คุณพิชา รัตนธรรม

Holistic Financial Advisory ตอบโจทย์ความมั่งคั่งแบบองค์รวม จากทิสโก้ เวลธ์

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 48 | คอลัมน์ Exclusive

เมื่อสภาพแวดล้อมและปัจจัยต่างๆ ในอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลง ธุรกิจก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สำหรับธุรกิจที่เป็น “ผู้นำ” นั้น มักเป็นธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ก่อนจะถูกบีบให้ต้องเปลี่ยน กลุ่มทิสโก้ (TISCO) เองก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่มักปรับตัวล่วงหน้าก่อนอุตสาหกรรมเสมอ จนกลายเป็นผู้นำในธุรกิจบริการให้คำปรึกษาทางการเงินอย่างต่อเนื่องมาตลอดครึ่งศตวรรษ

จากความสำเร็จที่ผ่านมาในการเป็น Top Advisory ของกลุ่มทิสโก้ มาวันนี้ กลุ่มทิสโก้เดินหน้าต่อ ยกระดับบริการลูกค้าไปอีกขั้นด้วยการมุ่งสู่การให้บริการให้คำแนะนำทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้าแบบองค์รวมหรือ Holistic Financial Advisory โดยครอบคลุมการวางแผนการเงินที่มีการคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆ เพื่อปกป้องและเสริมสร้างความมั่งคั่งทางการเงินให้กับลูกค้าเพื่อให้มั่นใจได้ว่าลูกค้าจะสามารถมีความสุขกับไลฟ์สไตล์ที่เลือกไปตลอดชั่วชีวิต

คุณพิชา รัตนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ เริ่มต้นด้วยการให้คำอธิบายถึง    พันธกิจใหม่ของกลุ่มทิสโก้ว่า Holistic Financial Advisory เป็นการต่อยอดการให้บริการที่ปรึกษาด้านลงทุน (Investment Advisory) ให้ครอบคลุมทั้งในเรื่องของการลงทุน การวางแผนประกันเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ และการวางแผนเกษียณ ให้สามารถตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายได้อย่างคุ้มค่า เรียกว่าเป็นการบริหารความมั่งคั่งอย่างครบวงจรที่แท้จริง

“เราต้องการสร้างประสบการณ์ที่ดีและสร้างความผูกพันกับลูกค้า (Customer Engagement) เราก็มาดูที่จุดแข็งของเรา ซึ่งเราค่อนข้างแม่นยำในเรื่องของการให้คำปรึกษา (Advisory) แล้วดูว่ากลุ่มลูกค้าของเราต้องการอะไร และความต้องการนั้นจะนำไปสู่บริการที่สร้างความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับทั้งลูกค้าและธุรกิจได้อย่างไร”

ผู้บริหารธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า เนื่องจากเทรนด์ด้านประชากร (Demographic Trend) บวกกับสภาวะและปัจจัยต่างๆ ในปัจจุบันเปลี่ยนไป ส่งผลต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่ม Wealth ให้เริ่มเปลี่ยนแปลง ทำให้ยุทธศาสตร์ใน “การวางแผนการเงิน” ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามโจทย์ใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 3 ความต้องการหลัก ได้แก่ ความต้องการด้านการลงทุน (Investment Return) ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มทิสโก้ดำเนินธุรกิจมาตลอด ตามมาด้วยความต้องการความคุ้มครองทางด้านชีวิตและสุขภาพ (Life Protection / Health Protection) และความต้องการความคุ้มครองด้านคุณภาพชีวิตตลอดชีวิตหลังเกษียณ (Retirement Protection)

“จากเดิมที่ลูกค้ากลุ่ม Wealth อาจต้องการแค่เรื่องของผลตอบแทนการลงทุน แต่วันนี้ไม่ใช่แล้ว สถานการณ์มันเปลี่ยน ลูกค้ามีความตื่นตัวด้านสุขภาพ ลูกค้าอยากได้ไลฟ์สไตล์และคุณภาพชีวิตหลังเกษียณที่ดีไม่แพ้ชีวิตวัยทำงาน ฉะนั้น ความต้องการ 3 เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ที่ปรึกษาและผู้ให้บริการวางแผนการเงินต้องพยายามหาผลิตภัณฑ์มาตอบสนองให้ได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีผู้ให้บริการรายใดที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการแบบองค์รวมของลูกค้าได้”

