรับการเติบโตของบริษัทจดทะเบียนดัชนี S&P500 ในปี 2019 นี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 9% ลดลงจากระดับ 22% ในปี 2018 ทั้งนี้เนื่องจากแรงหนุนจากการปฏิรูปภาษีที่เริ่มบังคับใช้ในปี 2018 จะเริ่มเบาลงซึ่งอัตราการขยายตัวที่ 9% นี้ยังไม่ได้นับรวมผลจากสงครามการค้ากรณีที่สหรัฐฯ และจีนไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้และประกาศขึ้นอัตราภาษีนำเข้ามูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนประมาณ 4.6% นั่นหมายความว่าบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ จะมีอัตราการเติบโตของกำไรเพียง 4% และในกรณีที่สหรัฐฯ ตัดสินใจปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนอีกมูลค่า 2.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เคยขู่ไว้ จะทำให้ผลกระทบทั้งหมดรวมภาษีก้อนอื่นๆ แล้วมีผลเกือบ 9% ต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียน นั่นหมายความว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในปี 2019 จะไม่เติบโตเลย

สงครามการค้าอาจกดดันให้กำไรของ S&P500 ไม่เติบโตเลยในปี 2019 แผนภาพที่ 2 : สงครามการค้าอาจกดดันให้กำไรของ S&P500 ไม่เติบโตเลยในปี 2019, Source : Goldman Sachs Global Investment Research, Deutsche Bank, Bloomberg, TISCO Economic Strategy Unit (ESU)

ประเด็นเรื่องสงครามการค้า นับว่ามีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมเป็นอย่างมาก และเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ว่าสุดท้ายแล้วสถานการณ์จะเป็นไปในทิศทางใด ดังนั้น ในปี 2019 การตัดสินใจลงทุนต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยแม้ประเด็นกดดันในแง่ Valuation ของหุ้นโดยรวมจะลดน้อยลง แต่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนในปี 2019 ค่อนข้างจำกัด กลยุทธ์การลงทุนในปี 2019 จึงแนะนำให้ลงทุนแบบตั้งรับ (Defensive)

กลุ่มหุ้นที่มีลักษณะตั้งรับ (Defensive) หมายถึงหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนที่มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ มีอัตราการเติบโตของผลกำไรที่แน่นอนไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร เนื่องจากหุ้นหรือบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม Defensive มักจะเป็นสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต หุ้นในกลุ่มนี้จึงมีความทนทานแม้ในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวโดยความสัมพันธ์ของกลุ่ม Defensive กับการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นรวม (Beta) มักอยู่ในระดับต่ำ โดยปกติมักมีค่า Beta น้อยกว่า 1 ตัวอย่างของกลุ่ม Defensive ได้แก่ กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Staples) กลุ่มเฮลธ์แคร์ (Healthcare) และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ (REITs)

สำหรับการลงทุนผ่านกองทุนรวมนั้นการลงทุนในกลุ่มสาธารณูปโภคยังค่อนข้างจำกัด โดยปัจจุบันจะเป็นลักษณะของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเสียมากกว่า ส่วนกล่มุสินค้าอุปโภคบริโภคแม้จะมีความน่าสนใจแต่ยังถูกกดดันด้วยอัตราค่าจ้างในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งค่าจ้างแรงงานนับเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจประเภทนี้ในขณะที่กลุ่มอสังหาริมทรัพย์แม้จะมีการจ่ายปันผลที่ค่อนข้างสม่ำเสมอแต่ยังถูกกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ ในขณะที่กลุ่มเฮลธ์แคร์มีแรงกดดันน้อยลงหลังการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ผ่านพ้นไป เนื่องจากการเป็นสภาผสมระหว่างพรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครตจะทำให้การผ่านร่างกฏหมายเพื่อยกเลิกโอบามาแคร์และการลดราคายามีความเป็นไปได้ยากขึ้น สังเกตได้จากการตอบรับเชิงบวกของหุ้นในกลุ่มเฮลธ์แคร์หลังประกาศผลการเลือกตั้งที่ดีดตัวขึ้นแรงกว่ากลุ่มอื่น

