ดร.ภากร ปีตธวัชชัย

"ดร.ภากร ปีตธวัชชัย" ยกระดับตลาดทุนไทยตอบโจทย์นักลงทุนโลก

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 48 | คอลัมน์ People

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ตลาดทุนไทยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ มาอย่างมากมายก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ถึงวันนี้ สามารถกล่าวได้ว่าตลาดทุนไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศจนเป็นที่ยอมรับและแข่งขันได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งพัฒนาการดังกล่าวเป็นผลจากความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนโดยองค์กรสำคัญที่มีส่วนขับเคลื่อนตลาดทุนไทยจนก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)

TRUST Magazine ได้รับเกียรติจาก “ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนที่ 13 มาบอกเล่าถึงวิสัยทัศน์ของ ตลท. ตลอดจนเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยเฉพาะช่วง 2-3 ปีนี้ พร้อมทั้งได้ฝากมุมมองที่เป็นประโยชน์แก่นักลงทุนไทยเอาไว้ด้วย

พัฒนาการความยั่งยืนในตลาดทุนไทย

ดร.ภากร เล่าว่า หากมองย้อนหลังไปกว่า 40 ปีที่ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการเติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น เกิดจากการผลักดันร่วมกันของหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน โดยเฉพาะภาครัฐมีส่วนเข้ามาช่วยในหลายเรื่อง อาทิ การสร้างฐานนักลงทุนสถาบัน ทั้งการตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) การตั้งกองทุนประกันสังคม หรือการจัดตั้งธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund Company) ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ตลาดทุนไทยเริ่มมีพัฒนาการขึ้นอย่างชัดเจน

“จากเดิมที่ตลาดทุนไทยเคยมีแต่นักลงทุนรายย่อย พอเริ่มมีนักลงทุนสถาบันในประเทศเกิดขึ้น หลังจากนั้นนักลงทุนสถาบันต่างประเทศก็ค่อยๆ เข้ามา โดยสถาบันตัวกลางในตลาดทุน (Intermediary) ถือเป็นอีกกลไกสำคัญที่ช่วยทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดไทยมากขึ้น ซึ่ง TISCO ก็เป็นหนึ่งในนั้น”

ขณะที่ด้านซัพพลาย (Supply) นอกจากการสนับสนุนให้มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่และขนาดกลางเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยแล้ว ตลท. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของ บจ. ให้ดีขึ้น โดยส่งเสริมให้นักลงทุนเห็นถึงคุณภาพของ บจ. ผ่านการสนับสนุนการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Institute of Director) ขณะที่ ตลท. เองก็ได้จัดตั้งศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (Corporate Governance Center) เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางให้คำปรึกษาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีแก่ บจ. ต่างๆ

ต่อมามีการขยายแนวคิดสู่หลักการดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี ESG (Environment, Social and Governance) จากนั้นวิวัฒนาการมาสู่การดำเนินธุรกิจที่ไม่มุ่งเน้นเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) มาถึงวันนี้ ตลท. พยายามส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมโดยนำเอากรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ มาสู่การปฏิบัติในตลาดทุนไทย

กล่าวได้ว่าปัจจุบัน ตลาดทุนไทยมีการพัฒนาขึ้นมากจนกลายเป็นตลาดทุนที่ดีที่สุดในอาเซียนในหลายมิติ อาทิ ในด้านสภาพคล่องตลาดทุนไทยครองอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนติดต่อกันมาตั้งแต่ปี 2555 ในด้านมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) ตลาดทุนไทยเติบโตขึ้นมาเป็นอันดับที่สองรองจากสิงคโปร์ แม้ว่าระบบเศรษฐกิจของไทยจะเล็กกว่าบางประเทศ ในมิติเชิงคุณภาพ อาจวัดได้จากการที่มี บจ. ไทยได้รับคัดเลือกเข้าคำนวณในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ถึง 19 บริษัท สูงสุดในอาเซียน และการที่ตลาดทุนไทยเป็นผู้นำ ASEAN CG Scorecard โดยมีคะแนนสูงสุดในอาเซียนก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดในมิติเชิงคุณภาพได้เป็นอย่างดี

“แต่โจทย์สำคัญจากนี้คือ ตลาดทุนไทยในอนาคตจะพัฒนาต่อไปอย่างไร เพราะรุ่นก่อนทำมาได้ดีมาก ยิ่งในอนาคต การพัฒนาจะมีความท้าทายในหลายๆ เรื่อง”