ขณะที่อีกด้าน โจทย์ของการลงทุนตอนนี้ก็เปลี่ยนไป จากแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนที่มีหลากหลายปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบ ถ้าพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจของหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมามีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างชัดเจน และตามปกติกำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งในยามที่เศรษฐกิจขาลง ผลกำไรของตลาดหุ้นก็จะหดตัวลงตามไปด้วย โดยหุ้นกลุ่ม “Cyclicals” หรือหุ้นวัฏจักร เช่น หุ้นกลุ่มธนาคาร หุ้นกลุ่มพลังงาน เป็นต้น จะได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น การลดความเสี่ยงถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญ ควบคู่กับการมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุน

แนวทางที่น่าสนใจในการลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำในช่วงเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ คุณพิชาแนะนำให้ลงทุนในธุรกิจที่ล้อไปกับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เป็นกระแสหลัก หรือ “Megatrend” ของโลก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ Digital Health และ E-commerce ถือเป็นกลุ่มที่เติบโตและได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับกระแสความเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ประชากรโลกและเทรนด์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ทั่วโลกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งรายได้และกำไรของบริษัทในกลุ่มดังกล่าวนี้ยังไม่ผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจอีกด้วย

โจทย์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งหมดส่งผลให้การจัด  Asset Allocation แบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างเพียงพอจึงเป็นที่มาของพันธกิจ Holistic Financial Advisory ของทิสโก้ เพื่อให้บริการครบวงจร (One-stop Service) โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

file

Health and Retirement Protection Solution = New Focus

คุณพิชาเล่าว่า สมัยก่อนที่เทคโนโลยีทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลยังไม่ก้าวหน้า คนที่เป็นโรคร้ายแรงมักจบเกมด้วยการเสียชีวิต พร้อมกับได้ทุนประกันชีวิต ที่ทิ้งไว้ให้ลูกหลาน แต่วันนี้ “เกม” ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะถึงแม้จะเป็นโรคร้ายแรงก็สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า แต่ก็แลกมาด้วยค่ารักษาพยาบาลก้อนโต ยิ่งถ้าต้องการบริการอย่างดี ก็ยิ่งต้องจ่ายแพง ประกอบกับปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ Health Insurance ให้เลือกมากขึ้น คนจึงนิยมทำประกันสุขภาพกันมากขึ้น

“ถ้าคุณไม่มี Health Insurance ในการรักษาโรคร้ายแรง หลายๆ ครั้งค่ารักษามันมากกว่าทุนประกัน และอาจจะเข้าไปกินส่วนของเงินที่คุณเก็บไว้ให้ลูกหลานด้วย ดังนั้นทุกคนจึงต้องมีประกันสุขภาพเพื่อไม่เป็นภาระของคนข้างหลัง ยิ่งในสภาพแวดล้อมอย่างทุกวันนี้ ทุกคนมีความเสี่ยงที่เป็นโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงต่างๆ มากขึ้น ฉะนั้น Health Insurance จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี และต้องแน่ใจด้วยว่าความคุ้มครองจะยาวไปจนถึงชีวิตหลังเกษียณ” คุณพิชาย้ำ

ขณะเดียวกัน ยังมีเทรนด์ใหญ่ในเรื่องประชากร (Demographic Megatrend) ที่คนมีอายุยืนยาวขึ้น อีกทั้งสังคมไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย แต่สวัสดิการที่ได้รับหลังเกษียณกลับไม่เพียงพอที่จะทำให้คุณภาพชีวิตดีเทียบเท่าชีวิตวัยทำงานได้ ดังนั้น การวางแผนการเงินสำหรับวัยเกษียณ เพื่อรักษาคุณภาพชีวิตให้ใกล้เคียงสมัยยังทำงาน จึงเป็นอีกสิ่งที่กลุ่มลูกค้า Wealth ให้ความสำคัญ ฉะนั้น จึงต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ดีและตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีกว่าเดิม

