file

ก้าวข้ามความผันผวน ด้วยหุ้น Mega Trends

นิตยสาร Trust ฉบับที่ 48 | คอลัมน์ Wealth Manager Talk

ไตรมาสแรกของปี 2019 นี้ ถึงแม้ดัชนีชี้นำภาวะเศรษฐกิจโลกจะออกมาน่าผิดหวังตลอด ตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ของจีนที่กลับมาหดตัวต่ำกว่า 50 อีกครั้งในรอบเกือบ 2 ปี หรือดัชนีของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่นต่างก็ชะลอตัวลงเช่นกัน อีกทั้งข้อมูลการส่งออกของหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณชะลอและหดตัวลงอย่างชัดเจนจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2018

อย่างไรก็ตามการเจรจาเพื่อบรรเทาหรือยุติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีทิศทางที่ดีขึ้นประกอบกับ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เริ่มส่งสัญญาณการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปทางผ่อนคลาย (Dovish) มากขึ้น จึงช่วยให้บรรยากาศการลงทุนคลายแรงกดดันและช่วยให้ตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวราว +11% เมื่อนับตั้งแต่ต้นปี 2019 แต่หากประเมินผลประกอบการจากบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก พบว่าราคาหุ้นที่ปรับขึ้นมานั้นเกิดจากบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น แต่แนวโน้มอัตราการเติบโตของกำไรยังอาจชะลอตัวสวนทางกับราคาหุ้น ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากต้นปี แต่นักวิเคราะห์ปรับแนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนลดลง เนื่องจากนักวิเคราะห์คาดว่าผลกระทบจากอัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ จัดเก็บกับจีนไปก่อนหน้านี้จะทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมชะลอตัวลง ประกอบกับแรงส่งที่เคยได้รับนโยบายการคลังของสหรัฐฯ เช่น การปรับลดภาษีนิติบุคคล และ บุคคลธรรมดาอ่อนลง ซึ่งปี 2019 นี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่สามารถลงทุนและเก็บกำไรได้ง่ายนัก

โดยทั่วไปในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัวนั้น หากนักลงทุนในหุ้น หรือกองทุนที่ต้องการปรับพอร์ทการลงทุนเพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ อาจต้องเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกลุ่มเชิงรับมากขึ้น เช่น กลุ่มเฮลธ์แคร์ ที่มักไม่อ่อนไหวต่อความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจกลุ่มสาธารณูปโภคหรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ที่มีอัตราจ่ายปันผลสูง ซึ่งช่วยให้พอร์ทการลงทุนมีเงินปันผลมาช่วยลดความเสี่ยง รวมทั้งสินทรัพย์ทางเลือกอื่น เช่น ทองคำที่มักเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรักษาอำนาจซื้อ โดยราคามักเปลี่ยนแปลงตรงข้ามกับภาวะเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ดี หุ้นหรือสินทรัพย์ในกลุ่มข้างต้นอาจให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีเท่ากับหุ้นเติบโตและจะเสียโอกาสสร้างกำไรเพิ่มเติมได้ เพราะฉะนั้นการปรับพอร์ทแบบทั่วไปตามข้างต้นนี้ อาจเป็นวิธีการที่ต้องใช้เวลาติดตามการลงทุนอยู่เป็นระยะ เพื่อให้พอร์ทที่ลงทุนอยู่นั้นเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง

อย่างไรก็ตามในยุคปัจจุบันที่เรื่อง Internet ที่เป็นจุดเริ่มต้นของยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) ก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการดำรงชีวิตของมนุษย์จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Mega Trends ขึ้น ซึ่งกระแสที่เรียกว่าเป็น Mega Trends นั้นมักจะคงอยู่มากกว่าวงจรธุรกิจ (Business Cycle) หรือมากกว่า 10 ปี โดยข้อมูลจาก PricewaterhouseCoopers (PwC) ได้ระบุถึง 5 Mega Trends ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2050 ไว้ ดังนี้ 1. การเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเมือง 2. คุณลักษณะประชากรและสังคมที่เปลี่ยนไป 3. สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงและทรัพยากรที่ขาดแคลน 4. การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ และ 5. การก้าวหน้าของเทคโนโลยี

file แผนภาพที่ 1: Mega Trends ทั้ง 5 ภายใน 20 ปีข้างหน้า

 