อนาคตตลาดทุนไทยกับโจทย์ท้าทาย 4 ประการ

ดร.ภากร กล่าวว่า การดำเนินงานของ ตลท. ในอนาคตมีโจทย์ที่ท้าทายอยู่ 4 เรื่อง ที่เราให้ความสำคัญมาก โดยเรื่องแรก คือการเชื่อมโยงถึงกันของตลาดทุน (Global Connectedness) ทั่วโลกหลายๆ แห่ง ทำให้เงินลงทุนไหลเข้าออกได้อย่างรวดเร็ว นักลงทุนสามารถไปลงทุนได้ทั่วโลกและบริษัทจดทะเบียนก็สามารถออกไประดมทุนหรือจดทะเบียนในประเทศใดก็ได้ในโลกที่เขาคิดว่าดีที่สุด

“โจทย์แรก คือ เราจะทำตัวอย่างไรให้เป็นจุดที่นักลงทุนหรือบริษัทที่ต้องการระดมทุนจากทั่วโลกให้ความสนใจ เพราะการกำกับดูแลบางเรื่องต้องมีการข้ามพรมแดน ทำให้ต้องปฏิรูปกฎเกณฑ์และขั้นตอนการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคตลาดทุน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและลดอุปสรรคในการทำธุรกิจและการลงทุน ดังนั้น การปฏิรูปกฎระเบียบภายในร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลท. จึงถือเป็นประเด็นสำคัญ”

โจทย์ท้าทายเรื่องที่สอง คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประชากร ซึ่งปัจจุบันมีคนหลาย Generation อยู่ร่วมกัน  ซึ่งต่างก็มีวิธีคิดวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน ในการเข้าใจพฤติกรรมของคนแต่ละกลุ่ม จึงจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ Big Data เพื่อทำให้ ตลท. สามารถตอบสนองความต้องการของคนทุกรุ่นทุกกลุ่มได้

“เราจำเป็นต้องเพิ่มการนำเสนอ Solution โดยร่วมมือกับพันธมิตร อาทิ ฟินเทค สถาบันตัวกลาง (Intermediary) ฯลฯ แพลตฟอร์มของ ตลท. จึงต้องมีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และสามารถขยายการเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศได้ เพราะอนาคตเราไม่ได้แค่แข่งกับแพลตฟอร์มที่เป็นตลาดหลักทรัพย์ (Exchange Trading) ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งกับแพลตฟอร์มใหม่ อย่าง ICO และ STO ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งตลาดทุนไทยจะสู้กับเขาได้อย่างไร นี่คือความท้าทายเรื่องที่สาม”

โจทย์ท้าทายสุดท้าย คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ตลาดทุนพร้อมรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Technology Disruption) ตลท. จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างครบวงจร พร้อมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ และเน้นการทำงานร่วมกับผู้ร่วมตลาดทุนเพื่อต่อยอดบริการ

“โจทย์เหล่านี้ทำให้เราต้องเริ่มคิดแล้วว่า การพัฒนาต่อไปในอนาคตจะเป็นไปในแนวทางเดิมหรือจะไปในแนวทางใหม่อย่างไร ซึ่งเรามองว่าต้องทำทั้งสองวิธี ด้วยเหตุผลว่า “ของใหม่” ที่เข้ามายังมีความไม่แน่นอนอยู่เยอะและความรู้ความเข้าใจของนักลงทุนเองก็ยังไม่เพียงพอ ขณะที่สิ่งที่เรียกว่า “Traditional Market” ที่เราทำมาแล้วก็ยังทำได้ดีมาก จึงไม่ควรหยุดพัฒนาต่อยอดต่อไป เพื่อให้นักลงทุนไทยสามารถลงทุนได้ทั่วโลก หรือเพื่อให้มีผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเข้ามาซื้อขายในไทย รวมถึงทำอย่างไรให้คนมาระดมทุนหรือ “ขายของ” ในตลาดทุนไทยง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ฉะนั้นเราจึงต้องพัฒนาทั้งสองอย่างไปด้วยกัน”

file

“โฟกัส” ของ ตลท. ในช่วง 3 ปีนี้

คุณภากร กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของ ตลท. ในระยะ 3 ปีนี้ คือ การเป็นแพลตฟอร์มตลาดทุนของประเทศ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และศักยภาพในการพัฒนาตลาดทุน (Enabler) รวมถึงการต่อยอดธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสู่การเป็น Digital Asset Platform ภายใต้กลยุทธ์ Expand-Explore-Reform-Restructure

การขยายขอบเขตการทำธุรกิจ (Expand) ไม่ว่าจะเป็นขยายฐานผู้ลงทุนไปยังเมืองรองที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนแบบครบวงจร และการเข้าถึงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจของตลาดทุน ตลอดจนการสร้างแพลตฟอร์มความรู้ด้านการเงินผ่านการเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังหมายรวมถึงการขยายความร่วมมือในการเชื่อมต่อตลาดทุนไทยกับตลาดทุนอื่นในภูมิภาคอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด อันจะนำมาสู่การเพิ่มศักยภาพและการเติบโตให้กับตลาดทุนทั้งอาเซียน และทำให้ผู้ร่วมตลาดได้รับประโยชน์สูงสุด

