Villa Musee

Villa Musee ปลุกวิถีวันวานกับการอนุรักษ์ คุณค่าแห่งไทยในแหล่งเรียนรู้มีชีวิต

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 48 | คอลัมน์ Living Art

เมื่อประตูรั้วเหล็กหล่อสีสนิมโก้เก๋ของ Villa Musee ถูกเปิดออก อาณาจักรแห่งความคลาสสิก ที่ตั้งเด่นตระหง่านท่ามกลางแมกไม้ในดินแดนเขาใหญ่ ก็ปรากฏขึ้นให้สะดุดตา เพราะเป็นเรือนไทยเก่าแก่ที่สะท้อนร่องรอยจากวันวาน ให้ได้ย้อนรำลึกถึงเสน่ห์ที่ไม่เคยเลือนหาย

จุดก่อเกิดของ  Villa Musée มาจากความหลงใหลในของโบราณ ที่คุณโอ๊ค-อรรถดา คอมันตร์ Director แห่ง Thai Star Group สะสมมาตั้งแต่วัยเยาว์ เริ่มต้นด้วยแสตมป์ดวงเล็ก ภาพถ่าย ขยายกลายเป็นศาสตราวุธ เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ เรือนไทย ด้วยการเสาะหาตามร้านแอนทีคและแหล่งขายของเก่า ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ จากของไม่กี่สิบชิ้น กลายเป็นหลักร้อยหลักพัน จากของรักของหวงกลายเป็นของที่น่าเสียดาย หากเก็บไว้ชื่นชมแต่เพียงผู้เดียว เลยเกิดการแบ่งปันผ่านรูปแบบของแหล่งเรียนรู้ พร้อมสร้างจุดเด่นด้วยการคืนคุณค่าวิถีไทยอย่างมีชีวิตนำเสนอผ่าน Museum on Story เพื่อสะกิดความสนใจคนรุ่นใหม่ ที่นับวันจะรู้จักความงามสง่าแบบไทยโบราณน้อยลงทุกที

อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ คุณโอ๊คกล่าวว่ามาจากเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2554 ส่งผลให้ของเก่าที่เก็บไว้ในโกดังหลายหลังเกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ยุโรปที่ส่วนใหญ่ทำจากไม้เนื้ออ่อน ทำให้รู้สึกเสียใจและเสียดายที่ของเก่าอายุนับร้อยปีเกิดการเสียหายในยุคของเขา จึงตั้งใจนำออกมาจัดเก็บในรูปแบบใหม่จัดหาสถานที่ที่เหมาะสม พร้อมเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ร่วมชื่นชม เรียนรู้ เพื่อปลุกสำนึกในการร่วมอนุรักษ์

ถึงแม้ข้าวของที่นำมาจัดแสดง จะเป็นของโบราณล้ำค่าอายุนับร้อยปี แต่ก็ไม่หวงห้ามให้ดูเพียงสายตา สามารถถ่ายภาพเป็นบันทึกแห่งความทรงจำได้ทุกห้อง ทั้งยังไม่มีการติดป้ายว่าห้ามจับ เพราะต้องการให้รู้สึกเหมือนบ้านที่มีคนอาศัย และเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาชมจะให้ความเคารพในคุณค่าของโบราณที่ตกทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ที่นี่จะมีการหมั่นปรับเปลี่ยนการตกแต่ง เพื่อผลัดเวียนเครื่องเรือนและของประดับใหม่ที่มีอยู่เสมอ เพราะหากย้อนกลับมาเข้าชมอีกครั้งก็จะได้ตื่นตาไปกับของชิ้นใหม่กันอีกหน จนทำให้ Villa Musée ได้รับการแนะนำจากสื่อต่างๆ ว่า เป็นจุดหมายที่ควรแวะเยือน เมื่อมาเที่ยวเขาใหญ่

file

เรือนแต่ละหลังของที่นี่เป็นสถาปัตยกรรมราวยุคปลายรัชกาลที่ 4 ไปจนถึงช่วงต้นรัชกาลที่ 6 ได้รับการตั้งชื่อใหม่ตามบรรพบุรุษ ดังเช่น เรือนประเสนชิต นำมาจากชื่อคุณทวด พระยาประเสนชิตศรีพิไลย (ดัด บุนนาค) อาคารหลักสีพาสเทลโทนเขียวไข่กาหลังนี้ สร้างในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2450 ซึ่งถือเป็นช่วงของยุควิกตอเรียนในสยาม เป็นเรือนปั้นหยา