ซึ่งหากเราเลือกลงทุนหุ้นที่ได้รับประโยชน์ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมจาก Mega Trends เหล่านี้ นักลงทุนย่อมได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอีกทั้งยังไม่ต้องปรับพอร์ทบ่อยครั้งเท่ากับการลงทุนที่อิงแต่ Business Cycle ที่มีระยะเวลาสั้นกว่าเพียงอย่างเดียว ยิ่งไปกว่านั้นหากเราสามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่ตรงกับ Mega Trends ได้มากกว่า 1 ข้อ ยิ่งจะช่วยให้พอร์ทการลงทุนมั่นคงและเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนได้สูงมากในระยะเวลาที่ยาวนาน ยกตัวอย่าง Mega Trends ที่เรามักจะพูดถึงกันมานานและให้ผลตอบแทนกับผู้ลงทุนได้ดีในช่วงที่ผ่านมาคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งหนีไม่พ้นหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี และเรื่องสังคมผู้สูงอายุในยุคโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมักพูดถึงร่วมกับกลุ่มเฮลธ์แคร์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหุ้นสามารถลงทุนโดยผนวก Mega Trends ที่มากกว่า 1 ได้ เช่น หุ้นกลุ่ม Digital Healthcare โดยเป็นการจับ 2 Mega Trends มาผนวกกันอย่างลงตัว คือ สังคมผู้สูงอายุและเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน จนอาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้เป็นการผนวกกันระหว่างการใช้งานเทคโนโลยีต่างๆ รวมถึงการเก็บข้อมูลมหาศาล (Big Data) ในปัจจุบัน เพื่อใช้วิจัยทางการแพทย์และนำไปสู่การรักษาให้กับผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งไปกว่านั้นการรักษาด้วยเทคโนโลยีนั้นจะสร้างความหมายของสิ่งที่เรียกว่า “เฮลธ์แคร์” อย่างแท้จริง หรือผลิตภัณฑ์ที่มีไว้เพื่อ “ป้องกัน” หรือ “ดูแล” สุขภาพ (Preventive) มากกว่าที่เราจะนึกถึงเรื่องสุขภาพแบบเดิมๆ คือ รักษาเมื่อยามเจ็บป่วยไปแล้วเท่านั้นเพียงอย่างเดียว หรือที่เรียกว่า (Sickcare)

ตัวอย่างของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับ Digital Healthcare และได้รับการยอมรับในวงกว้าง ได้แก่ Teladoc บริษัทที่ให้บริการปรึกษาด้านสุขภาพผ่านโทรศัพท์และ VDO Conference โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งนับเป็นผู้พลิกวิธีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ช่วยให้ผู้ใช้บริการประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเมื่อเทียบกับการต้องเดินทางไปโรงพยาบาลและต้องไปรอคิวเพื่อพบแพทย์