ดังนั้น กลุ่ม Defensive ที่น่าสนใจที่สุดในช่วงปี 2019 สำหรับการลงทุนในกองทุนรวม คือ กลุ่มเฮลธ์แคร์ ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มเฮลธ์แคร์ยังคงได้ประโยชน์จากแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุทำให้กลุ่มเฮลธ์แคร์สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว ในขณะที่ Valuation ได้ปรับตัวลงมาอยู่ระดับเดียวกับดัชนี S&P500 และได้รับแรงกดดันน้อยลงในแง่ของนโยบายจากภาครัฐ

แผนภาพที่ 3 : Health Care มีกำไรต่อเนื่องแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย, Valuation ปรับตัวลงมาอยู่ระดับเดียวกับ S&P500 แผนภาพที่ 3 : Health Care มีกำไรต่อเนื่องแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย, Valuation ปรับตัวลงมาอยู่ระดับเดียวกับ S&P500, Source : Bloomberg, TISCO ESU

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีกองทุนรวมที่ลงทุนในกลุ่มเฮลธ์แคร์ให้เลือกลงทุนมากมาย ซึ่งแต่ละกองทุนมีนโยบายการบริหาร นโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน และการเลือกใช้กองทุนแม่ (Master Fund) สำหรับการลงทุนแตกต่างกันออกไป การเลือกกองทุนรวมเฮลธ์แคร์ที่เหมาะสมจึงนับว่ามีความสำคัญมาก โดยปกติกลุ่มเฮลธ์แคร์ประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจย่อย เช่น

  1. การให้บริการทางการแพทย์ 
  2. อุปกรณ์ทางการแพทย์ 
  3. กลุ่มธุรกิจประกันภัย
  4. ยารักษาโรค 

โดยกลุ่มธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนในอัตราสูงให้กับการลงทุนในกลุ่มเฮลธ์แคร์และมีความสัมพันธ์กับอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีตลาดโดยรวม (Beta) ค่อนข้างสูงกว่ากลุ่มอื่น คือ กลุ่มของยารักษาโรค ซึ่งในกลุ่มยารักษาโรคยังสามารถแยกออกได้เป็นกลุ่ม Pharmaceuticals และกลุ่ม Biotechnology โดยกลุ่ม Pharmaceuticals จะมีความผันผวนและอ่อนไหวต่อนโยบายและกฏเกณฑ์จากภาครัฐ เช่น ความพยายามในการปรับลดราคาในช่วง 2 - 3 ปีก่อน ส่วนกลุ่ม Biotechnology จะมีความสัมพันธ์กับกลุ่ม Technology ค่อนข้างสูง เป็นกลุ่มธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับความคาดหวังในการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อผลิตยาชนิดใหม่ออกมาจึงกล่าวได้ว่า กลุ่มธุรกิจยารักษาโรค เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในกลุ่มเฮลธ์แคร์ด้วยกัน แต่เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นๆ ในเฮลธ์แคร์จึงทำให้กองทุนรวมส่วนใหญ่ต้องให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มยารักษาโรคในอันดับต้น ซึ่งหากเศรษฐกิจและตลาดหุ้นยังมีทิศทางที่ดี กองทุนเฮลธ์แคร์ที่เน้นลงทุนในกลุ่มยารักษาโรคจะมีผลตอบแทนที่ดีกว่าในทางกลับกันก็มีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มธุรกิจอื่นในเฮลธ์แคร์ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อให้การลงทุนในปี 2019 ตามธีม Defensive ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบจากเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลง จึงแนะนำให้ลงทุนในกลุ่มเฮลธ์แคร์ โดยเลือกลงทุนในกองทุนรวมเฮลธ์แคร์ที่กระจายการลงทุนในกลุ่มต่างๆ ในอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน หลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุนรวมที่ให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม Pharmaceuticals และ Biotechnology มากจนเกินไป และยังคงเน้นย้ำหัวใจสำคัญของการลงทุนคือ “การกระจายการลงทุน”