การแสวงหาโอกาสใหม่ด้วยเทคโนโลยี (Explore) โดยการก้าวสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบผ่านการสร้างแพลตฟอร์มแบบเปิดที่ครบวงจรให้กับทุกภาคส่วน โดยหนึ่งความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม ได้แก่ ระบบการเข้าถึงกองทุนรวม (Fund Connext) ที่ทำให้กระบวนการซื้อขายกองทุนข้ามประเทศ การชำระเงินระหว่างบริษัทหลักทรัพย์และผู้ลงทุนแบบข้ามธนาคาร ตลอดจนพัฒนาต่อยอดเพื่อให้การเปิดบัญชีเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งช่วยให้ทั้งกระบวนการเกี่ยวกับการซื้อขายกองทุนรวมสามารถทำได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และมีต้นทุนที่ลดลง นอกจากนี้ ตลท. ยังเตรียมสร้างตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Platform) เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ตลาดทุนไทยด้วยการลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการและกฎเกณฑ์ (Reform) ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มใหม่เพื่อให้บริการแบบครบวงจร (One-stop Services) เริ่มตั้งแต่กระบวนการรับหลักทรัพย์ การดูแลบริษัทจดทะเบียน บริการหลังการซื้อขาย การพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยจะขยายสู่ผู้ร่วมตลาดอื่นๆ ในอนาคต เพื่อลดขั้นตอนซ้ำซ้อน ทำให้เกิดความคล่องตัว และลดค่าใช้จ่ายของอุตสาหกรรมตลาดทุนทั้งระบบ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกฎเกณฑ์และขั้นตอนการทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

การปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Restructure) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับตลาดทุนไทย รวมถึงเพิ่มความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ทุกกลุ่มในตลาดทุน โดยจัดกลุ่มธุรกิจเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจหลัก ธุรกิจใหม่และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาตลาดทุนระยะยาว

กว่าจะ “ปรับตัว” มาถึงวันนี้ ไม่ง่าย

“เพราะในอนาคต มีความไม่แน่นอนเยอะมาก ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราก็จะยิ่งไม่รู้ ฉะนั้น เราต้องเริ่มทดลอง แต่การทดลองต้องเป็นแบบ “ไม่แพง” รู้ผลเสร็จ วัดผลได้ ถ้าไม่ดี ก็ต้องรีบแก้ไขจุดผิดพลาด เปลี่ยนวิธีการทำงานให้เร็ว กระบวนการเรียนรู้ตรงนี้เป็นสิ่งที่ตอนนี้ ตลท. เริ่มปรับตัว ถ้าเรายังใช้แนวคิด One Size Fits  All มันจะไปต่อได้ยากมาก เพราะในที่ผ่านมาเรามักจะห้ามทำผิดพลาด แต่เรื่องใหม่ๆ ในโลกดิจิทัล ถ้าคุณไม่ทำผิด คุณไม่มีทางเรียนรู้ ฉะนั้น ตลท. ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรและวิธีการทำงานใหม่

ด้วยความเป็นองค์กรขนาดใหญ่และมีวัฒนธรรมองค์กรที่มีพื้นฐานจากแพลตฟอร์มแบบดั้งเดิม (Traditional) มานานร่วม 4 ทศวรรษ การจะลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) และวิธีการทำงาน ในช่วงแรกๆ ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย โดยต้องเปลี่ยน  Mindset  ที่คิดว่า “ทำไม่ได้หรอก” ให้มองว่า “ทุกอย่างเป็นไปได้”

“การปรับตัวเพื่อทำเรื่องที่เล่ามาก่อนหน้านี้ ถ้าใช้วัฒนธรรมองค์กรแบบเดิม คนกลุ่มเดิมก็อาจจะเดินหน้ายาก เราเลยทำเป็นโปรเจกต์แบ่งคนออกมาเป็นทีมเพื่อไปทำแต่ละเรื่อง โดยมีทีมบริหารทำหน้าที่ดูภาพรวมทั้งหมด ซึ่งต้องมีการวัดผลและประเมินตลอด การทำงานข้ามกลุ่มสำคัญมาก เพราะทำให้การปรับตัวทำได้เร็ว และตรงตามความต้องการของลูกค้า (Stakeholder) แต่ก็ยังมีสิ่งที่ยาก คือการบาลานซ์ระหว่างการปรับตัวเร็วกับความพอใจของลูกค้า เพราะการปรับอะไรก็ตามย่อมส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนด (Requirement) บางอย่าง ซึ่งถ้าเปลี่ยนบ่อยก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับลูกค้าได้ ผมว่านี่คืออีกโจทย์ที่ท้าทาย”