ผู้บริหารทิสโก้ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทิสโก้จะเปิดตัวช่วงปีนี้ ได้แก่ แผนคุ้มครองโรคร้ายแรง (Critical Illness Insurance) และแผนคุ้มครองโรคมะเร็ง (Cancer Insurance) ที่แผนการคุ้มครองจะยาวถึงอายุ 99 ปี และผลิตภัณฑ์ Retirement Protection ที่พัฒนาจากแนวคิดการใส่เงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) แต่ผลิตภัณฑ์ของทิสโก้ลูกค้าจะสามารถเพิ่มจำนวนเงินใส่เข้าไปได้ตลอด และแทนที่จะได้รับเงินก้อนครั้งเดียวตอนเกษียณ เงินก้อนนี้จะถูกจัดสรรเป็นเงินบำนาญรายเดือน/รายปี เพื่อให้ลูกค้าได้นำไปใช้ดำเนินชีวิตหลังเกษียณตามไลฟ์สไตล์ที่ใกล้เคียงเดิมไปจนเสียชีวิต

file
file

Open Architecture ตอบโจทย์กองทุน-ประกันในจุดเดียว

ในการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบบองค์รวมและเกิดประโยชน์สูงสุดกับลูกค้าที่ปรึกษาทางการเงินจำเป็นจะต้องมี “ตัวเลือก” ที่ดีและมีความหลากหลายมากพอที่จะตอบโจทย์ตามเงื่อนไขและสภาวะส่วนบุคคล รวมถึงความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าแต่ละคนได้ ด้วยเหตุนี้เอง แพลตฟอร์มที่เป็น Open Architecture จึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การสรรหาและคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ “ดีที่สุด (Best in Class)” มาให้ลูกค้าได้

คุณพิชาเล่าว่า กลุ่มทิสโก้เลือกใช้ Open Architecture บริการซื้อขายผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุน-ประกันชีวิตและสุขภาพจากหลากหลายค่ายในจุดเดียว เพราะเชื่อว่าแต่ละบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) หรือแต่ละบริษัทประกัน มีความถนัดและเชี่ยวชาญในแต่ละผลิตภัณฑ์แตกต่างกัน ดังนั้น การเปิดกว้างให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและสุขภาพที่มีคุณภาพในจุดเดียว จึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า เพราะสามารถแนะนำสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุดให้กับลูกค้า ซึ่งนั่นจะทำให้พันธกิจการเป็น Holistic Financial Advisory สมบูรณ์แบบ

ปัจจุบัน พันธมิตรด้านผลิตภัณฑ์ของธนาคารทิสโก้ ประกอบด้วย บลจ. ชั้นนำ 12 แห่ง และบริษัทประกันภัยชั้นนำอีกประมาณ 10 แห่ง นอกจากนี้ กลุ่มทิสโก้ยังมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่วิเคราะห์วิจัย ซึ่งจะช่วยคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดี สอดคล้องกับ เทรนด์โลก ถือเป็นจุดแข็งที่จะช่วยทำให้บุคลากรทิสโก้สามารถแนะนำสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดให้ลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์การลงทุน ผลิตภัณฑ์ประกัน รวมถึงแนวทางการจัดสรรการลงทุน ขณะเดียวกัน กลุ่มทิสโก้เองยังได้นำฐานข้อมูลที่มีมาออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ตรงใจที่สุดด้วย

ประสานจุดแข็งมุ่งสู่ความเป็นผู้นำ Top Holistic Advisory 

ไม่เพียงแพลตฟอร์ม Open Architecture ที่พร้อมรองรับผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดจาก บลจ. และบริษัทประกันชั้นนำ ทิสโก้ยังมีจุดแข็งสำคัญที่สร้างความโดดเด่นและความน่าเชื่อถือจนเป็นที่ยอมรับ คือ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ หรือ TISCO ESU คุณพิชาเล่าว่า ปัจจุบัน ศูนย์วิจัย (Research Unit) ในธุรกิจภาคการลงทุน ส่วนใหญ่ยังติดอยู่กับการวิเคราะห์หุ้น (ไทย) รายตัวเป็นหลัก แต่มีน้อยมากที่เขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับกองทุนรวมทั้งในประเทศไทยและระดับโลกอย่างเป็นกลาง และภายในปีนี้ ทิสโก้จะออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันที่ดีที่สุดในแต่ละกลุ่ม/แต่ละประเภท หรือดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขต่างๆ ที่แตกต่าง (Best in Class) เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกให้กับลูกค้าและผู้บริโภค และเพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ดูแลลูกค้า Wealth ของทิสโก้ ซึ่งผู้บริหารทิสโก้เชื่อว่าจะเป็นบทวิเคราะห์ที่ลูกค้าทุกคนได้ประโยชน์อย่างแท้จริงและเป็น Best in Town Research เพราะตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและความเป็นกลาง