ไม้สักทองสองชั้น ที่รื้อถอนมาจากบ้านเลขที่ 301 อันทรุดโทรมในย่านสี่พระยา ถูกนำมาฟื้นคืนชีวิตขึ้นใหม่ โดยยังคงโครงสร้างสถาปัตยกรรมเก่าให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด รวมถึงลวดลายไม้ฉลุ แม้กระทั่งจำนวนขั้นบันไดที่นำขึ้นสู่ตัวเรือน จะมีเพียงระเบียงด้านนอกที่เปลี่ยนเป็นหินอ่อน ลวดลายตรงกับความนิยมในยุครัชกาลที่ 5 เพื่อความแข็งแกร่งคงทน และเปลี่ยนไม้บางชิ้นที่เก่าแก่หมดสภาพ แต่ยังคงใช้ไม้สักทองเก่าที่มีอายุในช่วงสมัยเดียวกัน

ความโดดเด่นของตัวเรือนที่งดงามมาแต่กาลก่อน ตลอดจนความตั้งใจในการอนุรักษ์ทำให้เรือนประเสนชิต ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ.2558

ภายในเรือนประเสนชิต มีการตกแต่งแฝงเรื่องราวเพื่อให้อินกับการเดินชมยิ่งขึ้นประหนึ่งเป็นเรือนของขุนนางสยามดีกรีนักเรียนนอก ที่เดินทางกลับมารับราชการในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 เครื่องเรือนและของประดับจึงสะท้อนถึงรสนิยมในยุคนั้นไว้ได้อย่างโก้หรู ในขณะที่ผู้เข้าชมเปรียบดั่งเป็นแขกคนสำคัญของท่านเจ้าคุณ ที่ได้รับเกียรติให้เดินชมทั่วเรือน มีทั้งห้องอาหารที่ตั้งโต๊ะไม้แกะสลักบนผนังประดับรูปแผนที่สำรวจพระนครศรีอยุธยาฉบับแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์โดยรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาโบราณราชธานินทร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาโบราณบุรานุรักษ์ในขณะนั้น สำรวจเกาะเมืองกรุงเก่าเอาไว้

file
file

ในส่วนของห้องทำงาน นอกจากบนโต๊ะจะมีข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ ยังประดับผนังด้วยภาพข่าวเกี่ยวกับอาณาจักรสยาม จากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส Le Petit Journal ให้ได้เห็นถึงเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ เช่น กรณีพิพาทฝรั่งเศส-สยาม จนนำไปสู่วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ส่วนห้องเปียโนก็ตั้งวางเปียโนคีย์บอร์ดงาช้างสุดคลาสสิก ผลิตขึ้นในปี ค.ศ.1911 ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาในยุคสมัยใกล้เคียงกัน ห้องรับแขกมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงโบราณ และชุดเฟอร์นิเจอร์ไม้โก้หรู ห้องพักผ่อน บ่งบอกถึงกิจกรรมยามว่างที่เจ้าของเรือนโปรดปราน ตั้งกล้องส่องทางไกลไว้ชมวิว มีเก้าอี้ให้เอนหลังอ่านหนังสือ ตู้โชว์ประดับเครื่องกระเบื้องเขียนลาย ส่วนห้องนอน มีการจัดวางเตียงสี่เสาประดับม่านขาว พร้อมตู้เสื้อผ้าไม้เก่าหลังใหญ่และโต๊ะเครื่องแป้งสำหรับแต่งตัว