ดร.ภากร กล่าวว่า อีกปัจจัยความสำเร็จในการปรับตัวของ ตลท. ต่อการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในโลกตลาดทุน มาจากบุคลากรของ ตลท. เอง ที่ส่วนใหญ่มีพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และมีทัศนคติที่ดีที่พร้อมจะปรับเปลี่ยนตัวเอง โดยสิ่งที่ ตลท. ทำ คือการเพิ่มทักษะและเตรียม “เครื่องมือ” รวมถึงช่วยสร้างความเข้าใจให้กับลูกค้าถึงความจำเป็นที่ต้องปรับตัวและประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับจากการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้น

“เราต้องทำความเข้าใจกับทุกคนในตลาดทุนว่า เราทำเพื่ออะไร ทำเสร็จแล้ว Stakeholder แต่ละคนจะได้อะไร ไม่ใช่ ตลท. จะได้อะไร อันนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะในอนาคตมันไม่มี One Size Fits  All ดังนั้น จะทำอย่างไรให้ทุกคนได้ประโยชน์และจะทำอย่างไรให้ทุกคนไปด้วยกันได้ ไม่ใช่แค่อันนี้ดี ทำเถอะ เพราะมันต้องมีกระบวนการ ที่ต้องทำร่วมกัน ดังนั้น จึงต้องสื่อสารและสร้างความเข้าใจกันให้ดี”

file

ข้อคิดทิ้งท้ายฝากถึงนักลงทุน

ดร.ภากร กล่าวว่า จากการที่โลกตลาดทุนเชื่อมต่อกันมากขึ้น ความไม่แน่นอนก็เยอะขึ้นเป็นเงาตามตัว การหลีกเลี่ยงความผันผวนในตลาดทุนจึงเป็นไปได้ยาก จึงอยากฝากนักลงทุนให้เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ที่ดี เพราะนั่นจะเป็น “กันชน (Buffer)” ที่ช่วยบรรเทาความเสียหายในช่วงเวลาที่ตลาดทุนผันผวน และจะเป็น “แรงส่ง (Springboard)” ในช่วงที่ดัชนีตลาดทุนไปได้ดี

“ความผันผวนอย่างไรก็จะเกิดขึ้นในตลาดทุนทุกวันนี้ แต่ Fundamental มันคือเทรนด์ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มี Fundamental หรือ “โครงสร้าง” ของสินทรัพย์มีค่าอยู่ในตัวเอง และมี “Story” ที่จะทำให้อนาคตโตไปได้อีกจะทำให้นักลงทุนสามารถสร้างพอร์ตที่ดีได้แม้เกิดความผันผวน ผมมองว่านี่คือหลักพื้นฐานในการลงทุน และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไม ตลท. ถึงให้ความสำคัญกับการสร้างนักวิเคราะห์การลงทุนและการให้ความรู้ในการลงทุน” 

มุมมองต่อกลุ่ม TISCO ในวาระครบรอบ 50 ปี

“ก่อนอื่น ผมขอแสดงความยินดีและชื่นชมกับการทำงานของ TISCO มาตลอด TISCO เป็นหนึ่งในเสาหลักของธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์ของไทยมาตั้งแต่แรก TISCO มีบริการที่ครอบคลุมครบถ้วน สำหรับทั้งนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ รวมทั้งยังมีความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศที่เป็นระดับโลก (World Class) พร้อมให้บริการไม่ใช่เฉพาะคนไทย แต่นักลงทุนทั้งโลก ซึ่งจุดนี้สำคัญมาก เพราะในอนาคตคุณต้องมีความหลากหลายในการให้บริการ ซึ่ง TISCO ทำเรื่องพวกนี้มาตลอด

“ยิ่งกว่านั้น สิ่งที่เราเห็นมาตลอดคือ TISCO ได้มีการตอบแทน (Contribution) ให้กับตลาดทุนไทยและสังคมไทย ผ่านการให้การสนับสนุนกิจกรรมของ ตลท. และ กิจกรรมเพื่อสังคม มาอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งในหลายๆ โปรเจกต์ของการพัฒนาตลาดทุนไทย TISCO ก็เข้ามามีส่วนร่วม ออกความเห็นและให้ความร่วมมือที่ดีเสมอมา เป็นสิ่งที่ ตลท. ต้องขอขอบคุณมาก”

สุดท้ายนี้ ดร.ภากร ทิ้งท้ายว่าด้วยความหวังเป็นอย่างยิ่งว่า TISCO จะเห็นโอกาสจากแนวทางการพัฒนาตลาดทุนไทยของ ตลท. และมาคิดทำอะไรร่วมกับ ตลท. อีกในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้ยั่งยืนไปด้วยกัน