“การเป็น Open Architecture ตามครรลองของความเป็นมืออาชีพ เราก็ควรต้องมีข้อมูลที่ดีและบทวิเคราะห์ที่ถูกต้องแล้วประมวลออกมาเป็นมุมมองของเรา (House View) เพื่อที่จะได้แนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้กับโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้อย่างมั่นใจ ผมว่าเรามีระเบียบแบบแผน มีเหตุมีผลอยู่บนตรรกะที่ควรจะเป็น ผมถึงมั่นใจว่า เราจะเป็น Top Holistic Advisory ได้แน่นอน และนี่เองที่จะทำให้ธุรกิจเราเติบโตอย่างยั่งยืน”

นอกจากนี้ ธนาคารทิสโก้ยังมีอีกจุดแข็งสำคัญ ซึ่งเป็นความแข็งแกร่งที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เรียกได้ว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งสายงาน Wealth Management เลยก็ว่าได้นั่นคือ ทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ (Relationship Manager : RM) ซึ่งเป็นบุคลากรที่มีหน้าที่ดูแลและให้คำแนะนำกับลูกค้าโดยตรง โดย RM ของธนาคารทิสโก้ทุกคนจะต้องมีใบอนุญาตผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ (Single License)

“Key Success อันดับแรกของสายงาน Wealth Management ของทิสโก้ตั้งแต่วันแรกจนวันนี้ ก็คือ Advisory Skills Set ของ RM ยิ่งทุกวันนี้ ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกอย่างผ่านมือถือ ดังนั้น ลูกค้าคงไม่อยากได้เพียงข้อมูลจาก RM แต่สิ่งที่เขาอยากได้ คือการวิเคราะห์และคำแนะนำที่ต้องฉลาดรอบคอบและครบถ้วนมากกว่าสิ่งที่เขาหาเองได้ การเตรียมคนจึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุด พอเราจะก้าวไปเป็น Top Holistic Advisory ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราก็เริ่มให้ RM ไปสอบใบประกอบวิชาชีพนักวางแผนการเงิน (AFPT/CFP) เพื่อจะได้มีความรู้ความสามารถที่จะแนะนำลูกค้าได้อย่างครบวงจรและถูกต้องเหมาะสม”

คุณพิชาย้ำว่า ธนาคารทิสโก้ให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของ RM เป็นอันดับหนึ่ง โดยเขาตั้งเป้าว่าจะให้ทุกสาขาของธนาคารทิสโก้ต้องมี  AFPT/CFP ประจำอยู่อย่างน้อย 1-2 คน หรือประมาณ 150 คน จากจำนวน RM ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 300 คน “จากจุดแข็งทั้งหมดทำให้ผมมั่นใจว่าทิสโก้จะเป็น Top Holistic Financial Advisory ได้แน่นอน และการที่เราตอบโจทย์ลูกค้าและทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์อย่างแท้จริง จะทำให้ลูกค้าไว้วางใจ (Trust) เราไปตลอด และนี่เองที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ผมไม่เชื่อว่า ไม่มีธุรกิจใดที่เราได้แต่ลูกค้าไม่ได้ แล้วธุรกิจนั้นจะยั่งยืน” คุณพิชา กล่าวทิ้งท้าย


file

TISCO CSR: ลูกค้าทิสโก้มีส่วนช่วยสังคม

การยกระดับสู่บริการ Top Holistic Financial Advisory ของทิสโก้ นอกเหนือจากจะเป็นการต่อยอดบริการที่จะทำให้ลูกค้าได้ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพแล้ว บริการดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคม โดยตลอดทั้งปีนี้ ทิสโก้จะมีการแบ่งรายได้ค่าธรรมเนียมบางส่วนจากการขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสมทบทุนบริจาคไปยังโรงพยาบาล หรือกองทุนที่เกี่ยวกับสุขภาพ เช่น กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (Cancer Immunotherapy Fund) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย หรือการนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการขายประกันบริจาคให้กับกองทุนมะเร็งในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นอกเหนือไปจากโครงการ “Friends for Life” ซึ่งทิสโก้ได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตร ลูกค้า คู่ค้า ผู้มีจิตศรัทธาระดมทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐ 5 แห่ง ที่รองรับผู้ป่วยจากทั่วประเทศกว่า 8 ล้านรายต่อปี