ปัจจุบัน Teladoc ให้บริการกว่า 125 ประเทศ 20 ภาษา โดยในช่วงปี 2014 - 2017 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 74% หรือบริษัท Novocure ผู้คิดค้นวิธีการรักษาเนื้องอกและมะเร็งในสมอง โดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เรียกว่า Optune โดยการรักษาด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยยังคงมีคุณภาพชีวิต มีการรับรู้ และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเดิม โดย Optune ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เมื่อปี พ.ศ. 2558 นับเป็นแนวทางการรักษาแรกที่ได้รับการรับรองจาก FDA ในรอบกว่าหนึ่งทศวรรษว่าช่วยยืดอัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกชนิดกลัยโอบลาสโตมาได้ (เนื้องอกกลัยโอบลาสโตมาเป็นมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดของสมองและเป็นเนื้องอกสมองที่พบบ่อยที่สุด) โดยที่ผ่านมาโครงการของ Novocure ได้รับการอนุมัติจาก FDA ไปแล้ว 2 โครงการ และมีอีก 5 โครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา หรือ บริษัท Dexcom ผู้ผลิตคิดค้นอุปกรณ์ตรวจจับระดับน้ำตาลในเลือด (เบาหวาน) โดยไม่ต้องเจาะเลือด สามารถแสดงค่าน้ำตาลแบบ Real Time ได้ และมีการแจ้งเตือนเมื่อระดับน้ำตาลหรือกลูโคสสูงหรือต่ำกว่ากำหนด สามารถเชื่อมต่อกับ Gadget ต่างๆ เช่น Apple Watch, iPhone หรือ Android Smart Phone ได้ ซึ่งอุปกรณ์ตรวจจับน้ำตาลนี้มีความแม่นยำใกล้เคียงกับการเจาะเลือดสูงมาก โดยในปีที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของ Dexcom ใน 3 ไตรมาสแรกออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดมาก สาเหตุจากการที่อุปกรณ์ตรวจวัดระดับน้ำตาลของ Dexcom ได้เข้าร่วมอยู่ในโครงการประกันสุขภาพของสหรัฐอเมริกา (Medicare) และได้รับการรับรองจาก FDA สหรัฐฯ และหน่วยงานกำกับดูแลของยุโรป ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้าของ Dexcom ได้ในระยะยาว

นอกจากเรื่อง Digital Healthcare ที่เป็นการลงทุนที่สอดคล้องไปกับ 2 Mega Trends แล้ว ยังมีอีกกลุ่ม Mega Trends ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ สังคมเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการผนวก 2 Mega Trends เข้าไปด้วยกันอีกเช่นกันคือ กลุ่มหุ้นกลุ่มธุรกิจ E-commerce

ธุรกิจ E-commerce คือ ธุรกิจที่มีการทำธุรกรรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การซื้อสินค้าและบริการ การโฆษณาสินค้า หรือการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งจุดเด่นของ E-commerce จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน E-commerce มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับยอดค้าปลีกทั่วโลก โดยในปี 2017 ธุรกิจ E-commerce มีส่วนแบ่งการตลาด 10.2% หรือมูลค่ากว่า 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ eMarketer คาดว่าส่วนแบ่งการตลาดจะขยายตัวเป็น 14.3% ในปี 2020 และในด้านการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ก็เติบโตอย่างมากเช่นเดียวกัน โดยในปี 2009 งบการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์มีมูลค่า 14% ของงบโฆษณาทุกช่องทาง แต่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 47% ในปี 2019 นี้ เนื่องจากได้รับแรงสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทั่วโลกที่อัตราการเข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ต เป็น 57% ของประชากรโลก หรือ 4.39 พันล้านคน ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมากจากช่องทางอนาล็อก (ป้ายโฆษณา) เป็นช่องทางดิจิตอล

แผนภาพที่ 2: ยอดขายของช่องทาง E-commerce ต่อสัดส่วนค้าปลีกรวม แผนภาพที่ 2: ยอดขายของช่องทาง E-commerce ต่อสัดส่วนค้าปลีกรวม

ยิ่งไปกว่านั้น ในด้านของผู้บริโภค จากการสำรวจของ World Data Lab เมื่อเดือนกันยายน 2018 พบว่า หากเราแบ่งกลุ่มประชากรโลกตามฐานะทางการเงินเป็น 4 กลุ่ม คือ ผู้ที่มีรายได้น้อย (รายได้ต่ำกว่า 60 บาทต่อวัน) พอใช้ (60-350 บาทต่อวัน) ระดับกลาง (350-3,500 บาทต่อวัน) และร่ำรวย (มากกว่า 3,500 บาทต่อวัน) โดยภายในปี 2030 ผู้มีฐานะปานกลางจะเพิ่มขึ้นอีก 1.7 พันล้านคน ขณะที่คนที่รายได้น้อยจะลดลง ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกถึงอำนาจซื้อของประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งธุรกิจ E-commerce เข้ามามีบทบาทในการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตของเราอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านตัวกลางอย่าง Ebay หรือ Amazon และการชำระค่าสินค้าและบริการผ่าน Paypal ข้อมูลจาก Invesp Conversion Optimization ชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการซื้อสินค้าผ่านช่องทางแบบดั้งเดิมทั่วโลกเติบโตราว 90% แต่การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ขยายตัวกว่า 280% และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับราคาหุ้น Amazon ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในระยะ10 ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วปีละกว่า 40%