ของประดับตกแต่งภายในเรือนนี้ ยังมีของสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกหลายชิ้นที่ควรค่าแก่การพินิจชม เช่น ภาพแขวนบริเวณโถงกลาง บอกเล่าถึงการจัดงานเลี้ยงสหชาติ ปี พ.ศ.2459 ซึ่งเป็นงานเลี้ยงพระราชทานในสมัยรัชกาลที่ 6 และภาพพิมพ์หินขนาดใหญ่พระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นอกจากนี้ยังมี เรือนอนุรักษ์โกษา ตั้งชื่อตามพระยาอนุรักษ์โกษา (ประเวศ อมาตยกุล) ตัวเรือนสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ในยุคโคโลเนียล สร้างขึ้นใหม่ให้สอดรับกับบานประตูและหน้าต่างประดับกระจกสี ซึ่งเป็นของเก่าอายุกว่าศตวรรษจากพม่า แล้วยังมีบันไดวนเหล็กหล่อลวดลายวิจิตร เฟอร์นิเจอร์ประดับมุก ธงชาติที่ถูกชักขึ้นเสาครั้งแรกในสยาม และวิวัฒนาการก่อนมาเป็นธงไตรรงค์ รวมถึงเคาน์เตอร์บาร์ ที่นี่เป็นเรือนสำหรับนั่งพักผ่อนได้ พร้อมจัดเสิร์ฟ Mini Tea Set เป็นของว่างไว้ต้อนรับ แต่ถ้าอยากสัมผัสความละมุนยามบ่ายให้มากขึ้น ก็มีเซ็ต Afternoon Tea ให้สั่งเพิ่มได้ ทั้งยังมีการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนให้ได้ชมกันทุกๆ 3 เดือน โดยเฉพาะภาพถ่ายจากยุคก่อนที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตของไทยได้หลากหลายมุมมอง ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนเป็นนิทรรศการหนังสือพิมพ์ ส่วนเรือนศรีสุนทร ที่อยู่ข้างกัน นับเป็นตัวเรือนแบบไทยผสมมอญที่ควรค่าแก่การชมวิถีชีวิตที่ละเมียดของคนยุคก่อนเช่นกัน

file
file
file

สำหรับใครที่อยากดื่มด่ำกับการค้างแรมแสนคลาสสิก ที่นี่ก็มีโครงการในอนาคตที่จะเปิดเรือนบางหลังให้เข้าพักอย่างมีระดับทั้งเรือนสัตยาธิปตัย เรือนหมู่สีแดงชาด เปิดให้จับจองแบบยกเรือนทั้ง 5 ห้องนอน ซึ่งล้วนตกแต่งอย่างแตกต่าง ด้วยเครื่องเรือนโบราณโอ่อ่าหรูหราและสะดวกสบาย ชั้นบนมีลานกลางบ้านตามแบบเรือนไทยภาคกลางสมัยก่อนหากมีผู้เข้าพักจะปิดพื้นที่ให้มีความเป็นส่วนตัวสามารถใช้สระว่ายน้ำด้านหลังของเรือนประเสนชิตได้ ในขณะที่ เรือนสิงหฬสาครเป็นเรือนไทยแฝดฝาลายปะกน แทรกตัวอยู่ท่ามกลางแมกไม้ ด้านหน้ามีสระบัววิกตอเรียภายในกรุ่นกลิ่นอายย้อนยุค จัดวางเครื่องเรือนไม้สักโบราณ มอบความรู้สึกอบอุ่นมั่นคง ราวกับแวะมาพักผ่อนยามเยี่ยมเยือนญาติผู้ใหญ่

นอกจากนี้ วิลล่า มูเซ่ ยังจัดสรรพื้นที่รองรับสำหรับการจัดกิจกรรมพิเศษในโอกาสต่างๆ เช่น ถ่ายภาพ Pre-wedding งานแต่งงานงานเลี้ยง ตลอดจนงานอีเวนท์ต่างๆ ที่ต้องการบรรยากาศแบบย้อนยุค ท่ามกลางธรรมชาติชวนรื่นรมย์ของเขาใหญ่ เพื่อบันทึกไว้เป็นห้วงเวลาพิเศษที่น่าจดจำ

Villa Musee

ที่ตั้ง : 111 หมู่ 2 ถนนธนะรัชต์ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 30130 (บริเวณเดียวกับ ภูวนาลี รีสอร์ท เขาใหญ่)

การเข้าชม : ศุกร์ - อาทิตย์ มีบริการนำชม 4 รอบ เวลา 09.00 น., 11.00 น., 14.00 น. และ 16.00 น. รอบละไม่เกิน 8 ท่าน โดยนัดหมายเข้าชมล่วงหน้า (หากเข้าชมเป็นหมู่คณะเดียวกันถึง 8 ท่าน สามารถติดต่อขอเข้าชมเป็นรอบพิเศษได้) 
ติดต่อ : 06 3225 1555

เว็บไซต์ : www.villamusee.com / www.facebook.com/villamuseekhaoyai