แผนภาพที่ 3 : ราคาหุ้น Amazon ย้อนหลัง 10 ปี แผนภาพที่ 3 : ราคาหุ้น Amazon ย้อนหลัง 10 ปี

 

หรือธุรกิจที่ให้บริการจองห้องพักและตั๋วเครื่องบิน อาทิ Booking.com, Expedia, Agoda และ TripAdvisor ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยบริษัทจะรวบรวมห้องพักและตั๋วเครื่องบินจากทั่วโลก รวมถึงจัดอันดับราคาและความคิดเห็นจากผู้ใช้จริงเอาไว้ในที่เดียว ซึ่งในปัจจุบันการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและห้องพักผ่านธุรกิจในกลุ่ม Online Travel Agency นี้ คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของรายจ่ายทั้งหมดในกลุ่ม E-commerce อีกทั้งธุรกิจกลุ่ม Travel Service ที่มีกำไรขั้นต้นสูงถึง 80-95% เลยทีเดียว ซึ่งมุมมองของนักวิเคราะห์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตของธุรกิจ Travel Service จะขยายตัวได้สูงถึง 10-20% ต่อปี ในช่วง 5 ปี ข้างหน้า

หรือธุรกิจที่ให้บริการจองห้องพักและตั๋วเครื่องบิน อาทิ Booking.com, Expedia, Agoda และ TripAdvisor ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยบริษัทจะรวบรวมห้องพักและตั๋วเครื่องบินจากทั่วโลก รวมถึงจัดอันดับราคาและความคิดเห็นจากผู้ใช้จริงเอาไว้ในที่เดียว ซึ่งในปัจจุบันการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและห้องพักผ่านธุรกิจในกลุ่ม Online Travel Agency นี้ คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของรายจ่ายทั้งหมดในกลุ่ม E-commerce อีกทั้งธุรกิจกลุ่ม Travel Service ที่มีกำไรขั้นต้นสูงถึง80-95% เลยทีเดียว ซึ่งมุมมองของนักวิเคราะห์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าการเติบโตของธุรกิจ Travel Service จะขยายตัวได้สูงถึง 10-20% ต่อปีในช่วง 5 ปี ข้างหน้า

หรือในกลุ่ม Online Retail บริษัทอย่าง Wayfair ซึ่งเริ่มธุรกิจมาจากบริษัทขายตู้และชั้นวางของออนไลน์ในปี 2002 ในปัจจุบัน Wayfair เป็นบริษัทขายเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา มีการจับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายโดยส่งอีเมลไปยังลูกค้าที่กำลังมองหาเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2018 บริษัทมียอดขาย 6.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยราว 30% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ผู้นำธุรกิจด้านการควบคุมน้ำหนักอย่าง Nutrisystem ที่ให้บริการแพ็กเกจอาหารออนไลน์เป็นรายเดือน ซึ่งจะช่วยในการควบคุมน้ำหนักของผู้บริโภค อีกทั้งบริษัทจะจัดส่งอาหารตามแผนที่ลูกค้าเลือกหรือออกแบบเองให้แก่ลูกค้าตามมื้ออาหาร ด้วยเทรนด์การรักษาสุขภาพและการขยายตัวของการใช้บริการออนไลน์ ทำให้รายได้ของบริษัท Nutrisystem เติบโตกว่า 70% ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งในยามที่ตลาดผันผวน หากเราเป็นนักลงทุนที่ยังจัดหรือปรับพอร์ทการลงทุนแบบดั้งเดิม เรายังต้องติดตามตลาดหุ้นหรือสภาวะเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้พอร์ทการลงทุนเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ แต่ถ้านักลงทุนเปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นกลุ่ม Mega Trends จะช่วยให้พอร์ทการลงทุนก้าวข้ามความผันผวนระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นได้ และในระยะยาวกระแสโลกที่เปลี่ยนไป จะช่วยให้พอร์ทการลงทุนสามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำ